อารยะต่อต้าน (2) : การปฏิวัติแบบไม่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นแต่สำเร็จน้อยลง/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

อารยะต่อต้าน (2)

: การปฏิวัติแบบไม่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นแต่สำเร็จน้อยลง

 

ในรอบ 90 ปีจาก ค.ศ.1930 ถึง 2019 การปฏิวัติแบบไม่รุนแรงประสบความสำเร็จเฉลี่ยกว่า 50%

เริ่มจากจุดต่ำสุดที่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในคริสต์ทศวรรษที่ 1940 (ดูกราฟเส้นไข่ปลาในแผนภูมิข้างบนประกอบ) การปฏิวัติไม่รุนแรงค่อยประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในแต่ละทศวรรษที่ผ่านไปเป็น ราวกึ่งหนึ่งหรือกว่านั้นจากคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ถึงปี ค.ศ.2010

ทว่าหลังจากนั้นมา อัตราความสำเร็จของการปฏิวัติแบบไม่รุนแรงกลับเสื่อมถอยลง หลังจากขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ มาร่วม 60 ปี เฉกเช่นเดียวกับการปฏิวัติแบบรุนแรงที่ถดถอยลงเหมือนกัน (กราฟเส้นไข่ปลา และเส้นทึบหักเทต่ำลงด้วยกันทั้งคู่)

กล่าวเฉพาะในคริสต์ทศวรรษหลังสุด 2010-2019 การปฏิวัติแบบไม่รุนแรงทำสำเร็จไม่ถึง 34% แต่อัตรานั้นก็ยังเหนือกว่าความสำเร็จของการปฏิวัติแบบรุนแรงถึง 3 ต่อ 1 โดยที่ฝ่ายหลังสำเร็จไม่ถึง 9%

พูดอีกอย่างก็คือ เปรียบเทียบกันแล้ว ปฏิบัติการอารยะต่อต้านประสบความสำเร็จมากกว่าสงครามกลางเมืองหรือการปะทะต่อสู้ด้วยอาวุธซึ่งมีแนวโน้มสัมฤทธิผลลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 นู่นแล้ว

แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าสิบปีหลังนี้ อารยะต่อต้านตกอยู่ในสภาพปฏิทรรศน์ กล่าวคือ ด้านหนึ่งมันเป็นรูปแบบการปฏิวัติเพื่อท้าทายระบอบเก่าที่แพร่หลายที่สุดยิ่งกว่าการปฏิวัติด้วยอาวุธ ทว่าในอีกด้านหนึ่ง มันกลับมีประสิทธิภาพลดลงในระยะสั้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้อารยะต่อต้านได้ผลน้อยลงนับแต่ปี ค.ศ.2010 มา?

คำตอบหนึ่งที่มีผู้เสนอคือเพราะบริบทโลกของปฏิบัติการอารยะต่อต้านเปลี่ยนแปลงไป เริ่มจากมุมระบอบอำนาจนิยมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามเอง :

แผนภูมิ : อัตราการปฏิวัติสำเร็จในแต่ละช่วงทศวรรษจาก ค.ศ.1930-2019
แกนตั้งบอกร้อยละ, แกนนอนบอกช่วงทศวรรษ
เส้นไข่ปลา = การปฏิวัติไม่รุนแรงที่สำเร็จ; เส้นทึบ = การปฏิวัติรุนแรงที่สำเร็จ
(นับการปฏิวัติที่ยังดำเนินอยู่ไม่แล้วเสร็จเป็นการปฏิวติที่ล้มเหลว)
(จาก Erica Frantz, Authoritariansim : What Everyone Needs to Know, p. 226)

1)ระบอบปกครองทั้งหลายที่อารยะต่อต้านเผชิญหน้าด้วยโค่นยากลำบากขึ้น

มันฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตนานัปการซ้ำซ้อนในประเทศได้ โดยประคับประคองพันธมิตรและผู้สนับสนุนในท้องถิ่น จับกุมคุมขังแกนนำตัวเด่นของฝ่ายค้าน หรือไม่ก็ยั่วยุให้ขบวนการประชาชนหันมาใช้ความรุนแรง

