จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ‘หมา’ หรือ ‘คน’ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

‘หมา’ หรือ ‘คน’

 

‘หมา’ คือสัตว์สี่เท้าซึ่งสัมพันธ์ใกล้ชิดคนมาแต่โบราณ

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ให้รายละเอียดว่า “คือชื่อสัตวสี่เท้า, คนเลี้ยงไว้ในบ้านมีโดยมาก มันกินเข้ากินเนื้อปลาเห่าหอนกัดคนได้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

นอกจากใช้หมาเฝ้าบ้านแล้ว ยังใช้หมาล่าสัตว์ ดังที่ “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ชูชก เล่าถึงบรรดาหมาวิ่งถลาเข้าหาชูชก พราหมณ์ชรา

“…ฝูงสุนัขนายเจตบุตรนี่หนักหนา วิ่งนำหน้าแล่นมาก่อน บ้างวิ่งแซงเสียดซุกซ้อนสีนั้นต่างๆ พรรณดอกดำแดงแด่นด่างระดาดาษดื่นไปทั้งไพร บ้างก็เห่าหอนแห่โหมไล่เลี้ยวล้อมเข้าเป็นวง เฒ่าก็วิ่งตรวดตรงขึ้นต้นไม้ รุกฺขสฺมิญฺจ นิสินฺโนว ขึ้นบนค่าคบซบนั่งให้มั่นคง…”

ดีว่าพรานเจตบุตรมาช่วยไว้ทันด้วยการที่

“เอาเครือวัลย์วลีมาทำเป็นบ่วง บิดเป็นห่วงหูหันกระชั้นชิดฉุดกระชากชัก จึ่งใส่สวมกรวมคอสุนัขล่าเนื้อไว้ให้หมด ปลายเชือกกระสันสดสอดสัตว์รัดกับกอหญ้า”

หาไม่ชูชกคงนั่งลุ้นระทึกอยู่บนค่าคบไม้ ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะถูกขม้ำจมคมเขี้ยวเมื่อใด

ในวรรณคดีสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” กวีบรรยายถึง ‘นรกหมา’ สำหรับคนปากหมาโดยเฉพาะ

“นรกอันเป็นคำรบ 2 นั้น ชื่อว่า ‘สุนัขนรก’ คนผู้ใดกล่าวคำร้ายแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีลแลพ่อแม่ผู้เถ้าผู้แก่ครูปัธยาย์ คนผู้นั้นตายไปเกิดในนรกอันชื่อว่าสุนัขนรกนั้นแล ในสุนัขนรกนั้นมีหมา 5 จำพวก หมาจำพวกหนึ่งนั้นขาว หมาจำพวกหนึ่งนั้นแดง หมาจำพวกหนึ่งนั้นด่าง หมาจำพวกหนึ่งนั้นดำ หมาพวกหนึ่งนั้นเหลือง หมาฝูงนั้นใหญ่เท่าช้างสารทุกตัว ฝูงแร้งแลกาอันอยู่ในนรกนั้นใหญ่เท่าเกียนใหญ่ทุกๆ ตัว ปากแร้งแลปากกาแลเล็บตีนนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟลุกอยู่บ่มิได้เหือดสักคาบ แร้งแลกาหมาฝูงนั้นเทียรย่อมจิกแหกหัวอกย่อมขบย่อมตอดคนทั้งหลายผู้อยู่ในนรกนั้น แลบาปกรรมของเขานั้นบ่มิให้ตาย แลให้เขาทนเจ็บปวดสาหัส ทนทุกขเวทนาพ้นประมาณอยู่ในนรกอันชื่อว่า สุนัขนรกนั้นแล” (เกียน=เกวียน, เทียรย่อม=ย่อม มี เป็น มีปรกติ ฯลฯ)

มีสำนวนเก่าแก่ที่ไม่เคยตกยุค ใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยนี้ คือ ‘หมากัดอย่ากัดตอบ’ “สุภาษิตพระร่วง” ใช้ว่า ‘สุวานขบอย่าขบตอบ’ สุวาน คือ หมา ขบ คือ กัด ซึ่ง “โคลงโลกนิติ” สมัยรัตนโกสินทร์นำมาขยายความว่า

