เปิดใจ ‘ธิษะณา ชุณหะวัณ’ ความผิดพลาดใน ‘อดีต’ ก้าวต่อไปใน ‘อนาคต’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เปิดใจ ‘ธิษะณา ชุณหะวัณ’

ความผิดพลาดใน ‘อดีต’

ก้าวต่อไปใน ‘อนาคต’

 

“ธิษะณา ชุณหะวัณ” หรือ “แก้วตา” คือบุตรสาวของ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ทั้งยังเป็นหลานสาวของ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” อดีตนายกรัฐมนตรี

คอการเมืองหลายรายเริ่มคุ้นเคยกับชื่อเสียงของ “แก้วตา ธิษะณา” มากขึ้น เมื่อเธอออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนตลอดช่วง 1-2 ปีหลัง

โดยมีบทบาทหลักอยู่ที่การผลักดันให้เกิด “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ เพิ่งมีผู้ “ขุดเฟซบุ๊กเก่า” ของทายาทรุ่นล่าสุดแห่งซอยราชครู แล้วนำข้อความที่เธอเคยโพสต์ “ด้อยค่า-แสดงความเกลียดชัง” กลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2550 มาเผยแพร่

นั่นส่งผลให้ธิษะณาถูกตั้งคำถามอย่างมากมาย ว่าภายใต้จุดยืนที่เอียงข้างประชาธิปไตยในปัจจุบันนั้น เธอยังมีแนวคิดละเลยสิทธิมนุษยชนดังเช่นเมื่อราวสิบปีก่อนหลงเหลืออยู่หรือไม่?

รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวีจึงไม่รอช้าที่จะเชิญแก้วตามาตอบคำถามดังกล่าว รวมถึงชวนสนทนาเรื่องอนาคตทางการเมืองของเธอ

 

: ตอนไปร่วมชุมนุมในฐานะคนเสื้อเหลือง และ กปปส.เวลานั้น คุณมีจุดยืน-อารมณ์ร่วมที่เข้มข้นขนาดไหน?

คือต้องเรียนอย่างนี้นะคะว่า ดิฉันก็ได้ไปเข้าร่วมในฐานะผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง ก็คือไปเป็นจำนวนนับให้เขา พูดง่ายๆ คือไปร่วมชุมนุม ไปเดินขบวน คุณพ่อก็ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที ทั้งเวทีพันธมิตรและเวที กปปส. ทุกครั้งที่แกขึ้นปราศรัย (ตัวเอง) ก็จะเป็นกองเชียร์ ก็ไปด้วยกับแก

ถ้าเห็นรูปที่ถูกขุดมาก็จะมีคุณพ่อกับดิฉันที่ถ่ายกับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้างหลังเวที แล้วก็ภาพที่ดิฉันถ่ายคุณพ่อจากข้างล่างในกลุ่มผู้ชุมนุม ดิฉันกำลังนั่งชมปราศรัย แล้วก็ถ่ายคลิปวิดีโอระหว่างที่ท่านปราศรัย

: หมายความว่าคุณไปในฐานะผู้ร่วมชุมนุม ไม่ได้ไปในฐานะแกนนำ

ไม่ๆๆ แค่ไปร่วมชุมนุมเฉยๆ ไม่เคยขึ้นปราศรัย เพราะตอนนั้นก็อายุยังน้อยอยู่ด้วย แล้วก็อาจจะพูดไม่เก่งขนาดนั้น

: อีกด้านหนึ่ง ตอนนั้นคุณก็แสดงออกทางโซเชียลมีเดียด้วย

ใช่ค่ะ จริงๆ แล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูสเตตัสเก่าๆ วันหนึ่งก็โพสต์ประมาณ 10-20 สเตตัส ตั้งแต่ตอนอายุ 17-18-19 ปัจจุบันนี้ ดิฉันอายุ 29 ปี แล้วก็กำลังจะอายุครบ 30 ในเดือนตุลาคม เพราะฉะนั้น ช่วงที่โพสต์สเตตัสที่ (ถูกขุด) ออกมา นั่นก็คืออายุ 18 ปี กำลังจะอายุ 19

