จะกี่ปีๆ ก็ไม่มียุติธรรม/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

จะกี่ปีๆ ก็ไม่มียุติธรรม

 

ครึ่งศตวรรษก่อนจะมียุค “3 ป.” นี้ แค่ประชุมร่วมกัน 5 คนขึ้นไปก็ถูกตำรวจจับ อึดอัดคับข้องใจกับ “3 ทรราช” อยู่นานครันจนกระทั่งสภาพแวดล้อมหลายด้านเจือสมกันทำให้เกิด “14 ตุลา 2516”

14 ตุลาคม 2516 ราวกับฟ้าเปิด เสรีชนฉลองชัยกันเอิกเกริก

ไม่นึกไม่ฝันว่าแค่ 3 ปีให้หลัง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 “เบี้ย” ถูกกวาดทิ้งเกลี้ยงทั้งกระดาน!

 

“อาจารย์เบน” เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ผู้ช่ำชองการเมืองแถบนี้สรุปเอาไว้ว่า “6 ตุลา 2519 เป็นวันฆ่าโหดที่มีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้ามา 3 ปี”

มีเหตุอันใดถึงได้มองในแง่มุมเช่นนั้น

รัฐไทยมีความหวั่นวิตกในทฤษฎีโดมิโนที่มาจากความพ่ายแพ้อย่างสิ้นท่าในสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกา

ในเดือนเมษายน 2518 ไซ่ง่อนแตก และเขมรแดงก็เข้ายึดครองกรุงพนมเปญ กัมพูชา ถัดมาเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ลาวเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสังคมนิยม

รัฐไทยจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล และลูกเสือชาวบ้านเป็น “พลัง 3 ประสาน” ใช้ต่อต้านและก่อกวนทุกการชุมนุมของนักศึกษา กรรมกร และชาวไร่ชาวนา

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยถูกตีความจากฝ่ายขวาอย่างนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ว่า “ลัทธิคอมมิวนิสต์ ขบวนการนักศึกษา และการเมืองแนวก้าวหน้าเป็นพันธมิตร 3 ฝ่ายที่แยกจากกันไม่ออก”

ในเวลาอันไล่เลี่ยกันนั้นผู้นำชาวนาชาวไร่ถูกสังหารไปเกือบ 20 คนในปีเดียว ตำรวจจับกุมคนร้ายไม่ได้แม้แต่รายเดียว ขณะที่การบุกเข้าทุบตีทำร้ายขว้างปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมก็ไม่เคยจับมือใครดมได้

รัฐกระพือโหมปลุกระดมมวลชนโกรธและเกลียดนิสิตนักศึกษา กรรมกรชาวไร่ชาวนา ไม่เว้นแม้แต่ “แนวเสรีนิยมก้าวหน้า” ก็ถูกตีความว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์

หนักเข้าถึงขนาด “พระกิตติวุฑโฒ” ซึ่งเป็นสงฆ์ออกมาประกาศต่อพุทธศาสนิกชนว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

การโหมปลุกระดมให้ฆ่าเสรีชนคึกคักอักโขขึ้นตามลำดับจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ “6 ตุลา 2519”

 

โดยเนื้อแท้แล้ว “6 ตุลา 2519” ไม่ใช่การบันดาลโทสะของกลุ่มมวลชนที่ถูกปลุกระดม แต่เป็นการวางแผนอย่างแยบยล เป็นขั้นเป็นตอน เป็นขบวนการ แล้วกำหนดนัดหมายล้อมปราบอย่างหฤโหด!

นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่ม-สาวที่นึกฝันถึงความเป็นเสรีชนชุมนุมกันอยู่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 คิดไม่ถึงว่า จะถูกล้อมฆ่าด้วยปืนกลมือ อาวุธสงคราม จรวดยิงรถถัง ถูกทิ่มแทง ทุบตีจนน่วมแล้วจับกองกับยางรถยนต์จุดไฟเผาสดกลางถนนสนามหลวง

แม้จะชูมือยอมแพ้ ร้องขอชีวิตหรือยกธงขาวแล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงระดมยิง

ไม่มีที่ไหนทำกัน ที่เห็นเด็กๆ รุ่นลูก-หลานกระโจนหนีตายลงน้ำแล้วทหารตำรวจยังตามไล่ยิงราวกับล่าสัตว์

