เครื่องเคียงข้างจอ : เล่นคนเดียวก็ได้ / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

เล่นคนเดียวก็ได้

 

ชื่อตอนฉบับนี้คือ “เล่นคนเดียวก็ได้” ไม่ได้จะหมายถึง การที่นายกฯ ตู่สวมบทพระเอกนำเดี่ยวในการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จกับโควิด-19 จนผลออกมาเป็นอย่างที่เห็นนี้หรอกนะครับ

แต่จะพูดถึงหนังที่เพิ่งได้ชมไปทาง NETFLIX ที่เพิ่งนำเสนอใหม่ๆ สดๆ ในเดือนตุลาคมนี้ที่ชื่อว่า “The Guilty” ที่มีนักแสดงนำเป็น เจค จิลเลินฮาล ที่แสดงหนังดังมาแล้วหลายเรื่อง แฟนๆ คอหนังต้องคุ้นหน้ากันดี

ที่ผมเลือกกดไปชมก็เพราะหน้าหนังเห็นมีเขานำแสดงด้วยแหละ

และพบว่าเป็นการนำแสดงเดี่ยวๆ เสียด้วย เรียกว่าอย่าหวังว่าจะได้เห็นนักแสดงคนอื่นๆ มาปะทะบทบาทกัน ถ้าจะมีก็แค่โฉบไปมานิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น

ถ้าจะนับการเดินเรื่องคู่กับเขาก็คงจะเป็นแค่ “เสียงของตัวละคร” เท่านั้น

 

ความจริงเคยมีหนังที่ทำออกมาประเภท “ข้าเล่นคนเดียว” ที่ผมเคยได้ชมก่อนหน้านี้มาแล้วเหมือนกัน

อย่างหนังสุดยอดโปรดักชั่น ที่มีความโดดเด่นของงานคอมพิวเตอร์กราฟิกเหลือเกิน ที่ชื่อ “Life of Pi” ที่ออกฉายไปเมื่อปี 2012

“Life of Pi” เป็นเรื่องของวัยรุ่นชายชาวอินเดียชื่อว่า Pi ที่เรือโดยสารโดนพายุกระหน่ำจนเรือแตก ตัวเองต้องลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเลคนเดียวบนเรือลำเล็กๆ อยู่คนเดียวจริงๆ เพราะนอกนั้นเป็นสัตว์หมด ไม่ว่าจะเสือ ลิง ม้าลาย ไฮยีน่า นอกเหนือจากนก และปลา ที่พบเห็นได้ง่ายในท้องทะเลอยู่แล้ว

ที่มีสัตว์เหล่านี้ให้เขาได้ผจญภัยเอาตัวรอด เพราะเรือที่โดยสารมาได้โดยสารสัตว์นานาชนิดเพื่อนำไปจัดแสดงในสวนสัตว์อีกแห่งหนึ่งของจุดหมายปลายทาง ครั้นเรือแตก สัตว์เหล่านี้ก็พลอยติดมากับเรือลำเล็กๆ นี้ด้วย

ความสนุกของเรื่องนี้คือการติดตามดูว่า Pi จะเอาตัวรอดได้อย่างไร ซึ่งหนังก็ทำออกมาให้เราอยากติดตามได้จริงๆ และนักแสดงที่เล่นเป็น Pi คือ สุรัจ ชาร์มา นั้น ต้องแสดงคนเดียวกับจินตนาการ เพื่อนำไปประกอบกับ CG อีกทีหนึ่ง

 

ย้อนไปปี 2543 หรือเมื่อ 21 ปีมาแล้วก็มีหนังเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับทะเลเช่นเดียวกัน ที่มีนักแสดงเล่นอยู่คนเดียวทั้งเรื่อง เขาคนนั้นคือพระเอก “ทอม แฮงก์” นั่นเอง จากหนังเรื่อง “Cast Away”

เรื่องนี้ชวนให้อยู่คนเดียวอย่างยิ่ง เพราะทอม แฮงก์ เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกที่กลางมหาสมุทร เลยไปติดเกาะอยู่คนเดียวเป็นเวลาเกือบ 1,500 วัน

