ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “ตั๋วเป๋นผะยาด ต้องฟังกำหมอ ตั๋วเป๋นจ้างซอ ต้องฟังเสียงปี่”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ตั๋วเป๋นผะยาด ต้องฟังกำหมอ ตั๋วเป๋นจ้างซอ ต้องฟังเสียงปี่”

แปลว่า เธอเป็นคนไข้ต้องเชื่อหมอ เธอเป็นคนขับลำนำแบบล้านนาต้องฟังเสียงปี่

คำว่า “ตั๋ว” เป็นบุรุษสรรพนามที่สองในภาษาล้านนา แปลว่า เธอ

“ผะยาด” คือ พยาธิ ในภาษาล้านนาแปลได้ตั้งแต่ โรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด ตลอดจนแปลว่า ตัวหนอนพยาธิที่แปลว่า parasites

“ฟังกำ” คือ ฟังคำ เป็นสำนวนในภาษาล้านนาว่า เชื่อฟัง

“ช่างซอ” คือ ผู้เชี่ยวชาญในการขับร้องเพลงพื้นเมือง เป็นศิลปะการแสดงของล้านนาชนิดหนึ่ง คำว่า “ช่าง” ในภาษาล้านนาแสดงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เช่น ช่างไม้ ช่างแต้ม (จิตรกร)

“ซอ” หรือซอพื้นเมือง เป็นเพลงพื้นบ้านรูปแบบหนึ่งของคนล้านนา หรือคนภาคเหนือ ส่วนมากมีการร้องเป็นคู่ โต้ตอบไปมา อาศัยมีปฏิภาณไหวพริบ ตอบโต้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างฉับไว ซอจึงจะสนุก เป็นที่นิยมของผู้ฟัง

แต่ซอเดี่ยวๆ ก็มี มักจะเป็นการเล่าเรื่อง หรือเล่าเหตุการณ์

การขับลำนำซอ จะต้องมีวงปี่จุมบรรเลงดนตรีประกอบ อาศัยเสียงปี่เป็นหลักในการให้จังหวะ ก่อนช่างซอจะขับลำนำ จะต้องมีเสียงปี่นำมาก่อนเสมอ แล้วช่างซอจึงจะร้องรับ

 

ดังนั้น คำคม “คนไข้ต้องเชื่อหมอ ช่างซอต้องฟังเสียงปี่” จึงเป็นคำผู้ใหญ่ใช้สอน ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามนั่นเอง กล่าวคือ หากไม่สบาย ถ้าคุณปฏิบัติตัวตามหมอสั่ง กินยา นอนพัก ฯลฯ ก็จะหายจากโรคได้ ส่วนถ้าเป็นช่างซอ คุณจะร้องเพลงซอขึ้นมาก่อนเสียงปี่ก็ไม่ได้ เพราะมันผิดธรรมเนียมการซอ

“พยาธิ” ที่โด่งดังครึกโครมในระยะนี้ เห็นทีจะไม่พ้น “โควิด-19”

ในตอนแรกที่โควิด-19 ระบาด หมอสั่งให้ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ คนก็ไม่ค่อยจะฟังคำเตือน จนระบาดแล้วระบาดอีกหลายระลอก พอเริ่มมีวัคซีนใช้ หมอบอกให้ไปฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค แต่คนก็กลัววัคซีนกัน ไม่ยอมไปรับวัคซีน

พอไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ระบาดหนักขึ้น อาการโรครุนแรงมากขึ้น คราวนี้แหละพากันแย่งวัคซีนเพราะกลัว ทำให้เกิดความโกลาหลไปทั่ว

นี่คือตัวอย่างที่ “ไม่ฟังคำหมอ”

ถ้าเชื่อกันตั้งแต่ต้น การระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะไม่รุนแรงเป็นวงกว้างเช่นในปัจจุบัน

บ่อยากติดโควิด ต้องไปฉีดวัคซีนเน่อเจ้า