การศึกษา/ ดราม่า! สอย 93 ‘ผศ.-รศ.’ ล้างทุจริตรั้วมหาวิทยาลัย

การศึกษา

ดราม่า! สอย 93 ‘ผศ.-รศ.’

ล้างทุจริตรั้วมหาวิทยาลัย

 

ทําเอามหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องสะดุ้ง

หลังคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สั่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ทบทวนการแต่งตั้งบุคลากรดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งรองศาสตราจารย์ (รศ.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รวม 43 ราย

แบ่งเป็น ตำแหน่ง รศ.จำนวน 14 ราย และ ผศ.จำนวน 29 ราย

โดย ก.พ.อ.มีความเห็นว่า ดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการตรวจสอบการได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการ และพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีการปลอมแปลงลายเซ็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

โดยให้สภา มรภ.มหาสารคามเร่งพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และรายงานผลให้ ก.พ.อ.ทราบภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภา มรภ.มหาสารคามทราบเหตุดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ หากสภามิได้ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้า หรือไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ก.พ.อ.จะขอให้สำนักงานปลัด อว.เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พิจารณาให้ข้อเสนอแนะ เพื่อรัฐมนตรีว่าการ อว.ใช้อำนาจตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ต่อไป

ที่สำคัญ ก.พ.อ.ขอให้สภา มรภ.มหาสารคามพิจารณาด้วยว่ากรณีดังกล่าวมีผู้บริหาร หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย กระทำความผิดทางวินัยด้วยหรือไม่

ถ้าพบว่ามี ให้ดำเนินการทางวินัย และแจ้งผลการพิจารณาในส่วนนี้ให้ ก.พ.อ.ทราบภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมตินี้ด้วยเช่นกัน

 

ที่มาของการตรวจสอบในครั้งนี้ เนื่องจากมีการร้องเข้ามาให้ ก.พ.อ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี 2563 โดยกรรมการสภารายหนึ่งพบข้อมูลการเบิกจ่ายเงินที่ผิดปกติหลายรายการ

เช่น เชิญอาจารย์จากภาคใต้มาเป็นวิทยากร แต่เบิกจ่ายเป็นค่ารถ แทนที่จะเบิกค่าเครื่องบิน

หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่อ่านผลงานทางวิชาการบางรายเสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังมีการเซ็นชื่อเบิกจ่ายเบี้ยประชุม และค่าประเมินผลงาน

ตรงนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจจะมีกระบวนการทุจริต โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะมีการเบิกจ่ายเงินจากการดำเนินการในส่วนนี้ ส่วนตัวผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการจะรู้เห็นด้วยหรือไม่นั้น ไม่แน่ใจ แต่เมื่อกระบวนการผิดพลาดก็ต้องทบทวน

ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการและสั่งให้มีการทบทวนจำนวนมาก

นอกจากนี้ ก.พ.อ.ขอให้สภาปรับปรุงระบบการดำเนินการขอดำรงตำแหน่งทางวิชาการของข้าราชการพลเรือน รวมถึงการขอดำรงตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ.อ.กำหนด โดยเคร่งครัดตามความมาตรา 14(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

รวมทั้งมีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต และการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งมตินี้ และรายงานให้ ก.พ.อ.ทราบ

 

ขณะที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ครั้งที่ 9/2564 มีมติในกรณีเกิดขึ้นที่คล้ายคลึงกับ มรภ.มหาสารคาม คือการทุจริตการขอตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัยพิษณุโลก

โดยให้สภาถอดถอนตำแหน่ง 50 ราย เป็น ผศ. 42 ราย และ รศ. 8 ราย และ สป.อว.จะไม่นำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) 1 ราย โดยให้สภามหาวิทยาลัยพิษณุโลกไปตรวจสอบ และทบทวนใหม่ โดยจะให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับ มรภ.มหาสารคาม

พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้ อว.ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทุกสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ระวังและป้องกันการเกิดทุจริตการขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบการศึกษา และธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย

นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.ระบุว่า สำนักงานปลัด อว.อยู่ระหว่างทำหนังสือแจ้งไปยังสภา มรภ.มหาสารคาม เพื่อดำเนินการตามมติ ก.พ.อ. เพราะการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ ถือเป็นอำนาจสภา เมื่อได้รับทราบมติดังกล่าวอย่างเป็นทางการ สภาต้องไปดำเนินการทบทวนการอนุมัติตำแหน่งทางวิชาการทั้ง 43 ราย หากเห็นว่ารายใดไม่มีความผิด ให้ชี้แจงเหตุผลมาได้ที่ ก.พ.อ.

“ถ้าสภาไม่ดำเนินการตาม สป.อว.จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ อว.ใช้อำนาจตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 สั่งการให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการ หรือยุติการดำเนินการของสภา และอาจใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ อว.สั่งตั้งกรรมการเข้าไปแทนกรรมการสภาบางราย ซึ่งถือว่ารัฐมนตรีว่าการ อว.มีอำนาจในการควบคุม และกำกับดูแลมหาวิทยาลัยโดยตรง” นายศุภชัยกล่าว

สำหรับผู้ที่ถูกถอดถอน จะต้องคืนเงินประจำตำแหน่งย้อนหลัง ซึ่งเรื่องนี้สภาต้องเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนจะตรวจสอบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วยหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องมีผู้ร้องเรียนเข้ามา หากใครมีข้อมูลความผิดปกติในมหาวิทยาลัย สามารถร้องมาที่ อว.เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป

เชื่อว่าจากนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ จะพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้โปร่งใส เป็นการกวาดล้างทุจริตที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยได้อีกเรื่องหนึ่ง