ธงทอง จันทรางศุ | มหาวิทยาลัย–สวดมนต์สิครับ

ธงทอง จันทรางศุ

วันนี้ขออนุญาตสวมวิญญาณคนแก่ขี้บ่นเต็มตัวสักครั้งหนึ่งได้ไหมครับ

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ทุกวันนี้ผมยังมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการศึกษาในอยู่ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง

ที่เห็นได้ชัดคือยังสอนหนังสืออยู่ในฐานะเป็นอาจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนั้นก็เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่อีกสองสามแห่ง เป็นกรรมการชุดย่อยของสภามหาวิทยาลัยบางแห่ง

และเป็นกรรมการอื่นอีกนานาชนิดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ว่านี้

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจครับ ถ้าผมจะยังมีความใส่ใจและติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของบ้านเราอยู่เสมอ เพราะนึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลต่อกำลังคนคุณภาพในระยะยาวของประเทศเรา

แต่ก่อนอื่นที่จะพูดเพ้ออะไรต่อไปอีกมาก ขอป้องกันความเข้าใจผิดเสียก่อนนะครับว่าเรื่องที่จะปรารภต่อไปนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่ผมไปทำงานร่วมด้วยแต่อย่างใด

มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ผมเป็นกรรมการชุดใหญ่ชุดน้อยยังอยู่รอดปลอดภัยดีครับ

ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ที่จะพูดต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะแล้ว ไม่ใช่ความลี้ลับอะไรครับ เพราะฉะนั้นสบายใจได้ว่าผมไม่ได้เอาความลับของใครมาเปิดเผย

ประเด็นที่เป็นเป็นความห่วงกังวลของผมคือเรื่องที่นึกว่าทุกวันนี้ คนรุ่นลูกหลานที่จะเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีจำนวนน้อยลงกว่าแต่ก่อนมากพอสมควรทีเดียว ในยุคที่มีคนเกิดมาก เมืองไทยของเราได้เร่งขยายการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่ประถมไปจนถึงอุดมศึกษา

แล้วมาถึงทุกวันนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด โรงเรียนประถมก็ไม่มีคนเรียนต้องปิดไปหลายโรงแล้ว

มหาวิทยาลัยก็เหมือนกันครับ ผู้บริหารหลายทุกมหาวิทยาลัยต้องลุ้นแทบใจขาดว่ารับนักศึกษาใหม่ของแต่ละปีจะมีคนเข้ามาเรียนมากน้อยแค่ไหน

ยิ่งมาเจอสถานการณ์โรคระบาดโควิดเข้าด้วย ตัวเลขก็ยิ่งตกต่ำลงไปอีกเพราะกำลังของคนที่จะส่งลูก-หลานเข้าเรียนหนังสือถึงระดับมหาวิทยาลัยก็ถดถอยลงไป

หลายคนกังวลว่าเรียนไปแล้วเพื่อจะไปตกงานในวันข้างหน้าหรืออย่างไร

ลูก-หลานของเราทุกวันนี้หลายคนคิดอ่านที่จะไปเรียนหรือไปทำมาหากินในสายงานสายวิชาชีพอย่างอื่น เป็นต้นว่า มีความฝันอยากจะมีกิจการของตัวเอง ซึ่งการศึกษาที่ต้องใช้เวลาถึงสี่ปีอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้

คิดได้อย่างนั้นแล้วเขาก็ลงมือทำและทำได้ประสบความสำเร็จไปหลายรายแล้ว

วิชาหรือความสนใจที่ตอบสนองความต้องการของคนยุคหนึ่ง มาถึงวันนี้เรื่องก็เปลี่ยนไปเสียแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี

จำได้ไหมครับที่ยุคสมัยหนึ่งความนิยมญี่ปุ่นมาแรงมาเร็ว โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นใหญ่น้อยเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรสอนภาษาญี่ปุ่นเป็นภาควิชาสำคัญ ครูบาอาจารย์รู้สึกเอิบอิ่มใจมากที่มีนักเรียนเข้ามาเรียนหนังสือภาษาญี่ปุ่นกับหลักสูตรของเรา จบแล้วก็ได้งานทำทันที

มาถึงวันนี้ญี่ปุ่นถูกจีนแซงไปไกลแล้ว หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นในบางมหาวิทยาลัยหาคนเรียนได้ยากชนิดเลือดตาแทบกระเด็น จะเปิดสอนเปิดเรียนต่อไปก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย

แล้วจะทำอย่างไรกันดีเล่า อาจารย์ที่สอนภาษาญี่ปุ่นจะให้ย้ายไปสอนภาษาจีนหรือก็ไม่ถนัด จะให้ออกจากงานดีไหมครับ แล้วถ้าออกจากงานไปแล้วจะให้ไปทำงานอะไรได้ ในเมื่อเคยทำงานแต่สอนหนังสือมาตลอดชีวิต

คำถามอย่างนี้ผมก็ไม่กล้าตอบเหมือนกัน

มาถึงวันนี้แล้วมหาวิทยาลัยอาจจะต้องมีหน้าที่มากกว่าการสอนเด็กที่มีอายุ 18 ปีถึง 22 ปีให้เรียนจบปริญญาตรีแล้วออกไปทำงาน ผมนึกว่าเมื่อสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกันกับที่โลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนที่เป็นลูกค้าของมหาวิทยาลัยน่าจะต้องเปลี่ยนไปเป็นคนอีกหลายกลุ่มที่มหาวิทยาลัยไม่เคยเห็นเขาอยู่ในสายตามาก่อน

