45 ปี 6 ตุลา ที่ (เกือบ) ไม่ได้จัด บทเรียนประวัติศาสตร์บาดแผล ชนชั้นนำ ฝ่ายขวา ไม่เคยเรียนรู้/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

45 ปี 6 ตุลา ที่ (เกือบ) ไม่ได้จัด

บทเรียนประวัติศาสตร์บาดแผล

ชนชั้นนำ ฝ่ายขวา ไม่เคยเรียนรู้

เป็นปีที่ 45 แล้วสำหรับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่าง 6 ตุลาคม 2519 ยิ่งนานวันความจริงยิ่งปรากฏชัดจากการพยายามชำระประวัติศาสตร์ จนวันนี้ทุกฝ่ายแทบจะเห็นตรงกันว่ามันคือ เรื่องราวการล้อมปราบเข่นฆ่าทางการเมืองอย่างโหดร้าย ที่จะต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย

แต่เมื่อกลับมามองการเมืองไทยในปัจจุบัน พบบรรยากาศ กระบวนทัศน์และวิธีคิดการต่อสู้บางอย่างที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ สอดคล้องกับการเมืองช่วงก่อนเหตุการณ์ในปี 2519 อย่างมาก จนหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หรือที่จริงแล้วสังคมไทยเรายังไม่เคยเรียนรู้บาดแผลทางการเมืองดังกล่าวเลย

ในการเสวนาออนไลน์จัดโดย The Politics และ Matichon TV หัวข้อ 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 ผ่านมุมมอง คน 3 รุ่น 6 ตุลาฯ ในสังคมไทยที่ไม่เหมือนเดิม ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดัง เล่าความรู้สึกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและบทเรียนในปัจจุบัน

นิธิกล่าวว่า “มักจะพูดกันว่า 6 ตุลา ทำให้สังคมไทยเรียนรู้ว่าความรุนแรงไม่แก้ปัญหา เพราะหลังจาก 6 ตุลาไม่นานในที่สุดก็ต้องกลับมาใช้หลักการประนีประนอม ยอมอภัยโทษ ให้นักศึกษากลับมา แต่เอาเข้าจริงผมกลับคิดว่า บทเรียนนี้ไม่มีใครเรียนรู้เลย รัฐเองก็ยังใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆสืบมาจนถึงปัจจุบัน หลัง 6 ตุลา ก็ยังมีพฤษภาฯ ปี 35 มากระทั่งถึงปี 53 ก็ยังมีการยิงประชาชนเป็นว่าเล่นอยู่เหมือนเดิม ฉะนั้น แทนที่เราจะหาบทเรียนคำสอนในเรื่องต่างๆ ผมกลับมองว่าทำไมเราไม่คิดว่ามันเปิดเผยความจริงบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทยที่เราควรจะรู้เอาไว้ หากเราคิดจะแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไปในอนาคต”

“ความจริงที่ว่าก็คือ ชนชั้นนำไทยและรัฐไทยพร้อมจะใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเลยกับประชาชนทุกเมื่อ เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองเอาไว้ มากกว่าที่จะยอมปรับตัวเพื่อจะรักษานานและผลประโยชน์ของตัวเอง ทำไมชนชั้นนำไทยถึงเป็นแบบนี้ ผมคิดว่ามีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจอันหนึ่งของชนชั้นนำไทยเมื่อเปรียบเทียบกับทุกสังคมไม่ใช่เฉพาะสังคมประชาธิปไตยอย่างเดียว คือชนชั้นนำไทยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงมากๆ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ถึงขนาดนี้ด้วยซ้ำ มันผูกพัน ประสานผลประโยชน์อำนาจแนบแน่นในชนิดที่ว่าจะหาสังคมใดมาเทียบไม่ได้เลย ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลด้วย ตัวบุคคลอาจจะทะเลาะแย่งอำนาจกัน แต่ชนชั้นนำโดยรวม มันประสานผลประโยชน์กันมาก”

นิธิอธิบายต่อว่า “ทั้งธุรกิจ การสมรส โรงเรียนเก่า หน้าที่การงาน ความเป็นเครือญาติ ทั้งหมดเหล่านี้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมดเลยในกลุ่มชนชั้นนำไทย หลายปีมาแล้วอาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เคยทำวิจัยเรื่องการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทย จะพบว่ามันแต่งงานกันเอง ธนาคารหลายธนาคารที่เรานึกว่ามันจะแข่งกัน เปล่าเลย มันลงทุนไขว้กันไปไขว้กันมาในทุกธนาคาร อย่างนี้เป็นต้น แล้วยังมีความสามารถในการกลืนเอากลุ่มชนชั้นนำใหม่ๆ เข้ามาด้วย”

