‘แพนโดรา เปเปอร์ส’ เอกสารลับ ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

‘แพนโดรา เปเปอร์ส’

เอกสารลับ

ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

 

ช่วงดึกของวันที่ 3 ตุลาคม ตามเวลายุโรป หรือช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคม ตามเวลาไทย บรรดาคนดังทั้งวงการบันเทิง วงการกีฬา มหาเศรษฐี นักการเมือง หรือแม้แต่บุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศทั่วโลก รวมแล้วหลายร้อยคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ “งานเข้า”

เมื่อชื่อของบุคคลกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ใน “เอกสารหลุด” ปริมาณมหาศาลที่ชี้ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีทรัพย์สินลับๆ จำนวนมหาศาลซุกซ่อนเอาไว้ ผ่านการดำเนินการของบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company)

แถมยังถูกตั้งข้อสงสัยต่อไปว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การเลี่ยงภาษีมูลค่ามหาศาล หรือแม้แต่การฟอกเงินด้วยหรือไม่

เอกสารหลุดดังกล่าวมีชื่อว่า “แพนโดรา เปเปอร์ส” (Pandora Papers) ตั้งชื่อตาม “แพนโดรา บ็อกซ์” (Pandora Box) หรือ “กล่องแห่งความชั่วร้าย” ตามตำนานเทพปกรณัมแห่งอารยธรรมกรีก

เป็นอีก 1 ผลงาน “แฉ” ชิ้นใหญ่ที่สุดของเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists) หลังจากก่อนหน้านี้เคยแฉข้อมูลผ่าน “ปานามา เปเปอร์ส” เมื่อปี 2016 ที่มีชื่อคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนับพันคน

และล่าสุดกับ “FinCEN File” ข้อมูลเส้นทางการเงินผิดกฎหมายที่เปิดเผยออกมาในปี 2020 และมี 4 ธนาคารไทยเข้าไปติดร่างแหด้วย

 

การเผยแพร่ “แพนโดรา เปเปอร์ส” กลายเป็น “ข่าวใหญ่” ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพราะ “ปริมาณเอกสาร” ที่หลุดออกมาในปริมาณมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ไอซีไอเจระบุว่า จำนวนของเอกสารหลุดที่มากมายมหาศาลถึง 11.9 ล้านชิ้น ได้มาจากบริษัทด้านการเงิน 14 แห่งทั่วโลก มีขนาดไฟล์ใหญ่ถึง 2.94 เทราไบต์ ต้องใช้นักข่าวมากกว่า 600 คนจากสื่อ 150 สำนักทั่วโลก วิเคราะห์ข้อมูลนานถึง 2 ปี

นอกจากนี้ ข้อมูลยังเชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐและนักการเมืองมากกว่า 330 คน จาก 91 ประเทศและดินแดน ในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้นำประเทศทั้งอดีตและปัจจุบันจำนวนถึง 35 คน มากกว่าที่เคยถูกเปิดโปงในกรณีก่อนหน้านี้ถึง 3 เท่า

“กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน” เป็นหนึ่งในชื่อบุคคลระดับผู้นำที่ถูกเอ่ยถึง โดยไอซีไอเจระบุว่า กษัตริย์แห่งจอร์แดนทรงสะสมอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ มูลค่าราว 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,100 ล้านบาท ผ่านบริษัทนอกอาณาเขต ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น แบบลับๆ ระหว่างปี 2003 และ 2017 ที่ผ่านมา

ผลประโยชน์ของพระองค์เพิ่มพูนขึ้นในช่วงเวลาที่ทรงถูกกล่าวหาว่าปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ ออกมาตรการรัดเข็มขัด รวมถึงประกาศขึ้นภาษีในประเทศ ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนในช่วงปีที่ผ่านมา

ซึ่งแน่นอนว่ากษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 ได้ออกมาปฏิเสธกรณีดังกล่าวว่า การใช้บริษัทนอกอาณาเขต มีเหตุผลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว และทรัพย์สินที่เพิ่มพูนขึ้นนั้นก็ถูกนำไปใช้สนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อชาวจอร์แดน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของนายอูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา และสมาชิกในครอบครัวที่พัวพันกับการเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตมากกว่า 10 แห่ง หนึ่งในนั้นมีมูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,000 ล้านบาท

