เปิดคณะ ‘สำเร็จขญม’ ใครกันหนอ-ผู้เหลือรอด?/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก
เครดิตภาพ : L'Expansion/1987

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

เปิดคณะ ‘สำเร็จขญม’

ใครกันหนอ-ผู้เหลือรอด?

 

“คุณต้องอยู่บ้านให้น้อยเข้าไว้ เพื่อที่จะไม่ต้องต่อว่าสามีที่ไปตกหลุมรักกับหญิงอื่น”

บทสัมภาษณ์ของสูมูราที่ตีพิมพ์ใน L’Expansion นิตยสารแถวหน้าของยุคนั้น(1987) ปีที่เฟมินิสต์-ผู้หญิงทำงานในบรรษัทชาติเริ่มมีพลังอำนาจ ในฐานะนักการธนาคารหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เธอจะฝ่าฟันเป็น 1 ในบรรดาสตรีแถวหน้าของยุโรปเวลานั้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่เอเชีย

แต่สูมูรา จูล่ง-สัม (Saumara Tioulong-Sam) ทำให้เห็นแล้วว่าในวัยเพียง 37 ปีเท่านั้น เธอคือ 1 นักบริหารหญิงในบรรษัทการเงินชั้นนำที่รับตำแหน่งผู้อำนวยการหญิงคนแรกของ “Robert Fleming” กรุงปารีสขณะอายุเพียง 34 ปี

และเป็นสตรีเอเชียคนแรกๆ ในสายอาชีพนี้ที่ประสบความสำเร็จในยุโรป

เพื่อแลกกับการเป็นนายใหญ่แห่ง Robert Fleming เธอต้องต่อสู้อะไรมาบ้าง? มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้หญิงทั่วไป ยังไม่นับกรณีชาวเอเชียผิวคล้ำและหน้าตาแสนธรรมดานั่น!

“ก่อนอื่นคุณต้องทำใจยอมรับว่า เงินเดือนคุณจะหายไปราว 20% เพราะคุณไม่ใช่เป็นชาย และหายไปอีก 20% เพราะว่าคุณไม่ใช่คนที่นี่!”

แต่ จูล่ง-สัม หรือจูล่ง สูมูรา เธอไม่แคร์ และเก็บเอาการด้อยค่าเหล่านั้นมาคิดเล็กคิดน้อยจนไปต่อไม่ได้ โดยเหตุผลว่า

“ฉันได้พิสูจน์ตัวเองโดยการเรียนรู้วิชาจากพวกเขา”

เครดิตภาพ : L’Expansion/1987

ผลก็คือ จูล่ง สูมูรา สามารถพลิกผัน ทำให้นักลงทุนเทซื้อกิจการ Sicas Orientals ที่ให้ผลกำไรมหาศาล จนกลุ่มเฟลมมิ่งต้องตัดสินใจเปิดสำนักงานที่กรุงปารีสในปี 1983 และให้จูล่ง สูมูรา บริหาร 4 ปี จากนั้น เธอก็นำสถาบันการเงินแห่งนี้ไปสู่ความปึกแผ่น ด้วยการเปิดกองทุนรวมเอเชียกับสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดเวลานั้น

จูล่ง-สัม สูมูรา กลายเป็นนักธุรกิจหญิงแถวหน้า ที่นักเก็งกำไรของ Robert Fleming กล่าวขวัญ และนี่คือผลงานมหัศจรรย์ เธอผู้ผ่านการศึกษาหลายประเทศ ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย ก่อนมาจบที่ฝรั่งเศสตอนอายุ 19 ปี

บุคลิกภาพของจูล่ง สูมูรา พ่วงด้วยตำแหน่งลูกสาวรัฐมนตรีต่างประเทศ-นักการทูตจึงแตกต่างจากชาวเขมรลี้ภัยตามแนวชายแดนที่เป็นปัญหาเรื้อรังการเมือง และหลายฝ่ายกำลังเรียกร้องไปสู่เปลี่ยนแปลงใหม่ในอีกไม่ช้า

ทว่า เวลานั้น ชีวิตของสูมูรากับสามีสัม รังสี และลูกๆ อีก 2 คนขณะนั้น พวกเขามีสไตล์เริ่ดหรูไม่ต่างจากสมัยชนชั้นนำกัมพูชายุคสังคมราชานิยม (’60) และมีแต่เศรษฐีไฮโซชาวยุโรปเท่านั้นที่จะเอื้อมถึงชีวิตแบบนั้น

