สิ่งแวดล้อม : เยอรมนี-การเมือง ‘สีเขียว’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
อันนาเลนา แบร์บอก ผู้นำพรรคกรีนของเยอรมนี เป็น 1 ใน 3 ตัวเต็งนายกฯ คนใหม่ (ที่มาภาพ : The Limited Times)

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

เยอรมนี-การเมือง ‘สีเขียว’

 

การเลือกตั้งในเยอรมนีที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อปลายเดือนกันยายน

เป็นการเลือกตั้งที่มีสีสันเทียบกับการเมืองในบ้านเราแล้วแตกต่างกันชนิดหน้ามือหลังเท้า

โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม เกือบทุกพรรคการเมืองของเยอรมนีให้ความใส่ใจกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก

พรรคโซเชียลเดโมแครต (Social Democratic Party : SPD) ที่มีนายโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) เป็นผู้นำพรรคได้คะแนนเสียง 25.7% จากผู้ออกมาใช้สิทธิกว่า 60 ล้านคน เฉือนชนะพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democratic Union : CDU) ที่มีนายอาร์มิน ลาสเซต (Armin Laschet) เป็นหัวหน้าพรรค แค่ 2 เปอร์เซ็นต์

ขณะนี้ทั้งสองพรรคกำลังชิงไหวชิงพริบในการดึงพรรคอื่นๆ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นรัฐบาลผสม เพราะไม่มีพรรคไหนได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น

 

สมาชิกรัฐสภาเยอรมนีมีทั้งหมด 735 ที่นั่ง การจัดรัฐบาลใหม่ต้องได้เสียงข้างมาก 368 ที่นั่งขึ้นไป

ผลคะแนนเบื้องต้น พรรคโซเชียลเดโมแครตได้ 206 ที่นั่ง พรรคคริสเตียนเดโมแครต 196 ที่นั่ง พรรคกรีนที่มีนางอันนาเลนา แบร์บอก (Annalena Baerbock) เป็นผู้นำได้ 118 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตย (Free Democratic Party : FDP) 92 ที่นั่ง พรรคทางเลือกเยอรมนี (Alternative for Germany : AFD) 83 ที่นั่ง พรรคฝ่ายซ้าย (Linke Party) 39 ที่นั่ง อีก 1 ที่นั่งเป็นพรรคเอสเอสดับเบิลยู

สื่อเยอรมันคาดว่า แนวการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ อาจเหมือนกับไฟจราจรคือ แดง เหลือง เขียว

แดงเป็นสัญลักษณ์ของพรรคโซเชียลเดโมแครต ซึ่งมีแนวคิดฝักใฝ่ไปทางสังคมนิยมแต่ไม่ได้เป็นซ้ายตกขอบ

เหลืองเป็นสัญลักษณ์ของพรรคเสรีประชาธิปไตย แนวคิดเอียงไปทางทุนนิยม การค้าเสรี

เขียวเป็นสัญลักษณ์ของพรรคกรีน

แต่จะเหมือนสีธงชาติของประเทศจาเมกาก็เป็นไปได้ คือดำ เหลือง เขียว

ดำเป็นสัญลักษณ์ของพรรคคริสเตียนเดโมแครต

หรือไม่ อาจเป็นเหมือนสีธงเยอรมนี ดำ แดง เหลือง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เยอรมนีจะมีรัฐบาลผสมเสียงข้างมากที่แน่นหนาถึง 494 เสียง

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนี เพิ่งแค่เริ่มต้น คงใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ หรืออาจยืดเยื้อยาวไปถึงปลายปี

ตัวเต็งว่าที่นายกฯ คนใหม่แทนนางอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำหญิงเหล็ก มีอยู่ 3 คน ได้แก่ นายโชลซ์ นายลาสเซต และนางแบร์บอก

 

ย้อนกลับมาพูดถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองเยอรมนีในการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งเป็น 1 ในประเด็นที่ผู้ใช้สิทธิออกเสียงให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่านโยบายเศรษฐกิจ

ตลอดช่วงปีนี้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในเยอรมนีมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของน้ำท่วมใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน คลื่นความร้อนแผ่ซ่านไปทั่วประเทศ

และคดีโลกร้อนที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันตัดสินว่ามาตรการลดการปล่อยก๊าซพิษของรัฐบาลนางแมร์เคิลไร้ประสิทธิภาพไม่เพียงพอต่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิคนรุ่นใหม่

ทั้ง 3 เรื่องนี้ กลายเป็นกระแสหลักที่ชาวเยอรมันนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง

พรรคการเมืองต้องหยิบเอานโยบายสิ่งแวดล้อมมาใช้ตลอดช่วงของการหาเสียง

พรรคคริสเตียนเดโมแครตพยายามเน้นย้ำถึงแนวทางลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกพร้อมกับประกาศว่าภายในปี 2588 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเยอรมนีจะเป็นศูนย์

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และผลักดันโครงการใช้พลังงานไฮโดรเจนในโรงงานอุตสาหกรรมแทนการใช้ถ่านหิน

แต่คนรุ่นใหม่กลับมองว่า ช่วง 16 ปีที่พรรคคริสเตียนเดโมแครตเป็นรัฐบาล ภายใต้การนำของนางแมร์เคิล มีการจัดการบริหารนโยบายสิ่งแวดล้อมค่อนข้างคลุมเครือ หลายเรื่องกลับไปกลับมา เช่น ร่างกฎหมายเลิกใช้ถ่านหินกว่าจะผ่านสภาได้ใช้เวลานานเกือบ 2 ปี

หรือในกรณีการกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป นางแมร์เคิลมีส่วนยื้อเวลาเจรจานานถึง 5 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมันกดดันนางแมร์เคิลจนต้องใช้กลเกมเช่นนี้

 

หลังนางแมร์เคิลประกาศไม่ลงเลือกตั้ง เปิดทางให้นายลาสเซตเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคแทน นายลาสเซตพยายามชูนโยบายการปกป้องสภาวะภูมิอากาศ แต่ดูเหมือนช้าไปแล้ว

คนรุ่นใหม่ๆ ไม่เทเสียงให้ แถมระหว่างหาเสียงในพื้นที่น้ำท่วม นายลาสเซตทำคะแนนตกวูบเพราะมีภาพปรากฏนายลาสเซตกำลังยิ้มเริงร่ากับเพื่อนร่วมทีม

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กันยายน พบผู้ใช้สิทธิออกเสียงอายุต่ำกว่า 25 ปีลงมา กาบัตรเลือกพรรคคริสเตียนเดโมแครตแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าพรรคโซเชียลเดโมแครตถึง 5%

ส่วนพรรคโซเซียลเดโมแครตซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลนางแมร์เคิลมานานถึง 8 ปี เน้นนโยบายไฟฟ้าสีเขียว หมายถึงในอนาคตข้างหน้าการผลิตกระแสไฟฟ้าของเยอรมนีต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

นายโชลซ์กำหนดเป้าหมาย “ไฟฟ้าสีเขียว” เป็นจริงให้ได้ภายในปี 2583 พร้อมกับสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนและผลักดันให้เยอรมนีเป็นผู้นำในตลาดไฮโดรเจนของโลก

นายโชลซ์ประกาศระหว่างการหาเสียงว่า ถ้าได้เป็นนายกฯ จะหั่นเวลาการเลิกใช้ถ่านหินในปี 2577 เร็วกว่าที่กำหนดไว้ 4 ปี และสนับสนุนคนเยอรมันเดินทางด้วยระบบรางมากกว่าการขึ้นเครื่องบิน

แนวนโยบายของพรรคโซเชียลเดโมแครตได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนสูงวัย มีผู้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคนี้เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน

แต่หากดูผลคะแนนของคนรุ่นใหม่ที่เทเสียงให้กับพรรคกรีนของนางแบร์บอกมีมากถึง 23% มากกว่าพรรคคริสเตียนเดโมแครต และพรรคโซเชียลเดโมแครตซึ่งได้เสียงจากคนหนุ่ม-สาววัยต่ำกว่า 25 ปี คิดเป็นสัดส่วน 15%

ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกระแสความนิยมของพรรคกรีนพุ่งขึ้น 5.8%

ทำไมพรรคกรีนจึงได้รับความนิยมจากคนหนุ่ม-สาวเยอรมัน?

 

ก็เพราะพรรคกรีนมีนโยบายชัดเจนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้นและดำเนินนโยบายนี้อย่างคงเส้นคงวา

พรรคกรีนก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2523 ที่เมืองคาร์ลชูห์ ภาคตะวันตกของเยอรมนี เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้รักสันติภาพและต่อต้านสงคราม กลุ่มผู้ไม่เอาพลังงานนิวเคลียร์

หลังการรวมประเทศเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออกเมื่อปี 2533 พรรคกรีนผนึกพลังกับกลุ่มพันธมิตร 90 ซึ่งเป็นพรรคกรีนของเยอรมนีตะวันออก กลายเป็นพรรคกรีนในปัจจุบัน

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคกรีนชูนโยบายปกป้องสภาวะภูมิอากาศเป็นหลัก

นางแบร์บอกประกาศว่าถ้าพรรคกรีนเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมเมื่อไหร่จะจัดตั้งกระทรวงปกป้องสภาวะภูมิอากาศ และจะให้อำนาจกระทรวงนี้สูงมาก

รัฐมนตรีกระทรวงนี้สามารถใช้สิทธิห้ามหรือยับยั้งของกระทรวงอื่นๆ ที่มีนโยบายสวนทางกับข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซพิษกรุงปารีส

นางแบร์บอกยังปราศรัยแนวทางของพรรคกรีนว่า ภายใน 100 วันแรกของรัฐบาลใหม่ พรรคกรีนจะเดินแผนปฏิบัติการลดโลกร้อนใน 10 เรื่อง เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่ แบ่งพื้นที่ทั่วเยอรมนี 2 เปอร์เซ็นต์เป็นเขตส่งเสริมโครงการพลังงานลม

ย่นเวลาแผนการยกเลิกการใช้ถ่านหินกำหนดไว้ในปี 2581 มาเป็นปี 2573 เร็วขึ้นกว่าเดิม 8 ปี จัดงบประมาณการดูแลปกป้องสภาวะภูมิอากาศเพิ่มเติมอีก 15,000 ล้านยูโร

ความชัดเจนมุ่งมั่นในนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคกรีนดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม คนหนุ่ม-สาวแห่ไปลงคะแนนให้จนได้รับที่นั่งมากถึง 118 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่อันดับ 3 ของเยอรมนีไปเรียบร้อยแล้ว

ถ้า “แบร์บอก” วัย 40 ปีผงาดขึ้นนายกฯ คนใหม่ จะเป็นผู้นำหญิงเยอรมันคนที่ 2 ต่อจากนางแมร์เคิล ถึงเวลานั้นบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคงได้เฮลั่น