ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand
ณัฐพล ใจจริง
88 ปี ปราบกบฏบวรเดช
ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย
เหนือกลุ่มอนุรักษนิยม
“คณะกู้บ้านกู้เมือง” หรือ “The Counter Revolution” ต้องการต่อต้านการปฏิวัติ 2475
พลันที่คณะราษฎรปฏิวัติระบอบการปกครองของไทยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นับเป็นการขีดเส้นแบ่งระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับระบอบประชาธิปไตย ด้วยข้อความอันเรียบง่ายที่ในรัฐธรรมนูญแรกของไทยว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
รัฐประชาชาติที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่นั้น ประชาชนที่มีความเท่าเทียมกันทั้งหมดประกอบกันขึ้นมาเป็นชาติ แต่ความพยายามสร้างสังคมใหม่ของคณะราษฎรกลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษนิยมผู้สูญเสียสถานภาพทางการเมืองอย่างฉับพลัน
พวกเขาต้องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมืองไทยตามที่ต้องการใหม่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การต่อต้านโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ (2476) การรัฐประหารเงียบด้วยการออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภาผู้แทนราษฎร (2476) และนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารในกบฏบวรเดช (2476) ในที่สุด
ในเดือนตุลาคม เมื่อ 88 ปีที่แล้ว กลุ่มอนุรักษนิยมแสดงการคัดค้านการปฏิวัติ 2475 พวกเขาเรียกตนเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” หรือ “The Counter Revolution” จากชื่อนั้นมีความหมายถึง คณะบุคคลที่ต้องการกู้บ้านกู้เมืองกลับคืนจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475
สมาชิกบางคนนิยามตนเองว่า พวกเขาเป็น “ผู้จงรักภักดี” เคลื่อนไหวต่อต้านด้วยการใช้กำลังทหารจากหัวเมืองหลายกองพันเข้าประชิดพระนครอย่างฉับพลันเมื่อ 13 ตุลาคม 2476 พร้อมยื่นคำขาดให้รัฐบาลคณะราษฎรลาออก ตามแผนการที่เรียกว่า “เสือล้อมกวาง” ด้วยเชื่อว่าแผนการและกำลังทางการทหารที่เหนือกว่าเปรียบเสมือนฝ่ายตนเป็นเสือที่มีอำนาจเหนือกว่ากวางที่ขี้ขลาด พร้อมหวังว่า ฝ่ายตนจะกำได้รับชัยชนะอย่างไม่ยากนัก
ในขณะที่มีการรวมกำลังพลตามหัวเมือง การสร้างกระแสปลุกเร้าให้ประชาชนสนับสนุนการก่อกบฏในกรุงเทพฯ นั้น เป็นหน้าที่ของสมาชิกพรรคคณะชาติ ผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์ด้วยการเขียนข่าววิจารณ์ถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลลงในหนังสือพิมพ์ของกลุ่มตนเพื่อปลุกกระแสการต่อต้านให้เกิดขึ้นภายในพระนคร
ในเวลาใกล้กันนั้น เมื่อรัฐบาลทราบอย่างแน่ชัดว่ามีการก่อการกบฏที่จังหวัดนครราชสีมา รัฐบาลส่งตำรวจสันติบาลชุดหนึ่งพร้อมอาวุธเดินทางขึ้นขบวนรถไฟไปยังนครราชสีมาเพื่อสืบข่าวและจับกุมผู้ก่อการกบฏ
ขบวนรถไฟฝ่ายรัฐบาลพุ่งทะยานผ่านสถานีสระบุรี สถานีบ้านพาชี แบบที่เรียกว่า “วิ่งผ่านมาทุกสถานี ไม่ยอมหยุด แม้สถานีใดไม่ยอมเปิดทางให้สะดวก จนถึงสถานีปากช่อง” เพื่อระงับเหตุการณ์ก่อกบฏให้ทันการณ์ แต่รถไฟของรัฐบาลขบวนนี้ถูกซุ่มโจมตีจากทหารกองทัพฝ่ายกบฏส่วนหน้า แอบดักซุ่มยิงอยู่ข้างทางรางรถไฟ
ผลจากที่ขบวนรถไฟฝ่ายรัฐบาลถูกทหารฝ่ายกบฏซุ่มยิงปรากฏว่า รัฐบาลสูญเสียตำรวจไปสองนาย คือ ร้อยตำรวจโท ขุนประดิษฐ์กลการ นายดาบตำรวจทอง แก่นอบเชย ตำรวจสันติบาลเสียชีวิต
ส่วนตำรวจฝ่ายรัฐบาลที่รอดชีวิตได้ยอมจำนน ทหารคณะกู้บ้านกู้เมืองได้เข้าตรวจค้นขบวนรถไฟและจับกุมตำรวจสันติบาลที่เหลือพร้อมอาวุธจำนวนหนึ่ง

