สิ่งที่ (อาจจะ) ต้องปรับปรุงในวิชาภาษาไทย

ในวิชาภาษาไทย นอกจากเรื่องการหัดเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และสะกดการันต์ให้ถูกต้องตามพจนานุกรมและอักขรวิธีแล้ว ยังมีเรื่องการเขียนจดหมายและการสนทนาทางโทรศัพท์อีกด้วย

เท่าที่สอนกันอยู่ในปัจจุบัน เขาแบ่งจดหมายออกเป็น ๔ ประเภท คือ จดหมายส่วนตัว จดหมายธุรกิจ จดหมายเพื่อแจ้งกิจต่างๆ เช่น นัดหมาย สมัครงาน ฯลฯ และ จดหมายราชการ

ทุกวันนี้นอกจากจดหมายราชการซึ่งมีรูปแบบอันแน่นอนแล้ว ยังมีใครเขียนจดหมายถึงกันบ้างไหม แม้แต่จดหมายธุรกิจและจดหมายเพื่อแจ้งกิจต่างๆ ก็ยังน่าสงสัยว่า เขายังใช้วิธีการเขียนแบบเดิมๆ ที่เคยสอนกันมาบ้างไหม เช่น การเลือกกระดาษ การบรรจุซอง การจ่าหน้าซอง ฯลฯ

คนที่เคยเรียนอาจจะจำได้ว่า จดหมายจะเริ่มที่การระบุสถานที่ที่เขียน วันที่ที่เขียน และระบุถึงตัวบุคคลที่เขียนถึง เช่น “กราบเท้าคุณพ่อคุณแม่ที่เคารพ” “นิตย์เพื่อนรัก” ฯลฯ แล้วก็จบลงด้วยคำลงท้ายอย่าง “ด้วยความเคารพ” “รักและคิดถึง” ฯลฯ

เนื้อหาของจดหมายตามคำแนะนำของครูก็คือ “ถามทุกข์สุข” แล้วลงท้ายด้วยการ “ส่งทางไปรษณีย์”

สมัยก่อนโน้นเด็กๆ นิยมมี “เพื่อนทางจดหมาย” หรือ pen pal เพื่อฝึกภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ pen pal ของผู้เขียนสมัยเด็กๆ เลิกเขียนถึงกันไปนานแล้ว บางคนก็จากไปแล้ว

ลองถามตัวเองดูซิว่า คุณยังทำสิ่งนี้อยู่หรือไม่

สมัยนี้สื่อเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องนั่งปั้นตัวอักษรลงบนกระดาษ ไม่ต้องเลือกชนิดกระดาษ ไม่ต้องมีซอง ไม่ต้องกังวลว่าพับกระดาษถูกต้องหรือไม่ เพราะเราพิมพ์ข้อความส่งผ่านสื่อสังคมได้อย่างรวดเร็ว ข้อความก็ไม่เยิ่นเย้อ จะพูดอะไรก็พูดไปเลย ลายมืออ่านยากไม่มี เพราะเราสามารถเลือกฟอนต์สวยๆ ได้ ตัวสะกดก็มีโปรแกรมคอยแก้ไขให้ คำใหม่ๆ ก็ใช้ได้ตามใจชอบ

ที่สำคัญก็คือ เราสามารถเลือกการคุยกันเป็นส่วนตัว หรือจะคุยกันเป็นกลุ่มก็ได้ ถ้าเป็นแบบหลังนี้เราจะไม่มีความลับกันอีกต่อไป

กรณี “จดหมายผิดซอง” ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะเรา “เปิดซอง” ส่งมนุษย์ทั้งโลก

ทีนี้มาดูเรื่องโทรศัพท์กันบ้าง เมื่อก่อนนี้ หรือแม้แต่ในทุกวันนี้ ครูเคยสอนว่า ให้ “รับสาย” แล้วถามอย่างสุภาพว่าต้องการพูดกับใคร คนที่เป็นฝ่ายโทรศัพท์เข้ามาก็อาจจะบอกว่า “ขอพูดกับ” “ขอเรียนสายกับ…” แล้วจากนั้นก็จะมีคำต่างๆ เช่น “ยกหู” “ถือหู” “ถือสาย” “วางหู” ฯลฯ

ลองถามตัวเองดูซิว่า คุณยังทำสิ่งนี้อยู่หรือไม่

บางคนอาจจะตอบว่า ที่ทำงานบางแห่งยังทำกันอยู่

ส่วนโทรศัพท์บ้าน ถ้ายังมีอยู่ ก็แสดงว่ายังมีผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับอุปกรณ์แบบเดิม หรือยังมีบุคคลประเภท “คุณท่าน” อยู่ที่บ้าน

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ตำราเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยบางเล่มยังสอนเรื่องการเขียนจดหมายและการใช้โทรศัพท์ด้วยวิธีการแบบเดิมอยู่

แล้วจะไม่ให้เด็กเบื่อวิชาภาษาไทยได้อย่างไร