6ตุลารำลึก | สุธรรม แสงประทุม : อยากเห็นความจริงก่อนตาย ประวัติศาสตร์โกหกมีเยอะ

สุธรรม แสงประทุม กับ 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 อยากเห็นความจริงก่อนตาย ประวัติศาสตร์โกหกมีเยอะ

สุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในยุค 6 ตุลาคม 2519 บอกเล่าความรู้สึกในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 45 ปีว่า เวลาพูดถึง 6 ตุลา ผมมีความรู้สึกสะสม ซึ่งที่จริงแล้วมันคือการรวบรวมสั่งสมเหตุการณ์ในอดีตที่ต่อเนื่องมา จนมาถึง 6 ตุลาคมเป็นข้อสรุปรวบยอดของความสูญเสีย ที่เราสูญเสียทั้งประชาธิปไตย ที่ได้มาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คราวนั้นเราก็สูญเสียชีวิตเสียเลือดเนื้อเสียน้ำตาไปครั้งหนึ่งแล้ว ก็ได้มาซึ่งบรรยากาศที่มีสิทธิเสรีภาพที่ทำให้คนได้สามารถระบายทุกข์ระบายความอัดอั้นตันใจได้

แต่ว่าเมื่อประชาชนแข็งแรง ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่พอใจ เพราะว่าอำนาจเผด็จการก็ไม่ใช่ว่าเขาจะหมดไปเลย มีคนเปรียบเทียบไว้ว่า 14 ตุลาคม ระบอบเผด็จการเสมือนบ้านหลังหนึ่ง เหมือนตึกหลังใหญ่ พอ 14 ตุลาเกิดพายุใหญ่พัดมาแล้ว กระเบื้อง 3 แผ่น ที่ชื่อถนอม ประภาส ณรงค์ ปลิวพัดไป แต่โครงสร้างยังมีเหมือนเดิม และพร้อมที่จะกลับคืนมา

พอ 6 ตุลาคม กระเบื้อง 3 แผ่น ก็มาเติมเต็มแล้วตึกหลังใหม่ของเผด็จการทหารก็กลับเข้ามาแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม

เพราะฉะนั้นความสูญเสียในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่จริงแล้ว หากมองตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเราก็พบกับความสูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง

สุธรรมกล่าวอีกว่า ในช่วงนั้นนิสิตนักศึกษาเริ่มตระหนักว่าเราได้ประชาธิปไตยมาก็จริง แต่ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของนักศึกษา ประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชนโดยส่วนรวม เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แข็งแรงได้รับรู้ และสามารถสานต่อสิทธิเสรีภาพให้แข็งแกร่งได้ นั่นหมายความว่าเราต้องฝากอำนาจนี้ไว้กับประชาชน

ทำให้ในช่วงนั้นนิสิตนักศึกษาจะมีหลายโครงการเพื่อสานต่อและสนองตอบความจริงอันนี้

เช่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดได้จัด “โครงการกลับสู่บ้านเกิด” ในฐานะที่ผมเองเป็นเด็กบ้านนอก พอสอบเข้ามาเรียนจุฬาฯ ได้มาอยู่ในเมือง เราอาจจะหลงลืมไปว่าบ้านเราคืออะไร พอได้ศึกษาเรียนรู้ กลับสู่บ้านเกิด เราจึงไปพบเห็นสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะมี เราได้เห็นการใช้อำนาจรังแกชาวบ้าน อย่างรุนแรงที่สุด

เช่น เคสใน จ.พัทลุงที่เห็นต่างกับรัฐบาล ไม่ใช่เพียงแค่ถูกสอบสวนลงโทษเท่านั้น มันมีกรณีถังแดง มีบุคคลสูญหายถูกทรมานหลายชีวิต ทำให้นิสิตนักศึกษาเอาความทุกข์เหล่านี้ของประชาชนที่สูญเสียมาพูดที่ท้องสนามหลวง เรียกว่า “โครงการกระดูกร้องไห้” เกิดขึ้นครั้งแรก เพื่อเรียกหาความรับผิดชอบ ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน เราก็ได้พบว่าพี่น้องส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นชาวนา อยู่อย่างยากลำบากไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องไปเช่านาเขา พอทำแล้วนอกจากมีค่าเช่าที่แพง ผลผลิตก็ดันตกต่ำไม่มีราคา เราก็เลยให้พี่น้องชาวนารวมตัวกันตั้งองค์กรของตัวเองที่เรียกว่า สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เราสามารถผลักดันจนรัฐบาลสมัย อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำ 2 เรื่อง 1. มี พ.ร.บ.ที่ดินเพื่อการปฏิรูปการเกษตร ให้มีที่นาของตัวเอง แล้ว 2. ก็มี พ.ร.บ.เรื่องค่าเช่านา และมีหลักประกันในการขาย เพื่อไม่ให้ผลผลิตราคาถูกเกินไป

พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นปรากฏว่ากลุ่มอำนาจเดิมสูญเสียที่เคยหาประโยชน์จากชาวนา จึงทำให้ผู้นำชาวนาถูกลอบยิงเสียชีวิตหลายคนอย่างต่อเนื่อง โดยจับมือใครดมไม่ได้

สิ่งเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นมา ขณะเดียวกันกลุ่มกรรมกรตามโรงงานต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง ทำงานเป็น 20 ชั่วโมงจะได้ค่าแรง 10 บาท เจ็บป่วยไม่มีการรักษาพยาบาล บาดเจ็บระหว่างทำงานไม่มีใครดูแล จนพี่น้องกรรมกรต้องจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา

นิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบจากรั้วมหาวิทยาลัยก็ไปตามโรงงานไปช่วยเขาจัดตั้ง แล้วก็เรียกร้องต่อรัฐบาล อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้มี พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ให้มีค่าแรงขั้นต่ำ (สมัยนั้น) วันละ 25 บาท และให้ทำงานตามเวลาที่มนุษย์คนหนึ่งพอทำไหว ไม่สบายก็ต้องมีการรักษาพยาบาล โดยนายจ้างกับรัฐต้องช่วยกันดูแล

แต่พอเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นนายทุนเจ้าของโรงงานซึ่งเคยได้ประโยชน์จากการกดค่าแรงและเอาประโยชน์จากส่วนนั้น ทำให้คนมีอำนาจไม่พอใจจึงมีการลอบฆ่าผู้นำกรรมกรลอบยิงลอบกระทำการทุกอย่างเพื่อทำลายองค์กรการต่อสู้ของกรรมกร

สุธรรมบอกว่า อีกทั้งนิสิตนักศึกษาขณะนั้นเห็นว่าปัญหาเอกราชเป็นปัญหาใหญ่ อเมริกามาทำสงครามในเวียดนาม โดยใช้ไทยเป็นฐานทัพ เราก็มองว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เรามีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้าวันหนึ่งมาก่อเหตุที่บ้านเราล่ะเราจะรู้ได้อย่างไร ก็บอกว่าอย่างนี้ต้องออกไป การเอาออกไปทำให้ทหารไทยซึ่งได้ประโยชน์จากการตั้งฐานทัพนี้ เช่น จากการกินชุดทหารที่ไปรบ กินค่าข้าว ค่ากระสุน ส่งกระสุนปลอม (เหมือนกับเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานในยุคนี้)

ทหารก็ไม่พอใจก็มาทำลายองค์กรนิสิตนักศึกษาคิดว่านิสิตนักศึกษาคือตัวปัญหา

จริงๆ แล้วไม่ใช่ นักศึกษาคือปล่องระบายทุกข์ แน่นอนเมื่อมีความทุกข์มากขึ้นปล่องก็ร้อนเขาจึงพุ่งมาที่นิสิตนักศึกษา โดยหวังแยกพลังนิสิตนักศึกษาออกจากกัน

โดยเดิมที 14 ตุลาคมนิสิตนักศึกษากับอาชีวะร่วมมือกัน เขาก็พยายามมาแยก มีการปลุกปั่นว่าเหตุการณ์นั้นนักศึกษาได้เครดิต แล้วพวกคุณได้อะไร ก็มีการให้งบราชการลับไปให้กลุ่มอาชีวะตั้งกลุ่มกระทิงแดงและติดอาวุธให้กับพวกเขาก่อกวนนิสิตนักศึกษาทำลายการต่อสู้การชุมนุม จนเสียชีวิตกันต่อมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง

จนมาตายกระจายเสียชีวิตมีทั้งในชนบทเหมือนถังแดงและอีกหลายเหตุการณ์

ดังนั้น 6 ตุลาคมจึงเป็นการรวบยอดการเสียชีวิตมาตายกลางเมือง ตายใกล้วัดพระแก้ว ตายที่ ม.ธรรมศาสตร์ ตายที่ท้องสนามหลวง

การตายในวันนั้นคือระบอบประชาธิปไตยตาย พี่น้องประชาชนล้มตาย นิสิตนักศึกษาตาย องค์กรนิสิตนักศึกษาตาย

นั่นคือเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าเป็นการรวบยอดสังหารหมู่ครั้งใหญ่

ถ้าย้อนเวลากลับไป สุธรรมบอกว่า เราจะยังคงทำสิ่งนั้นต่อไปเพราะมันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เพราะว่ามันอยู่บนข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องสมมติไม่ใช่เรื่องมโน ไม่ได้คิดเอาเองมันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องรับสิ่งเหล่านั้นมาผลักดัน เหมือนนิสิตนักศึกษาในวันนี้เขาก็อยู่ในสถานการณ์ซึ่งสั่งสมมามากกว่าพวกผม เขาเห็นข้อเท็จจริงมากกว่าเราเขาเหมือนกับเครื่องเอ็กซเรย์สังคม ของเราอาจจะมีหมอผีบอกอยู่บ้าง แต่น้องๆ นี่เขาเอ็กซเรย์ เขาวัดความดัน เขาวัดปัญหาสภาพร่างกายว่าถ้าจะแก้ปัญหาต้องมีขั้นตอน 1, 2, 3 อย่างไร มันเป็นวิทยาศาสตร์