เช้าวันที่ 13 ตุลาคม กบฏบวรเดชยกทัพเข้าประชิดชานพระนครที่ทุ่งบางเขนและแถบหลักสี่แล้ว ฝ่ายกบฏยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก
แต่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามพร้อมประกาศสู้ มีการยิงปืนใหญ่ใส่กันดังกึกก้องทั่วท้องทุ่งบางเขนและดังไกลไปถึงปทุมธานีและอยุธยาบางอำเภอ
จากนั้นมีการเคลื่อนกำลังทหารราบและทหารม้าเข้าหากัน มีการปะทะกันตลอดแนวรบ
ต่อมา ฝ่ายกบฏเกิดปัญหากองทหารสนับสนุนไม่มาตามนัดหมาย ในที่สุด 15 ตุลาคม มีคำสั่งให้ถอนทัพออกจากชานพระนครกลับไปยังนครราชสีมา
ไม่แต่เพียงฝ่ายกบฏถอนกำลังออกจากพระนครด้วยทางรถไฟเท่านั้น แต่พวกเขายังถอดรางรถไฟออกตลอดทางเพื่อขัดขวางเส้นทางการติดตามจากรัฐบาล
ดังนั้น เมื่อฝ่ายรัฐบาลติดตามฝ่ายกบฏจึงจำต้องต่อรางรถไฟเพื่อเคลื่อนไปข้างหน้า ในที่สุด เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงที่โตรกเขาแถบสถานีหินลับ สระบุรี
ฝ่ายกบฏสูญเสียรองแม่ทัพ คือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม ในสนามรบซึ่งสร้างความเสียขวัญให้กำลังพลเป็นอันมาก
สุดท้ายแล้ว พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาทรงลี้ภัยด้วยเครื่องบินปีกสองชั้นแบบเบรเก้ ออกจากไทยข้ามไปยังดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส จากนั้น เหล่านายทหารเดินเท้าและขี่ม้าข้ามชายแดนไปสมทบกันที่อินโดจีน

กองทัพรัฐบาลเคลื่อนทัพเข้าถึงฐานบัญชาการใหญ่ของฝ่ายกบฏได้ในวันที่ 24 ตุลาคม และต่อมาทหารฝ่ายกบฏค่อยๆ ทยอยยอมจำนนนต่อรัฐบาล หลังเหตุการณ์จบสิ้นลง รัฐบาลจัดตั้งศาลพิเศษ 2476 เพื่อพิจารณาคดีกบฏ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถจับกุมแกนนำคนสำคัญๆ ได้ เนื่องจากผู้นำระดับสูงหลบหนีไปต่างประเทศ ในขณะที่นายทหารระดับนำบางคนเสียชีวิตในที่รบ ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ถูกรัฐบาลจับกุมหลายร้อยคน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการคดีกบฏ มิใช่เป็นสิ่งที่ราบรื่น เนื่องจากกบฏเหล่านี้เป็นผู้มีอำนาจและเครือข่ายกว้างขวาง ทำให้พยานบุคคลฝ่ายรัฐบาลหลายคนถูกคุกคามจากญาติพี่น้องฝ่ายกบฏ
เช่น กรณีนายบุญเรือง จุลรักษา ชาวชัยภูมิ พยานฝ่ายรัฐบาลได้ร้องเรียนว่า เขากำลังถูกปองร้ายจากญาติของพวกกบฏในจังหวัดชัยภูมิ
รวมทั้งกรณีนายบัว ศิริอักษร ชาวบ้านขอนแก่น ร้องขอความคุ้มครองจากรัฐบาล เนื่องจากเขาถูกปองร้ายหมายเอาชีวิตจากญาติฝ่ายกบฏ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวางนโยบายการไต่สวนกบฏว่า
“ถ้าการไต่สวนมีความสงสัยว่าจะเป็นตัวการ หรือผู้สมรู้ร่วมคิดของพวกกบฏ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ให้ไต่สวนต่อไป ถ้าไต่สวนต่อไปแล้วยังไม่มีหลักฐานดีขึ้น อย่าจับกุมคุมขังแก่บุคคลเหล่านั้นเลย”

ภายหลังเหตุการณ์การก่อการกบฏสิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลได้สำรวจนายทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปกป้องรัฐธรรมนูญ มีทหารเสียชีวิตจำนวน 17 คน และมีทหารบาดเจ็บจำนวน 54 คน
ส่วนพลเรือนจำนวน 5 คน โดยรัฐบาลได้จัดงานฌาปนกิจให้กับทหารฝ่ายกบฏที่สนามหญ้าบริเวณหน้าที่ทำการจังหวัดทหารบกนครราชสีมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 และต่อมารัฐบาลได้จัดงานฌาปนกิจให้กับทหารฝ่ายรัฐบาลที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2477
และต่อมารัฐบาลได้เลื่อนยศให้กับวีรชนที่สละชีพปกป้องรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชนในแถบหลักสี่และบางเขน ซ่อมแซมวัดเทวสุนทร จ่ายค่าเสียหายกรณีสัตว์ล้มตาย บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย จำนวน 48 ราย และมีประชาชนผู้ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต 2 ราย คือ พระภิกษุสอน วัดเทวสุนทร นายเพ็ง ทองหล่อ ส่วนนางแป้น แตงเอี่ยม ประสบความทุพพลภาพ
นอกจากนี้ รัฐบาลได้สงเคราะห์ครอบครัวทหารฝ่ายกบฏที่เสียชีวิตจำนวน 4 รายและค่าเลี้ยงดูบุตรอีกด้วย
ทั้งนี้ ในสายตาของทูตยาตาเบ อัครราชทูตญี่ปุ่น ผู้อยู่ร่วมสมัยบันทึกถึงกบฏบวรเดชไว้ว่า
“ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพระยาพหลพลพยุเสนาแล้ว [หลัง 20 มิถุนายน 2476] ได้มีการเคลื่อนไหวของเจ้านายบางส่วน และพวกนักการเมืองปฏิกิริยาจนถึงเดือนตุลาคม 1933 ก็ได้เกิดการกบฏที่มีพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า เรื่องนี้เป็นการก่อการไม่สงบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการปฏิวัติเป็นต้นมา” (ยาตาเบ 2550, 111-112)


