แกะรอยร้าว รอยใหม่ ‘พปชร.-ประยุทธ์-ปชป.’ ปัญหา 3 เส้า 4 กรม ตอกย้ำ ‘2 ป.’ เสื่อมทรุด?

เสถียรภาพการเมืองภายในพรรครัฐบาลเกิดความไม่แน่นอนอีกครั้ง

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งโอนงาน 4 กรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร

คืนให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

พร้อมยกเลิกคำสั่งเดิมที่มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ดูแล ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้พรรคประชาธิปัตย์เจ้าของโควต้ากระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ แสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผย

ด้วยมองว่าคำสั่งมอบงาน 4 กรมให้รองนายกฯ ต่างพรรค ถึงจะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก็ตาม นอกจากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยังผิดมารยาทการเป็นรัฐบาลผสม

“ถ้านายจุรินทร์จะขอดูกรมในกระทรวงที่พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐมนตรีว่าการบ้าง ส.ส.พลังประชารัฐจะคิดอย่างไร เราทำงานร่วมกันควรให้เกียรติกัน ทุกพรรคมีศักดิ์ศรี ถ้าคิดกันแบบนี้ ทำกันแบบนี้จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร” นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุ

พรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่หัวขบวนไปจนถึงท้ายขบวนออกมาตั้งคำถาม กดดันผู้นำรัฐบาลอย่างหนัก กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ยอมกลับลำ ลงนามคำสั่งโอนงาน 4 กรมคืนให้นายจุรินทร์

แม้ด้านหนึ่งจะทำให้ปัญหาขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ยุติลง

แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามตามมาว่า การกลับลำของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นการตอกย้ำความหมาดหมางกับ พล.อ.ประวิตร

ให้จมลึกลงไปกว่าเดิมหรือไม่

ย้อนหลังไปวันที่ 8 กันยายน คำสั่งปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจาก รมช.เกษตรฯ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจาก รมช.แรงงาน

ส่งแรงสะเทือนถึงสัมพันธ์พี่น้อง “3 ป.” โดยเฉพาะ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร กับ “น้องเล็ก” พล.อ.ประยุทธ์

เนื่องจาก “ธรรมนัส-นฤมล” ไม่ใช่รัฐมนตรีช่วยว่าการธรรมดา แต่ยังสวมหมวกเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กับเหรัญญิกพรรค ที่เสมือนมือขวา-ซ้ายของ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

การสั่งปลด 2 รมช. อาจถือเป็นชัยชนะของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยรอยร้าวบาดลึกระหว่างพี่ใหญ่กับน้องเล็ก

หลังเสร็จศึก “ปราบกบฏ พปชร.” พล.อ.ประยุทธ์ได้ตระหนักถึงภัยใกล้ตัว

เพราะความจริงแล้วระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เหมือน “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”

การปลด “ธรรมนัส-นฤมล” ทั้งที่รู้ว่าเป็นคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร อาจส่งผลคุกคามต่อเสถียรภาพเก้าอี้นายกฯ ในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์จึงปรับเปลี่ยนท่าที หันมาสร้างภาพเอาอกเอาใจ พล.อ.ประวิตร ด้วยจุดประสงค์เพื่อรักษาอำนาจ สมานรอยร้าว ปิดช่องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามนำความขัดแย้งไปขยายผล

แม้ความพยายามทำดีกับ “พี่ใหญ่” ถูกมองเป็นการ “ตบหัวแล้วลูบหลัง” แต่ก็ทำให้อุณหภูมิภายในเย็นลงชั่วคราว

“ผมกอดคอกับนายกฯ สนิทสนมกันมา 50 กว่าปี จำไว้ ให้ตายจากกัน เรา 3 ป.ถึงจะเลิกรักกัน” พล.อ.ประวิตรกล่าว

พล.อ.ประวิตรยังได้ประกาศในที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคยังจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ที่ว่างลงยังเป็นปัญหาคาราคาซัง พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้จะตั้งใครในพลังประชารัฐเข้ามาแทน

จะตั้งคนจากปีก “ประวิตร-ธรรมนัส” ก็ไม่ได้ จะตั้งคนในฝ่ายสนับสนุนตัวเองก็น่าเกลียด

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ในการประชุม ครม. 28 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งโอนงาน 4 กรมกระทรวงเกษตรฯ ที่เคยเป็นของ ร.อ.ธรรมนัส ให้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้กำกับดูแล แทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคประธิปัตย์

สร้างความไม่พอใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวถึงการที่นายกฯ ออกคำสั่งโอนงาน 4 กรมของกระทรวงเกษตรฯ ไปให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูแลแทนตนเอง ว่า

รู้สึกเห็นใจพรรคพลังประชารัฐที่ต้องแก้ปัญหาภายใน เพียงแต่การแก้ปัญหาควรจะยุติ หรือแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ควรกระทบถึงส่วนอื่นหรือพรรคการเมืองอื่น ไม่เช่นนั้นแทนที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วง อาจกลายเป็นแก้ปัญหาหนึ่ง แต่สร้างอีกปัญหาหนึ่งโดยไม่จำเป็น

“ฉะนั้น อะไรที่จะไม่ไปสร้างปัญหาเพิ่มโดยไม่จำเป็น ก็ไม่ควรไปทำ และผมได้สื่อสารไปยังนายกฯ แล้ว คิดว่าท่านรับทราบแล้ว และเชื่อว่าทุกอย่างจะออกมาด้วยดี”

