มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล (1)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล (1)

 

คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนบอกว่า “โลกนี้ไม่ใช่โลกมนุษย์”

คงต้องใช้เวลาสักพักหลังสะดุดกับประโยคนี้แล้วจึงพยักหน้าตามว่า อ๋อ! ก็ใช่สิ มันเป็นโลกของแบคทีเรีย ไวรัส หมาป่า ไฮยีน่า หมึก วาฬ โลมา ปะการัง แมงมุม ยุง ก้อนหิน ดิน ทราย รวมถึงอะไรอีกมากมายสารพัดด้วย

ที่ต้องใช้เวลาสักพักเพราะเราคุ้นเคยกับคำว่า ‘โลกมนุษย์’ มาโดยตลอด

ยิ่งไปกว่านั้นคือเราเผลอเชื่อจริงๆ ว่าโลกนี้มีสายพันธุ์ Homo sapiens เป็นพระเอกนางเอก ส่วนสิ่งอื่นและชีวิตอื่นเป็นเพียงตัวประกอบที่โผล่เข้ามารับบทบาทในยามที่เราต้องการเท่านั้น

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ความรู้หลายอย่างวางอยู่บนกรอบที่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง ราวกับว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถสะสมความรู้และความเข้าใจต่อโลกและสรรพสิ่งรอบตัว

ส่วนสัตว์ พืช วัตถุทั้งหลายก็กลายเป็นเพียง ‘กรรม’ ของประโยคที่มี ‘ประธาน’ เป็นมนุษย์

พวกมันกลายเป็น ‘สิ่งที่ถูกรับรู้’ โดยมนุษย์เท่านั้น

พอผ่านยุคสมัยที่ฟรีดริช นีทเชอ ประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” ก็ดูเหมือน ‘มนุษย์’ นี่เองที่รับบทพระเจ้าต่อไปในโลกใบนี้ เราสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นจากความรู้ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจนโลกค่อยๆ กลายเป็น ‘โลกมนุษย์’ นำไปสู่ยุคสมัยแห่งมนุษย์หรือ ‘Anthropocene’

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือเล่มบางๆ ชื่อ Object-Oriented Ontology in One Hour โดยอาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ น่าหยิบขึ้นมาอ่าน เพราะชวนมองโลกในมุมที่ต่างไปจากมุมมองมนุษย์แบบเดิมๆ

 

ในเล่มนี้อธิบายว่ากระแสต่อต้านความคิดแบบมนุษยนิยม (Humanism) เริ่มก่อตัวจริงจังในทศวรรษที่ 1960

เริ่มมีการมองว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้าง แต่เป็นผู้ถูกสร้างต่างหาก

ฌีลส์ เดอเลิซ นักคิดฝรั่งเศสเสนอว่า มนุษย์ที่เราเห็นๆ กันอยู่นั้นประกอบไปด้วยสรรพสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น จีโนมในร่างกายมนุษย์นั้นมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นของมนุษย์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นของสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น

เมื่อเราตาย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็จะออกจากร่างกายแล้วไปประกอบร่างอยู่ในร่างอื่นชีวิตอื่นต่อไป

ดังที่ทราบกันว่า ในร่างกายเรามีสิ่งมีชีวิตจิ๋ว (จุลินทรีย์) อยู่ไม่น้อย แต่อาจไม่เคยจินตนาการว่าเซลล์แบคทีเรียในร่างเรานั้นมีจำนวนมากกว่าเซลล์มนุษย์

กระทั่งนักวิทยาศาสตร์บางคนหยอกว่าเรามีความเป็นแบคทีเรียมากกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ

มีแบคทีเรียเป็นหมื่นสายพันธุ์อยู่ในท้องเรา ยังไม่นับไวรัสและปรสิตจำนวนล้านล้านตัวที่อยู่บนร่างและในร่างของเราที่ก่อตัวเป็นยีนซึ่งมีผลต่อชีวิตเรา

ซึ่งขณะใช้ชีวิตประจำวันเราก็ยังได้รับจุลินทรีย์เหล่านี้เพิ่มต่อเนื่องจากอาหาร อากาศ น้ำ น้องแมว น้องหมา หรือกระทั่งหนังสือที่คุณถืออยู่นี่

นอกจากมนุษย์ประกอบขึ้นจากชีวิตอื่นและสิ่งอื่นแล้ว มนุษย์ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเก่งกาจแตกต่างอย่างที่ตัวเองเข้าใจด้วย

ดังที่เคยเล่าไปว่า ทุกวันนี้ค้นพบทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่สื่อสารกันด้วยภาษาได้ สัตว์และพืชก็มีภาษาของพวกมัน ความรู้เช่นนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ เสียใหม่ โดยไม่ได้มองว่ามนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่สร้างปรากฏการณ์ทางสังคม หากคือปฏิสัมพันธ์ของโลกธรรมชาติซึ่งประกอบด้วยสิ่งต่างๆ มากมายซึ่งกระทบชิ่งกันไปหมด พูดอีกแบบคือสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งไม่มีชีวิตมีผลกับมนุษย์หรือวัฒนธรรมของมนุษย์ยิ่งกว่าการกระทำของมนุษย์เอง

ศูนย์กลางการศึกษาจึงเปลี่ยนจาก ‘มนุษย์’ ไปเป็น ‘วัตถุ’ (object)

เป็นที่มาของ Object-Oriented Ontology (OOO)

 

แนวคิดแบบ OOO ตั้งคำถามว่าแทนที่เราจะทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ จากการมองของมนุษย์แบบเดิม เป็นไปได้ไหมที่เราจะเข้าใจจากในตัววัตถุเองหรือมองทุกอย่างแบบวัตถุเสมอกัน

