ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
เสื้อผ้าที่สวมใส่ได้แต่ไม่มีอยู่จริง
ไม่ว่าเทรนด์แฟชั่นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องมีเหมือนกันก็คือ จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่จับต้องได้ สวมใส่บนตัวเราได้จริง ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่แสนจะธรรมดาและรู้กันอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น
จนกระทั่งมาถึงจุดที่เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่ง metaverse ที่โลกออนไลน์และออฟไลน์ผสานเข้าด้วยกันจนแทบจะเป็นสิ่งเดียวกันไปแล้ว ความหมายของเสื้อผ้าและแฟชั่นก็เลยถูกนิยามขึ้นมาใหม่ว่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงให้จับต้องได้เท่านั้น
แต่อาจจะเป็นสิ่งที่เราสวมใส่ให้เฉพาะตัวตนบนโลกออนไลน์ก็ได้
สำหรับผู้บริโภคทั่วไป การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อเสื้อผ้าที่ไม่สามารถสวมลงไปบนตัวได้จริงๆ ดูจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่บ้าบอและไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร
แต่หลังจากนี้การซื้อเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงอาจจะค่อยๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ชวนให้รู้สึกประหลาดใจอีกต่อไปแล้วก็ได้
ส่วนคำถามว่า แล้วเราจะซื้อเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงไปทำไมนั้น
คำตอบก็คือ เพื่อเอาไว้สวมให้ตัวเราบนโซเชียลมีเดียหรืออวตารของเราได้สวยงามเฉิดฉาย
ในขณะที่ตัวจริงเราอาจจะสวมเสื้อยืดตัวเก่าย้วยและกางเกงเอวหลวมโพรกนอนเอกเขนกเกาพุงแกรกๆ อยู่บนโซฟาที่บ้านก็ได้
หนึ่งในคนที่มองเห็นศักยภาพของแฟชั่นที่ไม่มีอยู่จริงก็คือ Loftus อินฟลูเอนเซอร์ในอังกฤษที่ยอมทิ้งอาชีพที่ปรึกษาด้านแฟชั่นเพื่อไปทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับเว็บไซต์ที่เธอสร้างขึ้นโดยเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งชื่อไว้อย่างตรงไปตรงมา ก็คือ This Outfit Does Not Exist หรือ เสื้อผ้านี้ไม่มีอยู่จริง
ถ้าลองกดเข้าไปดูคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงบนเว็บไซต์เสื้อผ้านี้ไม่มีอยู่จริงก็จะเห็นเสื้อผ้าที่มีดีไซน์สวยหลุดโลกเต็มไปหมด
ทั้งเดรสที่ดูเหมือนจะทำมาจากโลหะของเหลวที่ไหลขึ้นด้านบนคล้ายเถาวัลย์ที่เลื้อยขึ้นหาแสงอาทิตย์
ชุดกระโปรงยาวที่ทิ้งตัวลงคล้ายหางนางเงือก หรือชุดที่ยิงลำแสงเลเซอร์ออกมาจากอก
ทั้งหมดนี้ต่อให้อยากออกแบบมาให้เป็นเสื้อผ้าจริงๆ แค่ไหนก็คงจะทำไม่ได้เพราะล้วนเป็นเสื้อผ้าที่ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นไปตามกฎของฟิสิกส์แต่อย่างใด
ลูกค้าที่อุดหนุนเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงจำนวนหนึ่งเป็นนางแบบหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่จำเป็นต้องโพสต์ภาพตัวเองสวมใส่ชุดสวยๆ อยู่เรื่อยๆ
และจะต้องเป็นภาพที่โดดเด่นพอที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้ติดตามได้ทันทีที่เห็น
นอกจากนี้ เสื้อผ้าแบบนี้ก็ยังตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่จำเป็นต้องมีการตัดเย็บออกมาจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุ แรงงาน หรือพลังงานอะไรให้กระทบสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น คอนเซ็ปต์นี้ก็เลยเหมาะเจาะลงตัวกับอินฟลูเอนเซอร์ที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมพอดิบพอดี
แถมยังสามารถออกแบบเพื่อสื่อสารความเป็นตัวของตัวเองได้แบบที่ไม่ซ้ำใครด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงจะตอบสนองความต้องการให้เฉพาะบรรดาคนดังบนโลกออนไลน์เท่านั้น เพราะคนทั่วไปก็เริ่มจำเป็นต้องแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อพรีเซนต์ตัวเองบนออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน อย่างการแต่งตัวให้อวตารของตัวเองเพื่อใช้ในการเล่นเกมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมประชุมเสมือนจริงที่จะเป็นอนาคตของการประชุมยุคใหม่ด้วย
