เหรียญ-พระสมเด็จ มงคล ‘หลวงปู่หนู’ เทพเจ้าแห่งเขาขลุง

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญ-พระสมเด็จ

มงคล ‘หลวงปู่หนู’

เทพเจ้าแห่งเขาขลุง

 

“หลวงปู่หนู ปัญญาโสโต” หรือ “พระครูปัญญาวิภูษิต” อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่สามเกาะ ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดัง ได้รับการขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งเขาขลุง”

เป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมจากพระเกจิชื่อดัง อาทิ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม, หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจัดสร้างวัตถุมงคล-เครื่องราง ในวาระต่างๆ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ศิษยานุศิษย์

วัตถุมงคลที่ออกมาแต่ละรุ่น ได้รับความนิยมจากบรรดานักสะสมพระในตัวจังหวัดราชบุรีและใกล้เคียง คือ เหรียญรุ่นแรก และพระสมเด็จ ทั้งหมดจะนำรายได้สมทบทุนใช้ด้านสาธารณประโยชน์

เหรียญรุ่นแรก สร้างในปี พ.ศ.2515

สร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ สร้างจำนวน 10,000 เหรียญ โดยบรรจุไว้ใต้อุโบสถจำนวน 3,000 เหรียญ และเนื้อทองแดงกะไหล่ไฟ สร้างจำนวน 5,000 เหรียญ

ออกให้บูชาในงานปิดทองผูกพัทธสีมา (ฝังลูกนิมิต) ในปี พ.ศ.2515

หลวงปู่หนู ปัญญาโสโต

 

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว ขนาดความกว้าง 2.1 เซนติเมตร ส่วนสูง 3 เซนติเมตร

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ เขียนว่า “พระครูหนู ปัญญาโสโต” ถัดขึ้นไปเป็นอักขระเลขยันต์ 3 ตัว อ่านได้ว่า มะ อะ อุ ด้านบนเขียนว่า “วัดไผ่สามเกาะ อ.บ้านโป่ง”

ด้านหลัง ของเหรียญเป็นยันต์นะละลวย รายล้อมด้วยคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “จ.ราชบุรี ๒๕๑๕”

สำหรับพระสมเด็จ รุ่นแรก สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2520 เนื้อผงพุทธคุณที่มีเอกลักษณ์สามารถจดจำได้ง่าย ที่ระลึกให้กับลูกศิษย์ลูกหาที่บริจาคเงินเพื่อพัฒนาวัด โดยใช้เนื้อผงพุทธคุณที่รวบรวมและลบผงเองเป็นส่วนผสมหลัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปพระสมเด็จพิมพ์พระประธานฐาน 3 ชั้น ครอบซุ้มระฆัง ภายในครอบระฆังมีต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์มีเอกลักษณ์สามารถจดจำได้ง่าย

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “วัดไผ่สามเกาะ อ.บ้านโป่ง ราชบุรี”

ปัจจุบัน วัตถุมงคลทั้งสองชิ้น เป็นที่เสาะแสวงหากันมากมาย จนสนนราคาเล่นหาขยับสูงขึ้นมาก

เหรียญหลวงปู่หนู รุ่นแรก

 

มีนามเดิม หนู กันขำ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2462 ที่บ้านไผ่สามเกาะ ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

วัยเด็กจบการศึกษาชั้น ป.4 ที่โรงเรียนเขาขลุง เมื่ออายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสระตะโก ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง มีพระครูเมธาธิการ (หลวงพ่อหวาน) เจ้าคณะตำบลหนองปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูบุญนาค สักการวโร วัดลำพยอม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ม่วง วัดไผ่สามเกาะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ปัญญาโสโต

หลังอุปสมบทย้ายมาอยู่จำพรรษาอยู่วัดไผ่สามเกาะ ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก

ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาด้านพุทธาคม วิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระเกจิชื่อดัง

ในปี พ.ศ.2486 เดินทางไปกราบนมัสการหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม ฝากตัวเป็นศิษย์ขอศึกษาพุทธาคม

ได้รับความเมตตาสอนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้เป็นอันดับแรก สอนพระคาถากำบัง วิชามหาอุด และคงกระพันชาตรี ใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 1 ปี

พรรษาที่ 7 เดินทางไปกราบนมัสการหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขอศึกษาเรียนพุทธาคม เช่น คาถาเสกหุ่น หนุนธาตุ คาถามหาอุด และการทำกสิณต่างๆ เช่น กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ และปัฐวีธาตุ จนสามารถบรรลุกสิณ 10

หลังจากนั้น ไปกราบนมัสการหลวงพ่อเต๋ คงทอง ที่วัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ซึ่งหลวงพ่อเต๋เป็นศิษย์หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ด้วยเช่นกัน เข้าขอศึกษาและปรึกษารับการแนะนำในการใช้วิชาต่างๆ จากหลวงพ่อเต๋ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้พี่และเป็นทั้งพระอาจารย์

พระสมเด็จหลวงปู่หนู

 

พ.ศ.2490 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไผ่สามเกาะ

พ.ศ.2512 เป็นพระอุปัชฌาย์

ถึงแม้ว่าจะมีตำแหน่งปกครอง แต่หาได้หยุดนิ่งในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

อีกทั้งเป็นพระนักพัฒนา สร้างความเจริญให้กับชาวตำบลเขาขลุง ทั้งในด้านพระศาสนา ก่อสร้างอาคารศาสนสถาน

ในด้านการศึกษา มอบที่ดินวัดจำนวน 20 ไร่ สำหรับสร้างโรงเรียนวัดไผ่สามเกาะ (ปัญญาประชาสามัคคี) และยังได้ซื้อที่ดินบริจาคสร้างสถานีตำรวจชุมชนเขาขลุง สถานีอนามัยเขาขลุง และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง

ยังสงเคราะห์ช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นจากความแห้งแล้ง ด้วยการยกที่ดินของวัดจำนวน 5 ไร่ สำหรับขุดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคร่วมกัน

เป็นนักอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ ด้วยการชักชวนชาวบ้านให้ปลูกต้นไม้นานาพันธุ์ บนเนื้อที่ 25 ไร่ ให้กลายเป็นผืนป่าที่สำคัญของชุมชน

เวลาใดปลอดญาติโยม จะเข้าอุโบสถปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

หลักธรรมคำสอนเน้นในเรื่องของความเป็นผู้สันโดษ มักน้อย ใช้ชีวิตอย่างพอดี พอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ธรรมที่แสดงจึงเรียบง่าย ทุกคนได้ฟังแล้วมีความเข้าใจ

 

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อเวลา 12.02 น. วันที่ 20 สิงหาคม 2560 สิริอายุ 98 ปี พรรษา 76

ก่อนหน้านี้ มีอาการอาพาธตามวัย โดยอาการทรงและทรุดมาตลอด จนถึงวาระสุดท้าย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลซานคามิลโล อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว คณะแพทย์ไม่สามารถรักษาประคับประคองได้

สร้างความเศร้าสลดอาลัยเป็นอย่างยิ่ง