ความขัดแย้งทางอัตลักษณ์/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ความขัดแย้งทางอัตลักษณ์

 

ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนไทยไม่น้อย อัตลักษณ์ไม่ใช่คุณลักษณะที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด ยกเว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ เช่น จมูกแฟบ, โหนกแก้มสูง, ผิวสีน้ำผึ้ง ฯลฯ (ซึ่งปัจจุบันก็ถูกปรับแก้ได้ด้วยเวชกรรมความงาม) ที่สำคัญกว่าก็คือภาษา, มารยาท, การแต่งกาย ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็น “เครื่องหมาย” ที่สังคมสร้างและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เครื่องหมายเหล่านี้ช่วยบอกคนอื่นว่าเราคือใคร และบอกตัวเองว่าเราคือใคร มากเสียยิ่งกว่ารูปร่างหน้าตา

ดังนั้น อัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งสร้างทางสังคมหรือ Social Construct อย่างหนึ่ง

เพราะเป็นสิ่งสร้างทางสังคม อัตลักษณ์จึงปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะสังคมไม่หยุดนิ่ง เขาคือใครและเราคือใคร จึงต้องถูกนิยามกันใหม่เสมอ จะนิยามตามใจชอบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ เพราะคนอื่นไม่ยอมรับว่าเราเป็นใครอย่างที่เราอยากให้คนอื่นยอมรับ และเราเองก็ไม่ยอมรับทั้งหมดที่คนอื่นนิยามตัวเองเหมือนกัน

แล้วแต่ใครจะ “ต่อรอง” กับสถานการณ์ (negotiate) ได้เท่าไร ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้น ต่อรองแล้วก็ต่อรองใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด โดยเฉพาะในยุคสมัยที่สังคมเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

เพราะอัตลักษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ, การเมือง, เกียรติยศ และสถานภาพทางสังคม อัตลักษณ์จึงไม่ใช่สิ่งตายตัว เราปรับเปลี่ยนหรือถูกคนอื่นปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ เพื่อเลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลงในสังคม

แม้ในคนคนเดียวกัน ก็ต้องเผชิญสถานการณ์และกลุ่มคนที่แตกต่างออกไป ซึ่งหมายถึงว่าเขาย่อมต้องปรับเปลี่ยนหรือถูกปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น ทุกคนจึงมีอัตลักษณ์มากกว่าหนึ่งเสมอ ในสถานการณ์แวดล้อมที่หมุนเปลี่ยนเวียนผันมาเผชิญ

ซ้ำในสังคมทุกระดับด้วย ตั้งแต่ในครอบครัวไปจนถึงในหมู่เพื่อนฝูง, ชุมชน, ชาติ, จนถึงโลก มนุษย์ไม่ได้สัมพันธ์กันเฉยๆ แต่สัมพันธ์กันภายใต้อัตลักษณ์ที่ตัวเขาและคนอื่นร่วมกันสร้างขึ้นมา

 

นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมากด้วยความรวดเร็ว แม้ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น แต่สัดส่วนของคนจนก็ลดลง มาตรฐานการครองชีพของคนไทยดีขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนเป็นอย่างมาก โอกาสทางการศึกษา แม้กระจายไปอย่างไม่เท่าเทียม แต่ระบบการศึกษาระดับใดระดับหนึ่งได้ครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมด ถนนหนทางแม้ในหมู่บ้านชนบทห่างไกลก็มีสภาพดีขึ้น สามารถใช้ได้ตลอดปีเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนเมืองขยายตัวและชุมชนใกล้เมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไปอย่างเต็มตัว

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นนี้ ไม่แปลกที่อัตลักษณ์ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปเช่นกัน หรือกระบวนการต่อรองกันใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนกลุ่มต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

เมื่อผมเป็นเด็ก ความหลากหลายของผู้คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันอย่างมากเกิดขึ้นเฉพาะในเขตเมืองใหญ่เท่านั้น ผู้คนเกาะเกี่ยวกับอัตลักษณ์เฉพาะ เพื่อแสดงตัวตนในสังคมที่ผู้คนมีความหลากหลาย อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในกลวิธีต่อรองอำนาจและผลประโยชน์

คนปักษ์ใต้หรือคนอีสานมีสมาคมของตนเอง คนในอาชีพขี่สามล้อก็มีสมาคมสามล้อ คนเชื้อสายญวน, มอญ, เขมร, ทวาย ฯลฯ ในกรุงเทพฯ ยังจัดพิธีกรรมของตนในละแวกทุกปี ไม่พูดถึงประเพณีเฉพาะ และอาหารเฉพาะ ซึ่งยังปฏิบัติและปรุงกันในละแวกนั้นๆ แสดงอัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในเมืองใหญ่

สมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนดังๆ ก็มักมีอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วไป ด้วยการอุดหนุนของสถานทูตต่างๆ สมาคมศิษย์เก่าอังกฤษ, อเมริกัน และฝรั่งเศส ยังมอบอัตลักษณ์ของ “ชนชั้นสูง” ให้แก่สมาชิก

แต่อัตลักษณ์ที่มาจากความเฉพาะเหล่านี้หมดหน้าที่ลง ที่ทำการสมาคมของคนจากภาคต่างๆ ถูกให้เช่าหรือขายไปหมดแล้ว แม้แต่สมาคมของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบางแห่งก็หายไป หรือถึงมีอยู่ก็ให้เขาเช่าทำร้านอาหาร ดูเหมือนสมาคมศิษย์เก่านักเรียนนอกก็ไม่มีกิจกรรมใดๆ อีกแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออัตลักษณ์เฉพาะเหล่านี้แทบไม่มีหน้าที่หรือบทบาทในความสัมพันธ์ทางสังคม

อย่าว่าอะไรเลย แม้แต่ความเป็นเจ๊กก็ดูจะไม่มีบทบาทหน้าที่เหมือนกัน อัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกีดกันออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง กลับกลายเป็น “ลูกจีนรักชาติ” ใช้แสดงออกทางการเมืองเพื่อให้เห็นพลังของกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ซึ่งมีกำลังทางเศรษฐกิจสูง

 

ชีวิตของชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มในประเทศไทย คงจะถูกผนวกรวม (incorporate) เข้ามาในสังคมไทยจนกลืนหายไปนานแล้ว ถ้าฝ่ายความมั่นคงไม่คอยกีดกันมิให้เขาได้สิทธิพลเมือง เพราะแทบไม่มีชนกลุ่มน้อยกลุ่มใดอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยรายได้จากการรับจ้างในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งในฐานะคนงานก่อสร้าง หรือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซ้ำบุตรหลานยังถูกส่งเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนของรัฐ กินขนมกร๊อบแกร๊บเหมือนเด็กทั่วไป และพูดภาษาไทยคล่องจนไม่สามารถพูดภาษาของเผ่าพันธุ์ตนเองได้เสียแล้ว

ความใฝ่ฝันของรัฐไทยซึ่งมีมานานตั้งแต่เราเริ่มสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้น คือการผนวกเอาผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้เข้ามารวมอยู่ใน “ความเป็นไทย” ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้บรรลุเป้าหมายอย่างแทบจะไม่ทันได้รู้สึกตัว ปัญหาของรัฐไทยเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ชาติพันธุ์อันหลากหลายของพลเมืองเสียแล้ว แต่อยู่ที่ “ความเป็นไทย” ที่คนไทยจำนวนมากเข้าใจและใฝ่ฝันกลับไม่ตรงกับที่รัฐไทยต้องการต่างหาก

แม้กระนั้น อัตลักษณ์ที่แตกต่างกันในสังคมไทยก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ “เครื่องหมาย” แห่งอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก คนทุกกลุ่มต้องต่อรองด้านอัตลักษณ์กันใหม่ (renegotiate) เลือกหา “เครื่องหมาย” ใหม่เพื่อแสดงอัตลักษณ์ (ใหม่) ของตน

เช่น ความคิดทางการเมือง หรือจุดยืนทางเศรษฐกิจ อาจไม่เคยเป็น “เครื่องหมาย” สำคัญในอัตลักษณ์ของคน (ยกเว้นในหมู่ชนชั้นนำจำนวนน้อย) แต่ในปัจจุบันทั้งสองอย่างกลายเป็น “เครื่องหมาย” สำคัญของอัตลักษณ์ไปแล้ว คุณเป็นสามกีบหรือคุณเป็นสลิ่ม ต้องชัดออกมาอย่างน้อยในพื้นที่สาธารณะ (และบางครั้งลามเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวเช่นการคบหาเพื่อนหรือในครอบครัวด้วย)

 

อันที่จริง กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “คนรุ่นใหม่” แสดงอัตลักษณ์ของตนในที่สาธารณะ ซึ่งแตกต่างและไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมไทยสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ในด้านหนึ่ง อัตลักษณ์ที่แตกต่างเช่นนี้ดึงดูดความนิยมจาก “คนรุ่นใหม่” อื่นๆ ทั้งประเทศ เพราะเป็นอัตลักษณ์ที่ตรงกับโลกทัศน์และคุณค่าที่ตนเห็นพ้องมานานแล้ว จึงทำให้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นบาดหูบาดตาแก่คนอื่นที่ไม่ได้เปลี่ยนโลกทัศน์และคุณค่าไปไกลถึงเพียงนั้น แม้ตนเองก็ได้ปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมเช่นเดียวกัน

