จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 4-10 สิงหาคม 2560

จดหมาย

หอชมเมือง

เรียนบรรณาธิการ

อิชั้นขอออกความเห็นเรื่องหอชมเมืองบ้าง

1. จำเป็นต้องรีบสร้างจนไม่ต้องผ่านการประมูล? …ไม่จำเป็น ทำกฎให้เป็นกฎ เข้าท่ากว่า

2. ต้องมีหอชมเมือง? …ไม่ควรมีเพราะ

2.1 กระทบชุมชนที่อยู่มาแต่เดิม เท่าที่ตามข่าวมา ชาวบ้านยังไม่รู้ว่า ถ้าสร้างแล้วเขาต้องย้ายออก อพยพไปอยู่ที่อื่นไหม ไม่มีคนของรัฐไปชี้แจงให้จะแจ้ง

2.2 บริเวณที่จะสร้าง มีเนื้อที่น้อย เรียกว่าหอติดริมแม่น้ำ ไม่มีพื้นที่ร่นจากริมแม่น้ำตามกฎหมาย ไม่มีทางเดินรอบๆ ทางเข้าออกแคบๆ

2.3 ถ้าขับรถไปก็ไม่มีที่จอด อาจจะไม่มีร้านอาหารแถวนั้น หรือไม่อยากกินที่ร้านอาหารบนหอ ก็ต้องไปจอด, เจี๊ยะ และจ่าย ที่โครงการเจ้าของเดียวกับหอ

ไม่อยากขับรถไป ก็ขึ้นรถไฟฟ้าสายเอื้ออาทร (นายทุน)

2.4 รถไฟฟ้าสามสถานีจะทำให้ที่ดินตรงนั้นเพิ่มมูลค่ามากมาย นายทุนยิ้มสยามตามเคย

3. ไม่ต้องสร้างหอ เอาเงินระดมทุน 2,100 ล้านบาท ซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลต่างจังหวัดได้หลายแห่ง ที่ดินทำเป็นสวนสาธารณะ มีร้านชากาแฟที่ผ่านการประมูล ขายขนมทั้งไทยและฝรั่ง

4. คนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะมาเที่ยว ค่าเข้าชมหอต่อคน เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำหนึ่งวัน ครอบครัว 4 คน 1,400 บาท, 2,800 บาท ถ้าญาติผู้ใหญ่อีก 4 คนไปด้วย บางคนอาจจะไปครั้งเดียวให้รู้ว่าเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวอาจจะไปบ้าง ปีแรกคงได้กำไร เพราะคนไทยบ้าเห่อ ปีต่อๆ ไปอาจขาดทุน

งวดนี้อิชั้นขอใช้นางเมล์ ถ้าส่งไปรษณีย์หอยทาก (snail mail) ไม่ทันใจกี๋สยามสแควร์ค่ะ

อีชั้น แอลเอ (จ้ะ)

 

แม้จะอยู่ “แอลเอ”

แต่ก็ขอใช้สิทธิแสดงความเห็น ในฐานะ “คนไทย”

ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะได้ผลแค่ไหน

เพราะตอนนี้ แม้เรื่องนี้จะเงียบๆ

แต่ก็เงียบๆ แบบ เดินหน้าตลอด

และไม่ช้าเป็น “หอยทาก” ด้วย?

จนเกิดคำถามเล่นๆ ว่า กรณีหอชมเมือง หากเกิดในยุค “อีปู”

จะเป็นอย่างไรหนอ

 

บุหรี่ไฟฟ้า

จากกรณีการนำเสนอข่าวการจับกุมผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น

กลุ่ม “ลาขาด ควันยาสูบ” ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า

และรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ามาโดยตลอด

เห็นว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยไม่มีความเหมาะสม

ไม่ตรงความต้องการของผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทราบดีว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยกับสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่

และบางคนเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะต้องการเลิกบุหรี่

แต่การที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบน แต่ความต้องการใช้ในประเทศยังมี ทำให้เกิดการลักลอบซื้อขายกันขึ้น

ผมแนบข่าวประชาสัมพันธ์ของกลุ่ม เกี่ยวกับกรณีนี้และขอให้ท่านช่วยพิจารณาเผยแพร่ด้วย

ดังนี้

เฟซบุ๊กเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” และกลุ่มเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ลาขาด ควันยาสูบ” เคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ เรียกร้อง สคบ. ฟังเสียงผู้บริโภค

เปิดโอกาสผู้สูบ 10 ล้านคนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่า

รวมถึงลดอันตรายผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองอีกกว่า 15 ล้านคน

จากกรณีการรายงานข่าว หน่วยปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ลงพื้นที่จับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตามย่านต่างๆ ตรวจยึดของกลางหลายร้อยรายการ

จนทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาโวยผ่านเฟซบุ๊กสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค @ocpb.official เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างดุเดือดกว่า 1 พันราย

ถึงความไม่ยุติธรรมของกฎหมาย ความล้าหลังของไทย และบีบบังคับให้ผู้สูบบุหรี่ไม่มีทางเลือก

พร้อมขอให้มีการทบทวนกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่าเช่นบุหรี่ไฟฟ้าถูกห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า แต่บุหรี่มวนซึ่งเป็นอันตรายมากกว่ากลับขายได้อย่างถูกกฎหมาย เท่ากับเป็นการบังคับให้ผู้สูบกว่า 10 ล้านคนและประชาชนยังต้องบริโภคบุหรี่และได้รับอันตรายจากควันบุหรี่อยู่ต่อไป ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขหลายประเทศ เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออกมาระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบเผาไหม้ และสนับสนุนให้คนที่ยังเลิกบุหรี่ไม่ได้หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ และประเทศเหล่านี้สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้จริง”

“ทุกวันนี้ผู้สูบบุหรี่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่อันตรายน้อยกว่า เพราะทุกคนก็ไม่อยากเป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือโรคมะเร็งปอด”

“แต่ตอนนี้ผลิตภัณฑ์พวกนี้เป็นของผิดกฎหมาย ถูกห้ามขาย ห้ามนำเข้าอยู่ ทั้งๆ ที่ในอีกหลายๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น อเมริกา สกอตแลนด์ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกต้องตามกฎหมายและมีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม”

“เราขอเรียกร้องให้ สคบ. และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกคำสั่งห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เราได้มีทางเลือกในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่า”

กลุ่ม “ลาขาด ควันยาสูบ”

 

จะหาว่าสนับสนุน “บุหรี่ไฟฟ้า” ไหมนี่

ก็ไม่ว่ากัน

ที่นำเรื่องนี้มานำเสนอ

จงใจเพื่อเพิ่ม “มุมมอง” ให้กับปัญหาบุหรี่ อันรวมไปถึงเหล้าด้วยก็ได้

ว่ายังมีมุมมองที่เห็นต่างกันอยู่

และวันนี้ได้แตกแขนงไปยังบุหรี่ไฟฟ้าด้วย

การมองแบบ ขาวจัด-ดำจัด อาจไม่เพียงพอ

อย่างน้อยระหว่างการต่อต้าน “บุหรี่และเหล้า” อย่างหนัก

“รัฐ” ก็หาผลประโยชน์ก้อนมหึมาจากธุรกิจนี้ไปด้วย