การล้อมปราบและสังหาร 6 ตุลา 2519 เปรียบเทียบ เม.ย-พ.ค.2553 (1)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

การล้อมปราบและสังหาร

6 ตุลา 2519 เปรียบเทียบ เม.ย-พ.ค.2553 (1)

 

1. เป้าหมาย…

การปราบปรามและสังหารหมู่ประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย เพื่อใช้เป็นสาเหตุข้ออ้างในการรัฐประหาร

ใช้ความตายของนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ปูทางขึ้นไปสู่การชิงอำนาจรัฐ

ส่วนการปราบปรามและสังหารหมู่ประชาชนในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นการฆ่าเพื่อรักษาอำนาจที่ได้จากการรัฐประหาร 2549 และตุลาการภิวัฒน์ 2551

เมื่อประชาชนมาทวงคืนอำนาจให้ยุบสภามีการเลือกตั้งใหม่ จึงต้องปราบปราม เข่นฆ่าให้เข็ดหลาบ

 

2. จำนวนคนที่เข้าร่วม และคดี

กรณี 6 ตุลาฯ มีจำนวนหลายหมื่น

แต่ในวันที่ถูกปิดล้อมปราบในตอนเช้าเหลือประมาณ 4,000 คน มีผู้เสียชีวิต 41 คน บาดเจ็บหลายร้อย คดี 6 ตุลาคม 2519 มีผู้ต้องหาทั้งหมด 3,154 คน ในชั้นสอบสวนมีผู้ได้รับการประกันตัว 2,579 คน ส่วนใหญ่หลังจากออกมาก็หนีเข้าป่า ถึงเดือนธันวาคม 2519 ยังมีผู้ถูกขังอยู่อีก 300 กว่าคน

จนถึงเดือนสิงหาคม 2520 อัยการสรุปว่าผู้ต้องหาทั้งหมด 3,154 คน หลักฐานไม่พอฟ้อง 3,080 คน ซึ่งประกันและปล่อยตัวไปแล้ว และพิจารณาสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2520 จำนวน 74 คน

ในกลุ่มนี้ถูกตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้น แต่ได้รับการประกันตัวไป 51 คน (ซึ่งสุดท้ายอัยการไม่สั่งฟ้อง) เหลือถูกคุมขังอยู่ 23 คน

สุดท้ายเห็นสมควรสั่งฟ้องเพียง 18 คน

คำบรรยายฟ้องโดยสรุปคือ

ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 จำเลยทั้ง 18 คนกับพวกที่หลบหนียังจับไม่ได้ (32 คน) บังอาจตั้งกลุ่มโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำการเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์ มีการกระทำอันเป็นกบฏ ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างและยึดอำนาจการปกครองของรัฐ (แสดงว่าชนชั้นปกครองใหม่ หลัง 14 ตุลาคม 2516 ยอมรับให้นักศึกษาเป็นวีรชนอยู่ไม่ถึง 3 เดือน หลังช่วยขับไล่ถนอม-ประภาส จากนั้นก็หมายหัวเตรียมกำจัด เพราะเสร็จศึกกับขุนทหารแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอามาใช้อีก)

หลังจากนายกฯ คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเยือนจีนมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับจีนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ก็นับเป็นความผิดมีอยู่ในคำฟ้องด้วย คำบรรยายฟ้องยังกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม อีกหลายข้อ

สรุปว่าทั้งหมดมีโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต (การเมืองเปลี่ยนขั้วได้ วันก่อนคบจีนคือผิด วันนี้คือถูกต้อง วันหน้าไม่รู้)

 

การชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

การชุมนุมครั้งนี้มีคนร่วมหลายหมื่นคน แต่การชุมนุมยืดเยื้อประมาณ 2 เดือน ทำให้คนเข้า-ออก ไป-กลับ สุดท้ายถูกสกัดปิดล้อมบริเวณราชประสงค์ ไม่ให้คนเข้าร่วม และการปราบปรามอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 100 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 2,000 คน

ส่วนในทางคดีนั้นก็ใช้อำนาจทางกฎหมายฟ้องร้องผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมให้กลายเป็นผู้ต้องหามีความผิดต่างๆ นานา

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) แถลงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ว่า คดีอันมีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 สรุปได้ว่า มีการจับกุมผู้ถูกดำเนินคดีรวม 1,833 คน (1,451 คดี) ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว 1,644 คน อยู่ระหว่างจำคุก 5 คน และคดีที่คดียังไม่สิ้นสุดประมาณ 150 คน ได้ประกันตัว 137 คน (คดีก่อการร้าย 24 คน) ไม่ได้ประกันตัว ยังอยู่ในเรือนจำต่างๆ 13 คน

นอกจากนี้ ศปช.พบว่ายังมีหมายจับที่ยังจับกุมไม่ได้อีกหลายร้อยในหลายจังหวัด และยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหารอีก 55 ราย

สรุปได้ว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร รวม 1,888 คน

 

