สุรชาติ บำรุงสุข : 100 ปี สยามเข้าสงครามโลก (2) การตัดสินใจทางยุทธศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนอ่านตอนที่1 คลิก

“ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์ดูโดยดีแล้ว รู้สึกว่าการที่กรุงสยามจะเพิกเฉยละเลยอยู่ต่อไปนั้นอีกหาได้ไม่ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของกรุงสยาม และสันติภาพของโลกแล้ว ก็ไม่มีหนทางอย่างอื่นที่จะเลือกได้ นอกจากจะต้องประกาศสงคราม…”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 (ค.ศ.2017) ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษของการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสยาม

ซึ่งการสงครามครั้งนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางการเมืองและสังคมของหลายๆ ประเทศทั่วโลก

รวมทั้งส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่ออนาคตสยาม

อนุสรณ์สงคราม

การตัดสินใจของพระมหากษัตริย์สยามที่จะพาประเทศเข้าสู่สงครามเป็นเรื่องใหญ่อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้

แม้ว่าการตัดสินใจของสยามในการเข้าสงครามในครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ตกหล่นและสูญหายไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคมไทยร่วมสมัยบ้าง

เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา จนดูเหมือนว่าความรู้และความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเรื่องในอดีตไกลโพ้น

ดังนั้น วันนี้จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าจะมีคนถามแบบงงๆ ว่า เรามีอนุสาวรีย์ทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยหรือ

และถ้ามี อนุสาวรีย์นี้อยู่ตรงไหนของกรุงเทพฯ?…

แน่นอนว่าท่านผู้รู้ตอบได้ดีว่าอนุสาวรีย์อยู่ตรงหัวมุมสนามหลวงใกล้กับโรงละครแห่งชาติ

หรือใครจะจำได้บ้างว่า “วงเวียน 22 กรกฎาคม” ก็คือ วงเวียนที่ได้รับพระราชทานชื่อเพื่อรำลึกวันประกาศสงครามของรัฐบาลสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าเวลาของการประกาศสงครามคือ 24.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2460 แต่ก็ถือว่าวันประกาศสงครามของสยามคือ 22 กรกฎาคม 2460

หรือแม้กระทั่งชื่อขององค์กรทหารอาสาในสงครามครั้งนี้คือ “สมาคมสหายสงคราม” ก็ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก (ปัจจุบันสมาคมนี้ได้ยุติแล้ว ตามประกาศนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร)

นอกจากนี้ ยังมีถนนอีก 3 สายในกรุงเทพฯ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ของสยามในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่ ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรสัมพันธ์ ถนนสันติภาพ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เป็นผู้พระราชทานชื่อให้แก่ถนนทั้งสามสาย (และรวมทั้งชื่อวงเวียน) ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าสยามประกาศสงครามและเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยความมี “ไมตรีจิตต์และมิตรสัมพันธ์” และทั้งยังหวังว่าโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะ “สันติภาพ” โดยเร็ว

ขอบคุณภาพจากสถานทูตฝรั่งเศส

ชื่อของถนนดังกล่าวจึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงพระราชปณิธานของพระองค์ในการนำสยามเข้าสู่สงคราม และสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็น “อนุสรณ์สงคราม” ที่ถูกกลืนไปกับกาลเวลาของสังคมไทย

ถ้าเรื่องราวเหล่านี้จะจางหายไปกับการเดินทางของกาลเวลา ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ก็ผ่านไปถึง 100 ปีแล้ว บาดแผลสงครามอาจจะยังคงมีอยู่กับบรรดารัฐในยุโรป เพราะความเป็นจุดเริ่มต้นและขณะเดียวกันก็เป็นจุดศูนย์กลางของสงครามด้วย แต่กับสยามแล้ว

ซึ่งในด้านหนึ่งก็อาจจะเพราะสังคมและผู้คนในสยามโดยรวมไม่ได้ถูกกระทบจากการทำลายล้างของสงครามดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรป ผู้คนโดยทั่วไปจึงไม่ได้มีความรู้สึกร่วมเท่าใดนัก