แล้วช่วงนั้นก็จะเห็นได้ว่าก็เหมือนกับเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งน่ะค่ะ ก็จะโพสต์เกี่ยวกับความรักบ้าง เกี่ยวกับกิ๊กของแฟนเก่าบ้าง ซึ่งก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างไร้สาระ

ถ้าเกิดสเตตัสอันที่คนอื่นเขาขุดมา มีอะไรที่ไม่สมเหตุสมผล ถ้าเป็นปัจจุบัน ดิฉันก็ขอไม่พูดอะไรแบบนั้น แต่ว่าตอนนี้ ดิฉันไม่สามารถกู้พาสเวิร์ดในเฟซบุ๊กอันนั้นมาได้ ตอนนี้ก็ประสบกับปัญหาพอสมควร

แต่ดิฉันก็พร้อมที่จะก้มหน้ารับผลกระทบ ที่มันตามมาจากการกระทำของดิฉัน

: ล่าสุดที่มีการขุดสเตตัสเก่าขึ้นมา โดยส่วนตัวมีอะไรอยากจะบอกสังคมไหมเกี่ยวกับสิ่งที่เราเคยทำ แม้เราจะเปลี่ยนจุดยืนไปแล้ว แต่คนจำนวนไม่น้อยเหมือนยังรับไม่ได้กับท่าทีแบบนั้น

ดิฉันน้อมรับกับทุกผลลัพธ์ที่จะตามมา แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการให้อภัยจากสังคม แต่ขอเวลาพิสูจน์ความจริงใจของตัวเองที่ได้เรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดในอดีต ผ่านการทำงานที่หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ในการเรียกร้องประชาธิปไตยให้กลับมา

: จุดเปลี่ยนทางความคิดของคุณเกิดขึ้นตอนไหน? เหตุใดจึงตาสว่าง?

คือถ้าพูดถึงจุดเปลี่ยนจริงๆ การแสดงออกที่ต่อต้าน คสช. จริงๆ ก็คือตอนที่ฉันไปโหวตประชามติของรัฐธรรมนูญ 2560 ดิฉันก็ไปโหวตโน ก็คือไม่เห็นชอบ เพราะทราบมาว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ แล้วก็ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน หมายความว่าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นมา ทราบว่ามันให้ประโยชน์กับ คสช.

: ในฐานะทายาทของตระกูลชุณหะวัณ จะทำงานการเมืองในระบบหรือจะเป็นนักเคลื่อนไหวต่อไป?

ที่ผ่านมา ดิฉันได้ตั้งต้นทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน แล้วก็ได้ขึ้นเวทีปราศรัยหลายครั้ง ในเวทีคณะราษฎรที่หน้าสะพานเกียกกาย แล้วก็เวทีไทยไม่ทน 2-3 ครั้ง ในการรณรงค์ให้คนมาเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนที่เป็นแกนนำของกลุ่ม Re-Solution จนปัจจุบัน ดิฉันก็มีคดีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นจะต้องไปสถานีตำรวจและสำนักงานอัยการ

แต่ก็ต้องบอกว่าการกระทำของดิฉันไม่สามารถที่จะเทียบเท่ากับแกนนำกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ทนายอานนท์ น้องเพนกวิน น้องรุ้ง น้องไผ่ แล้วก็ทุกๆ คนที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน…

ดิฉันคิดว่าเรื่องการเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง เราต้องยอมรับก่อนว่านักการเมืองสามารถที่จะผลักดันนโยบายแล้วก็แก้ไขกฎหมายเพื่อประชาชนจริงๆ ได้ ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาและกระบวนการนิติบัญญัติ

แต่การเข้าร่วมเส้นทางทางการเมือง มักมีการตีตราบาปให้กับนักการเมืองว่าอาจจะเข้ามาเล่นการเมืองเพราะอยากได้ผลประโยชน์หรือเปล่า อยากจะทุจริตใช่ไหม หรือว่าเป็นอาชีพที่สกปรกไม่สุจริต