3. กำลังที่ใช้ปราบ

กรณี 6 ตุลาคม 2519 ใช้ตำรวจ

มีกลุ่มฝ่ายขวาจัด และตำรวจ 2 หน่วยร่วมปฏิบัติการ ปิดล้อมและจู่โจมเข้าไปในธรรมศาสตร์ คือ ตำรวจพลร่มค่ายเสือดำหัวหิน และแผนกอาวุธและอุปกรณ์พิเศษ (S.W.A.T.) Special Weapon and Technical) กองกำกับการตำรวจนครบาล

จำนวนกำลังพลรวมประมาณ 200 นาย

ไม่มีกำลังทหารแม้แต่หน่วยเดียวในตอนเช้า (ที่ปรากฏตัวอย่างเปิดเผย แต่ทหารมายึดอำนาจในตอนเย็น) ไม่มีหน่วยปราบจลาจล ไม่มีการสกัดฝูงชนที่ถูกปลุกระดมมา แต่กลับช่วยเปิดทางให้บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์

การยิงทำลายหน่วยรักษาความปลอดภัย ก็เพื่อเปิดทางให้หน่วยอื่นบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์คือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการสังหารโหดอย่างนองเลือดกลางเมือง ถ้าหากฝ่ายตำรวจไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนั้น ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะฝ่ายนักศึกษาได้ตรึงกำลังตั้งแต่ช่วงกลางคืนจนถึงเช้าโดยไม่มีการปะทะกัน ทั้งยังเตรียมสลายการชุมนุมและมอบตัวอยู่แล้ว

ถ้ารัฐบาลส่งกำลังตำรวจมาและปฏิบัติการเหมือนเมื่อครั้งการประท้วงจอมพลประภาส จารุเสถียร เรื่องร้ายแรงก็จะไม่เกิดขึ้น แต่การกระทำที่เกิดขึ้นวันนั้น เห็นชัดว่าเป็นเจตนาต้องการให้เกิดเรื่องเพื่อสร้างสถานการณ์รัฐประหารนั่นเอง ฝ่ายที่วางแผนหวังว่าจะเกิดเรื่องแล้วควบคุมได้

ตั้งแต่กลางคืนจนเช้า พวกขวาจัดที่เกาะรั้วธรรมศาสตร์ ยังไงก็ไม่กล้าบุก

จึงทำให้มีคนตัดสินใจใช้เจ้าหน้าที่ยิงทำลาย รปภ.ส่วนหน้า เพื่อเปิดทาง ให้ขวาจัดบุก แต่บุกไปแล้วก็ไม่ได้มีการปะทะ แบบเกิดการจลาจลต่อสู้ เพราะ น.ศ.หลบอยู่ภายในตึก

การปลุกระดมทำไว้แรงเกินไป คุมไม่ได้ ผลเลวร้ายจึงออกมาประจานคณะปฏิรูปฯ ที่กลางสนามหลวง จนเกิดกระแสต่อต้านทั่วโลก…

 

การปราบและสังหารประชาชน

กรณี เม.ย-พ.ค.2553… ใช้ทหาร

ในขณะที่การปราบประชาชนในปี 2519 ใช้ระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็หยุด แต่การปราบและเข่นฆ่าประชาชนในปี 2553 เป็นแบบยืดเยื้อ ความตายในวันที่ 10 เมษายน จำนวน 26 คนไม่ได้ทำให้รัฐบาลคิดปรับนโยบายว่าจะระงับความขัดแย้งด้วยวิธีสันติอย่างไร การปราบปรามอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม เพิ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 100 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 2,000 คน

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 7 ปีของเหตุนองเลือด โดยระบุว่า

รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ และกองทัพ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุและละเมิดกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนักในการสลายการชุมนุม มีการระดมกำลังพลของกองทัพถึง 67,000 นาย มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงถึง 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไปทั้งสิ้น 117,923 นัด มีการเบิกจ่ายกระสุนสำหรับการซุ่มยิง (สไนเปอร์) 3,000 นัด ส่งคืนเพียง 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด

มีการประกาศ “เขตกระสุนจริง” ต่อผู้ชุมนุมอย่างเปิดเผย และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 84 ราย (เจ้าหน้าที่ 10 ราย) และบาดเจ็บอีกกว่า 1,400 คน

แม้ว่ารัฐบาลและ ศอฉ.พยายามกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย และมีอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตรายใดมีอาวุธร้ายแรงที่สามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ในระยะไกลได้ ผลการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมโดยศาลอาญาจำนวน 18 ราย ล้วนยืนยันข้อเท็จจริงนี้

การเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายพลเรือน เกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน โดยมากกว่าร้อยละ 50 พบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

จากการไต่สวนการตายของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ในกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเป็นผลจากการกระทำของทหาร

ทั้งรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นรัฐบาลพลเรือนทั้งสองยุค แต่ไม่มีอำนาจจริง เพราะมีอำนาจซ้อนที่เข้มแข้งกว่า