ฟื้นอดีต-สร้างความทรงจำ

วันนี้ถ้าเราจะทดลอง “สร้าง” ความทรงจำกับการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ของสยามแล้ว อยากจะเริ่มด้วยคำบอกเล่าของท่านจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในวันประกาศสงครามของสยาม

ดังข้อความต่อไปนี้ :

“วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2460 เป็นฤดูฝน แต่วันนั้นอากาศแจ่มใสดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวัง ณ พระที่นั่งบรมพิมานอย่างที่เคยมา บรรยากาศภายในพระราชสำนักเมื่อตอนหัวค่ำก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เวลาประมาณยามเศษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาจากห้องทรงพระอักษรข้างบนเข้าประทับโต๊ะเสวย ตอนนี้ชักมีผู้คนมากหน้าหลายตามาคอยเฝ้า เมื่อเสด็จขึ้นจากโต๊ะเสวยแล้ว มิได้เสด็จขึ้นข้างบนอย่างเคย แต่ประทับให้ข้าราชการบางคนเฝ้า ณ ที่ห้องรับแขกชั้นล่าง ซึ่งติดต่อกับห้องอัฒจันทร์ใหญ่…

พอถึงเวลาเที่ยงคืน คือ 24.00 น. เจ้ากรมพระอาลักษณ์ จึงได้อัญเชิญคำประกาศกระแสพระบรมราชโองการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พร้อมด้วยปากกาหมึกซึมด้ามดำยางแข็ง ที่เคยลงพระบรมนามาภิไธยอย่างที่เคยทรงใช้อยู่เป็นปกติเพื่อถวายการลงพระนาม ทันทีก็ได้ยินพระสุรเสียงดังออกมาว่า “อุวะ ข้าจะประกาศสงครามสักที เอาปากกาอย่างนี้มาให้ได้ ไปเอามาใหม่…”

เมื่อสิ้นพระสุรเสียง ทุกคนในที่นั้นต่างตกตะลึง เพราะต่างก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้ว่าต้องประสงค์ปากกาชนิดไหน ในฉับพลันทันใดนั้น ก็ได้ยินพระสุรเสียงรับสั่งสำทับออกมาดังๆ อีกว่า “ปากกาด้ามทองซีวะ” ทันใดนั้นมหาดเล็กกองราชเลขานุการคนหนึ่งซึ่งอยู่ในห้องนั้นด้วย จึงได้สติวิ่งออกมาข้างนอก แล้ววิ่งขึ้นอัฒจันทร์พระที่นั่งตรงไปยังโต๊ะทรงพระอักษรข้างบน เพื่ออัญเชิญปากกาด้ามทองลงมาถวาย…

แต่ถึงอย่างไรก็ดี ทุกคนที่กำลังเฝ้าอยู่ในขณะนั้นรวมทั้งที่อยู่ภายนอกห้องรู้สึกแปลกใจไปตามๆ กัน ต่างคนต่างมองหน้ากัน และต่างก็พากันซุบซิบคำว่า ประกาศสงคราม ที่ลั่นพระโอษฐ์ออกมานั้นก็ไม่คาดฝันมาก่อน

แล้วจึงรู้ว่าเป็นการประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี…

เมื่อการลงนามในขณะนั้นเป็นไปโดยเรียบร้อยแล้ว บรรดาเจ้าหน้าที่ทุกคนก็รีบกระวีกระวาดออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง โดยผ่านออกทางประตูพิมานชัยศรี ไปออกประตูวิเศษชัยศรี เพื่อไปปฏิบัติภารกิจที่ได้กำหนดนัดไว้

ส่วนองค์ล้นเกล้าฯ นั้นยังคงประทับอยู่ในห้องรับแขกเพื่อรอฟังรายงานต่างๆ อยู่จนตลอดรุ่งเช้า หมายความว่า ในคืนวันนั้นเป็นวันที่บรรยากาศของเมืองไทยได้เปลี่ยนไปทันที”

(คัดจากหนังสือของ โอภาส เสวิกุล, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1, 2511)