“สมัยหนึ่งคนในกรุงเทพฯ ดูถูกเจ้าพ่อคนต่างจังหวัด ดูถูกนายทุนท้องถิ่น แต่ปัจจุบันคุณจะเห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถูกเดินเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชนชั้นนำเลยทีเดียว ฉะนั้น นี่จึงเป็นลักษณะเด่นที่ผมเห็นว่าชนชั้นนำไทยมีแตกต่างจากชนชั้นนำประเทศอื่นๆ และนั่นทำให้พลังการปรับตัวของชนชั้นนำไม่สู้จะมากนัก ฉะนั้น จึงไม่ค่อยจะมีบทเรียนอะไร ถึงผ่านอะไรมาก็ไม่ค่อยจะทำให้เขามีบทเรียนเลิกใช้ความรุนแรงได้ง่ายๆ” นิธิระบุ

ส่วนประเด็นที่ว่ารัฐไทยคงไม่กล้าทำอะไรรุนแรงเพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะนั้น ประเด็นนี้ผิด เพราะขณะนี้เกิดความรุนแรงจากรัฐไทยอยู่แล้ว เวลาเราพูดถึงความรุนแรงในปัจจุบัน เริ่มจำกัดความหมายของมันให้แคบลงเรื่อยๆ

“จับคนไปแขวนคอแล้วเอาเก้าอี้มาฟาด เราถึงจะนับเป็นความรุนแรงอย่างนั้นหรือ เผาคนทั้งเป็นจึงนับเป็นความรุนแรงอย่างนั้นหรือ การที่คุณใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีอยากโดนแล้วเกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย แสบตา และอื่นๆ มีที่ไหนในโลกนี้เขาทำกันบ้าง มาบอกว่าประเทศอื่นเขาก็ทำ คำถามคือประเทศอะไร คือเวลาที่เราบอกว่ามันมีมาตรฐานสากล ถามว่ามึงเอาประเทศอะไรเป็นสากลของมึง? ผมไม่เคยเห็นที่ไหนเขาทำ ในประเทศที่เขามีอารยธรรมอยู่บ้างไม่มีใครเขาทำแบบนี้ ทั้งหมดนี่คือความรุนแรงนะครับ ด้วยความหวังว่าถ้าคุณสามารถเชือดไก่ให้ลิงดูได้ ลิงทั้งหลายจะสงบ ทฤษฎีเชือดไก่ให้ลิงดูนี่มันเป็นทฤษฎีที่ชนชั้นนำไทยใช้กับคนที่ประท้วงต่อต้านหรือขัดขืนอำนาจเขาตลอดมา”

“ผลจากการใช้ความรุนแรงแบบไม่เลือกหน้า ใช้แบบเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ก็คือ คุณลากเอากระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล จนถึงคุก พังลงหมดเลย วันหนึ่งสังคมไทยจากจะฟื้นขึ้น คำถามคือจะฟื้นยังไงท่ามกลางความล่มสลายแล้วของกระบวนการยุติธรรม”

“คุณคิดว่าคนอยู่ร่วมกันในสังคมเพราะอะไร หนึ่งในบรรดาเหตุผลหลายๆ อย่างก็คือมันจัดการความยุติธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยความรุนแรงส่วนตัวหรือของคนใดคนหนึ่ง แต่บัดนี้มันพังไปหมดแล้ว อย่างนี้เป็นต้น”

 

ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า ในฐานะอดีตผู้ต้องหาเหตุการณ์ 6 ตุลา และในฐานะผู้ที่เฝ้าสังคมบ้านตัวเองมานาน มีข้อสรุปชัดคือสังคมไทยไม่เคยมีบทเรียน แม้เราจะรู้สึกว่าพอเหตุการณ์จบใหม่ๆ เราจะรู้สึกเหมือนมีปรากฏการณ์ถอดบทเรียน แต่ของจริงก็คือบทเรียนกลายเป็นบทที่ไม่เคยเรียน เป็นบทที่ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ

1. หากย้อนไปดูก่อนเหตุการณ์ รอยต่อในปี 2517 2518 2519 เราจะเห็นการใช้ทัศนะชุดความคิดแบบทหารนำการเมือง เชื่อว่ากำลังเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา จะชนะด้วยกำลัง

2. เราจะเห็นอิทธิพลของสายเหยี่ยว ที่ได้รับอิทธิพลจากสงครามเย็น มองและเชื่อในเครื่องมือแบบทหาร