กลุ่มเยาวชนที่เรียกตนเองว่า “นักเรียนเลว” อาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาแสดงความรอบรู้อย่างที่นักเรียนไม่เคยถูกคาดหวังเช่นนี้มาก่อน และล้วนเป็นความรู้ที่อยู่นอกหลักสูตรทั้งสิ้น การศึกษาสำหรับพวกเขากลายเป็นการแสวงหาความรู้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่ใช่การฝึกทักษะที่กำหนดมาให้อย่างแคบๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง สัมมาคารวะในหมู่พวกเขา ไม่จำเป็นต้องให้แก่กลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมและการเมืองสูงกว่าเขา แต่ต้องอาศัยสิทธิเป็นเกณฑ์ ในสถานการณ์หนึ่ง สิทธิของการพูดก่อนเป็นของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่ง สิทธินี้ก็อาจเป็นของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

การที่เขาบังคับให้ รมต.ศึกษาฯ เงียบ จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้พูด ก็เพราะมันเป็นเวทีของเขา

ทั้งหมดนี้ล้วนไม่เคยเป็น “เครื่องหมาย” ของอัตลักษณ์ “เด็ก” ซึ่งได้แต่คอยรับความเอ็นดูเท่าที่ผู้ใหญ่จะมอบให้

 

เมื่อกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พวกเขาแสดงตัวเป็นพลเมืองไทยชนิดที่ไม่เคยปรากฏในเมืองไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 หรือสองชั่วอายุคนมาแล้ว เพราะนับจากนั้น สถาบันกษัตริย์ถูกวางให้อยู่เหนือพ้นไปจากการกำกับของพลเมืองโดยสิ้นเชิงตลอดมา การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันจึงเป็นการแสดงอัตลักษณ์พลเมืองชนิดที่ไม่เคยปรากฏในสังคมไทยมานานมาก

ผมคิดว่า เราอาจมองความขัดแย้งในเมืองไทยเวลานี้ว่าเป็นความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ก็ได้ เพราะสังคมเปลี่ยนไป ทำให้คนทุกกลุ่มต้องต่อรองอัตลักษณ์กันใหม่ จากลักษณะเฉพาะที่ถูกควบคุมให้อยู่ใน “ความเป็นไทย” ร่วมกัน กลายเป็นลักษณะเฉพาะที่จะอยู่ร่วมกันได้ ก็ต่อเมื่อ “ความเป็นไทย” ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เปิด อนุญาตให้มีความแตกต่างหลากหลายภายในได้อย่างไม่จำกัด มีแต่กติกาหลวมๆ ที่คุมมิให้ความแตกต่างหลากหลายนั้น นำไปสู่การใช้ความรุนแรงใส่กัน

แม้แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ “คนรุ่นใหม่” ก็ใช่ว่าจะหลุดรอดจากการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากที่ไปคิดว่าตนกับแม่พลอยในสี่แผ่นดินมีอัตลักษณ์อันเดียวกัน เพราะที่จริงแล้วแม่พลอยได้ล้มหายตายจากไปอย่างที่ไม่มีทางหวนฟื้นกลับคืนมาได้อีก แม้ว่าอาจจะมีโลกทัศน์และคุณค่าบางอย่างที่คนปัจจุบันยังยึดถือร่วมกับแม่พลอย แต่ก็เป็นเพียงบางอย่างเท่านั้น ซ้ำบางอย่างเหล่านั้นก็ถูกปรับเปลี่ยนไปจนไม่ตรงเป๊ะกับที่แม่พลอยยึดถือด้วย

ปัญหาของคนที่ถูกจัดเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยเวลานี้ก็คือ ไปคิดว่าสิ่งที่อยากจะอนุรักษ์ไว้นั้นดำรงคุณค่าชั่วนิจนิรันดร จึงไม่พยายามมองหาแง่มุมของสิ่งที่ต้องการอนุรักษ์ ที่อาจปรับให้เป็นประโยชน์หรือเป็นคุณในเงื่อนไขใหม่ หรือสังคมสมัยใหม่ เช่นอุดมคติของครูแบบเก่ายังมีประโยชน์ในการศึกษาแผนใหม่ของปัจจุบันอย่างไร สังคมไหนๆ ก็มีช่วงชั้น หรือมีหัวมีก้อยทั้งนั้น แต่ช่วงชั้นอย่างไรจึงจะไม่ขัดแย้งต่อหลักความเสมอภาคเท่าเทียมของโลกปัจจุบัน (ไม่ใช่ไปมองว่าความเท่าเทียมคือที่มาของความวิบัติไร้ระเบียบ) หรือสถาบันกษัตริย์อย่างไรจึงจะมีคุณประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย

อะไรๆ ก็มีคุณค่าทั้งนั้น แต่คุณค่าไม่ใช่สิ่งที่อยู่ลอยๆ ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแวดล้อมและยุคสมัยของคุณค่านั้นๆ เสมอ