การตัดสินใจของสยาม

หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 2457 แล้ว อาจจะพบว่าการตัดสินใจของรัฐบาลสยามที่จะอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร และประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด เพราะในยุคอาณานิคม สยามมีปัญหาอย่างมากกับฝรั่งเศส ดังจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งกับฝรั่งเศสนั้นเกือบกลายเป็นสงคราม เช่น กรณีวิกฤตการณ์ปากน้ำ ในปี 2436 (ค.ศ.1893) หรือที่รู้จักกันในสังคมไทยคือ “วิกฤต ร.ศ.112”

ดังนั้น ทัศนะในการมองภัยคุกคาม (threat perception) ของสยามที่ชัดเจนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือ มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสคือภัยคุกคามหลักด้านความมั่นคง

ในส่วนของจักรวรรดิอังกฤษ แม้สยามจะไม่ได้ถูกคุกคามหรือมีปัญหาด้านความมั่นคงรุนแรงเช่นที่มีกับจักรวรรดิฝรั่งเศส แต่ลึกๆ แล้ว สยามเองก็ไม่อาจคบกับอังกฤษได้อย่างไว้วางใจเต็มที่

โดยสยามเองก็พบว่าเมื่อต้องเผชิญกับการคุกคามของฝรั่งเศสแล้ว ความหวังว่าอังกฤษจะเป็น “ผู้ถ่วงดุล” กับการกดดันนั้นก็ไม่เป็นจริงแต่อย่างใด อังกฤษไม่ได้พร้อมที่จะปกป้องสยามอย่างที่คิด

ทัศนะเช่นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง สยามไม่เคยมีปัญหาหรือข้อบาดหมางใดๆ จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงขนาดใหญ่กับเยอรมนี อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ของสองประเทศก็ดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด

และที่สำคัญก็คือ เยอรมนีไม่เคยแสดงท่าทีในการคุกคามสยามแต่อย่างใด ชาวสยามในขณะนั้นไม่เคยมีความคิดเลยว่าเยอรมนีจะรุกรานประเทศใด

คนโดยทั่วไปเคยได้ยินแต่เรื่องราวของการถูกคุกคามจากฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรณี ร.ศ.112 หรือปัญหากับอังกฤษในกรณีดินแดนในภาคใต้ ประเทศทั้งสองจึงไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในสังคมสยามเท่าใดนัก

ตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่ดีของสยามมีต่อชาวเยอรมัน และรู้สึกว่าเยอรมนีถูกรังแกโดยชาติมหาอำนาจอื่นของยุโรป

คนเยอรมันเข้ามาใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจในสยามเป็นเวลานานพอสมควร และเมื่อมาอยู่ในสยามก็จำเป็นต้องพูดภาษาท้องถิ่น เพราะในขณะนั้น หาคนพูดภาษาเยอรมันได้ยาก ผู้คนทั่วไปจึงรู้สึกว่าคนเยอรมันเป็นมิตร

นอกจากนี้ อาจจะดูเป็นประเด็นนอกเรื่อง แต่ผู้คนในยุคนั้นนิยมชมชอบสินค้าเยอรมัน และได้รับความเชื่อถือ โดยมีทัศนะแบบองค์รวมว่า “ถ้าเป็นสินค้าเยอรมันเป็นว่าสินค้ามีคุณภาพ”

เช่น กรณีของห้างบี. กริม ซึ่งอาจถือว่าเป็นห้างสรรพสินค้ารุ่นแรก และประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมาก ก่อนสงครามจะเกิดไม่นาน ห้างนี้ก็ยังขยายกิจการลงทุนสร้างตึกขนาดใหญ่ที่เชิงสะพานดำรงสถิต ข้างประตูสามยอด

นอกจากนี้ อาวุธปืนของทหารและตำรวจสยามก็ใช้อาวุธปืนของเยอรมนี จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมิตรระหว่างสยามกับเยอรมนี

เพราะถ้าไม่มีความใกล้ชิดและไว้วางใจแล้ว ก็ไม่น่าจะนำอาวุธจากเยอรมนีเข้าประจำการแต่อย่างใด

