จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 8-14 ตุลาคม 2564

จดหมาย

เผา บช.น.ผ่านฟ้าฯ ตุลาคม 16

 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ผ่านมาเกือบห้าสิบปีแล้ว

ช่วงท้ายๆ ของเหตุการณ์ ตอนเผากองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านฟ้าฯ

ผมก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย

ก่อนหน้านั้น ราวสองเดือน

ผมขึ้นไปขลุกอยู่กับพวกลีซอ (ลีซู) และอีก้อ (อาข่า)

เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพวกชาวเขา (ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2512) ที่บ้านดอยหัวแม่คำ ในเขตของตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

และก็ติดตามข่าวการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยการนำของเหล่านิสิตนักศึกษา ที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มาตลอด

วันที่ 12 ตุลาคม ผมพร้อมลูกหาบหนึ่งคนที่ทำหน้าที่ทั้งลูกหาบและคนนำทาง เดินเท้าแต่เช้าออกจากบ้านดอยหัวแม่คำ

จวนค่ำก็มาพักที่บ้านอีก้อแห่งหนึ่ง ที่บ้านหินแตก ห้วยหม้อ (ถิ่นกองกำลังของขุนส่า) 1 คืน

เช้ามืดของวันที่ 13 ตุลาคม รีบเดินทางด้วยเท้า จากบ้านหินแตก มาถึงบ้านเย้า (เมี่ยน) ผาเดื่อจวนมืดเข้าพักที่บ้านพักของ

สหายสนิทอาวุโส เลาฉี แซ่ลี หัวหน้าหมู่บ้านอีก 1 คืน

เช้ามืดวันที่ 14 ตุลาคม รีบเดินทางด้วยเท้าผ่านศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาไปถึงปากทางถนนพหลโยธิน

นั่งรถเข้าเชียงราย พักที่โรงแรมเชียงราย 1 คืน

เช้าวันที่ 15 ตุลาคม นั่งรถ บ.ข.ส.เข้าเมืองกรุง ถึงบ้านที่กรุงเทพฯ เกือบสามทุ่ม

 

จุดประสงค์ที่มา มีอย่างเดียวอยากจะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไว้บนฟิล์มภาพยนตร์ และภาพนิ่งให้ได้มากที่สุด

วันที่ 16 ตุลาคม เริ่มออกปฏิบัติงานตั้งแต่ช่วงสาย

มีกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาด 16 ม.ม. 1 ตัว พร้อมอุปกรณ์ กล้องถ่ายภาพนิ่ง 2 ตัว เทปบันทึกเสียงกระเป๋าหิ้ว 1 ตัว สะพายพะรุงพะรัง แบบวันแมนโชว์ (ด้วยความจำเป็นเพราะหาคนร่วมงานไม่ได้)

จุดสำคัญที่ผมปักหลักอยู่คือแถวแยกผ่านฟ้าฯ

ช่วงก่อนเที่ยง ผู้คนที่โกรธแค้นทหาร ตำรวจที่เข่นฆ่าประชาชน รวมตัวกันเอาคืนตำรวจ (ถนอม ประภาส ณรงค์ พร้อมครอบครัว เดินทางออกนอกประเทศแล้ว)

เป้าหมายสำคัญในวันนั้น คือการบุกยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านฟ้าฯ

ขณะที่ผู้คนคืบคลานเข้าไปใกล้ บางส่วนก็ทุบทำลายสัญญาณไฟจราจรแถวนั้น

รถปิกอัพสี่ล้อคันหนึ่งก็ขับเคลื่อนเข้ามา บนกระบะหลังมีนิสิต 2 คน

จำได้ว่านิสิตคนหนึ่งคือ จิระนันท์ พิตรปรีชา ในชุดเครื่องแต่งกายของนิสิตมหาวิทยาลัย ส่วนอีกคนร่างท้วม สวมแว่นสายตา คือ เสาวณีย์ สิมมานนท์

