ความยุติธรรมรอ 12 ปี คดีพลทหาร “วิเชียร เผือกสม” ถูกซ้อมดับคาค่าย หลานสาวเปิดใจถูกคุกคาม

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก 08/10/2021

 

นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ในที่สุดก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนได้

สำหรับกรณีการเรียกร้องขอความเป็นธรรม จากกรณีที่อดีตพลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ภายในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2554

ผ่านการยื่นฟ้องคดี เรียกร้องความเป็นธรรมมาอย่างยาวนาน ในที่สุดศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ก็มีมติรับฟัองในคดีที่นายทหารยศร้อยโท และพวกรวม 9 คนไว้พิจารณา

นับเวลาแห่งการต่อสู้กว่า 10 ปี

ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่มี น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาว คอยติดตามเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถูกแจ้งความดำเนินคดี ถูกตำรวจบุกจับในความผิดหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

แต่ก็ไม่ย่อท้อที่จะทำความจริงให้ปรากฏ ยืนหยัดในความเป็นจริง

ยืนยันไม่ใช่เรื่องความแค้นส่วนตัว แต่ทำเพื่อให้ความยุติธรรมปรากฏ คนผิดต้องไม่ลอยนวล ให้เติบโตในราชการ ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบต่อไปได้

จะต้องไม่มีเหยื่อเพิ่มขึ้นมาอีก!??

ถูกจับพรบ.คอมพ์

ศาลรับฟ้องคดีพลทหารวิเชียร

สําหรับการต่อสู้คดีที่มีมาอย่างยาวนานในที่สุดก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 มีคำสั่งรับฟ้อง ร.ท.ภูริ เพิกโสภณ (ยศในขณะนั้น) กับพวกรวม 9 คน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา

โดยศาลมณฑลทหารบกที่ 46 มีคำสั่งนัดให้จำเลยยื่นคำให้การโต้แย้งคำฟ้องของพนักงานอัยการ ภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นี้

นับเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ในส่วนของคดีอาญา ในกรณีการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม ทหารเกณฑ์ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ พ.ศ.2557 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้กองทัพบกชดเชยค่าเสียหายให้ครอบครัวพลทหารวิเชียร เป็นเงิน 6.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ที่เป็นหลานสาวของผู้ตาย เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนางประเทือง เผือกสม เป็นผู้ฟ้องคดี

ซึ่งที่มาของคดี อ้างอิงตามรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุ พลทหารวิเชียรลาสิกขามาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 และสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/54 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554

ต่อมาหลบหนีจากหน่วยฝึก 2 ครั้ง คือเมื่อวนที่ 9 พฤษภาคม 2554 ครูฝึกได้ตัวมาในวันเดียวกัน และวันที่ 29 พฤษภาคม 2554 ครูฝึกได้ตัวมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2564

จากนั้นการลงโทษหฤโหดก็ได้เริ่มขึ้น!!!

โดยช่วงก่อนเที่ยง ครูฝึกยศร้อยตรีที่ลงโทษด้วยการตบหน้า 2 ครั้ง ให้กินพริกสด 3-4 เม็ด กับข้าว 1 จาน พอเวลา 12.40 น. สั่งให้พลทหารผู้ช่วยครูฝึก 2 นาย นำพลฯ วิเชียรไปหลังหน่วยฝึกหน้าห้องน้ำ เพื่อปรับปรุงวินัย ให้ออกกำลังกายบริหาร กระโดดกบ แองการู ท่ายุบสะโพก ให้แก้ผ้าเหลือกางเกงในตัวเดียว

จากนั้นพาไปพบ “ร้อยโท” ซึ่งสั่งให้ลากไปปรับปรุงวินัยต่อ โดยมีพลทหารจับขาพลฯ วิเชียรลากไปกับพื้นปูน จนพลฯ วิเชียรร้องด้วยความเจ็บปวด

เมื่อไปปรับปรุงวินัยที่หน้าห้องน้ำ มีการรุมเตะ กระทืบที่ขาและลำตัวของพลฯ วิเชียร ใช้เกลือทาบริเวณแผล ใช้เท้าเหยียบหน้าอก ใช้เวลาปรับปรุงวินัยอยู่ 2 ชั่วโมง จึงนำตัวพลฯ วิเชียรไปอาบน้ำ และพาไปห้องพยาบาล ทายาให้นอนพักบนเตียงผ้าใบ

แต่ยังไม่จบเท่านั้น มีทหารอีก 5 นายมารุมเตะด้วยหัวรองเท้าคอมแบต โดยมีร้อยตรีนั่งดูอยู่ที่เตียงพยาบาล

โหดเหี้ยมขนาดตามไปกระทืบถึงหน่วยพยาบาล!??

ร้องอสส.