การคิดคำนวณทางยุทธศาสตร์

ราชสำนักสยามพยายามวางตัวเป็นกลางในสงครามที่เกิดขึ้น โดยในวันที่ 6 สิงหาคม 2457 (1914) ได้ออกประกาศนโยบายเป็นกลาง และไม่มีใครคาดคิดว่านโยบายความมั่นคงของสยามจะเปลี่ยนไป

แต่ราชสำนักสยามคำนวณทางยุทธศาสตร์ถึงผลลัพธ์ของสงคราม และผลที่จะเกิดขึ้นกับสยามในอนาคต ดังนั้น ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เรียก “ประชุมลับ” โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และคณะเสนาบดีผู้ใหญ่ด้วยคำถามว่า สยามควรจะรักษาความเป็นกลางต่อไปหรือไม่ หรือควรจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี

กล่าวกันว่า องค์ประชุมในขณะนั้นตกอยู่ในภาวะ “งงงันและเงียบสงัด” ไม่มีใครคาดมาก่อนว่าพระองค์คิดที่จะเปลี่ยนทิศทางนโยบายความมั่นคงสยามจากความเป็นกลางไปสู่การเข้าสงคราม

เพราะเชื้อพระวงศ์และเสนาบดีส่วนใหญ่ยังมองว่า นโยบายเป็นกลางน่าจะยังคงเป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของสยาม หรือหากจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย ก็น่าจะเข้าร่วมรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลางมากกว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่เคยคุกคามสยามมาก่อน ประกอบกับสถานการณ์การรบในช่วงแรกนั้น เยอรมนีเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงยอมรับเอาระบบ “เสียงข้างมาก” จากที่ประชุมเสนาบดีเป็นทิศทางหลัก

แต่ในกรณีการสงครามยุโรป พระองค์ทรงถือเอาพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์เป็นหลัก และฝืนมติที่ประชุม โดยพระองค์มองว่าถ้าสยามเข้าร่วมกับเยอรมนีแล้ว หากเยอรมนีแพ้ สยามจะไม่มีโอกาสได้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมซึ่งผูกพันประเทศมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

และถ้าตัดสินใจดำรงความเป็นกลางไปจนสงครามสงบ สยามก็อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนทางการเมืองเท่าที่ควร

ดังนั้น ผลจากการประชุมวันนั้น “พระองค์ทรงกำชับให้ถือเป็นความลับอย่างยิ่ง เมื่อออกจากการประชุมไปแล้วจะเปิดเผยต่อผู้ใดมิได้ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกรับโทษอย่างมหันต์ ส่วนการบัญชางานในขั้นต่อไปนั้น จะทรงจัดสายงานเอง เป็นอันว่าการประกาศสงครามได้วางแผนงานลงไปแล้วอย่างแน่นอน เด็ดขาด และยังไม่เปิดเผย… นอกจากนั้นแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับคำประกาศสงครามตามกระแสพระบรมราชโองการนั้น ก็ทรงร่างด้วยพระองค์เองอย่างถี่ถ้วนละเอียดรอบคอบ…”

ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 21 กรกฎาคม 2460 เจ้ากรมพระอาลักษณ์จึงได้อัญเชิญคำประกาศกระแสพระบรมราชโองการขึ้นทูลเกล้าฯ… สยามตัดสินใจประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี และดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น “ในคืนวันนั้นเป็นวันที่บรรยากาศของเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปทันที”…

คำประกาศนี้ทำให้สยามเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างสมบูรณ์ แม้สยามจะร่วมในช่วงปลายสงครามก็ตาม แต่กระนั้นสยามก็เป็นหนึ่งใน “รัฐผู้ชนะ” เมื่อการรบสิ้นสุดลง กองทัพบกสยามพร้อมกับกองทัพของประเทศผู้ชนะสงครามร่วมสวนสนามอย่างมีเกียรติทั้งที่ปารีส ลอนดอน และบรัสเซลส์!