อ่านความเป็นไทย Thailand Pavilion ใน World Expo 2020 (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

อ่านความเป็นไทย

Thailand Pavilion

ใน World Expo 2020 (2)

 

โหยหาความเป็นไทยคืออาการของสังคมไทยร่วมสมัยที่สำคัญที่สุด ที่มักแสดงตัวให้เห็นผ่านโครงการออกแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมสาธารณะระดับชาติมายาวนานหลายสิบปี และนับวันอาการนี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

หลายกรณีอาการดังกล่าวล้นเกินจนไปเบียดขับองค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบอื่นๆ จนหมดสิ้น

รัฐสภาใหม่คือตัวอย่างอันชัดเจนของอาการนี้ ด้วยการโหยหาความเป็นไทยอย่างท่วมท้นล้นเกิน อาคารหลังนี้ได้เบียดทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นหลักการประชาธิปไตย, การประหยัดพลังงาน, การออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสม ทิ้งไปจากตัวอาคารจนสิ้น

ศาลาไทยใน World Expo ที่ดูไบ คือตัวอย่างล่าสุดที่ตอกย้ำให้เราเห็นอาการดังกล่าวอีกครั้ง

ในบทความ Image of a Nation: Country branding at World Expos คุณ Wang ได้เสนอความเห็นที่น่าสนใจสำหรับการสร้างแบรนด์ของชาติผ่านการออกแบบ pavilion ในโลกยุคปัจจุบันเอาไว้อีกข้อว่า ควรที่จะเป็นการสร้างแบรนด์ของชาติเพื่อตอบโจทย์สังคมโลกด้วยไปพร้อมกัน

เขาอธิบายว่า ทุกประเทศที่เข้าร่วมงาน World Expo ต่างต้องพยายามแข็งขันกันอย่างหนักหน่วงที่จะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของชาติให้โลกได้เห็นผ่านพื้นที่ pavilion ของตนเอง และด้วยเหตุนี้การนำเสนอ “ความแตกต่าง” หรือเอกลักษณ์ที่แสดงความพิเศษเฉพาะของชาติตนจึงถือเป็นกลยุทธิ์สำคัญที่ถูกนำมาใช้เสมอ

อย่างไรก็ตาม คุณ Wang เห็นว่า ภายใต้การแข่งกันโชว์ “ความแตกต่าง” ของชาติตนเองนั้นควรที่จะต้องมองงานมหกรรมนี้ในฐานะที่เป็น “พื้นที่สากล” ที่เรียกร้องการนำเสนอแบรนด์ของชาติภายใต้กรอบแนวคิดที่เป็นเอกภาพร่วมกันบางอย่างของทุกชาติ เพื่อพูดถึงความท้าทายร่วมกันในประเด็นระดับสากลด้วย

ดังนั้น การสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติจึงไม่ควรเน้นเสนอเพียงเอกลักษณ์ที่คับแคบเฉพาะตนเองมากจนเกินไป

แต่ควรที่จะเสนอการตระหนักถึงประเด็นสาธารณะสากลบางประการที่ไม่อาจแก้ไขโดยชาติใดชาติหนึ่งอย่างโดดๆ แต่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของคนทั้งโลก

ซึ่งประเด็นนี้นับวันจะยิ่งมีมากขึ้นและเป็นวาระเร่งด่วนในระดับสากล

ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ การสร้างแบรนด์ของชาติผ่านการออกแบบ pavilion และการจัดแสดงเนื้อหาภายในทั้งหมด อย่าหมกหมุ่นกับการพูดเรื่องเอกลักษณ์ของตัวเองมากจนเกินพอดี ควรจะแบ่งพื้นที่เพื่อนำเสนอประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญของโลกด้วย

จากข้อสังเกตข้างต้น หากเราพิจารณาดูทิศทางการออกแบบ pavilion ของประเทศต่างๆ ในงานมหกรรมนี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ก็จะพบแนวโน้มดังกล่าวมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในปีล่าสุดยิ่งเห็นชัดมาก

 