 

“หมาใดตัวร้ายขบ                บาทา

อย่าขบตอบต่อหมา              อย่าขึ้ง

ทรชนชาติช่วงทา-                 รุณโทษ

อย่าโกรธอย่าหน้าบึ้ง              ตอบถ้อยคือความ”

 

โคลงนี้มีความหมายเดียวกับ ‘หมากัดอย่ากัดตอบ’ แม้พูดถึงหมาก็หมายถึงคน ซึ่งมิใช่คนทั่วไป แต่เป็นคนพาลสันดานหยาบ คนชั่วช้าที่มีพฤติกรรมต่ำตม หรือคนที่มีศักดิ์ต่ำกว่า เป็นการสอนคนให้รู้จักอดทนอดกลั้น ไม่ควรลดตัวลงไปต่อสู้หรือทะเลาะวิวาทกับหมาหรือคนพาลให้เสียแรงเสียเวลาไปเปล่าๆ

คนกับหมานั้นต่างชั้น แลกกันไม่ได้

 

สํานวนไทยเกี่ยวกับหมามีมากมายที่หมายถึงคน เช่น หมาถูกน้ำร้อนลวก หมาขี้ไม่มีใครยกหาง หมากลางถนน หมาจนตรอก หมาลอบกัด หมากัดไม่เห่า หมาเห่าไม่กัด หมาหยอกไก่ หมาไล่เนื้อ หมาหวงก้าง หมาในรางหญ้า หมาหางด้วน หมาหมู่ หมาหัวเน่า ฯลฯ ส่วนใหญ่เกิดจากการนำเอาพฤติกรรมและนิสัยใจคอของหมามาเปรียบกับคนหลายประเภท

แม้หมาจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคน แต่คนไทยก็มิได้ให้ราคาหมาเทียบเท่าคน ถึงหมาจะอยู่ในถ้อยคำสำนวนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ต่ำชั้นกว่าคน มักเปรียบหมากับคนที่นิสัยเสีย ความประพฤติร้ายกาจ กวีเอ่ยถึงหมาในวรรณคดีก็มิได้ยกย่องแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากหลายต่อหลายตอนในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

เมื่อกองทัพที่พร้อมพรั่งทั้งกำลังคน อาวุธและพาหนะแตกพ่าย นายทัพล้มตายเพราะฝีมือขุนแผน สมเด็จพระพันวษาก็กริ้วจัด ตรัสบริภาษไพร่พลอย่างรุนแรง

 

“อ้ายชาติหมากาลีเห็นขี้เสือ               วิ่งแหกแฝกเฝือไม่แลเหลียว

ดีแต่จะเย่อหยิ่งนั้นสิ่งเดียว                 ลอยลากหางเกี้ยวประตูดิน

หวีผมหย่งหน้าอ้ายบ้ากาม                  ศึกเสือสงครามไม่เอาสิ้น”

 

วันประหารนางวันทอง ขณะที่ทุกฝ่ายอยู่ในห้วงหมดอาลัยตายอยาก ขุนช้างก็ฟูมฟายคร่ำครวญถึงนางอย่างไม่เหมาะสม เอาแต่รำพันถึงเพศสัมพันธ์โจ๋งครึ่ม ได้ยินกันทั่วหน้า

 

“แม่มาตายกลางดินเขานินทา                แม่ยอดฟ้าฝาบาตรกระจาดใหญ่

จะหาไหนเหมือนแม่แต่นี้ไป                  แม้นไม่ได้เช่นนี้ไม่มีเมีย

……… ฯลฯ …………

จะภาวนาให้หนักชักประคำ                  แต่หัวค่ำร่ำไปจนไก่ขัน

ร้อยวษาพันวษาไม่ราวัน                      ฉันแต่นางทั้งห้ากว่าจะตาย”

 

ทำเอาลูกชายนางวันทองสุดจะทนไหว

 

