โฟกัสพระเครื่อง/พระสมเด็จหลวงปู่ลำภู พระกรุบางขุนพรหม วัดใหม่อมตรส กทม.

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระสมเด็จหลวงปู่ลำภู

พระกรุบางขุนพรหม วัดใหม่อมตรส กทม.

“วัดใหม่อมตรส” วัดราษฎร์เก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านพานถม บางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ตามประวัติวัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้นในปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดวรามะตาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า วัดอำมาตยรส หรือ วัดอมฤตรส แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดบางขุนพรหม หรือ วัดบางขุนพรหมใน คู่กันกับวัดบางขุนพรหมนอก หรือ วัดอินทรวิหาร

ต่อมาเมื่อปี 2460 ได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดใหม่อมตรส สมัยนั้นบริเวณวัดร่มรื่นมาก ด้วยมีต้นไม้ใหญ่นานาชนิด

วัดนี้มีเจ้าอาวาสดำรงตำแหน่ง เท่าที่สืบทราบได้ คือ พระอธิการอ่อน พระอธิการอยู่ พระอธิการเทศ พระอธิการแถม พระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง)

และพระครูบริหารคุณวัตร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

วัดใหม่อมตรส มีชื่อเสียงในด้านวัตถุมงคล คือ พระสมเด็จ กรุวัดใหม่อมตรส ตามประวัติบันทึกไว้ว่า เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411 เสมียนตราด้วง ผู้เป็นต้นตระกูล ธนโกเศศ มีจิตศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมใน และได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ไว้เพื่อบรรจุพระสมเด็จ

เสมียนตราด้วง อาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ประกอบพิธีสร้างขึ้น พร้อมกับเมตตาปลุกเสกให้ โดยมีจำนวนพระที่สร้างประมาณ 84,000 องค์ ตามคตินิยมเท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์

เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ให้เสมียนตราด้วงนำพระเข้าบรรจุกรุไว้ที่ในเจดีย์องค์ใหญ่หลังอุโบสถสืบมา

วัดใหม่อมตรส นอกจากมีชื่อเสียงในเรื่อง “พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม”

“พระสมเด็จของหลวงปู่ลำภู” มีความโด่งดังไม่แพ้กัน ทุกพิมพ์ทุกเนื้อ มีขั้นตอนการจัดสร้างมวลสารนำมาจากกรุวัดใหม่อมตรส ซึ่งเป็นพระผงสมเด็จของแท้ที่แตกหักชำรุดเสียหาย ท่านนำมาผสมกับมวลสารและผงวิเศษต่างๆ นำมาจัดสร้างเป็นสมเด็จ พุทธคุณจึงดีพร้อมทุกประการ

เฉกเช่นพระพิมพ์สมเด็จที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ สร้างไว้

ย้อนไปในปี พ.ศ.2500 วัดใหม่อมตรส ประกอบพิธีเปิดกรุเจดีย์อย่างเป็นทางการ พบพระพิมพ์สมเด็จจำนวนมาก ซึ่งจัดสร้างโดย สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

วัตถุมงคลพระพิมพ์สมเด็จบางส่วน ชำรุดแตกหัก หลวงปู่ลำภู นำเอาชิ้นส่วนพระสมเด็จกรุวัดใหม่อมตรส นำมาผสมกับมวลสารผงวิเศษต่างๆ รวมถึงพระสมเด็จวัดระฆังฯ วัดบางขุนพรหมกรุเก่า และวัดไชโยวรวิหาร และมวลสารต่างๆ นำมาผสม สร้างเป็น “พระพิมพ์สมเด็จ” เมื่อปี 2502 แบบหลังเรียบ มีทั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เกศทะลุซุ้ม และพิมพ์ใหญ่ หลังยันต์หมึกแดง พิมพ์ใหญ่เนื้อผงใบลาน พิมพ์ใหญ่ต้อ พิมพ์อกครุฑ พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ปรกโพธิ์ และพิมพ์หลังยันต์จม พิมพ์จันทร์ลอยเนื้อผงใบลาน พิมพ์จันทร์ลอยเนื้อสีขาว

ต่อมา ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่นักสะสม ด้วยมีมวลสารของพระสมเด็จบางขุนพรหม เปิดกรุเมื่อปี 2500 ผสมอยู่มาก

ตามที่มีหลักฐานปรากฏ “พระพิมพ์สมเด็จ หลวงปู่ลำภู” ทุกพิมพ์สร้างไว้จำนวน 2,216 องค์ ซึ่งไม่ได้บรรจุกรุ และไม่ได้ปั๊มตรายางด้านหลัง

ทั้งนี้ หลวงปู่ลำภู เน้นพิธีกรรมเป็นหลักใหญ่ “พระพิมพ์สมเด็จ” ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวเป็นประจำทุกคืน ก่อนนำบรรจุไว้ในกรุที่วัดไก่จ้นและบางส่วนมอบให้คณะศิษยานุศิษย์

ปัจจุบัน พระพิมพ์สมเด็จ หลวงปู่ลำภู ไม่ว่าจะเป็นหลังเรียบ ยันต์หมึกแดง หรือยันต์จม ทุกพิมพ์เป็นที่เสาะแสวงหากันมากมาย จนสนนราคาเล่นหาขยับสูงขึ้นมาก

“พระครูอมรคุณาจารย์” หรือ “หลวงปู่ลำภู คังคปัญโญ” อดีตรองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพฯ

นามเดิม ลำภู เรืองนักเรียน เกิดที่บ้านไก่จ้น ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2444 บิดา-มารดา ชื่อ นายคง-นางผิว เรืองนักเรียน ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2465 เวลา 10.29 น. ที่วัดไก่จ้น ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา มีเจ้าอธิการบัติ อินทโชติ เจ้าอาวาสวัดสะตือต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเอี่ยม กิติวัฑฒโน วัดถลุงเหล็ก ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาทองดี วัดบัวงาม ต.จำปา อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา คังคปัญโญ

หลังอุปสมบท ศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นที่วัดไก่จ้น จนอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ปี 2473 สอบนักธรรมชั้นตรีได้ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดหนองเขื่อนช้าง จ.สระบุรี

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2469 ย้ายจากวัดไก่จ้นไปอยู่ที่วัดช่างทอง ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาธรรมะและกรรมฐาน โดยมีพระอาจารย์จำรัส เป็นอาจารย์สอน ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในสมัยนั้น ท่านศึกษากัมมัฏฐานร่ำเรียนวิทยาคม เป็นเวลา 7 ปี

จากนั้นปี 2477 ย้ายจากวัดช่างทอง ไปอยู่วัดใหม่อมตรส เพื่อศึกษาต่อ ปี 2502 ได้รับตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส ปี 2512 ได้รับตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2510 เป็นพระครูสังฆรักษ์ ตำแหน่งฐานานุกรมของพระสุธรรมธีรคุณ พระราชาคณะเสมอชั้นราช วัดสระเกศฯ พ.ศ.2525 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี รองเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส

มรณภาพเมื่อปี 2533 ด้วยโรคชรา สิริอายุ 88 ปี 9 เดือน 4 วัน