เครื่องเสียง : Polk Reserve R200 (จบ) / พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท / [email protected]

 

Polk Reserve R200 (จบ)

 

จําได้ว่าเมื่อคราวจบการทำงานกับ Legend L200 ให้รู้สึกชื่นชม Polk Audio อยู่ไม่น้อย ที่กล้าออกปากบอกว่าลำโพงอนุกรมนี้คือลำโพงที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยทำออกมา เพราะกับลำโพงวางบนขาตั้งคู่นี้ที่เขาบอกว่าเป็น Large Premium Bookshelf Loudspeakers นั้น มันให้สุ้มเสียงที่อย่าว่าแต่จะเป็นที่น่าคร้ามเกรงของคู่แข่งในกลุ่มเดียวกันเลย เพราะแม้แต่ลำโพงเกินครึ่งแสนหลายๆ คู่ ยังต้องมีหนาวอีกด้วย

และเมื่อ Polk Audio บอกว่า Reserve Series เปรียบได้กับลำโพงที่ได้นำอนุกรมเรือธงอย่าง Legend Series มาเป็นต้นแบบในการปรับปรุงเพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น

ผมจึงเริ่มต้นและไล่ลำดับการฟัง Reserve R200 เหมือนกับคราวที่ได้ลองฟัง Legend L200 ที่แม้จะไม่ถึงขนาด – อย่างไรก็อย่างนั้น, ก็ใกล้เคียงกันล่ะครับ

 

ฟัง Polk Reserve R200 กับเสียงร้องและมีเครื่องดนตรีประกอบสองสามชิ้น กับฟังงานบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไม่มากชิ้นนัก จำพวก Trio และ Quartet พบว่าลำโพงให้สุ้มเสียงของแต่ละเส้นเสียงทั้งจากเสียงร้อง และเสียงชิ้นเครื่องดนตรีต่างๆ ออกมาได้ชัดเจนดี ทั้งยังมีตำแหน่งและพื้นที่เป็นสัดส่วนเฉพาะให้รับรู้ได้อยู่ในที การแยกแยะแต่ละเส้นเสียงทั้งของเสียงร้อง และเสียงจากชิ้นเครื่องดนตรีต่างๆ ทำได้ดีทีเดียว ทั้งยังบ่งบอกบุคลิกเสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะได้ด้วยความเป็นธรรมชาติอย่างที่ควร ด้วยมีบ้างกับบางชิ้นที่สังเกตได้ถึงการแต้มแต่งสีสันลงไป แต่ก็หาได้เกินเลยจนเกินรับได้แต่อย่างใด

ภาพรวมของเสียงจึงพอจะกล่าวว่ายังคงความเป็น Hi-Fi หรือ High Fidelity ได้อย่างเต็มปากเต็มคำอยู่

ที่น่าสนใจก็คือ Reserve R200 ทำงานกับเสียงร้องได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว ชนิดที่สามารถสืบทอดความโดดเด่นทางด้านนี้ของ Legend L200 เอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ด้วยสามารถแยกแยะอัตลักษณ์เสียงของแต่ละศิลปินจากที่ได้ฟังผ่านอัลบั้มชุด Audiophile Female Voices 2 Hi-Res 24-bit/192kHz DSP ออกมาโดยบ่งบอกความแตกต่างอย่างพอจะจับทางได้

ทั้งยังคงความสุนทรีย์ที่เป็นเสน่ห์เสียงของแต่ละศิลปินเอาไว้อย่างน่าสนใจ

 

อัลบั้มรวมเสียงร้องหญิงที่ว่านั้นมีทั้งหมด 13 แทร็ก กับ 6 ศิลปิน ที่สลับสับเปลี่ยนกันร้องในแต่ละแทร็ก เกือบทั้งหมดเป็นศิลปินนักร้องที่รู้จักกันในนาม Cantopop Singer ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในแถบฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะโดยพื้นเพแล้วก็เป็นลูกหลานแถบนั้นนั่นละ แต่ไปเติบใหญ่ในถิ่นตะวันตก หรือไม่ก็ออสเตรเลีย มีเพียงคนเดียวที่เป็นสาวแคนาเดียนซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีละแวก Nashville ในฐานะนักร้อง BGV : Background Vocal ที่ทำงานร่วมกับศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ของอเมริกามามากกว่ามาก และทำงานด้านนี้มานานร่วมสองทศวรรษแล้ว

เพลงที่คัดสรรนำมาร้องในอัลบั้มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงป๊อปที่คุ้นหู แต่นำมาเรียบเรียงให้มีกลิ่นอายกระเดียดออกไปข้างสแตนดาร์ด พร้อมบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอะคูสติกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีไม่มากชิ้นนักในแต่ละเพลง โดยวนเวียนอยู่ในกลุ่มกีตาร์ เปียโน แซ็กซ์ ฟลูต คีย์บอร์ด กลองชุด กับอะคูสติก เบส ที่หากฟังเอาเพลิน หรือฟังแบบได้ยินเป็นแบ๊กกราวด์ มิวสิก ขณะทำงานไปด้วย โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนเปิดฟังเองแล้วละก็ เชื่อว่ามีหลายๆ คน คงนึกว่าเป็นอัลบั้มรวมเพลงร้องของศิลปินคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะอย่างแน่นอน เพราะแต่ละเส้นเสียงเมื่อมากอปรรวมกับการบรรเลงที่ลื่นไหลเสมือนไปในทิศทางเดียวกันทั้งอัลบั้มแล้ว ชวนให้คิดเห็นเป็นเช่นนั้นได้ไม่ยากเลย