แล้วเราจะหาความรู้เกี่ยวกับวัตถุได้อย่างไร

ขั้นแรก อาจต้องยอมรับก่อนว่ามนุษย์ไม่สามารถ ‘เข้าถึง’ วัตถุได้ เพราะต่อให้เราสนใจศึกษาดอกไม้หนึ่งดอก แต่ยังมีวัตถุอื่นอีกจำนวนอนันต์ที่แวดล้อมและมีผลต่อดอกไม้นั้นที่เราไม่อาจรับรู้ได้ทั้งหมด แสง แมลง เชื้อโรค ดิน หนอน ไส้เดือน และอะไรอีกมากมายทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

โลกจึงไม่ได้ปรากฏขึ้นตรงหน้าอย่างตรงไปตรงมา

‘วัตถุ’ ที่มีผลต่อกระทบต่อสิ่งต่างๆ ที่ว่านี้ยังหมายรวมไปถึงจิตใจ ภาษา วัฒนธรรม และสิ่งสร้างทางสังคม ไล่เลยไปถึงสิ่งที่เป็นอิสระจากมนุษย์อย่างก้อนหิน ดาวตก กาแล็กซี่ ดาวฤกษ์ ดาวหาง ฯลฯ

วัตถุหนึ่งตรงหน้าเราประกอบขึ้นจากสิ่งต่างๆ มากเกินกว่าที่เราจะรู้ มันจึงไม่สามารถถูกรับรู้ครบถ้วนทุกแง่มุมได้จาก ‘ผู้รับรู้’ อย่างมนุษย์ได้

บางท่านอาจกำลังนึกถึงคำว่า ‘อนัตตา’ อยู่ในใจ ในความหมายว่าแต่ละสิ่งที่ปรากฏไม่มีตัวตนแท้จริง หากเป็นเพียงผลลัพธ์ของเหตุปัจจัยนานาประการในห้วงเวลานี้ และมันจะเปลี่ยนแปรไปตลอดเวลา

 

คราวนี้มาถึงส่วนที่สนุก

หนังสือเล่มนี้อ้างถึงแนวคิดของลีไว ไบรอันต์ เรื่องประชาธิปไตยของวัตถุ (The Democracy of Objects) ว่ามีสมการอยู่สองข้อ คือ

หนึ่ง, ทุกๆ วัตถุดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมกัน

แต่สอง, ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกวัตถุจะดำรงอยู่อย่างเสมอกันในสถานการณ์เฉพาะหนึ่งๆ

อาจารย์เก่งกิจใช้ ‘หวี’ เป็นตัวอย่าง

หวีดำรงอยู่ในโลกอย่างเท่าเทียมกับวัตถุอื่น (สมการข้อ 1) แต่หวีกลับไม่ได้ดำรงอยู่อย่างมีนัยสำคัญต่อคนหัวล้านมากเท่ากับคนมีผม (สมการข้อ 2)

ในแง่หนึ่ง การมีอยู่ของหวีก็เสมอกับกับการมีอยู่ของแว่นตา แต่ถ้าจะตัดสินว่าหวีหรือแว่นตาควรค่าแก่การอยู่บนโลกนี้มากกว่ากัน เราไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ บอกได้แค่หวีหรือแว่นตาสำคัญกับใครในเวลาไหนเท่านั้น ฟังแล้วชวนให้คิดว่าระหว่างมนุษย์กับต้นไม้ก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่าใครควรค่าที่จะอยู่บนโลกนี้มากกว่า

อีกเรื่องที่สนุกคือความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ ตามแนวคิดคือไม่มีวัตถุไหนเป็นผลจากการสร้างของวัตถุอื่น เช่น เมื่อเราเขวี้ยงก้อนหินใส่กระจกแล้วกระจกแตก ถ้าถามว่าอะไรทำกระจกแตก คนส่วนใหญ่จะตอบว่าก้อนหิน แต่ถ้าลองเอาก้อนหินเขวี้ยงใส่เหล็ก เหล็กจะไม่แตก

ฉะนั้น การที่กระจกแตกจึงไม่ได้เกิดจากก้อนหินแต่เพียงอย่างเดียว มันเกิดจาก ‘คุณสมบัติที่จะแตกได้’ ของกระจกด้วย

มองแบบนี้ทั้งสองฝ่ายต่างเป็น ‘ประธาน’ ของประโยคได้ทั้งคู่ เพราะปรากฏการณ์ ‘เขวี้ยงหินกระจกแตก’ ต้องอาศัยคุณสมบัติเปราะบางของกระจกด้วยจึงเกิดขึ้นได้

ด้วยมุมมองเช่นนี้ จากรูปพีระมิดที่เคยจัดมนุษย์อยู่บนยอดหรือองค์ประธานก็ต้องถูกเปลี่ยนใหม่โดยมองสิ่งต่างๆ และตัวเองว่าดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมกับสิ่งอื่น

ความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับวัตถุจึงไม่ใช่ความต่างเชิงประเภท (นี่คน-นี่อาหาร) เราไม่ได้พิเศษกว่าสิ่งอื่น เมื่อเปลี่ยนมุมมองว่าเราเพียงสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

เช่น เวลาเราหิวจัดๆ อาหารก็อาจสำคัญกว่าเพื่อนหรือคนรัก คือเราให้ความสำคัญกับแต่ละสิ่งตามแต่ช่วงเวลา

มนุษย์จึงไม่ได้ต่างจากอาหารเพราะเราเป็นสิ่งคนละประเภท แต่อาจมีระดับความสำคัญที่ต่างกันตามช่วงเวลากันไป