ร้องขอชีวิต-ยังไม่หยุดทำร้าย

คํ่าคืนและความโหดร้ายเพิ่งเริ่มต้นขึ้น เวลา 17.45 น. สิบเอกเรียกรวมพลทั้งหมดไปรับประทานอาหารเย็น พร้อมให้แบกพลฯ วิเชียรจากห้องพยาบาล ใช้ผ้าขาวห่อตัวเหลือแต่ใบหน้าพร้อมมัดตราสังข์ให้เหมือนศพ ตั้งขบวนแห่และพูดไว้อาลัยเหมือนแห่ศพ

จากนั้นพลฯ วิเชียรถูกให้ใส่กางเกงในตัวเดียวนั่งกินข้าวบนก้อนน้ำแข็ง มีครูฝึกเอาน้ำแข็งมาประคบ ให้กินข้าวกับกระเทียม แล้วแบกร่างพลฯ วิเชียรมาหน้าหน่วยฝึก ใช้น้ำแข็งทับหน้าอก

เวลา 18.45 น. พลฯ วิเชียรถูกสั่งทำโทษให้หมอบ-ลุก เมื่อทำช้า ก็ใช้ไม้ไผ่ตีไปที่ลำตัว หลัง ก้น ขา จนถึงปลายเท้า ใช้เท้าเตะชายโครง หน้าอก กระทืบท้ายทอย จนคางกระแทกพื้นเป็นแผลแตก ใช้เท้าเตะไปที่หน้าจนเลือดออกปาก แม้พลฯ วิเชียรจะก้มกราบบอกเจ็บและจะไม่ทำอีกแล้ว แต่สิบเอกก็ไม่หยุดกระทำ แถมยังใช้ไม้ตีสลับเตะ จากนั้นถูกร้อยตรีแย่งไม้ไป สิบเอกพูดว่า “ไม่มีไม้ใช้มือใช้เท้าแทนก็ได้” พร้อมท้าให้ไปฟ้อง ผบ.ทบ.ต่อหน้าทหารใหม่ 200 คนที่เข้าแถวอยู่

23.00 น. หยุดทำร้ายพร้อมเรียกพลฯ วิเชียรไปคุย จากนั้นสั่งขึ้นโรงนอนเวลา 01.00 น.ของวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ซึ่งเพื่อนทหารเกณฑ์ระบุว่าพบร่างกายบอบช้ำ มีรอยบวมหลายแห่ง ใต้คางมีแผลลึก พลฯ วิเชียรร้องขอให้พาไปโรงพยาบาลเพราะเจ็บปวดมาก แต่ไม่มีใครกล้าพาไป

กระทั่งวันที่ 3 มิถุนายน 2554 เมื่ออาการหนักมาก จึงส่งตัวไปโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทางโรงพยาบาลระบุว่าอาการของพลฯ วิเชียรมีอาการหนักเกินขีดความสามารถของแพทย์ที่จะรักษาเยียวยาได้ จึงส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ต่อทันที

ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2554 พลฯ วิเชียรเข้าไอซียู แพทย์ระบุชีพจรต่ำมาก การตอบสนองของร่างกายไม่มี อาการอยู่ในขั้นโคม่า จนกระทั่งวันที่ 5 มิถุนายน เวลา 23.05 น. ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส พลฯ วิเชียร เผือกสม เสียชีวิตในวัย 26 ปี แพทย์ลงความเห็นสาเหตุการตายว่ามาจากไตวายเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการถูกรุมซ้อมทำร้ายร่างกาย

เป็นเหตุการณ์หฤโหดในค่ายทหารที่ควรจะผลิตบุคลากรมารับใช้ประเทศ
กลับกลายเป็นสถานที่แห่งความตาย!??

พลทหารวิเชียร เผือกสม

เปิดใจถูกคุกคาม-แต่ยังสู้

ภายหลังการเสียชีวิตของพลฯ วิเชียร น.ส.นริศราวัลถ์ที่ขณะนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร้องเรียนของความเป็นธรรมกับหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่คืบหน้า มีการอ้างเรื่องความรับผิดชอบว่าเป็นของหน่วยงานต่างๆ จนกระทั่งชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวต้องอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต่อมาสรุปสำนวนส่งอัยการศาลทหาร แล้วจึงยื่นฟ้องต่อศาลทหารเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ใช้เวลาทั้งหมด 9 ปี

จนกระทั่งศาลศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

ต่อสู้กันมานานกว่า 10 ปี เรื่องจึงได้เข้าสู่ศาล

และแน่นอนว่าตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา น.ส.นริศราวัลถ์ต้องเผชิญกับแรงกดดันและคดีความต่างๆ

โดยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 น.ส.นิศราวัลถ์ หรือเมย์ ถูกตำรวจจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ ร่วมกับตำรวจ สน.มักกะสัน บุกจับกุมขณะทำงานอยู่ที่กองกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนคุมตัวลงใต้ไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองนราธิวาส

ซึ่งตำรวจระบุว่าเป็นคดีที่ ร.อ.ภูริ เพิกโสภณ (ยศในขณะนั้น) แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทและความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2558 จากเรื่องที่ร้องขอความเป็นธรรมกรณีพลฯ วิเชียร จนศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับ

ขณะที่ น.ส.นริศราวัลถ์ระบุไม่เคยได้รับหมายมาก่อนด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้ น.ส.นริศราวัลถ์ระบุว่า ถูกคุกคามมาตั้งแต่ปี 2554 ช่วงจัดงานศพให้น้า หรือพลฯ วิเชียร ก็เจอซองธูปที่ข้างในใส่ซองกระสุนปืน ตอนงานศพก็บอกจะคลุมธงชาติให้ แต่น้าไม่ได้ตายด้วยหน้าที่ แต่ตายด้วยลำแข้ง จึงไม่รับข้อเสนอ จากนั้นท่าทีอีกฝ่ายก็เปลี่ยนไป

จากนั้นก็เริ่มมีการเสนอเงิน แล้วมีคนในเหตุการณ์นำสำนวนสอบมาให้ 2 ชุด ชุดแรกเป็นของร้อยโท ชุดที่ 2 เป็นของอีก 9 ทหาร สำนวนระบุว่าร้อยโทไม่เกี่ยว ทั้งที่สำนวนระบุว่าอยู่ในเหตุการณ์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมต้องปกป้องคนคนนี้

ตอนแรกกลัวถูกคุกคามมาก เพราะเขาจะมายุ่งกับครอบครัว หลังจากยื่นหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ทำให้ไม่มีใครมายุ่งกับครอบครัวเรา

ที่ต่อสู้มาตลอดก็เพราะเชื่อว่า “ความยุติธรรมย่อมอยู่เหนือทุกอย่าง” ทุกวันนี้ยังคงเชื่อเช่นนั้น ต่อให้เราเจอความยากลำบากทุกอย่าง แต่เราเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สังคมกำลังทำร้ายตัวเอง คนในสังคมเวลาเกิดเหตุแล้วต้องต่อสู้กับคนมีอำนาจ ทุกคนจะบอกว่าต้องยอมแพ้ อย่าสู้เลย สู้แล้วไม่ชนะ มีแต่เสีย นั่นเป็นการปลูกฝังสิ่งที่ผิดแล้ว

ทำไมไม่คิดว่า ในเมื่อเขาทำผิด ก็ต้องได้รับโทษ ไม่ว่ายากดีมีจนยังไง ผิด-ถูกก็เหมือนกัน

เป็นแรงขับให้ต่อสู้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี

 

จบมหากาพย์ 12 ปี
พิพากษาคุกพลทหาร 2-4ปี

วันที่ 24 พ.ย.2566 น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของ พลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ภายในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2554 ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า สิ้นสุดการต่อสู้กับอำนาจ ยศ และเงิน เอาคนผิดทุกนายให้ออกจากกองทัพบกและได้รับโทษจำคุก

ตลอดระยะเวลา 12 ปี 5 เดือนกว่า ที่ลุกขึ้นสู้ไม่ถอยเพื่อตามหาความยุติธรรมในคดีพลทหารวิเชียร เผือกสม ตั้งแต่เพิ่งขึ้นปี 2 จนถึงตอนนี้ เมย์ผ่านเรื่องราวมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นข่มขู่ครอบครัว ถูกขู่ฆ่า คนมีอำนาจช่วยเหลือคนผิด ความช้าล่าของกระบวนการยุติธรรม และการกลายเป็นผู้ต้องหาถูกจับกุมตัว

วันนี้เมย์ทำสำเร็จแล้วนะคะ เมย์พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าความถูกต้องและความยุติธรรมอยู่เหนืออำนาจและเงิน ถึงเป็นลูกนายพล มีทหารยศใหญ่ที่เลือกพวกพ้องมากกว่าความถูกต้องช่วยเหลือทุกขั้นตอน แต่ถ้าทำผิดก็ได้รับโทษทางกฎหมาย

น.ส.นริศราวัลถ์ ระบุต่อว่า 24 พ.ย. 2566 มณฑลทหารบกที่ 46 มีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ร้อยโทลูกนายพล จำคุก 2 ปี (คนที่แจ้งความจนเมย์ถูกจับกุมตัวเป็นผู้ต้องหา และใช้เวลาต่อสู้ 3-4 ปี จนอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง), จำเลยที่ 2 ร้อยตรี จำคุก 4 ปี, จำเลยที่ 3 จำคุก 3 ปี, จำเลยที่ 4-5, 7-9 จำคุก 2 ปี, จำเลยที่ 6 เสียชีวิต และ จำเลยที่ 10 หลบหนีตามหมายจับศาลทหาร

ทั้งนี้ ศาลทหารไม่มีอุธรณ์และฎีกาสิ้นสุดแค่การตามหาความยุติธรรม แต่ไม่สิ้นสุดหน้าที่ความรับผิดชอบ สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ตามกองทัพบกเรื่องไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทน 7 ล้านบาทที่ใช้ภาษีประชาชนจ่ายให้กับครอบครัวเมย์ในคดีแพ่ง โดยกองทัพบกต้องตามไล่เบี้ยคืนจากจำเลยทั้ง 10 คนมาคืนให้กับเงินภาษีตามกฎหมายต่อไป