นอกจากการเอาตัวรอดให้ได้บนเกาะแล้ว ยังได้เรียนรู้สัจธรรมของชีวิตอีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ “เวลา” ที่เขาเคยให้ความสำคัญจนทำลายความสัมพันธ์ของคนรอบข้างเขาลงอย่างน่าเสียดาย

เมื่อมาอยู่บนเกาะแบบไร้ความหวังอย่างนี้ เวลาก็แทบจะไม่มีความหมาย น้ำ อาหาร และที่พักพิง กลับเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดของร่างกาย และคนใกล้ชิดที่เขาเคยไม่เอาใจใส่ก็กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของจิตใจ

ความสามารถของนักแสดงมากฝีมือระดับทอม แฮงก์ นั้น เอาอยู่อยู่แล้ว แม้จะเล่นคนเดียวก็ยังดึงอารมณ์และนำเรื่องราวให้ชวนติดตามได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

เรื่อง “Cast Away” นี้ พระเอกไปติดเกาะ หนีไปไหนไม่ได้ และต้องเอาตัวรอด

มีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่พระเอกต้องติดอยู่กับที่คนเดียว และต้องดิ้นรนเอาตัวรอดเช่นกัน แต่เอาตัวรอดจากจระเข้ตัวเขื่อง หนังเรื่องนั้นคือ “The Pool นรก 6 เมตร” ที่มีพระเอก เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ นำแสดง

เขาไปติดอยู่ที่ไหนเหรอ ก็ไปติดอยู่ในสระกระโดดน้ำร้างขนาดใหญ่ที่น้ำถูกสูบออกหมดแล้ว เหตุการณ์มีอันทำให้เขาต้องติดแหง็กอยู่ที่ก้นสระที่ลึก ไม่มีบันไดจึงไม่สามารถปีนขึ้นมาได้ สระร้างนี้ไม่มีใครจะแวะเวียนมาช่วยเหลือได้แน่ๆ เขาจึงต้องต่อสู้กับความร้อนของแดดที่แผดเผา การขาดน้ำและอาหาร ร่างกายที่มีบาดแผล และยิ่งซ้ำเติมขึ้นมาอีกเมื่อมีจระเข้ตัวใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เขาต้องต่อกรด้วย

มีนักแสดงหญิงอีกคนที่เล่นเป็นแฟนของเขาที่ติดอยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากเท่ากับเคน นักแสดงนำเดี่ยวอย่างเขา ก็ต้องเอาความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาใช้กับการแสดงในหนังเรื่องนี้

เคนเล่นเรื่องนี้คนเดียวเกือบทั้งเรื่อง และเขาก็เหมือนกับ Pi ในเรื่อง “Life of Pi” ที่ต้องแสดงกับ CG ที่สร้างภาพเจ้าจระเข้นั้นขึ้นมา แม้จะมีบางช็อตที่ใช้จระเข้จริงก็ตาม

เรื่องทำนองนี้บทต้องโดดเด่นจริงๆ ที่จะสร้างปัญหาและอุปสรรคให้แข็งแรงพอให้คนอยากติดตาม และนักแสดงต้องใช้ฝีมือเพื่อดึงคนให้อยู่กับเขา ให้เชื่อ และคล้อยตาม ต้องจินตนาการเอง ต้องสร้างภาพในหัวสมองขึ้นมาเอง ไม่มีนักแสดงอื่นมาส่งอารมณ์ด้วย

ต้องแบกความรับผิดชอบของหนังทั้งเรื่องบนบ่า น่าจะหนักและท้าทายเอาการ

 

มีหนังอีกเรื่องหนึ่งที่มีนักแสดงนำเล่นคนเดียวกับโซเชียลมีเดียทั้งเรื่อง นั่นคือเรื่อง “Searching” เป็นเรื่องของพ่อคนหนึ่ง แสดงโดย จอห์น โช ที่ลูกสาววัยรุ่นหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

การติดตามทางเดียวที่พอจะทำได้คือการเปิดโน้ตบุ๊กของลูกสาว ย้อนดูประวัติการใช้งานเพื่อเป็นเบาะแสในการติดตามหาลูกอันเป็นที่รัก

