วิรัตน์ แสงทองคำ : ไทยพาณิชย์ ขยับ เขย่า (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ / https://viratts.com/

 

ไทยพาณิชย์ ขยับ เขย่า (1)

 

และแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ได้สร้างปรากฏการณ์อันฮือฮาอีกครั้ง

แวดวงสังคมธุรกิจคงไม่สนใจไม่ได้ “SCB Group จัดตั้ง ‘ยานแม่’ ภายใต้ชื่อ SCBX (เอสซีบี เอกซ์) เพิ่มความคล่องตัวและขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค สร้างบริษัทสู่หลากธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์ม วางรากฐานรองรับบริบทใหม่ของโลก” หัวข้อข่าวดูตื่นเต้น และหวือหวาอีกครั้ง (https://www.scb.co.th/th/about-us/news/sep-2564/scbx-mothership.htm)

ว่าด้วยปฏิกิริยาจากสังคมธุรกิจ ต่อเรื่องราวใหม่ๆ ในเบื้องแรกคงเชื่อกันว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มีที่มา มีความต่อเนื่อง และมีบทเรียนอ้างอิง

เรื่องที่เกิดขึ้นที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นเช่นนั้นอย่างมิพักสงสัย

 

ว่าด้วยความต่อเนื่อง

SCB ยุคปัจจุบัน เปิดฉากภายหลังเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งระบบธนาคารไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ SCB เองก็เกือบเอาตัวไม่รอด

จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ ถือเป็นการผลัดยุคอย่างที่ผมเคยว่าไว้ “ยุคผู้นำซึ่งไม่ได้มาจากโมเดลสายสัมพันธ์ดั้งเดิม ตามโมเดลดั้งเดิม ตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร”

ปลายปี 2542 ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร อยู่กับ SCB ต่อมานานถึง 2 ทศวรรษ จึงได้ก้าวขึ้นเป็นนายกกรรมการแทนอานันท์ ปันยารชุน (2562)

ดร.วิชิตมีประสบการณ์ทำงานกับธนาคารกรุงเทพเกือบๆ 2 ทศวรรษ ก่อนหันเหสู่ตำแหน่งการเมือง เป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคมในช่วงสั้นๆ (2537-2538) จากนั้นเข้ามาวงการเดิม ในวงจรการแก้ปัญหาระบบธนาคารไทยอันเป็นผลพวงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

“ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของธนาคาร ดร.วิชิตได้นำวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนและนำพาองค์กร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการทำธุรกิจในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งผลให้ธนาคารมีการเติบโตที่โดดเด่น อีกทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจธนาคาร” บางส่วนของโปรไฟล์ทางการ (https://www.scb.co.th/) ว่าไว้

SCB กับ change program กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานใหม่เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2544 ว่ากันว่าท่ามกลางช่วงเวลา (2542-2547) ระบบธนาคารไทยซึ่งค่อยๆ กลับมาตั้งหลักอีกครั้ง พร้อมๆ มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ถือว่ามากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ

คงจำกันได้ดีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปรากฏการณ์อันเร้าใจเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว กับถ้อยแถลง SCB โดยข้อความอันตื่นเต้นที่ว่า “กลับหัวตีลังกา” ผู้บริหารแถลงครั้งใหญ่ เป็นข่าวครึกโครมไปทั่ว

“22 มกราคม 2561-ผ่ายุทธศาสตร์ไทยพาณิชย์ ‘Going Upside Down’ (กลับหัวตีลังกา) เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มแบงก์ใหม่ หวังครองใจลูกค้าทุกกลุ่ม” ภายใต้ยุคผู้บริหารคนปัจจุบันคนเดียวกัน – อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ตั้งแต่ปี 2559)

 

บทเรียนอ้างอิง

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า SCB เผชิญวิกฤตครั้งสำคัญๆ ในประวัติมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าปัญหาวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่ระดับโลกปี 2474 ภายใต้อาณัติระบอบอาณานิคม การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์โดยผู้นำยุคแรกๆ แตกต่างจากยุคหลังอย่างมากๆ ด้วยแนวทางอนุรักษนิยม เป็นเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

การขยับตัวครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในยุคสงครามเวียดนาม ช่วงเวลาสังคมธุรกิจไทย เติบโตและขยายตัวโดยเฉพาะก่อตัวสายสัมพันธ์กับธุรกิจญี่ปุ่น เป็นแผนการสอดประสานกันกับเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี

พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ การมาของมืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์จากแบงก์ชาติ แบงก์ต่างชาติ ผู้มีภูมิหลังแห่งสายสัมพันธ์ดั้งเดิม และมีภูมิหลังการศึกษาอย่างดีจากสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ต่อมาเป็นผู้จัดการใหญ่ 2527-2535) ดร.โอฬาร ไชยประวัติ (ต่อมาเป็นผู้จัดการใหญ่ 2535-2542 และ ชฎา วัฒนศิริธรรม (ต่อมาเป็นผู้จัดการใหญ่ 2542-2550) นับเป็นแผนการการปรับองค์กรที่ได้ผล