“พระหมื่นไวยขัดใจลุกออกมา               อ้ายชาติข้าหัวล้านประจานกู

วาจาเหมือนหมาสะบัดขี้                    มึงกลัวกูจะตีมึงอย่าอยู่

ไม่ไปกูจะถองมึงลองดู                        ฉุดหูกระชากลากออกมา”

 

‘วาจาเหมือนหมาสะบัดขี้’ คือคำพูดตามอารมณ์โดยไม่คิดว่าจะส่งผลให้ใครเดือดร้อนเสียหายหรืออับอายอย่างไรบ้าง เหมือนหมาที่ขี้แล้วก็แล้วกัน ขี้จะกระเด็นไปตกที่ไหน โดนใครก็ไม่สนใจ

หลังจากนางวันทองถูกประหาร แม่ศรีประจันซึ่ง ‘ตัวแกสั่นหน้าขาวราวกับผี อาลัยลูกหลงเล่อเพ้อพาที น้ำตารี่ไหลหลั่งละลุมลง’ ก็โทษว่าที่ลูกสาวต้องมาตายเนื่องจาก

 

“ทั้งอ้ายแผนอ้ายล้านกระบาลใส           ล้วนจัญไรได้มาเป็นลูกเขย

แย่งกันเหมือนหมาหมูกูไม่เคย            เอาจนเลยฉิบหายถึงวายปราณ”

 

บรรดาแม่ของตัวเอกในเรื่อง เวลาโกรธใครขึ้นมา ปากคออย่าบอกใคร อย่างนางทองประศรี (แม่ขุนแผน ย่าพระไวย) ตอนที่เมียทั้งสองของพระไวยทำขนมเบื้อง สร้อยฟ้าทำไม่เป็น ถูกเยาะเย้ยเป็นการใหญ่ สร้อยฟ้าทั้งอับอายและตื่นตระหนก ‘ตัวสั่นอยู่งันงก หกแป้งต่อยกระทะผละเข้าเรือน’ ญาติผู้ใหญ่ของผัวจึงด่าหลานสะใภ้ไม่ยั้ง

 

“ทองประศรีร้องว่าอีห่าลาว                 ทำฉาวเจียวอีหมาขี้เรื้อนเปื้อน

เทแป้งแกล้งให้เปรอะเลอะทั้งเรือน        กระทะกระท่อยต่อยเกลื่อนลาวจัญไร”

 

‘อีหมาขี้เรื้อนเปื้อน’ หรือหมาขี้เรื้อน เป็นสำนวนหมายถึงคนที่น่ารังเกียจไม่ควรคบค้าสมาคมด้วย เป็นการกล่าวถึงอย่างดูถูกเหยียดหยาม

คำว่า ‘หมา’ ดูจะติดปากย่าทองประศรี พร้อมจะมอบให้หลานสะใภ้ชาวลาวทุกเมื่อ สร้อยฟ้าตัดพ้ออย่างน้อยใจทำนองว่าทำตัวไม่สมเป็นผู้ใหญ่

 

“คุณย่าละก็คอยพลอยประสม

คนนั้นว่าคนนี้ว่ามาระดม                     ลมพัดไม่มีไปข้างไหนเลย

น้ำไหลไยไม่ไหลไปที่ลุ่ม                       ช่างไหลชุ่มไปบนเขาเจ้าแม่เอ๋ย”

 

นางทองประศรีฟังแล้วยิ่งขัดหู จึงตอกกลับทันที

 

“ท่านย่าว่าเหม่มาเปรียบเปรย                 เหวยอีลาวปากคอมันหนักนัก

ก็เพราะมึงอึงฉาวอีลาวโลน                    ร้องตะโกนก้องบ้านอีคานหัก

อีเจ็ดร้อยหมาเบื่อมันเหลือรัก                ทำฮึกฮักมี่ฉาวอีลาวดอน”

สร้อยฟ้ากลายเป็นหมาเพราะย่าทองประศรีนี่เอง

พูดถึง ‘หมา’ แท้ๆ แต่เกี่ยวกับ ‘คน’ ล้วนๆ