3. องค์ประกอบของฝ่ายขวาจัดคือการปลุกระดมด้วยความเกลียดชัง ปีกขวาสร้างการแบ่งแยกทางการเมืองอย่างมาก

4. กลุ่มขวาจัดในไทยไม่ตระหนักถึงมิติทางการเมืองของปัญหา ในปี 2519 เราเห็นอาการเช่นนั้น เช่นเดียวกับในปี 2535 รวมถึงในปี 2553 ก็แทบไม่ได้แตกต่างกัน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันก็เป็นอาการเดียวกัน

ทั้งหลายทั้งปวงตอบได้อย่างเดียว คือบทเรียนมันถูกถอด แล้วก็กองวางไว้ตรงนั้น บทเรียนการแก้ปัญหาในสังคมไทยมันเหมือนเสื้อผ้า ถอดเสร็จก็กองตรงนั้น ไม่เอาไปซัก ไม่เอาไปทำอะไรต่อ ไม่ถูกนำไปใช้ต่อ ฉะนั้น ผู้นำหรือกลุ่มที่เข้ามามีอำนาจในยุคหลังก็ไม่ได้แคร์ในจุดนั้น เพราะเชื่อว่าตัวเองยังสามารถคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของสังคมไทยได้

ในประเด็นว่า รัฐไทยในปัจจุบันคงไม่กล้าทำความรุนแรงอะไร เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ส่วนตัวมองว่า เครื่องมือการสื่อสารในโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน เราเคยเชื่อว่ามันจะกลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นกลางฝ่ายประชาธิปไตย แต่ของจริงในแบบสังคมไทย สุดท้ายการควบคุมเครื่องมือการสื่อสาร อย่างในยุคปี 2519 ชัดเจน คนที่คุมทิศทางคือสถานีวิทยุยานเกราะ กับหนังสือพิมพ์แบบดาวสยาม หรือในปัจจุบันมันก็อยู่ในสิ่งที่คนไทยเรียกว่า IO ของทหาร หรือที่ผมเรียกว่า ปจว.ของฝ่ายขวาเท่านั้นเอง

ผมก็มีคำถามว่า ตกลงสายเหยี่ยวในปี 2519 2535 2553 หรือในปัจจุบัน เป็นเหยี่ยวตัวเดียวกันไหม หรือเป็นเหยี่ยวคนละ Gen แต่ชุดความคิดเหมือนกัน เพราะชุดความคิดแบบอนุรักษนิยมขวาจัดสุดโต่งบางส่วนมันน่าสนใจคือมันส่งผ่านโดยไม่คำนึงถึง Gen แปลว่าเราเห็นสายเหยี่ยวในปี 2519 ก็เชื่อว่าปราบชนะ

เราเห็นสายเหยี่ยวในปี 2535 ก็ใช้กำลัง ถามว่ามีบทเรียนไหมก็มี แต่น่าสังเกตว่าพอปี 2553 ฝ่ายรัฐไม่ได้ทำอย่างที่บทเรียนเพราะเชื่อว่าชนะ

ล่าสุดปีนี้เราเห็นรถฉีดน้ำผสมสี เราก็จะเห็นแล้วว่าสิ่งที่สังคมไทยมี มันเป็นบทเรียนหรือว่าบทลืม จนเชื่อมั่นว่ากำลังเท่านั้นคือจุดที่ขาดของชัยชนะ

 

นั่นคือความรู้สึกของสองนักวิชาการชื่อดัง ในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาคมในปีนี้

แต่บรรยากาศในปีนี้ก็น่าประหลาดใจไม่น้อย จู่ๆ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามเบรกการจัดงาน 6 ตุลา แม้จะมีการพยายามกดดันอย่างหนักจากทุกภาคส่วน

แต่ก็ดูเหมือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ตอบรับ ก่อนที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะส่งไลน์ มายังคณะผู้จัดว่าอนุญาตให้จัดได้ภายใต้มาตรการเคร่งครัด ตอนประมาณเที่ยงคืนกว่าๆ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจัดงานนั่นเอง

เมื่อปี 2558 มีการพยายามขัดขวางการจัดงานมาแล้ว จนธงชัย วินิจจะกุล นักวิชาการที่มีผลงานวิชาการระดับโลก และเป็นหนึ่งในผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงกับน้ำตาร่วง ขอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จงเป็นตัวแทนนักศึกษาไม่ใช่ตัวแทนของอำนาจรัฐ โปรดอย่าขัดขวางการจัดงานรำลึก 6 ตุลาคม

นี่คือ 45 ปี 6 ตุลาคม ที่ชนชั้นนำไม่เคยเรียนรู้