แต่สิ่งที่ Reserve R200 สื่อออกมาจากอัลบั้มนี้ก็คือ ความสามารถในการแยกแยะบุคลิกเสียงที่ส่วนใหญ่เป็นความคล้ายอย่างใกล้เคียงกับความเหมือนออกมาให้รับรู้ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังมีรายละเอียดของความแตกต่างอย่างพอจะบอกให้รู้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า – นั้น, ต้องเป็นการฟังแบบตั้งใจอยู่ในทีด้วย

 

หลังจากที่ได้ฟังกับอัลบั้มนานารูปแบบดนตรีที่เป็น ‘แผ่นสามัญประจำห้อง’ มากพอแล้ว ก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นลำโพงอีกคู่หนึ่งที่สามารถถ่ายทอดงานดนตรีออกมาได้อย่างไม่น่าลังเลใจ หากจะต้องจ่ายเงินประมาณสองหมื่นห้าแบบพอมีเหลือทอนเป็นค่ารถ เพราะทอดสายตา (และเงี่ยหูฟัง) ไปยังกลุ่มลำโพงในระดับราคาเดียวกันแล้ว ออกจะหายากสักหน่อยที่จะให้สุ้มสียงออกมาได้ ‘ครบเครื่อง’ พอๆ กับมัน แต่หากพูดถึง ‘เสน่ห์เสียง’ หรือ ‘จริตจะก้าน’ ที่เป็นบุคลิกเฉพาะตัวแล้ว บอกได้เพียงว่า – ลางเนื้อชอบลางยา, ครับ

พูดง่ายๆ ก็คือ คงต้องยกให้เป็นเรื่องของความชอบแบบหูใครหูมันนั่นล่ะ

ถึงตรงนี้ คงมีหลายๆ คน ตั้งคำถามอยู่ในใจ ว่าเมื่อเทียบกับ Legend L200 แล้ว ‘สุ้มเสียง’ มันแตกต่างกันแค่ไหน

ก่อนอื่นต้องกลับไปที่ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ว่า แม้ลำโพงทั้งคู่จะมีโครงสร้างภาพลักษณ์ทางกายภาพที่แทบจะไม่แตกต่างกันสักกี่มากน้อย ทั้งเทคโนโลยีหลักในส่วนของชุดตัวขับเสียงที่เป็นแบบเดียวกันด้วยก็ตาม แต่ลำโพงทั้งสองรุ่นก็มีราคาแตกต่างกันเป็นเท่าตัว เพราะฉะนั้นย่อมบอกได้ว่าสุ้มเสียงของลำโพงทั้งคู่มีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน ส่วนจะต่างกันแค่ไหน มันคงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนเหมือนตัวเลขของราคาค่าตัวลำโพงแต่ละคู่แน่ๆ

เพราะความแตกต่างในประเด็นที่ว่านั้นมันขึ้นอยู่กับคนที่จะจ่ายเงินเป็นสำคัญ ด้วยอย่างที่บอกอยู่เนืองๆ นั่นแหละครับ ว่าความพึงพอใจของคนเราไม่เหมือนกัน ทั้งยังไม่เท่ากันอีกด้วย

ด้วยขณะที่บางคนฟังลำโพงทั้งคู่เปรียบเทียบกันแล้ว พบว่าสุ้มเสียงที่แตกต่างกันนั้น แค่ใช้จินตนาการเข้าช่วยในเวลาฟัง ก็สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปได้แล้ว ไยต้องไปเสียเงินอีกร่วมเท่าตัวเพื่อให้ได้สิ่งที่เป็นเพียงนามธรรมนั้นมาด้วยเล่า ขณะที่ใครอีกบางคนกลับพร้อมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ขาดหายไปนั้นมาด้วยความยินดียิ่ง แม้ว่านั้นจะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อีกหลายๆ คน สามารถใช้จินตนาการเติมเต็มเอาเองดังว่าได้ไม่ยากก็ตาม

ครับ, ความแตกต่างในประเด็นที่ว่า ‘แค่ไหน’ ของลำโพงทั้งคู่ จึงไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนพอจะบอกออกมาเป็นรูปธรรมได้จริงๆ

 

ท้ายสุดแล้ว, ใคร่ยกความข้างต้นที่เอ่ยถึงมากล่าวย้ำอีกครั้ง ว่า Polk Reserve R200 ให้ภาพรวมของเสียงที่พอจะกล่าวว่าคงความเป็น High Fidelity ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ยิ่งเมื่อนำราคาค่าตัวมาเป็นบรรทัดฐานด้วยแล้ว ต้องบอกว่ามันเป็นลำโพงที่ให้การทำงานออกมาได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว

เป็นความน่าทึ่งที่ต้องยอมรับในความสามารถของทีมวิศวกรที่บรรลุถึงเป้าหมายในการออกแบบลำโพงอนุกรมนี้ คือ นำสุ้มเสียงที่เป็นบุคลิกของลำโพงรุ่นเรือธง (Legend Series) มาให้มิตรรักนักฟัง (เพลง) ส่วนใหญ่ สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ดังที่ได้ประกาศไว้ในใบบอกว่า Legendary Sound, Approachable Price นั่นแหละครับ