6 ตุลาคมพวกผมไม่ได้ทำอะไรที่ไปเกี่ยวข้องให้กระทบกับบางสิ่งเลย เราเองยังถูกฆ่าและถูกจับ มาน้องๆ วันนี้เขาบอกว่าพูดเลยดีกว่า ตัวผมเองก็เคยโดน 112 กฎหมายนี้มีการแก้กฎหมายให้แรงขึ้นก็เกิดในสมัยผม เขาเอามาใส่พวกผมเป็นเครื่องมือทำลายพวกเรา โจมตีเรากล่าวหาเรา

สังคมไทยวันนี้มันเป็นพลวัตของสังคม เมื่อก่อนเราจะรู้ความจริงต่อเมื่อต้องมีการจัดประชุมกัน มีการชุมนุมถึงจะได้เห็นความจริง

เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็น สมัยนี้อยู่บ้านก็รับรู้ได้มีส่วนเชื่อมโซเชียลมีเดียถึงกันหมดรวดเร็ว เป็นเหตุเป็นผล นี่คือกระบวนการทางสังคมมันเปลี่ยนไป

ประการต่อมาเมื่อความรุนแรงเกิดมีการสูญเสียเกิดขึ้น แต่ละครั้งบางคนก็จะกังวลว่าอย่าไปฟื้นมาเลยเดี๋ยวก็ลำบากกันอีก มีการสูญเสียกันอีก

แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่กลัวการถูกหลอกหลอนไม่กลัวผี เขาก็ถามหาว่าความจริงมันคืออะไรแน่

ตัวผมเองไม่เคยได้เห็นข้อเท็จจริงในวันนั้นมาวันนี้ผมได้เห็น เพราะว่าเราถูกกระทำเราไม่ได้บันทึกอะไรไว้ สื่อมวลชนไทยก็ไม่กล้าบันทึก ฝรั่งเท่านั้นที่กล้าบันทึก

เพราะฉะนั้นกระบวนการสังคมมันเปลี่ยน คนรุ่นใหม่เขาก็ถือว่าอดีตจะบอกปัจจุบันและปัจจุบันก็สามารถเชื่อมต่อไปสู่อนาคตได้เพราะถือว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกัน

ที่ผ่านมาเมืองไทยมีประวัติศาสตร์โกหกอยู่เยอะมาก เราเรียนของปลอมกันทั้งนั้นต้มกันทั้งนั้น หนังสือตำราเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ไทยเป็นการต้มชาติครั้งใหญ่ ต้มเยาวชนในชาติ

แต่เด็กรุ่นนี้เขาไม่ยอมให้ต้มเขาก็มาตามหาความจริง มนุษย์เราจะกล้ามองความจริง ที่มันมีอยู่แต่คุณไม่ยอมมองมันเท่านั้น วันนี้เขาเปิดตามอง เขาก็เห็น คนเราพอรู้ความจริงเข้าแล้ว ก็จะพูดกันเรื่อยๆ ก็เริ่มจากซุบซิบ จนเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ดังขึ้น ดังขึ้น ดังขึ้น จนกระหึ่มๆๆ

ณ วันนี้ 45 ปีเสียงมันจึงดังยิ่งกว่า ทั้งที่ความเป็นจริงมันต้องแผ่วลงเรื่อยๆ แล้วหายไป…

สุธรรมกล่าวทิ้งท้ายว่า ชีวิตก่อนตายผมก็อยากเห็นความจริงปรากฏ ผมอยากเห็นคนซึ่งมีส่วนร่วมในเหตุการณ์เดือนตุลาคมที่ทำผิดแล้วยอมรับผิดยอมรับข้อเท็จจริงข้อผิดพลาดไปแล้ว ผมคิดว่าจะเบาลงเยอะ

การชดใช้อาจจะไม่จำเป็นต้องตามกฎหมายอย่างเดียว เป็นกฎแห่งกรรมก็ได้ใช้ชีวิตไปแล้วเหมือนกัน คนที่เกี่ยวข้องควรมาขอขมา และสำคัญที่สุดคือ “อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก” มันสำคัญมากกว่าขอขมาอีก เพราะคุณจะพูดอะไรก็พูดได้ แต่ถึงเวลาทำอีก มันไม่ได้ ต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ผมถึงบอกว่า 6 ตุลาคมถ้ายังไม่มีการไต่สวนหาความจริง เหตุการณ์นี้ก็จะไม่มีวันตาย คนตายก็ตาไม่หลับทุกคน

เสียงจะดังกังวานอยู่อย่างนี้คู่สังคมไทยอย่างนี้ไปตลอด