ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกหมุนเร็ว |
เผยแพร่ |
การเป็นผู้นำประเทศสักประเทศหนึ่งนั้น ผู้นำคงต้องทำใจว่าต้องพบกับเรื่องที่ตัดสินใจยากลำบากแบบไม่คาดคิด และต้องตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ จะไปทางซ้ายก็ยาก ทางขวาก็ลำบาก เหมือนกับที่วันนี้นายกฯ ตู่ของประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาธรรมกายที่เซ็นซิทีฟเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาที่อาจบานปลายจนหาทางปิดเรื่องได้ยากลำบาก
นายกรัฐมนตรีคาเมรอนของอังกฤษก็เจอเรื่องยากพอกัน
จากวันที่เขียนต้นฉบับนี้อีก 2 วัน คือวันที่ 23 มิถุนายน คนอังกฤษก็จะต้องลงคะแนนเสียงว่าจะอยู่กับประชาคมยุโรปหรือแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศ
ไม่ทันไรเมื่อสี่วันที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนหญิงแห่งพรรคแรงงาน โจ ค็อกซ์ ผู้รับการนับหน้าถือตาเป็นอย่างมาก และสนับสนุนการอยู่ร่วมกับอียูก็ถูกสังหารโหด
โจ ค็อกซ์ จบเคมบริดจ์ และเคยเป็นที่ปรึกษาของ นางซารา บราวน์ ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ เธอเป็นผู้รณรงค์เรื่องการเหยียดผิวอย่างเหนียวแน่น เป็นนักการเมืองผู้มีอนาคตไกลวัย 41 และเป็นคุณแม่ลูกสอง
แม้ผู้สังหารจะเป็นผู้ป่วยด้านจิต แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงการแตกแยกทางความคิดที่รุนแรง ผู้สังหารรายนี้ตะโกนก้องขณะสังหารด้วยปืน 3 นัดและจ้วงแทงเหยื่อว่า “Britain First” แสดงให้เห็นถึงการคลั่งชาติอย่างรุนแรง
นี่คือปัญหาอันหนักหน่วงของใครก็ตามที่เป็นผู้นำประเทศอังกฤษ
เดวิด คาเมรอน ไม่เพียงต้องเผชิญกับความกดดันจากประชาคมยุโรปที่ถือว่าเป็นปัญหาภายนอก แต่ต้องเผชิญกับปัญหาภายในคือการแบ่งแยกทางความคิดด้วย
หลังจากการลงคะแนนเสียงวันที่ 23 เป็นต้นไป ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผู้นำก็ต้องหนักใจ เป็นความหนักใจคนละแบบกัน เพราะมันจะไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
ถ้าการลงคะแนนทำให้อังกฤษอยู่กับประชาคมยุโรปต่อไป พวกคลั่งชาติจะโกรธแค้นและทำอะไรต่อไปก็สุดจะคาดเดา
นั่นเป็นเรื่องการบ้าน
ถ้าหากอังกฤษมีความไม่ปลอดภัย ทั้งประชาชนและชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไปก็คงต้องหวาดกลัว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเมืองภายในพรรคอนุรักษนิยมด้วยกัน ขณะนี้สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ได้ออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่าไม่สนับสนุนการอยู่ร่วมกับประชาคมยุโรป คาเมรอนต้องทำงานกับบรรดา ส.ส. ของพรรคที่ดื้อด้าน ซึ่งมีแนวโน้มจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับนโยบายผู้อพยพ (UKIP – UNITED KINGDOM IMMIGRATION POLICY) ที่ได้ทำ referendum ไว้แล้ว
หากฟากที่ออกเสียงให้อังกฤษอยู่กับอียูชนะ ซึ่งน่าจะเป็นการชนะที่เฉียดฉิวมาก คาดการณ์ว่าอยู่ระหว่าง 50.1-53 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นชัยชนะที่ไม่ขาดลอย สร้างความลำบากให้อังกฤษซึ่งแม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่าคุณภาพประชาธิปไตยในอเมริกากับอังกฤษนั้นต่างกัน
คนอเมริกันยอมรับในกติกาประชาธิปไตยมากกว่า แม้ชัยชนะจะไม่มาก แต่เมื่อชนะแล้วก็คือชนะ ทุกคนยอมรับ
ส่วนคนอังกฤษน่าจะดื้อรั้นกว่า (อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า ในสังคมที่ดื้อรั้น อาจต้องนับคะแนนแบบ ต้องเลย 60 หรือ 70% จึงจะให้ชนะได้)
การชนะเพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ต้นๆ จะทำให้ฝ่ายที่ต้องการแยกจากประชาคมยุโรปคิดว่า “เห็นไหม คนสนับสนุนมีไม่มาก” โดยเฉพาะบรรดา ส.ส. ในพรรคอนุรักษนิยมที่สนับสนุนการแยกจากอียูก็จะได้ทีกระด้างกระเดื่องต่อนายคาเมรอน และภายในพรรคเองก็จะมีบรรยากาศอึมครึม เพราะความเห็นแตกแยกกัน เหมือนที่เคยเป็นมาในกรณีการแยกตัวของสกอตแลนด์
ส.ส. ของพรรคอนุรักษนิยมบางคนยังได้พูดไว้เป็นนัยๆ แล้วว่านายคาเมรอนจะต้องเผชิญกับการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจในอนาคต ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะมี ส.ส. ถึง 50 คนลงชื่อรวมกันเสนอเรื่องไปที่พรรคว่าต้องการเปิดลงคะแนนเสียงหรือไม่
เมื่อดูไปที่เรื่องที่เคยเกิดขึ้นคล้ายคลึงกันในสมัยของ นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ แล้วก็น่าคิด แทตเชอร์เคยผ่านการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจมาได้ครั้งหนึ่ง แต่ต่อมาเธอก็หมดอำนาจและพ่ายแพ้ไป
กรณีของนายคาเมรอนก็จะคล้ายกัน หากจะมีการลงคะแนนในพรรคเกิดขึ้นเสียงก็น่าจะเทมาที่ นายจอร์จ ออสบอร์น ผู้สนับสนุนการแยกตัวจากอียู นายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีนครลอนดอน และ นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรียุติธรรม ทั้งหมดนี้นายจอห์นสันดูจะเป็นตัวเต็ง
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พรรคอนุรักษนิยมจะต้องเผชิญกับการสูญเสียคะแนนนิยมอันเนื่องมาจากกรณีการรวมหรือแยกจากประชาคมยุโรปนี้
ความหวังที่เหลืออยู่สำหรับนายคาเมรอนและอังกฤษคือความพยายามทีอังกฤษจะแสดงบทบาทผู้นำในประชาคมยุโรป ดังที่อังกฤษเคยแสดงเจตจำนงที่จะปฏิรูปประชาคมยุโรป อังกฤษเคยเป็นชาติที่เกรียงไกรในอดีต และคนอังกฤษก็เลือกที่จะรักษาภาพนั้นไว้
ไม่ว่ามันจะตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบันหรือไม่ก็ตาม