เราจะเห็นว่าเด็กสมัยนี้ก็พูดคุยกันเรื่องการแต่งตัวในเกมกันอย่างจริงจังและอาจจะให้ความสำคัญมากกว่าการแต่งกายในชีวิตจริงๆ ด้วยซ้ำ
เว็บไซต์ This Outfit Does Not Exist ไม่ได้เป็นเพียงเว็บไซต์เดียวที่ขายเสื้อผ้าออนไลน์สำหรับใช้กับตัวตนออนไลน์ แต่เมื่อมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ขายเองก็เพิ่มขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว ราคาสำหรับการซื้อเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงก็เริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยบาทและสูงขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของงานออกแบบ
แม้ในตอนนี้เราจะยังเห็นเสื้อผ้าเสมือนจริงจากแบรนด์ที่เกิดขึ้นเพื่อขายเสื้อผ้าเสมือนจริงเป็นหลัก
แต่ก็ไม่ยากเกินจะคาดเดาว่าจะต้องมีแบรนด์เสื้อผ้าใหญ่ๆ ที่ครองตลาดอยู่แล้วหันมาลงสนามกับเขาด้วยเหมือนกันอย่างแน่นอน
ต่อไปลูกค้าที่ช้อปปิ้งออนไลน์น่าจะเลือกได้ว่าจะกดเข้าไปซื้อของในหมวดหมู่ไหน ระหว่างเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริงกับเสื้อผ้าสำหรับอวตารของตัวเองบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะ
ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่นมาโดยตลอด อย่างพื้นฐานที่สุดคือการรณรงค์ให้ใส่เสื้อผ้าที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ โดยไม่จำเป็น
แต่ฉันก็เข้าใจดีว่าการสร้างความประทับใจผ่านเสื้อผ้าและการแต่งกายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหลายๆ คน
และบ่อยครั้งเสื้อผ้าบางชุดที่เราซื้อมาก็เหมาะสำหรับการใช้งานในรูปแบบที่จำกัดเท่านั้น ไม่สามารถหยิบมาใช้ซ้ำได้บ่อยๆ
ในขณะที่บางคนที่ให้ความสำคัญหรือสร้างรายได้จากภาพลักษณ์บนโลกโซเชียลก็อาจจะมีพฤติกรรมซื้อเสื้อผ้ามาเพื่อถ่ายภาพและแชร์เพียงครั้งเดียวจากนั้นก็จะไม่หยิบชุดนั้นมาใส่ซ้ำอีกเลยก็ได้
ดังนั้น ถ้าเราอยู่บนโลกออนไลน์กันมากขึ้น และเราสามารถแต่งตัวให้ตัวตนออนไลน์ของเราได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างมันขึ้นมาจริงๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมสุดๆ จริงไหมคะ
อีกปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการเร่งการเติบโตของแฟชั่นดิจิตอลแบบนี้ก็คือโควิด-19 ที่เราอยู่บ้านกันมากขึ้น ไม่มีโอกาสให้ออกไปเดินกรีดกรายนอกบ้าน แต่ความต้องการในการซื้อชุดสวยๆ หรือแต่งตัวสวยๆ ก็ไม่ได้หายไปไหน ก็อาจจะเติมเต็มด้วยการช้อปปิ้งเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงไปก่อนก็ได้
อย่างไรก็ตาม ฉันมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเน้นย้ำกันว่าแม้เราจะพูดว่าเสื้อผ้าที่จับต้องไม่ได้จะเป็นอนาคตในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่มันก็จะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะเหมาะสำหรับคอนเซ็ปต์เสื้อผ้าแบบนี้
และสำหรับหลายๆ คนแล้วก็อาจจะไม่มีทางรับคอนเซ็ปต์นี้มาใช้จริงๆ เลยก็ได้
ทว่านี่อาจจะเป็นไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ให้กับคนอีกหลายกลุ่ม
ทั้งที่กล่าวถึงมาแล้วอย่างคนที่มีตัวตนบนโลกออนไลน์เยอะๆ
หรือคนกลุ่มที่ต้องการแยกชีวิตจริงออกจากอวตารออนไลน์ เช่น แม่บ้านที่ชีวิตจริงไม่ต้องการความหวือหวา อยากแต่งตัวเรียบง่าย ใช้ชีวิตตามแบบแผนที่ทำซ้ำๆ ทุกวัน แต่ทันทีที่ปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันเสร็จสิ้นก็อยากกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์
และปลดปล่อยความโลดโผนในตัวเองผ่านแฟชั่นเสมือนจริงที่เปลี่ยนตัวเองให้เป็นอีกคนหนึ่งไปโดยสิ้นเชิง
นี่แหละค่ะความสวยงามของแฟชั่น เราใช้เพื่อแสดงถึงความเป็นตัวเอง
ไม่ว่าตัวเองที่ว่านั้นจะมีกายหยาบให้จับต้องได้จริงหรือไม่ก็ตาม