บ้างก็ปล่อยข่าวลือข่าวลวงให้ร้ายป้ายสีผู้ประท้วงว่ามีมหาอำนาจต่างชาติสมคบคิดหนุนหลัง (เช่น “แผนโลกล้อมไทย” https://www.thaipost.net/main/detail/40831) หรือบ้างก็พึ่งพาอาศัยมหามิตรสากลสนับสนุนค้ำจุนด้วยเกราะกำบังทางการทูตและการทหาร (DirekTalk เกษียร เตชะพีระ, “อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน : ข้อวิจัยและสังเคราะห์บางประการ”, https://www.youtube.com/watch?v=RmHZMaFw5KU)

รอบทศวรรษหลัง ระบอบอำนาจนิยมในอิหร่าน, เวเนซุเอลา, ตุรกี, ซีเรีย, เบลารุส, อินเดีย, รัสเซีย, ฮ่องกง, จีน และไทย เป็นต้น ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามันยืดหยุ่นคงทนเป็นพิเศษต่อการท้าทายจากเบื้องล่าง

ทว่าในทางกลับกันก็พึงตระหนักว่าการประเมินระบอบเหล่านี้ว่าเข้มแข็งยืดหยุ่นคงทนโค่นยากนั้นฟังสมเหตุผลก็ต่อเมื่อเรามองแบบคนฉลาดหลังเหตุการณ์ (in hindsight) แต่อาจจะใช้มันมาช่วยทำนายว่าระบอบไหนประเทศใดจะถูกโค่นโดยอารยะต่อต้านของประชาชนในอันดับถัดไปไม่ได้สักเท่าไหร่

ทั้งนี้ก็เพราะก็มีระบอบอำนาจนิยมอีกหลายแห่งที่เคยถูกประเมินว่าเข้มแข็งยืดหยุ่นคงทนโค่นยากเช่นเดียวกัน

แต่แล้วจู่ๆ ขบวนการมวลชนก็ปะทุระเบิดเถิดเทิงขึ้นมาและทะลุทะลวงคอนเทนเนอร์หรือแก๊สน้ำตาหรือกระสุนตะกั่วและยางเข้าไปโค่นระบอบได้สำเร็จ อาทิ ประเทศไทยใต้การปกครองของจอมพลถนอม-ประภาส, ฟิลิปปินส์ใต้การปกครองของมาร์กอส, ชิลีใต้การปกครองของนายพลปิโนเชต์, เยอรมนีตะวันออกใต้การปกครองของโฮเนกเคอร์, อียิปต์ใต้การปกครองของมูบารัก, หรือซูดานใต้การปกครองของโอมาร์ อัล-บาชีร์ เมื่อปลายปี 2018 ต่อ 2019 นี่เอง

(https://www.cmi.no/publications/7201-blog-from-sudan-the-sudan-uprisings-the-revolution-of-the-youth)

2)รัฐบาลทุกวันนี้เรียนรู้ประสบการณ์และปรับตัวรับมือการท้าทายแบบไม่รุนแรงจากเบื้องล่าง ได้ถนัดสันทัดขึ้น

หลายทศวรรษก่อน การลุกฮือแบบไม่รุนแรงของมวลชนเป็นแสนๆ อย่างเฉียบพลันนับเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของบางประเทศ (เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ในเมืองไทย) จนระบอบอำนาจนิยมหลายแห่งแตกตื่นแปลกใจ ดิ้นรนหาทางรับมือกันจ้าละหวั่นว่าจะปราบปรามการลุกฮือของมวลชนอย่างไรโดยไม่ไปสาดน้ำมันใส่กองเพลิงให้โหมแรงลุกลามออกไป และส่งผลให้พลเมืองยิ่งหันมากล้าสนับสนุนขบวนการมากเข้าไปอีก

ย้อนหลังไปในสมัยนั้น รัฐเผด็จการใหญ่น้อยอาจประเมินศักยภาพของอำนาจประชาชนที่จะคุกคามการปกครองของตนต่ำไป