พูดให้โก้เก๋แบบนักการศึกษาก็ต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยต้องตอบสนองความต้องการการศึกษาตลอดชีวิตให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

เราต้องคิดถึงคนทำงานที่ไม่ว่าจะเรียนอะไรมาแล้วก็ตามแต่ต้องการมาเพิ่มความรู้ที่ตอบสนองยุคสมัยที่เป็นปัจจุบันและอนาคต

หลักสูตรไม่จำเป็นต้องเป็นหลักสูตรระยะยาวสามปีสี่ปี แต่ต้องมีหลักสูตรระยะสั้นเพื่อทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเหล่านี้

หนักข้อยิ่งไปกว่านั้นคือมหาวิทยาลัยเองก็ต้องยอมรับสภาพ ว่าครูบาอาจารย์ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเอง มีความรู้ทางวิชาการเต็มที่แต่อาจย่อหย่อนไปในเรื่องของประสบการณ์ แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์นี้อยู่ด้วยกันได้อย่างพอเหมาะ

ภาษาพระยุคนี้ต้องบอกว่า สภาพ!

ในอีกด้านหนึ่งที่ผู้บริหารต้องคิดคำนึงอยู่เสมอคือเรื่องงบประมาณครับ

แน่นอนว่าถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนก็ต้องคิดเรื่องนี้ยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนเจ๊งได้ และเจ๊งให้ดูมาหลายแหล่งแล้ว

ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐเองก็หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะงบประมาณแผ่นดินแต่ละปีในสถานการณ์หลังโควิดดูร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ นโยบายของรัฐบาลในระดับสูงก็จัดลำดับความสำคัญของการอุดมศึกษาไว้ในอันดับที่ไม่ใช่แถวหน้า

มหาวิทยาลัยของรัฐจึงต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัดพร้อมกันกับที่แสวงหาแหล่งทุนหรือทรัพยากรอื่นมาเพิ่มเติมด้วยลำแข้งของตัวเอง

จะขึ้นค่าหน่วยกิต นักศึกษาก็หน้าแห้ง ครั้นจะเหลียวไปหาคนบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษาการวิจัย คนบริจาคก็หน้าแห้งจนเกือบจะต้องใช้น้ำพรมหน้าก่อนออกจากบ้านอยู่แล้ว

ไหนๆ ก็บ่นมาถึงขนาดนี้แล้ว บ่นต่ออีกนิดได้ไหมครับ

ท่ามกลางปัญหาที่มหาวิทยาลัยต้องเผชิญหน้าและต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนขณะนี้ ปัญหาเรื่องระบบธรรมาภิบาลหรือการบริหารงานที่มีไม่ความโปร่งใสไม่มีคุณภาพก็ผุดโผล่มาที่โน่นที่นี่ให้เราใจหายใจคว่ำอยู่เรื่อยเชียว

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องการพิจารณาผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีการปลอมแปลงเอกสาร และทำอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ชอบมาพากลอีกมาก จนกระทั่งผู้เกี่ยวข้องต้องมีคำสั่งให้สภามหาวิทยาลัยทบทวนและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้นจำนวนมากเกือบถึงครึ่งร้อยราย

มหาวิทยาลัยเอกชนอีกแห่งหนึ่งก็ไม่ยอมแพ้ มีเรื่องแปลกๆ ทำนองนี้เกิดขึ้นจนถึงต้องถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการหลายสิบรายเหมือนกัน

ลำพังแต่เพียงการจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเราก็มีปัญหามากพออยู่แล้ว

เมื่อมาถูกซ้ำเติมด้วยเรื่องความวิปลาสที่ผมยกมากล่าวไว้ในสอง-สามบรรทัดที่ผ่านมา ยิ่งทำให้รู้สึกเป็นห่วงกังวลอนาคตของอุดมศึกษาบ้านเราเต็มที

หลายท่านคงจำนิทานเรื่องแม่ปูกับลูกปูได้ใช่ไหมครับ

ลูกปูจะเดินตรงได้อย่างไรถ้าแม่ปูผู้เป็นต้นแบบเดินไม่ตรง

แม่ปูนอกรั้วมหาวิทยาลัยในหลายวงการเดินเบี้ยวไปเบี้ยวมามากพอแล้ว ขอให้ผู้บริหารและครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย อย่าได้ทำตัวเป็นแม่ปูอย่างเขาเลยครับ

เดินตรงไปตรงมาอย่างมนุษย์นี่แหละ ท่านจะได้บุญกุศลนักหนา นอกจากให้วิทยาทานแล้ว ยังช่วยสร้างอนาคตให้กับบ้านเมืองอีกด้วย

ระหว่างที่ว้าเหว่รอดูเหตุการณ์ในวันข้างหน้าว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไรต่อไป และมหาวิทยาลัยจะกลับมาอยู่ในร่องในรอยที่ควรเป็น และสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้หรือไม่ อย่างไร

เราจะทำอะไรได้บ้างไหม

สวดมนต์สิครับ อิอิ