ไม่แพ้ความสำเร็จของภรรยา สัม รังสี เองก็ร่ำรวยด้วยชื่อเสียงและเงินทองแถวหน้าของยุโรป ด้วยรายได้ต่อปีราว 30 ล้านบาท (1987) จากตำแหน่งผู้จัดการนายธนาคารชั้นนำอีกแห่งหนึ่ง

ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า สัม รังสี ที่สำเร็จรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเงินในสถาบันระดับสูงฝรั่งเศส เขาอาวุโสกว่าภรรยา 1 ปี น่าจะเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญจนภรรยาประสบความสำเร็จ

จนได้ฉายาเป็นภาษาเขมรว่า “เศรษฐินีหมื่นโกศ!”

เครดิตภาพ : Rainsy Sam Channel

คํ่าคืน 20 ตุลาคม 1991 สมเด็จจักรียึก จูล่ง-บิดา ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับสิ่งที่กำลังจะตามมา นั่นคือการลงนาม “ข้อตกลงปารีส” (Paris Accord/Paris Agreement) ที่เกิดขึ้นจากเขมร 4 ฝ่ายในวันที่ 23 ตุลาคม

มันคือความ “สำเร็จขญม” ที่หมายความว่า “ความสำเร็จของฉัน” หือ? หรือความสำเร็จของเรา?

ทั้งหมดต่างพากันมาชุมนุมการเสด็จขององค์ประธานสมเด็จนโรดม สีหนุ และพระชายา มีจูล่ง สูมูรา เป็นแม่งานและพิธีกร

แต่ค่ำคืน 20 ตุลาคม 1991 นั้น ที่นำแขกเหรื่อนักการเมืองชาวเขมรแถวหน้าและทายาทมารวมกัน แทบไม่มีใครสังเกตชายหนุ่มผอมบางในสูทหลวมโคร่งสีอ่อนตัวนั้น ในฐานะลูกเขยสมเด็จจักรยึก จูล่ง แต่ดูเหมือนสัม รังสี จะไม่เป็นที่สนใจของใครกัน ดังนั้น เขาจึงดูแปลกแยกแตกต่างจากประดาฟุนซินเปกหนุ่มคนอื่นๆ

แต่ช่างเถอะนั่น

เพราะศูนย์กลางของงานอยู่ที่องค์กษัตริย์สีหนุผู้ผลัดถิ่นและลี้ภัยมายาวนานถึง 21 ปี (1970-1991) อีกประการหนึ่งการที่ทรงพำนักส่วนใหญ่ในปักกิ่งและละทิ้งโลกทุนนิยมไปนาน แต่วิถีแห่งความเป็นชาติตระกูล ดังนี้ การตอบแทนด้วยงานเลี้ยง “สำเร็จขญม” ของอดีตนายกรัฐมนตรีคู่พระทัย ยึก จูล่ง นั้น ถึงกับเคยแสดงภาพยนตร์ที่ทรงกำกับและทราบถึงรสนิยมความโปรดปรานใดๆ ในพระราชหฤทัย

แต่ใครจะรู้ว่า งานฉลองแห่งความสำเร็จล่วงหน้า ณ ค่ำคืนวันนั้น จะกลายเป็นค่ำคืนแห่งความหลัง เมื่อ 30 ปีผ่านไป ไม่มีความสำเร็จใด ในความหมายของคำว่า “สำเร็จขญม” นั่น

เพราะแม้แต่หมุดประวัติศาสตร์อย่าง “ข้อตกลงปารีส”(1991) ก็เลือนหายไปจากการรับรู้ เช่นเดียวกับบางชีวิตที่ค่อยริบหรี่และดับเลือนจากคืนนั้น

เครดิต : คลังภาพ สัม รังสี

เริ่มจากตัวแทนกลุ่มเขมรแดง 2 คนในคืนนั้น นายซอน เซน ที่ถูกสังหาร และนายเขียว สัมพัน ผู้ถูกจองจำ ถัดไป เก้าอี้ตัวนั้นที่นั่งโดยกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ หัวหน้าพรรคฟุนซินเปกที่แยกย่อยเป็นพรรครณฤทธิ์ ที่ไร้ซึ่งอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์ มันสิ้นสุดทุกอย่างแล้วทางการเมืองสำหรับพรรคสีน้ำเงิน