ดังเช่นที่วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของคุณอนันต์ แจ้งกลีบ ผู้ต่อมารับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2508 ว่า :

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาประชาธรรม 2535 และกว่าทศวรรษของขบวนการมวลชนเสื้อแดง vs. เสื้อเหลืองที่ผลัดกันขับโค่นรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามแล้ว บัดนี้ก็เป็นที่เข้าใจกว้างขวางซาบซึ้งขึ้นว่าการรณรงค์มวลชนแบบอารยะขัดขืนและอารยะต่อต้าน (civil disobedience & civil resistance) นั้นสามารถคุกคามผู้กุมอำนาจได้อย่างแท้จริง

ยิ่งกว่านั้น ปฏิบัติการอารยะต่อต้านยังแผ่กระจายไปทุกหนทุกแห่งเสียจนกระทั่งรัฐทั้งหลายได้มีประสบการณ์และโอกาสฝึกหัดฝึกฝน บ่มเพาะคิดค้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาและวางแบบอย่างมาตรฐานของวิธีการปราบม็อบที่ชาญฉลาดแยบคายทางการเมืองต่างๆ ออกมาดังที่นักวิชาการด้านความขัดแย้งกับสันติศึกษาเรียกว่า “การปราบอย่างเฉียบแหลม” (“Smart Repression” ดูบทความชื่อดังกล่าวโดย Lee A. Smithey & Lester R. Kurtz ปี ค.ศ.2018 https://works.swarthmore.edu/fac-soc-anth/197/) ซึ่งหมายถึง :

“การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ยุทธวิธีต่างๆ ซึ่งจงใจประดิดประดอยปรับแต่งมาให้ช่วยแยกสลายยุติการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนขณะที่ลดทอนหรือขจัดผลลัพธ์ปฏิกิริยาด้านกลับที่อาจเกิดขึ้น”

ตัวอย่างยุทธวิธี “การปราบอย่างเฉียบแหลม” ที่โดดเด่นอันหนึ่งได้แก่ การแทรกซึมเข้าไปในขบวนการมวลชนแล้วยุแยงตะแคงรั่วให้ขบวนการแตกแยกกันจากข้างในออกมา

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถยั่วยุขบวนการไม่รุนแรงให้ใช้ยุทธวิธีเผชิญหน้าดุเดือดยิ่งขึ้น รวมกระทั่งถึงขั้นใช้ความรุนแรง ก่อนที่ขบวนการจะได้ทันก่อร่างวางฐานมวลชนสนับสนุนให้กว้างขวาง เป็นปึกแผ่นและมีฐานอำนาจยั่งยืน เนื่องจากการไต่ระดับการเคลื่อนไหวอย่างขุดรากถอนโคนนั้นอาจทำให้พันธมิตรที่เป็นไปได้และพวกเดินสายกลางลังเลที่จะเข้าร่วม หรือทำให้วินัยในการเล่าแถลง (narrative discipline) เหตุผลความชอบธรรมของขบวนการยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น

หรือหากมองในกรณีระบอบอำนาจนิยมไทย เราก็อาจสังเกตเห็นได้ถึงชุดปฏิบัติการเป็นกระบวนในการรับมืออารยะต่อต้านของรัฐที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ในช่วงทศวรรษของม็อบเสื้อสี อาทิ

– ตุลาการภิวัตน์ทางการเมือง (judicialization of politics)

– นิติสงคราม (lawfare ดู https://www.the101.world/judicialization-of-politics-and-lawfare/)

– ปฏิบัติการไอโอ (information operation ดู https://www.bangkokbiznews.com/news/868029)

– การติดอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กำลังตำรวจมีลักษณะแบบทหารยิ่งขึ้น (militarization of police ดู https://www.prachachat.net/politics/news-744171)

– การคุมจราจรเข้าถึงกลไกอำนาจอธิปไตย (the control of traffic to access mechanisms of sovereign power ดู https://www.matichon.co.th/politics/news_2916494 )

(ต่อสัปดาห์หน้า)