แนวคิดหลักของงานปีนี้ที่ดูไบคือ Connecting Minds, Creating the Future ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นแนวคิดย่อย 3 กลุ่มคือ Opportunity, Mobility และ Sustainability ซึ่งแต่ละคำล้วนสะท้อนประเด็นความท้าทายในโลกร่วมสมัยที่เราทุกชาติกำลังเผชิญหน้าอยู่ร่วมกันทั้งสิ้น

ผู้จัดได้ออกแบบวางผังงานแยกเป็น 3 โซนหลักตามแนวคิดย่อยดังกล่าว และแต่ละประเทศจะเลือกวางตำแหน่ง pavilion ของตนเองลงในโซนต่างๆ โดยจะต้องคำนึงถึงการนำเสนออัตลักษณ์ของชาติตนเองอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับแนวคิดหลักของโซนที่ตัวเองเลือกสร้างอาคารด้วย

ซึ่งหลายประเทศในครั้งนี้ทำออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

 

มาเลเซียสร้าง pavilion ขนาด 1,234,05 ตารางเมตร ในโซน Sustainability โดยออกแบบทุกองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนทำให้อาคารสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ และยังเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน

อาคารถูกออกแบบขึ้นเสมือนเป็นดั่ง “หลังคาป่าฝน” (rainforest canopy) ที่ได้แรงบันดาลใจจากป่าฝนเขตร้อนของมาเลเซีย โดยผสมผสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของมาเลเซียเข้ากับธรรมชาติภายในอาคารที่ล้ำสมัย

ชัดเจนมากสำหรับการเข้าร่วมงานครั้งนี้ของมาเลเซียที่ต้องการจะสื่อสารประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (โลกร้อน) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกอย่างเต็มที่ ผ่านทุกส่วนของการออกแบบ

โดยเลือกนำเสนอความเป็นมาเลเซียผ่านป่าฝนแบบร้อนชื้น ซึ่งเป็นป่าธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ

 

ฟิลิปปินส์สร้าง pavilion ขนาด 1,300 ตารางเมตร ในโซน Sustainability โดยออกแบบภายใต้แนวคิด Bangkota ซึ่งเป็นภาษาตากาล็อกที่แปลว่า “แนวปะการัง” เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างคนฟิลิปปินส์กับธรรมชาติ

อาคารได้แรงบันดาลใจจากลักษณะแนวปะการัง เมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ทำให้พื้นที่ภายในเลื่อนไหลน่าตื่นตาตื่นใจเสมือนผู้ชมกำลังดำน้ำชมปะการังและวัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์ไปพร้อมกัน

คุณ Royal Pineda สถาปนิกที่ออกแบบให้สัมภาษณ์ไว้น่าสนใจมากนะครับ แกพูดว่า ไอเดียตั้งแต่เริ่มต้นเลยคือ จะไม่นำ Nipa hut (กระท่อมยกพื้นสูงของชนพื้นเมืองโบราณในฟิลิปปินส์) ไปที่ดูไบ และจะไม่นำสถาปัตยกรรมโคโลเนียลแบบสเปนมาใช้ในการออกแบบด้วย เพราะด้วยการตั้งธงทางความคิดเช่นนี้เองมันจะทำให้เขามีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่คุณ Pineda ทำคือการเลือกที่จะตีความ “ความเป็นฟิลิปปินส์”ในมุมมองใหม่

เลือกที่จะงดเว้นการใช้ภาษาสถาปัตยกรรมอันเป็นภาพจำเดิมๆ ของชาติไปสู่สิ่งใหม่ ซึ่งเป็นทั้งการแสดงอัตลักษณ์ของคนในชาติอย่างใหม่ ไปพร้อมกับการคำนึงถึงประเด็นระดับสากลว่าด้วยธรรมชาติที่กำลังถูกทำลายลงไปทุกทีด้วยน้ำมือมนุษย์

 

โปแลนด์สร้าง pavilion ขนาด 2,000 ตารางเมตร ในโซน Mobility ด้วยโครงสร้างไม้รูปทรงเรขาคณิตสี่เหลี่ยมซ้อนทับกันคล้ายต้นไม้ที่อ้างอิงกลับไปสู่งานช่างไม้ของโปแลนด์