เท่าที่ชันสูตรพลิกศพได้วันนั้นมีผู้ชุมนุมตายไปราว 40 คน ฆ่าจบเสร็จศึกตำรวจก็ตามจับผู้ที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์อีกกว่า 3 พันคนซึ่งต่อมาก็คัดเอา 18 คนส่งไปขึ้นศาลทหาร แล้วตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ฆ่าเจ้าพนักงานกับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“ยุติธรรมกลับตลาปัตร” เหยื่อที่ถูกล้อมสังหารแล้วรอดชีวิตถูกจับ ที่ควรเป็นโจทก์กลายเป็นจำเลย

คนฆ่าคน ผู้สนับสนุนสั่งการตัวจริงอยู่ในหลายหน่วยงานรัฐไม่มีใครถูกจับดำเนินคดีสักคน!

 

“6 ตุลา 2519” วันอันสยดสยองล่วงผ่านไป 1 ปีท่ามกลางการจับจ้องของนานาชาติ จนในที่สุด “รัฐประหาร 2520” ก็มาอัปเปหิรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ออกไปพร้อมกับผลักดัน “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ให้ “6 ตุลา 19” ทั้งหมด

เพื่อยุติความขัดแย้ง ทำผิดก็ให้พ้นผิด ติดคุกอยู่ก็ให้ปล่อยตัว

แต่ “สุธรรม แสงประทุม” ผู้นำนักศึกษาปล่อยคมวาทะอันลึกซึ้งอย่างมีนัยยะว่า “เราคือผู้บริสุทธิ์”

นักศึกษาและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกล้อมฆ่าเป็นเหยื่อการก่ออาชญากรรมทางการเมือง เหตุใดต้องอาศัย “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เพื่อปล่อยตัว

ใช่หรือไม่ว่าทุกครั้งที่เพลี่ยงพล้ำ ผู้มีอำนาจรัฐจะชักชวนให้คนลืม ผุดถ้อยคำ รู้รักสามัคคี สมานฉันท์ อย่าฟื้นฝอยขึ้นเพื่อให้ลบเลือนความทรงจำ

“6 ตุลา 19” นับเป็นความพ่ายแพ้อย่างราบคาบและสิ้นเชิงของพลังคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนั้น

 

จาก 6 ตุลาคม 2519 ถึง 6 ตุลาคม 2564 ในทุกๆ ปีจะมีกลุ่มคนเล็กๆ พยายามจัดงานรำลึกเล่าขานสืบต่อกันมาเกือบครึ่งศตวรรษ ฉายภาพการเข่นฆ่าที่โหดร้ายในมหาวิทยาลัย ใจกลางเมืองหลวง ตอกย้ำความอำมหิตของอำนาจรัฐที่พร้อมจะกำจัดคนที่ไม่จำนนอยู่ในกรอบ ราวกับจะเตือนผู้มาใหม่ในแต่ละรุ่นว่าถึงแม้ 6 ตุลา 19 จะล่วงผ่านไปแล้วถึง 45 ปี แต่การเมืองในประเทศไทยก็ยังคงซ่อนงำ “ความอำมหิต” เอาไว้

ชนชั้นผู้มีอำนาจไม่สนใจบทเรียน ไม่มีคำว่าปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ก้าวซ้ำรอยเลือดเดิมๆ ในทางตรงกันข้ามที่ “อันตราย” คือ เหตุการณ์แบบ ” 6 ตุลา 2519″ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ต่างกันแต่เพียงยุคนั้นใช้ “คอมมิวนิสต์” หรือญวนจุดชนวน มาถึงยุคนี้ถ้าจะลงมือปราบก็สามารถเสกสรรปั้นแต่งเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมาใหม่ได้

ทหาร ตำรวจและองค์กรที่อวดอ้างความเป็นอิสระเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ

ไม่มี “ความยุติธรรม” ที่ร่วงลงมาจากฟากฟ้า ทุกคนต่างก็เกิด เติบโต และเรียนรู้จากสังคมที่ดำรงอยู่ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ จุดยืน และรสนิยมทางการเมืองเป็นไปตามสภาพของดินแห่งวัฒนธรรมนั้นๆ ต่างคำนึงถึงผลประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง ความเป็นธรรม เจตนารมณ์กฎหมาย ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถพลิกพลิ้วได้ตาม “อำนาจ”

ภายใต้ระบอบแบบนี้ ถึงแม้เวลาจะล่วงผ่านไปกี่ปีก็อย่าได้หวัง ว่าจะมีความยุติธรรมสำหรับผู้ประสบชะตากรรมอันโหดร้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519!?!!