ราคาน้ำมัน-ค่าเงินพุ่ง พลังงานดันกองทุนอุ้มดีเซล หวั่นกระทบแผนฟื้นเศรษฐกิจ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ราคาน้ำมัน-ค่าเงินพุ่ง

พลังงานดันกองทุนอุ้มดีเซล

หวั่นกระทบแผนฟื้นเศรษฐกิจ

 

สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เริ่มส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนำเข้าสินค้า หรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนแพงขึ้น

ยิ่งมาผนวกกับแนวโน้มราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาด้านซัพพลายต่างๆ ทั้งกรณีชิพคอมพิวเตอร์ขาดแคลน และปัญหาไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ ยิ่งสร้างความปั่นป่วน โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกำลังผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากปัจจัยราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง และเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าสินค้าหลายรายการ อาทิ น้ำมัน ภาคการผลิต อาหารสด เป็นต้น แต่สิ่งที่ห่วง คือภาวะเงินเฟ้อ เพราะสินค้าแพงขึ้น แม้ไทยจะได้อานิสงส์เรื่องค่าเงินบาทที่เป็นตัวช่วยผลักดันให้ส่งออกได้มากขึ้นก็ตาม

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่าสถานการณ์ขณะนี้มีส่งผลทั้งด้านบวกและลบ เงินบาทที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในฐานะที่มีรายได้จากการส่งออกเป็นรายได้หลักในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนจากการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลสะท้อนจากต้นทุนที่ปรับขึ้น สามารถส่งผ่านไปเป็นราคาสินค้าได้

“ส่วนตัวเชื่อว่า เอฟเฟ็กต์จะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมในไตรมาส 4 ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงคือ ถ้าน้ำมันแพงดันเงินเฟ้อสูงขึ้นและเศรษฐกิจจะไม่โต” นายสุพันธ์กล่าว

ในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเหล็กบางประเภทเล็กน้อย โดยเฉพาะเศษเหล็ก เหล็กแท่ง การรับมือในเวลานี้ คือ ต้องเน้นซื้อในประเทศมากขึ้น ปรับลดสัดส่วนการนำเข้าจาก 50:50 เหลือ 70:30

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถชะลอนำเข้าได้ เพราะมีบางประเภท เช่น อัลลอย รวมถึง sub raw materials ที่ต้องนำเข้าเกือบ 100% เนื่องจากวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ หากเงินบาทยังอ่อนค่าไปนานกว่านี้ โรงงานคงแบกรับทั้งหมดไม่ไหว สุดท้าย ก็จะไปกระทบผู้บริโภคปลายทาง

 

สอดคล้องกับมุมมองของนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ที่ระบุว่า เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น โดยเงินบาทที่อ่อนค่าทุกๆ 10 สตางค์ จะทำให้ราคาทองแพงขึ้น 70 บาท แต่ผู้ค้าทองยังคงนำเข้าทองคำตามปกติ เนื่องจากสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้ซื้อได้ กล่าวคือ หากคนมาขายทองมาก ผู้ค้าก็ส่งออกมาก หรือถ้าคนมาซื้อทองมาก ก็จะนำเข้ามากขึ้น เป็นไปตามกลไกตลาด อย่างไรก็ดี สำหรับปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน นำเข้าทองคำลดลงไปมาก ล่าสุด จนถึงเดือนตุลาคม นำเข้าแล้วกว่า 130 ตัน ต่ำกว่าปี 2563

“เนื่องจากปีนี้กำลังซื้อแย่กว่าปีที่แล้ว ราคาทองก็สูงขึ้น ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีราคาทองน่าจะขึ้นๆ ลงๆ เพราะกองทุนต่างประเทศมีการเก็งกำไรหุ้น ทอง น้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ราคาผันผวน” นายจิตติกล่าว

ด้านนายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า แฟลช เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า น้ำมันเป็นต้นทุนหลักอย่างหนึ่งของธุรกิจขนส่ง เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทได้เตรียมความพร้อมบรรเทาผลกระทบด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าให้ได้มากขึ้น ลดระยะเวลาการเดินทางให้สั้นที่สุด ด้วยระบบการบริหารจัดการเส้นทางการขนส่งพัสดุ และระบบการเรียงลำดับการจัดส่ง ช่วยให้การจัดส่งพัสดุให้ถึงผู้รับโดยเร็วขึ้น ต้นทุนลดลง

“ขณะเดียวกัน จะเลือกขนาดรถบรรทุกในการขนส่งสินค้าที่เหมาะสมกับปริมาณและน้ำหนักของสินค้า และในอนาคตวางแผนจะใช้รถขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาทดแทน คาดว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็เตรียมพร้อมในเรื่องนี้เช่นกัน น่าจะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงหรือปัจจัยด้านราคาน้ำมันแพงได้” นายคมสันต์กล่าว

 

จากผลกระทบราคาน้ำมันแพงขึ้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และที่ประชุมมีมติให้ปรับสูตรน้ำมันดีเซล โดยปรับลดสัดส่วนผสมดีเซลจาก B10 และ B7 เป็น B6 ในช่วงระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564 (20 วัน) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล B6 นับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม เป็นต้นไป ระดับราคาอยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า นอกจากปรับสูตรน้ำมันดีเซล กบง.มีมติให้ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของ B7 จาก 1 บาท เหลือเพียง 1 สตางค์ และลดค่าการตลาดดีเซลเหลือ 1.40 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 จะส่งผลให้น้ำมัน B7 ราคา 30.29 บาท/ลิตร ทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าการชดเชยทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันสถานะเงินกองทุนฯ ที่ 11,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะนำมาช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังขยายเวลาตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 318 บาท/ถัง จากเดิมจะตรึงถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ได้ขยายเวลาเป็นถึงวันที่ 31 มกราคม 2565

“ในเดือนพฤศจิกายน จะประเมินทิศทางของราคาน้ำมันโลกอีกครั้ง หากยังคงผันผวน จนส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศพุ่งขึ้นเกิน 30 บาท/ลิตร กระทรวงพลังงานจะทบทวนอีกครั้งและหามาตรการช่วยประชาชนทันที” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

 

สําหรับมุมมองของนักวิเคราะห์ ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นน่าจะยังไม่จบในปีนี้ แต่จะมีผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่เงินบาทก็จะได้รับผลกระทบจากดอลลาร์ที่แข็งค่าไปจนกว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี สำหรับเศรษฐกิจไทย การที่เงินบาทอ่อนค่า มีผลกระทบน้อยกว่าเงินบาทแข็งค่า เพราะเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก

“ประเด็นเรื่องเงินบาทอ่อนค่าพร้อมๆ กับราคาพลังงานขยับขึ้น อาจจะมีผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันในประเทศ การที่รัฐบาลเข้ามาตรึงราคาน้ำมันดีเซล ภาระก็จะตกอยู่กับทางการ ซึ่งต้องใช้เงิน อาจช่วยได้ระยะหนึ่ง และขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะยาวแค่ไหน ส่วนเงินบาทอ่อน มีผลต่อต้นทุนของผู้นำเข้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่งจะฟื้นตัว ผลกระทบในเชิงลบต่อต้นทุนการนำเข้า อย่างพวกเครื่องจักร หรือวัตถุดิบ อาจยังไม่มาก แต่ถ้าไปเจอผลกระทบต้นทุนตอนที่ต้องเร่งผลิต แบบนั้นจะลำบาก” ดร.เชาว์กล่าว

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องคิดหาวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์ ผลกระทบต่างๆ ลากยาวออกไป ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า