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หัวใจการบริหารรัฐบาลผสมคือ ความไว้วางใจและการให้เกียรติกัน ถ้าขาดสองสิ่งนี้รัฐบาลก็อยู่ยาก

หากปล่อยเรื่องนี้ให้เลยตามเลยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คงไม่ได้ ต้องพิจารณาว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะให้การเมืองมีปัญหามาซ้ำเติมประเทศทำไม เรามีหน้าที่แก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา โดยเฉพาะปัญหาภายในพรรคแกนนำเอง

ยิ่งไม่ควรมาสร้างปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาล

แม้กระทั่งนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ตั้งคำถามดุเดือดว่า การรวบทั้ง 4 กรม เพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร

“ถ้านายจุรินทร์จะขอดูกรมในกระทรวงที่พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐมนตรีว่าการบ้าง ส.ส.พลังประชารัฐจะคิดอย่างไร เราทำงานร่วมกันควรให้เกียรติกัน ทุกพรรคมีศักดิ์ศรี ถ้าคิดกันแบบนี้ ทำกันแบบนี้ จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร”

ในไลน์กลุ่มที่มี ส.ส.และสมาชิกประชาธิปัตย์อยู่ถึง 160 คน ก็มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ในเชิงต่อต้าน มองว่าคำสั่งนายกฯ โอนงาน 4 กรมให้ พล.อ.ประวิตรไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งยังผิดมารยาททางการเมือง ไม่ให้เกียรติพรรคประชาธิปัตย์

ที่สำคัญเหตุการณ์พรรคประชาธิปัตย์ตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกกระทำจากพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก

ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งเดิมและฐานที่มั่นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐก็ส่งผู้สมัครลงแข่งกับประชาธิปัตย์ โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงถึงมารยาททางการเมือง ทั้งยังเป็นฝ่ายชนะไปในที่สุด

หรือกรณี พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ มีคำสั่งให้รัฐมนตรีลงไปขับเคลื่อนงานในพื้นที่ระดับจังหวัด

โดยมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรฯ ในตอนนั้น รับหน้าที่ดูแลพื้นที่จังหวัดใหญ่ภาคใต้ สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ทั้งที่เดิมนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย แกนนำประชาธิปัตย์ ดูแลอยู่

รวมถึงการโยกอำนาจรองนายกฯ กำกับนโยบายประมง จากนายจุรินทร์มาให้ พล.อ.ประวิตร โดยไม่ปรึกษาหารือกันก่อน

บทเรียนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับถึง 4 ครั้ง ตอกย้ำถึงการบริหารจัดการของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จัดสรรอำนาจภายในพรรครัฐบาลอย่างไม่สมดุล

เน้นให้อำนาจและประโยชน์กับพรรคพลังประชารัฐมากเกินไป

สําหรับเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ที่ว่างลง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจตั้งใครสักคนในพรรคพลังประชารัฐมานั่งแทน ร.อ.ธรรมนัส ทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องเป็นปัญหายักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก อย่างที่เห็น

ท่าทีปฏิกิริยาจากประชาธิปัตย์ตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวน ที่ส่งตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ ทำให้หลายคนวิตกกังวลว่าอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาล

เพื่อไม่ให้บานปลายกว่านี้ วันที่ 5 ตุลาคม ก่อนประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์จึงได้ปิดห้องพูดคุยนอกรอบกับ พล.อ.ประวิตรและนายจุรินทร์ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ร่วมด้วย เพื่อเคลียร์ปัญหา 3 เส้า

ผลการพูดคุย นำมาสู่การมีคำสั่งคืน 4 กรมกระทรวงเกษตรฯ ให้นายจุรินทร์ พร้อมยกเลิกคำสั่งเดิมที่มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร

แน่นอนการตัดสินใจครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเสียงชื่นชมจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เหมือนทำของหายแล้วได้คืน แต่ที่ต้องจับตาดูกันว่า พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร จะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร

แม้ พล.อ.ประวิตรจะยืนยันว่าสบายใจ ไม่มีปัญหาในการคืน 4 กรมให้นายจุรินทร์ ทุกอย่างปิดห้องเคลียร์กันเรียบร้อยแล้ว

แต่นั่นก็เป็นเพียงการแสดงออกภายนอก เพราะในมุมของพรรคพลังประชารัฐ ต้องไม่ลืมว่าทั้ง 4 กรม เดิมเป็นงานในกำกับดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส ต่อให้ถูกปลดไปแล้ว ทั้ง 4 กรมก็ยังต้องถือเป็นโควต้าพรรคพลังประชารัฐ

คำสั่งใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเท่ากับเป็นการเฉือนเนื้อพลังประชารัฐ ส่งเข้าปากพรรคประชาธิปัตย์แบบฟรีๆ ทั้งที่ต้นเหตุปัญหาแท้จริงอยู่ตรง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมแต่งตั้ง รมช.เกษตรฯ จากพรรคพลังประชารัฐ มาแทน ร.อ.ธรรมนัส

การเลือกคืนความเป็นธรรมให้ประชาธิปัตย์ แต่ไม่คืนให้พลังประชารัฐ

จะส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ที่เริ่มกระเตื้องขึ้นหลังกรณีกบฏ พปชร. ให้ต้องทรุดตัวลงอีกครั้ง จนส่งผลกระทบถึงเสถียรภาพรัฐบาลโดยรวม หรือไม่

ถึงเวลาเปิดสภาพิจารณากฎหมายสำคัญ คงรู้คำตอบในตอนนั้น