ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 8-14 ตุลาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

…เมื่อกฎหมายถูกปลิดปลง

ความยุติธรรมไม่ดำรง

ความเหลื่อมล้ำยิ่งอยู่ยง

วิหิงสา บด อหิงสาเป็นผง

ก็ยังคงให้อภัย?

 

คือ ตอนหนึ่งของกวีนิพนธ์ “6/14 ตุลา” ในคอลัมน์ “รูปที่ไร้ใจครอง” ของละไมมาด คำฉวี (หน้า 70)

ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบได้ดี

ว่า ไฉนคนไทยจึงยังต้องวนเวียนรำลึก 6 ตุลาคม 2519 และ 14 ตุลาคม 2516 กันอยู่

ทำไมไม่ให้อภัย? หรือเลิกราต่อกันเสียที

 

สอดคล้องกับบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์ “ฐานทางความคิดของการเปลี่ยนแปลง”

ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยนั้น

แม้เกิดขึ้นและดูจะเปิดโอกาสให้ยุคใหม่เติบกล้าขึ้น

แต่ในที่สุดก็วนกลับมาสู่ความสืบเนื่องของยุคเก่าอยู่นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มากพอจะรองรับยุคใหม่ทางการเมืองได้

และในทางตรงกันข้าม

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกลับเสริมสร้างให้ยุคเก่าหรือระบอบเก่าสามารถปรับตัวได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

การปฏิวัติ 2475 แม้เป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใหญ่มาก

แต่ไม่ตามมาด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มากพอจะรองรับการเมืองใหม่ได้ในระยะยาว

หลัง 2490 หรือหลัง 2500 การเมืองไทยก็หันกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่ชนชั้นนำซึ่งกว้างกว่าราชบัลลังก์เพียงฝ่ายเดียว ได้ถืออำนาจร่วมกันอย่างเหนียวแน่นสืบมา

2500 นำมาซึ่งนโยบายพัฒนาที่เปลี่ยนสังคมไทยไปอย่างมโหฬาร

แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้กลับมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่มากนัก

14 ตุลา, พฤษภา 35, รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ยั่งยืนสักครั้ง

 

แต่กระนั้น “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

ยืนยันอย่างที่ยืนยันมาหลายครั้งในห้วงปีหลัง

นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงยังจะเกิดขึ้นต่อไป

และที่สำคัญ อาจจะไม่ซ้ำรอยดังอดีต

“…ผมและอีกหลายคนกำลังรู้สึกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดในเมืองไทยเวลานี้ จะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ

อย่างน้อยก็เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิมรองรับ

อันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ได้สั่งสมเงื่อนไขมานานและกระทบต่อคนจำนวนมาก…

และด้วยเหตุดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้

จึงมีฐานทางปรัชญามากกว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงดังครั้งอื่นๆ”

 

“นิธิ เอียวศรีวงศ์” มีเหตุผลอย่างไร

คงต้องพลิกอ่านที่หน้า 28-29

พร้อมกับย้ำเตือน “อีกครั้ง” และ “อีกครั้ง” ว่า

“…ที่น่าตกใจยิ่งกว่าความเปลี่ยนแปลงก็คือ ยิ่งเปลี่ยนมาก หรือยิ่งมองเห็นความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร

แทนที่ชนชั้นนำจะปรับตัวให้สอดรับกับความคิดใหม่ที่เกิดขึ้น

พวกเขากลับหันหลังมุ่งหน้าไปสู่อะไรที่เก่าแก่โบราณมากยิ่งขึ้นไปอีก

ปัญหาเกิดขึ้นเพราะสิ่งเก่าแก่โบราณเหล่านั้นสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ไปหมดแล้วต่างหาก

การกลับไปหาความเก่าแก่โบราณจึงไม่ได้ทำให้อำนาจของพวกเขาศักดิ์สิทธิ์ขึ้นแม้แต่น้อย”

และ…

“ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในเวลานี้

พวกเขาก็เหมือนเราทุกคน คือล้วนเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงชีวิตของตนทั้งนั้น

จะก่นด่าประณามคนรุ่นใหม่ด้วยค่านิยมไทยๆ สมัยก่อนอย่างไร

พวกเขาก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างเดียวกับที่เราก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ปัญหาอยู่ที่ว่า เราทุกฝ่าย จะปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้อย่างไรต่างหาก…”

 

รําลึก 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการลุกฮือของเยาวชนคนรุ่นใหม่

ด้วยการอ่าน “ฐานทางความคิดของการเปลี่ยนแปลง” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์

ย่อมมากด้วย “รสชาติ” อย่างแน่นอน