โดยมีประติมากรรมโลหะรูปนกจำนวนมากเคลื่อนไหวอยู่บน fa?ade ของอาคาร เพื่อสื่อความหมายของการอพยพเคลื่อนย้ายของนกจากโปแลนด์ไปยังโลกอาหรับ

รวมไปถึงการเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันของทั้งสองภูมิภาค

โปแลนด์เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนการออกแบบโดยคำนึงถึงแนวคิดหลักของโซนอันเป็นที่ตั้งของอาคาร

คำนึงถึงประเด็นความสำคัญของธรรมชาติ (การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของนก) ที่มีต่อโลก และเอกลักษณ์เฉพาะของโครงสร้างไม้แบบโปแลนด์

 

ย้อนมองกลับมาดูการออกแบบศาลาไทยของเราบ้าง อาคารขนาด 3,600 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในโซน Mobility ตัวอาคารออกแบบ fa?ade ด้วย “ม่านมาลัย” ที่ร้อยกันขึ้นมาจากดอกรักจำนวน 500 ดอก โดยสีของอาคารจะเน้นโทนสีทองเพื่อสื่อถึงดินแดนสุวรรณภูมิ

ม่านมาลัยออกแบบให้มีลักษณะแหวกออกเป็นช่องรูปหน้าจั่วสามเหลี่ยมทรงสูงของงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ซึ่งนอกจากจะสื่อถึงมีหลังคาไทยแล้ว ผู้ออกแบบยังอธิบายว่ารูปทรงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายมือที่กำลังประนมยกไหว้เพื่อแสดงการต้อนรับแบบไทยๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ พวงมาลัยยังถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ประจำศาลาไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับของคนไทย โดยที่พวงมาลัยนี้จะทำเป็นอุบะ 4 ช่อ เพื่อแสดงถึงไทยแลนด์ 4.0

ชัดเจนนะครับว่าเป็นการออกแบบที่ดูจะหมกหมุ่นครุ่นคิดและโหยหาแต่การนำเสนอขายเอกลักษณ์ของชาติตัวเองต่อชาวโลกเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจประเด็นสาธารณะในระดับสากลเลย และแทบจะไม่สนใจอะไรกับแนวคิดของโซนที่ตัวเองตั้งอาคารอยู่เลย (มีบ้างก็เพียงปรากฏอยู่ในเนื้อหามัลติมีเดียภายในอย่างไม่ค่อยลึกซึ้งและตั้งใจเท่าที่ควร)

แตกต่างจากตัวอย่างอื่นที่ผมยกมาอย่างมาก

 

สังเกตนะครับ ผมไม่ได้ยกตัวอย่าง pavilion ของประเทศมหาอำนาจที่ใช้งบประมาณมหาศาลเลย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, จีน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส หรือรัสเซีย เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า งบประมาณไม่ใช่ข้ออ้างในการออกแบบที่ไม่ดีแต่อย่างใด

ที่น่าตกใจคือ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง ที่แต่เดิมก็เคยใช้ภาษาสัญลักษณ์ของชาติในแบบเดียวกับไทย (บ้านโบราณ วัดเก่า และศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม ฯลฯ) มาบัดนี้ส่วนใหญ่ได้ก้าวข้ามการตีความอัตลักษณ์แบบเดิม มาสู่อัตลักษณ์ใหม่ที่ทั้งสะท้อนตัวตนอย่างใหม่และสนทนากับประเด็นสาธารณะระดับสากลไปพร้อมกัน

ศาลาไทยในงาน World Expo 2020 เมื่อมองเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเราเองแล้ว (ไม่จำเป็นต้องมองเทียบไกลกับประเทศมหาอำนาจเลยนะครับ) จึงมิใช่เพียงแค่การย่ำอยู่กับที่นะครับ

แต่คือการเดินถอยหลังทางวัฒนธรรมที่น่าเสียดายยิ่ง