คนถัดไปนายฮอร์ นัมฮอง ตัวแทน รมต.ต่างประเทศในรัฐบาลเขมร 4 ฝ่าย แต่เมื่อแปรพักตร์ไปซบนายฮุน เซน เขากลับได้นั่งคุมกระทรวงเก่ายาวนาน 18 ปี ที่แลกกับคดีความกับคณะ “สำเร็จขญม” บางคน นั่นก็คือสัม รังสี ที่ไม่มีบทบาทใดๆ ในคืนนั้น นอกจากนั่งอยู่ “วงนอก”

จะมีก็แต่ท่านซอน ซานน์ ผู้อาวุโสที่ให้ความสำคัญต่อ “ข้อตกลงปารีส” ตามปาฐกถาที่เขากล่าวได้อย่างน่าประทับใจ อนิจจาผู้สร้างความหวังและคุณูปการมากมาย การสูญเสียปู่ซอน ซานน์ ใน 8 ปีต่อมาคือความอาลัยของนักการเมืองกัมพูชา และกึม สกขา คือผู้สืบทอดอุดมคติคนสุดท้ายของเขา

กรมขุนนโรดม สิริวุธ นั่นเล่า? พรสวรรค์ในการเล่นดนตรีของเขาโดดเด่นแตกต่างอย่างมากกับชีวิตการเมืองหรือแม้แต่ราชสำนัก อย่างเห็นได้ชัดใครจะนึกว่าเจ้าชายนโรดม สีหมุนี (38) ที่เบิกบานยิ้มแย้มและเอาแต่เต้นรำ แต่เชื่อไหมนี่คือกษัตริย์เขมรองค์ต่อไป เช่นเดียวพระชายาโมนิกหรือพระวรราชมารดาผู้สง่างาม ขณะเต้นรำกับสมเด็จจูล่ง

มันคือค่ำคืนที่เหมือนฝัน สวยงามและน่าจดจำ

ตั้งแต่สมเด็จนโรดม สีหนุ-องค์ประธาน ทรงร้องเพลงและเต้นรำทั้งเพลงเขมรและสากล ที่ยังคงบรรเลงไปโดยไม่มีตอนใดตอนหนึ่งเลยที่จะหยุดได้ จนแม้แต่นายเขียว สัมพัน ยังออกมาเต้นรำ ดูเหมือนจะไม่ทรงตรัสถึงอนาคตของบ้านเมือง อันเป็นลักษณะพิเศษของพระองค์

ทรงอยู่กับความรักอันลุ่มหลง ดนตรี เต้นรำ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่การเมือง ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายขณะทรงพระชนม์ แต่ครั้งนี้ ใครเลยจะรู้ว่า ไม่มีความสำเร็จใดๆ ไปสู่ความ… “สำเร็จ-ขญม”?

ซึ่งหมายถึง “กัมพูชา” บ้านแห่งนั้น

 

จาก 1992 เพื่อตามหาความฝันในฐานะตัวแทนของตระกูลจูล่งและสัมผู้บิดา สัม รังสี (42) และภรรยา (41) ตัดใจทิ้งรายได้มหาศาลจากการงานในปารีส รวมทั้งลูกหญิง-ชายอีก 2 คน

แต่ 30 ปีให้หลัง 2021 วันที่สัม รังสี 72 และสูมูรา 71 ปี พลันพวกเขาก็พบว่า ในฐานะพลเมืองเขมรที่เกิดในกัมพูชา ราวกับเพิ่งรู้ตัวว่าได้ถูก “เนรเทศ” จากบ้านยาวนานไม่ต่างจากองค์ประธานนโรดม สีหนุ ในอดีตที่พวกเขาจัดงานเลี้ยง “สำเร็จขญม” เป็นการต้อนรับ

ทันที สัม รังสี ไม่รีรอ เขารีบเดินสายด้วย 3 แคมเปญหลัก คือ “กลับบ้าน”, เลือกตั้งเสรี และ “เวติกาสาธารณะ” (Public Forum) จากยุโรปข้ามไปทัวร์สหรัฐอเมริกา

โปรดติดตามว่า ใครกันคือคณะ “สำเร็จขญม” ผู้เหลือรอด!

 

1-เครดิตภาพ : L’Expansion/1987

2-เครดิตภาพ : Rainsy Sam Channel

3-เครดิต : คลังภาพ สัม รังสี