ถือโทรโข่งพูดขอร้องประชาชน ไม่ให้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ วนไปวนมาหลายรอบ แต่ไร้ผล ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความโกรธแค้นของประชาชนได้

ที่สุดรถก็ขับออกไปจากที่เกิดเหตุ

แล้วผู้คนจำนวนมากก็ค่อยๆ หนุนเนื่องเข้าใกล้กองบัญชาการ

มีเสียงปืนยิงขู่รัวออกมาเป็นชุดๆ

พอเสียงปืนดังขึ้น ผู้คนก็หมอบลงกับพื้น

พอเสียงปืนหยุดก็ค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปใหม่

ตอนหมอบลงกับพื้น อีตาปิยพงศ์ หมอบกับเขาไม่ไหว ได้แต่นั่งคุกเข่า เพราะสัมภาระพะรุงพะรังนั่นเอง

นี่หากเป็นช่วงพฤษภาคม 2553 ที่ราชประสงค์ นั่งคุกเข่าหัวเด่อยู่แบบนั้น คงเจอสไนเปอร์หัวกระจุยกระจายไปแล้ว

เล่นเอาเถิดแบบนั้นกันหลายเที่ยวเหมือนกัน

ที่สุดเสียงปืนจากฝ่ายตำรวจก็เงียบหายไป

ผู้คนตะโกนบอกกล่าวกันต่อๆ มาว่าตำรวจในกองบัญชาการถอดเครื่องแบบ ปีนรั้วหนีออกไปทางด้านหลังแล้ว

แล้วการยึดก็สำเร็จ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านฟ้าฯ ถูกประชาชนฌาปนกิจเป็นกองเถ้าถ่านไปเรียบร้อย

 

เอาความหลังมาเล่าสู่กันฟัง ให้พ่อหนู แม่หนู คนรุ่นใหม่ได้รู้

ประชาธิปไตยไม่ได้มาง่ายๆ

คนรุ่นปู่-ย่า ตา-ยาย เขาเสียสละมามากมาย แม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์กลับคืนมา

เห็นไหม คุณย่าคนสวย จิระนันท์ พิตรปรีชา ท่านก็สู้มาแบบสุดๆ

เข้าป่าจับปืนสู้ก็ทำมาแล้ว มาถึงตอนนี้ 66 ปีแล้ว สังขารร่างกายก็เริ่มโรยรา แต่ก็ยังให้การสนับสนุนและเป็นห่วงพ่อหนู แม่หนู

อย่างที่เคยปรากฏบนหัวมุมปกมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 16-22 เมษายน 2564 “จิระนันท์ พิตรปรีชา แลผ่านแว่น 66 ปี ถึงคนรุ่นใหม่ ทั้งห่วง ทั้งสนับสนุน สู้เพื่อยุติธรรม”

ส่วนคุณปู่รูปหล่อ ปิยพงศ์ (ฮ่า) วัยมากกว่าคุณย่าจิระนันท์นิดหนึ่ง ก็ยังสู้ไม่ถอยเหมือนกัน และก็ขอให้กำลังใจกับพ่อหนูแม่หนูผู้กล้าหาญ

ขอให้สำเร็จเหมือนคำขวัญของพวกหนูที่ว่า “ขอให้มันจบในรุ่นเรา”

ส่วนปู่ปิยพงศ์ ก็มีคติประจำตัวเหมือนกัน “ความยุติธรรมต้องมาก่อน”

ขอให้ปลอดภัยและโชคดีกันทุกคน

“ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน)

 

คงจะดีกว่านี้มากมายนะ คุณปู่รูปหล่อปิยพงศ์

หากสิ่งที่เรามอบให้ลูก-หลานในวันนี้

คือประชาธิปไตยอันสมบูรณ์

ไม่ใช่คำอวยพร ให้ปลอดภัยและโชคดี

แต่ด้วยเรามิอาจทำให้จบในรุ่นคุณปู่คุณย่าได้

จึงต้องมาเป็นภาระอันหนักอึ้ง

ให้ลูก-หลานแบกในวันนี้