ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อย่าปล่อยให้การเมืองแบบขุนศึก ทำลายประเทศ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

รอยร้าวของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ กำลังทำให้อนาคตของรัฐบาลพร่ามัว

ข่าวลือเรื่องยุบสภา, ปรับคณะรัฐมนตรี, เปลี่ยนนายกฯ และเลือกตั้งใหม่มีติดต่อกันเป็นเดือนๆ

ส่วนความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นทุกขณะ หมดเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องโควิดและมาถึงเรื่องน้ำท่วมปัจจุบัน

ไม่มีใครในทำเนียบยอมรับว่ารัฐบาลอยู่ในสถานการณ์ไม่มั่นคง

แต่การกระทำของทุกคนคือหลักฐานว่าอำนาจรัฐตอนนี้ผิดปกติ

เพราะสองทหารเฒ่ามีความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง

และทุกอณูของความระแวงปะทุเป็นการเฝ้าระวังและการคะคานอีกฝ่ายตลอดเวลา

คนทั้งประเทศรู้ว่าคุณประยุทธ์ต้องการยึดประเทศนี้เป็นของตัวเองตลอดกาล

มิหนำซ้ำความกระหายอำนาจของคุณประยุทธ์มีมากจนพร้อมละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปีด้วย จนในที่สุดคุณประยุทธ์ก็ประกาศในวันอังคารที่ผ่านมาขอเป็นนายกฯ อีกที

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยไม่เคยแถลงนโยบายอะไร

คุณประยุทธ์ในปีนี้ก็ประกาศตัวเป็นนายกฯ โดยไม่พูดว่าจะทำอะไรให้ประเทศอีก

โลกของคุณประยุทธ์คือโลกที่อำนาจมีไว้เพื่อคนมีอำนาจ ส่วนประชาชนมีไว้เพื่อให้คนมีอำนาจได้มีอำนาจต่อไป–

 

คุณประยุทธ์ถูกมองว่ากำลังจะตั้งพรรคใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีคนเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ต่อไป

และแผนตั้งพรรคใหม่ก็แสดงว่าพลังประชารัฐเป็นองค์กรที่คุณประยุทธ์เชื่อใจไม่ได้อีก ไม่ว่าจะเพราะคุณประวิตรไว้ใจไม่ได้, คุมพรรคไม่ได้ หรือคุณประยุทธ์ระแวงว่าพรรคจะเสนอคนอื่นเป็นนายกฯ ก็ตาม

คุณประยุทธ์มีอำนาจด้วยการรัฐประหาร และถึงแม้เจ็ดปีของคุณประยุทธ์จะเป็นยุคทองของนักการเมืองที่ใช้ทหารเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ความจริงคุณประยุทธ์เกษียณมาเจ็ดปีแล้ว จะให้ทหารหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยวิธีใดก็คงไม่ได้อีก

อดีตปลัดมหาดไทยเป็นเบี้ยที่คุณประยุทธ์ใช้สร้างพรรคใหม่ให้เป็นนายกฯ ต่อไป วิธีควบคุมประเทศแบบนี้ใช้ข้าราชการเป็นฐานในการเข้าสู่อำนาจไปไม่รู้จบ การเมืองของคุณประยุทธ์มีแกนกลางอยู่ที่การใช้ข้าราชการเป็นฐานของอำนาจ หรือกลับกับคือฐานหลักของอำนาจไม่ได้มาจากประชาชน

ถ้าคุณประยุทธ์ประสบความสำเร็จในการผูกขาดประเทศตามแผนที่คุณประยุทธ์ต้องการ ประเทศไทยก็จะเดินหน้าสู่การเป็นสังคมที่ระบบราชการปกครองประชาชน ไม่ว่าจะโดยข้าราชการที่ยังกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนจริงๆ หรือข้าราชการเกษียณอายุที่ความคิดไม่วิวัฒนาการจากเดิม

สําหรับคนที่รู้สึกว่าประเทศไทยในรอบเจ็ดปีนี้ถูกปกครองโดยหัวหน้ารัฐบาลที่ไม่ฟังใครเลย ข่าวร้ายคือคนแบบนี้กำลังดิ้นรนให้ประเทศเป็นแบบนี้ต่อไปอีก ประเทศที่เจ็ดปีไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็จะยิ่งจมปลักดักดานต่อไปไม่วันจบสิ้น เผลอๆ อาจจะจนกว่าคุณประยุทธ์ตายไป

ปัญหาคือคุณประยุทธ์มีโอกาสแค่ไหนในการทำให้ทิศทางสู่หายนะของประเทศกลายเป็นความจริง