แน่นอนว่าตัวบุคคลมันมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้วกับการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือการกระทำต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องในทางการเมือง แต่เราอยากให้มองว่าคนดีหรือไม่ดี มันเป็นที่ระบบที่ไม่เข้มแข็ง

ในปัจจุบันนี้ ทุกท่านก็ทราบดีอยู่แล้วถึงการแต่งตั้งสภาสูง การแต่งตั้งองค์กรอิสระที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล แน่นอนว่าการทุจริตก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ในแดนสนธยาหรือในสภาที่ระบบตรวจสอบถ่วงดุลมันหยุดชะงัก กระบวนการนิติบัญญัติมันมีการเดดล็อกของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ที่มักจะโหวตเข้าข้างผู้มีอำนาจหรือคนที่แต่งตั้งเขามาอยู่เสมอๆ

ซึ่งการเมืองสะอาดย่อมเป็นไปได้ภายใต้กติกาที่ถูกต้องและเป็นสากล และเป็นการกระจายอำนาจ และมีสิทธิเสรีภาพที่ครบถ้วนอยู่ในรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือต้องมาจากประชาชน และเมื่อมีวันนั้น ตัวบุคคลก็จะมีความสำคัญน้อยลง เพราะอย่างไรก็ตาม ประชาชนก็เป็นคนเลือกเขามา แล้วก็ให้ระบบมันดำเนินไปตามธรรมชาติของการตรวจสอบ

ดังนั้น เป้าหมายที่เป็นอุดมคติคือเราควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายประชาชนที่ผ่านมามันก็ถูกปัดตกทุกครั้ง เพราะฉะนั้น การลงไปในสนามการเมือง ที่จะไปผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ย่อมเป็นไปได้ ก็หวังว่าจะประสบความสำเร็จ

สำหรับดิฉัน ตอนนี้ก็เป็นว่าที่ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลในเขต 2 กรุงเทพมหานคร

: นอกเหนือจากการแก้รัฐธรรมนูญ มีเรื่องอะไรอย่างผลักดันอีก ถ้าได้เข้าไปทำงานในสภา

หลายเรื่องนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสมรสเท่าเทียม โดยการเปลี่ยนถ้อยคำในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จาก “ชาย-หญิง” ให้เป็น “บุคคล” เพื่อจะประยุกต์ใช้ได้กับ “กลุ่มเพศหลากหลาย”

แล้วก็การผ่าน พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและอุ้มหาย และการทำเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ดิฉันสนใจ เรื่องยาเสพติดก็เป็นเรื่องที่สนใจด้วย เช่นเดียวกับสิทธิของนักโทษและสิทธิของแรงงานต่างๆ

: ทำไมถึงต้องเป็นพรรคก้าวไกล?

คือเราคิดมาตลอดว่าเราอยากร่วมพรรคการเมืองที่เป็นพรรคที่ทำเพื่อคนทุกหมู่เหล่า ไม่ได้ช่วยเหลือแค่ฐานเสียงของตนเอง แต่เป็นพรรคที่ช่วยเหลือมนุษยชาติอย่างแท้จริง

ปัจจุบันนี้มีเพียงพรรคก้าวไกลที่พูดถึงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่า หรือพูดถึงการต่อต้านรัฐประหารในประเทศพม่า แล้วก็พูดเรียกร้องสิทธิในการบริการสาธารณสุขที่ฟรีและไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างด้าว

ซึ่งไม่มีพรรคไหนเลยที่เคยพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน เพราะว่าต่างคนต่างห่วงถึงฐานเสียงของตัวเอง แล้วก็กลัวว่ามันจะไปกระทบกับความคิดของฐานเสียง ว่าเราจะเอาเงินไปให้ต่างด้าวหรือไม่

ดิฉันคิดว่าที่สำคัญคือต้องมีอุดมการณ์แก่มนุษยชาติทุกๆ คน แล้วก็ไม่มีพรรคใดที่ตอบโจทย์อุดมการณ์นี้เหมือนพรรคก้าวไกล