ทั้งเรื่องเราจะได้เห็นการเปิดหน้าจอไล่ไป-มาพร้อมกับเงื่อนงำที่ค่อยๆ โผล่ออกมา สลับกับการแสดงของผู้เป็นพ่อที่กลัดกลุ้ม กระวนกระวายใจ โกรธแค้น ขุ่นเคือง จนกระทั่งคลี่คลาย

เป็นการแสดงคนเดียวโดยมีโลกของโซเชียลมีเดียเป็นตัวละครเคียงคู่กัน

 

สําหรับเรื่อง The Guilty เป็นเรื่องของนายตำรวจที่ชื่อ โจ เบย์เลอร์ ที่ถูกลดชั้นจากตำรวจสายตรวจมาเป็นโอเปอเรเตอร์รับสายขอความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องเราจะเห็นเพียงโจโต้ตอบกับเสียงที่โทร.เข้ามาในขณะที่ปัญหาชีวิตส่วนตัวกำลังรุมเร้า และเขาต้องเข้าไปช่วยเหลือเคสหนึ่งที่โทร.เข้ามาที่กลายเป็นคดีฆาตกรรมและลักพาตัว

บทจะพาผู้ชมให้ค่อยๆ รับรู้ข้อมูลที่เกิดจากเสียงที่ติดต่อกับเขา ผู้ชมต้องจินตนาการตามว่าเกิดอะไรขึ้น และเรื่องค่อยขยายวงกว้างออกไปและสุดท้ายก็กลับตาลปัตรไปอีกแบบ ในแบบที่ทำให้เขาต้องรู้สึก Guilty นั่นเอง

ต้องยกความดีในการแสดงของเจค จิลเลินฮาล ที่เขาจำต้องแบกหนังทั้งเรื่องที่ยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งไว้กับเขาคนเดียว ในสถานที่เดียว ตัวบทจึงต้องสร้างเหตุการณ์ให้เขาได้มีโอกาสแสดงออกในหลากหลายอารมณ์ จึงจะนำพาผู้ชมให้อยากติดตามได้

ใครที่ชอบดูหนังที่มีนักแสดงให้ดูเยอะๆ หลากหลายแคแร็กเตอร์ มีฉากสวยงามหลายๆ สถานที่ ก็อย่ากดมาดูเรื่องเหล่านี้ที่ว่าเลย เพราะคุณอาจจะไม่บันเทิงพอ และอาจจะพลอยเบื่อหน่ายได้ง่าย

แต่สำหรับผู้ที่ชอบลองของแปลก ไม่จำเจ และชอบขบคิดติดตาม ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวสำหรับช่วงนี้ที่ต้องลุ้นทั้งโควิดและน้ำท่วมไปพร้อมๆ กัน

 

จากหนัง 4-5 เรื่องที่กล่าวมานี้ มีอย่างหนึ่งเหมือนกันคือ “ความสัมพันธ์” หากคนเราเรียนรู้ที่จะบริหารความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นให้เป็น เรื่องร้ายๆ ก็อาจจะไม่เกิด ซ้ำจะมีแต่เรื่องดีๆ ที่ไม่ต้องเสียใจในภายหลังก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอย่าง The Guilty, Searching และ Cast Away หรือคนกับสัตว์อย่าง Life of Pi และ The Pool นรก 6 เมตร ก็ตาม

หนังที่ว่านี้ชี้ให้เห็นว่าการทำอะไรคนเดียวก็น่าพึงใจได้ แต่ไม่ใช่กับการบริหารบ้านเมืองแน่นอน ที่ไม่มีใครจะเก่งกาจเป็นซูเปอร์แมนคนเดียวจัดการทุกอย่างในมือได้เอง

ของอย่างนี้ไม่ง่าย และต้องใช้ศิลปะในการผสมผสานความรู้ ความคิด ความกล้าหาญ ของคนที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มารวมใจกันทำอย่างไม่มีอคติ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

ซึ่งไม่มีอยู่ในโลกความจริงของคำว่า “การเมือง”