ไม่เท่านั้น ยังมีชื่อคนใกล้ชิดนายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน นักการเมืองระดับรัฐมนตรี รวมถึงนายทหารระดับสูงของประเทศหลายต่อหลายคน ที่ยักย้ายทรัยพ์สินมูลค่ามหาศาลผ่านบริษัทนอกอาณาเขต พฤติการณ์ที่ขัดแย้งอย่างยิ่งกับสิ่งที่ข่านประกาศไว้หลังรับตำแหน่งเมื่อปี 2018 ว่าจะจัดการกับการทุจริตอย่างเด็ดขาด

 

แพนโดรา เปเปอร์ส ยังมีเอกสารที่เชื่อมโยงไปถึงนายกรัฐมนตรี “แอนเดรจ บาบิส” แห่งสาธารณรัฐเช็ก นิคอส อนาสตาเซียเดส ประธานาธิบดีไซปรัส โวโลดีเมียร์ เซลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เช่นเดียวกับชื่อของวลาดิมีร์ ปูติน ที่ถูกเอ่ยถึงหลังจากมีชื่อคนใกล้ชิดปกปิดทรัพย์สินลับๆ ผ่านบริษัทนอกอาณาเขตด้วย

ไม่เว้นแม้แต่โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ถูกกล่าวหาว่าซื้ออาคารสำนักงานในกรุงลอนดอน มูลค่าถึง 6.45 ล้านปอนด์ หรือราว 294 ล้านบาท จากบริษัทนอกอาณาเขตแห่งหนึ่งโดยไม่ต้องเสียภาษี

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษ ประเทศเป้าหมายในการซื้ออสังหาริมทรัพย์จากบริษัทนอกอาณาเขต ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในการจดทะเบียนเหล่าบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบ ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ด้วย

ไม่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่แพนโดรา เปเปอร์ ยังปรากฏชื่อ “ชากีรา” นักร้องชื่อดังชาวโคลอมเบีย, คลอเดีย ชิฟเฟอร์ ซูเปอร์โมเดลชาวเยอรมัน รวมถึงนักกีฬาคริกเก็ตชื่อดังจากประเทศอินเดียด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า การมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “บริษัทนอกอาณาเขต” ไม่ได้เป็น “หลักฐาน” ในการทำผิดกฎหมาย

เพราะ “ประเทศปลอดภาษี” (Tax Haven Country) หลายๆ ประเทศ เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น, ปานามา, เบลีซ, ไซปรัส และอื่นๆ เลือกที่จะใช้ผลประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมที่ต่ำเตี้ยในการจดทะเบียนเปิดบริษัทนอกอาณาเขตเช่นนี้ในการดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ประเทศ

นักธุรกิจจำนวนมากทั่วโลกใช้ “บริษัทนอกอาณาเขต” ในประเทศปลอดภาษี เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้กับการขายสินค้ากับคู่ค้า

แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเรียกได้ว่าเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีเงินได้ในประเทศถิ่นฐานการมีรายได้ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเปิดบริษัทนอกอาณาเขตนั้นมีการเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ

ไอซีไอเจระบุว่า แม้ผู้ที่เลือกเปิดบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้ก็อาจมีเหตุผลที่ชอบธรรมอยู่เพื่อให้สถานะทางการเงินของตนเองนั้นเป็นความลับ

แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้เกิดการเลี่ยงภาษี รวมไปถึงเป็นช่องทางในการฟอกเงินด้วย

 

แม้ “แพนโดรา เปเปอร์” จะไม่ได้เป็นหลักฐานผูกมัดใดๆ แต่ก็สร้างความอับอายให้กับบุคคลที่มีชื่อปราฏอย่างแน่นอน โดยเฉพาะบรรดาผู้นำประเทศที่รณรงค์ต่อต้านการเลี่ยงภาษี ประกาศจะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ รวมไปถึงประกาศมาตรการรัดเข็มขัด เพิ่มอัตราภาษี ในขณะที่ตัวเองสะสมทรัพย์สินลับๆ เอาไว้มากมายมหาศาลใน “บริษัทนอกอาณาเขต” เหล่านั้น

และจากนี้ “แพนโดรา เปเปอร์ส” จะสร้างแรงกระเพื่อมจนทำให้ผู้นำประเทศบางคนต้องหลุดออกจากตำแหน่งอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับ “ปานามา เปเปอร์ส” หรือไม่ ต้องติดตาม