ใช้เวลาไม่กี่ปี SCB ขยายตัวก้าวกระโดดขึ้นสู่หัวขบวนระบบธนาคารไทย

มีบางตอนที่เร้าใจเชื่อมโยงอยู่บ้างกับยุคใหม่ SCB ก้าวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบุกเบิกระบบที่เรียกกันในขณะนั้น-Electronic Banking โดยอดีตผู้บริหารด้านคอมพิวเตอร์จากแบงก์กรุงเทพ เป็นธนาคารแห่งแรกเปิดบริการ ATM (2526)

แล้วมาสู่ยุคการมองโลกในแง่ดี ด้วยเชื่อมั่นตนเองอย่างสูงของบรรดาผู้บริหารมืออาชีพ ไม่ว่าจะมาจากการขยายทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตย่อยๆ มาได้ และบางคนมองว่าเป็นธนาคารที่มีฐานอันมั่นคง ฐานะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ในช่วงเวลานั้น มีฐานทางธุรกิจและสังคมเข้มแข็งที่สุดก็ว่าได้

จึงมาถึงยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งใหญ่ ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเชื่อกันว่ามีสถานการณ์บางอย่างท้าทาย นั่นคือ การเกิดขึ้นของอำนาจธุรกิจใหม่ๆ ที่เติบโต สะสมความมั่งคั่งอย่างรวดเร็ว อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ที่มาจากกลุ่มสื่อสาร ธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

แผนการขยายตัวทางธุรกิจแนวกว้าง โดยมี SCB เป็นแรงขับเคลื่อนอยู่ข้างหลัง เป็นไปอย่างคึกคัก ครึกโครม ไม่ว่าการลงทุนโครงการใหญ่หลากหลาย เข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ด้วยแผนการการร่วมทุน การซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ

 

มีกรณีหนึ่งซึ่งควรอ้างอิง-กลุ่มสยามทีวี ที่มีที่มา และจุดตั้งต้น (2537) กรณีชนะประมูลและได้บริหารกิจการทีวีเสรีในระบบ UHF ครั้งแรกในประเทศไทย ที่ว่ากันว่ามีแรงบันดาลใจเชื่อมโยงกับสถานการณ์บางอย่างในสังคมเวลานั้น

เป็นปรากฏการณ์ตอกย้ำอิทธิพลของข้อมูลข่าวสารและระบบสื่อสารอย่างมีพลังในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 แนวโน้มการเติบโตอย่างน่าเกรงขามของกลุ่มธุรกิจสื่อสารใหม่ๆ กระชั้นขึ้น สร้างแรงสะเทือนต่อกลุ่มอิทธิพลธุรกิจเก่าโดยตรง

กลุ่มสยามทีวี เป็นกรณีที่น่าทึ่ง ใช้เวลาขยายตัวทางธุรกิจเพียงไม่กี่เดือน กิจการและเครือข่ายดูยิ่งใหญ่มาก เป็นแหล่งดึงดูดมืออาชีพจำนวนมากเข้ามาร่วมงาน เป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่แยกย่อยหลากหลายและดูครอบคลุม ทั้งทีวี วิทยุ ข่าว โฆษณาประชาสัมพันธ์ โทรคมนาคมและไอที บันเทิง โปรดักชั่นเฮาส์ จนถึงการศึกษา โดยมีบริษัทอยู่ในเครือข่ายมากกว่า 50 บริษัท

แต่ก็มาสู่บทสรุปที่ไม่ควรเกิดขึ้น สยามทีวีคือกลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และล่มสลายเสียกระบวนอย่างไม่เป็นท่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หนึ่ง-กลุ่มสยามทีวีเกิดขึ้นในปี 2537 ขณะเค้าของความยุ่งยากทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว

สอง-ขณะธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น เริ่มคิดหรือก่อตั้ง เริ่มจัดระบบองค์กรที่มีผู้คนหลากหลาย ท่ามกลางคู่แข่งทางธุรกิจอย่างมากมาย

เชื่อกันอีกว่าในช่วงต่อตำนานทีวีเสรี-ITV (ต่อมากลายเป็น Thai PBS) มีส่วนเชื่อมต่อจากยุคบทเรียนอ้างอิง สู่ยุคปัจจุบันที่มี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย คงเป็นบทเรียนบทหนึ่งซึ่งอ้างอิงและขับเคลื่อน SCB ยุคต่อมา อย่างมีจังหวะและใคร่ครวญ

ระหว่างบทเรียนอ้างอิงกับความต่อเนื่อง เชื่อว่ากรณีหลังน่าสนใจ ติดตาม ความเป็นไปมิติต่างๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จาก “กลับหัวตีลังกา” (Going Upside Down) สู่ “ยานแม่ใหม่” (New Mothership)

โปรดติดตามอีกตอน