‘ความหวัง’ ยังมีเหลือหรือไม่/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘ความหวัง’ ยังมีเหลือหรือไม่

 

ถ้าจะบอกว่า 7 ปีที่ผ่านมานี้ “ประชาธิปไตย” ทรุดหนักในประเทศไทยเราก็คงไม่ผิด

หากมองจาก “3 อำนาจอธิปไตย” ที่เป็นขาหยั่งค้ำจุน คานอำนาจกันตามที่ออกแบบระบบมา

สิ่งที่เกิดและดำเนินมาคือ

“อำนาจบริหาร” ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งถูกออกมาอย่างไม่สะท้อนการตัดสินของประชาชน อย่างเช่น ระบบบัตรใบเดียวที่ตัดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกไปจัดสรรปันส่วนให้พรรคที่มีคะแนนเพียงน้อยนิด

และแม้พรรคที่ถูกตัดคะแนนทิ้งจะยังมีเสียงมากกว่า การจัดการให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะใช้อำนาจที่ให้สมาชิกวุฒิสภาโหวตตั้งนายกรัฐมนตรีมาบล็อกไว้ เพื่อไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเลือกพรรคที่ดีไซน์ไว้ให้มีอำนาจเท่านั้น

เป็นรัฐบาลที่หลุดโค้งเส้นทางประชาธิปไตยเข้าถ้ำลึกของเผด็จการไปไกลไม่น้อย

 

“อํานาจนิติบัญญัติ” ในส่วนของ “วุฒิสภา” แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะอยู่ในสภาพยินดีรับใช้เจ้านายท่าน ปฏิบัติภารกิจในพฤติกรรม “ฝักถั่ว” อย่างไม่รู้สึกว่าผิดปกติของมนุษย์ที่มีมันสมองของตัวเอง ห่างไกลกับการแสดงออกที่ทำให้รู้สึกได้ว่ามีส่วนผสมอยู่บ้างของสำนึกประชาธิปไตย

ที่น่าเศร้าที่สุดคือในส่วนของ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่อำนาจวาสนาได้มาทำหน้าที่ในศูนย์กลางอำนาจนั้นประชาชนเป็นผู้มอบสิทธิให้มา กลับมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา เจ้าของสิทธิดูจะไม่มีราคาให้ต้องเกรงอกเกรงใจสำหรับพวกเขาเหล่านั้น

“สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน” เป็น “งูเห่า” ท่ามกลางข่าวแลกค่าตัวกันสนุกสนาน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลโหวตด้วย “พลังกล้วย” กันอย่างไม่รู้สึกว่าจะต้องละอายใจตัวเอง

“รัฐสภา” มีภาพที่เสื่อมทรุดหนักเพราะมองเห็นแต่การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่วิตกถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ

 

มาถึง “อำนาจตุลาการ” อันหมายถึงอำนาจในการใช้องค์คณะตัดสินเพื่อคานอำนาจทางการเมือง “ศาลสถิตยุติธรรม” ถูกหั่นแบ่งอำนาจให้ “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” และสถาปนาให้ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ที่งอกขึ้นมาใช้ “อำนาจตุลาการ” มีความศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่ตรวจสอบไม่ได้

และนั่นคือคำถามว่า “แล้วระบอบประชาธิปไตยจะเหลืออะไร”

อย่างไรก็ตาม ประเทศยังเดินหน้าที่จะประกาศให้โลกรู้ว่า “ปกครองในระบอบประชาธิปไตย”

ทั้งที่การเลือกตั้งถูกดอง หรือแช่แข็งมายาวนานในช่วง 7 ปีนี้

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ดองมานานกำลังจะเกิด

และต่อไปจะเป็นการเลือกของในส่วน “การปกครองพิเศษ” อย่าง “กรุงเทพมหานคร” และ “เมืองพัทยา”

การเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการ กทม.” น่าสนใจที่สุด

เพราะ “คนกรุงเทพมหานคร” ดูจะเป็นประชาชนที่มีความรู้ ความคิด และเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองที่สุด เป็นกลุ่มที่เชื่อว่าน่าจะตัดสินใจเลือกตั้งอย่างเป็นตัวของตัวเองที่สุด

ซึ่งนั่นหมายถึงจะเป็นสนามที่วัดคุณภาพของประชาธิปไตยได้อย่างมีความหวังที่สุด

 

“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 6

ร้อยละ 29.74 เลือก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ร้อยละ 27.29 ยังไม่ตัดสินใจ, ร้อยละ 13.66 เลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา, ร้อยละ 9.33 เลือก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ร้อยละ 4.10 เลือก น.ส.รสนา โตสิตระกูล, ร้อยละ 3.26 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, ร้อยละ 2.73 ผู้สมัครจากกลุ่มก้าวหน้าหรือพรรคก้าวไกล, ร้อยละ 2.20 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 1.97 จากพรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 1.29 นายสกลธี ภัททิยกุล, ร้อยละ 1.14 เลือกที่จะไม่เลือกใคร, ร้อยละ 1.14 ไม่ไปลงคะแนน และร้อยละ 1.52 คือที่จะเลือกพรรคอื่นๆ

ในสนามที่น่าจะถือมีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกมากที่สุด

ความคิดในการเลือกออกมาแบบนี้

มีการวิเคราะห์กันว่าจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกไม่นานนัก เพราะเป็นการยากที่นายกรัฐมนตรีจะทานแรงกดดันทางการเมืองได้เนิ่นนานต่อไป

จึงน่าสนใจยิ่งว่า ผลโพลที่ชี้ในการตัดสินใจเลือกออกมาเช่นนี้

จะสะท้อนถึงโอกาสที่จะหลุดจากภาวะเสื่อมทรุดของประชาธิปไตยไทยได้บ้างหรือไม่