อดีตปลัดซึ่งมีข่าวจะทำพรรคหนุนคุณประยุทธ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้กว้างขวางในข้าราชการและนักการเมือง ในฝั่งนักการเมืองนั้นเชื่อว่าอดีตปลัดเป็นคนที่เข้าหาคนทุกฝ่ายได้หมด

ในฝั่งข้าราชการเชื่อว่าอดีตปลัดมีความสัมพันธ์กับ “บิ๊ก” กลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะตำรวจและข้าราชการพลเรือน

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ความสามารถในการ “เข้าหา” ถูกแปรรูปเป็นการประสานนักการเมืองและชนชั้นระดับซี 10 หลายกลุ่มเยอะไปหมด

ยิ่งกว่านั้นคือการ “เข้าหา” ถูกพูดถึงหนาหูว่า “ใจป้ำ” ดูแลหนัก ดูแลดี และมีแนวโน้มจะดูแลพวกพ้องทางเศรษฐกิจต่อไปจนควรย้ายค่ายมาเป็นพวกเดียวกัน

ด้วยการเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการซึ่งเน้นเป็นพิเศษเรื่อง “ใจป้ำ” และ “ดูแล”

พรรคที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มจะกลายเป็นพลังประชารัฐภาค 2 ที่รวบรวมนักการเมืองแนวเกาะกินจากทุกฝ่ายเยอะไปหมด เช่นเดียวกับข้าราชการเกษียณหรือใกล้เกษียณที่หวังอัพเกรดเป็นรัฐมนตรีทันทีที่พ้นราขการ

วิธีรวบรวมนัการเมืองและข้าราชการเกษียณแบบนี้ทำให้พรรคใหม่อาจเลวร้ายกว่าพลังประชารัฐภาค 1 ที่ประกอบด้วยแต่เทคโนแครต, อาจารย์หิวแสง และนักการเมืองแนวฉวยโอกาส

เพราะพรรคใหม่มีแต่นักการเมืองท้ายแถวและคนเกษียณที่รวมกันเพราะเงินและอิทธิพลของทหารการเมือง

ถ้าถือว่าพรรคเดิมรวมนักการเมืองยี้ไว้เป็นกลุ่มเป็นก้อนที่สุด พรรคใหม่ก็คือพลังดังกล่าวภาค 2 ที่ข้าราชการแก่ผสมพันธุ์ยี้หางแถวที่ไม่มีอะไรนอกจากตีฝีปาก

ความไม่พอใจที่คนมีต่อพรรคนั้นจนกลายเป็นเกลียดประยุทธ์จึงมีโอกาสจะทวีความรุนแรงขึ้นในพรรคใหม่ที่กำลังทำกัน

ปลัดมีศักยภาพทำให้เกิดพรรคตามที่คุณประยุทธ์ต้องการได้แน่ๆ

แต่เมื่อคำนึงว่าอดีตปลัดคนอื่นที่เป็นเลขาฯ พรรคนั้นไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นปลัดพิศาล มูลศาสตรสาทร ยุคพรรคความหวังใหม่ หรือปลัดอนันต์ อนันตกูล ยุคประชาธิปัตย์ โอกาสที่ปลัดคนนี้จะสร้างพรรคหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ไม่มีเลย

ปลัดมีอำนาจเพราะสามารถสั่งข้าราชการ แต่เมื่อเกษียณอายุแล้ว แม้แต่ยามหน้ากระทรวงก็ไม่จำเป็นต้องหาที่จอดรถให้ด้วยซ้ำ

อดีตปลัดที่มาทำงานการเมืองจึงพบความจริงว่าตัวเองกลายเป็นคนแก่ที่สั่งใครไม่ได้ ไม่ทันโลก เจอแต่พวกหลอกเอาตังค์ และอย่างมากที่พอมีคือความเกรงใจ

เพื่อจะให้ท้ายให้ปลัดทำพรรคใหม่หนุนคุณประยุทธ์เต็มภาคภูมิ คุณประยุทธ์จำเป็นต้องอัพเกรดปลัดเป็นรัฐมนตรีถึงขั้นเตรียมห้องไว้ที่ทำเนียบแล้ว

คุณประวิตรซึ่งรู้ทันว่าคุณประยุทธ์หนุนปลัดทำพรรคเพื่อลดความสำคัญของพลังประชารัฐและอิทธิพลคุณประวิตรจึงค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง

รอยร้าวระหว่างคุณประวิตรและคุณประยุทธ์มีแน่ๆ และความหวาดระแวงกันเองของคนคู่นี้มีมากจนต่างฝ่ายต่างขัดแข้งขัดขาไม่ให้อีกฝ่ายทำอะไรได้ถนัดด้วย เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่ฝ่ายหนึ่งจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในสงครามที่ต่างฝ่ายต่างทำทุกทางเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง

แน่นอนว่าการตั้งปลัดเป็นรัฐมนตรีไม่สำเร็จตามแผนที่วางไว้ แต่ที่มากกว่านั้นคือทั้งหมดนี้สะท้อนว่าคุณประยุทธ์กำลังเผชิญสถานการณ์ต่อให้จะเป็นใหญ่ในทำเนียบ แต่ก็เริ่มควบคุมอำนาจในรัฐบาลไม่ได้ ส่วนการคุมสภานั้นทำแทบไม่ได้ และไม่สามารถคุมเสียงนอกสภาได้เลย

ภายใต้รอยร้าวระหว่างคุณประวิตรและคุณประยุทธ์ ถึงที่สุดแล้วอำนาจในมือคุณประยุทธ์กลายเป็นอำนาจที่ปราศจากความหมายทุกขณะ คุณประยุทธ์สั่งใครตามใจอยาก 100% ไม่ได้ และยิ่งเมื่อรอยร้าวถ่างกว้างจนทุกคนเชื่อว่ารัฐบาลใกล้จะยุบสภา ความยำเกรงต่อคุณประยุทธ์ก็ยิ่งลดลง

คุณประยุทธ์สร้างรัฐบาลหลังรัฐประหารโดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเอง แต่ใครคือแกนกลางของระบอบนี้คือเรื่องที่ไม่ยุติ เพราะแสนยานุภาพคุณประยุทธ์จบแค่ทำเนียบ ขณะที่คุณประวิตรล้อมทำเนียบไว้ด้วยองค์กรอิสระ, เป็นประธานเลือกวุฒิสมาชิก และเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

อำนาจคุณประยุทธ์กำลังอัสดง และทุกฝ่ายรู้ดีว่าอำนาจที่อัสดงคืออำนาจที่อ่อนแอจนสามารถจะต่อรองอะไรก็ได้ให้มากที่สุด พรรคประชาธิปัตย์จึงใช้โอกาสนี้ทวงคืนอำนาจคุมกระทรวงเกษตรฯ ที่คุณประยุทธ์เพิ่งยกให้คุณประวิตรโดยวิธีส่งสัญญาณว่าพรรคอาจจะทบทวนการทำงานกับรัฐบาล

ถ้าประชาธิปัตย์ซึ่งมีทุนและอิทธิพลนอกระบบน้อยยังกดดันคุณประยุทธ์ได้ขนาดนี้ ภูมิใจไทยที่พร้อมทั้งทุนและอิทธิพลย่อมกดดันคุณประยุทธ์ให้ทำอะไรได้อีกหลายเท่าตัว

 

ครั้งหนึ่งปัญญาชนช่วงก่อนและหลัง 6 ตุลาฯ เคยอธิบายสังคมไทยด้วยแนวคิดขุนศึก-ศักดินา โดยระบุว่า “ขุนศึก” คือทหารซึ่งปกครองประเทศโดยแบ่งอำนาจระหว่างแม่ทัพต่างๆ เหมือนจีนก่อนปฏิวัติสาธารณรัฐ และแม้ตอนนี้รัฐไทยจะไม่เป็นแบบนั้น รอยร้าวรัฐบาลก็คล้ายเรื่องนี้พอสมควร

ความขัดแย้งระหว่างคุณประวิตรและคุณประยุทธ์ทำให้การเมืองไม่มั่นคง ที่จริงความไม่ลงรอยในรัฐบาลไม่ควรส่งผลต่อประเทศแบบนี้

แต่ในประเทศที่กลไกรัฐเชื่อมโยงกับอำนาจนอกระบบของอดีตนายพล ความขัดแย้งว่าขุนศึกคนไหนจะได้อะไรแค่ไหนก็กลายเป็นปัญหาประเทศโดยปริยาย

ด้วยระบบการปกครองแบบนี้ ประเทศไทยไม่มีทางได้มาซึ่งรัฐบาลและการใช้อำนาจรัฐที่ดีได้ มีก็แต่การเร่งปิดสวิตช์ของระบอบนี้เพื่อแทนที่ด้วยระบอบใหม่ซึ่งจะทำให้เกิดรัฐบาลที่เป็นของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่รัฐบาลที่ทุกคนเป็นลิ่วล้อรอว่านายคนไหนจะชนะใคร

ประเทศไทยดีเกินกว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบขุนศึกอย่างที่เป็นมาตลอดเจ็ดปี