ธุรกิจท่องเที่ยวไทย หวังอภินิหารวาจาสิทธิ์ ผู้นำ…กดปุ่มเปิดประเทศบิ๊กล็อต 1 พ.ย./เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ธุรกิจท่องเที่ยวไทย

หวังอภินิหารวาจาสิทธิ์

ผู้นำ…กดปุ่มเปิดประเทศบิ๊กล็อต 1 พ.ย.

 

หลังจากประเทศไทยได้ปักหมุดการเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใน 120 วัน ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นับแล้วก็น่าจะตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ครบกำหนด 120 วันตามที่นายกฯ “ประยุทธ์” ลั่นวาจาไว้แล้ว

เมื่อใกล้เวลาขีดเส้นใต้ไว้ หน่วยงานหลักต่างๆ ต่างทยอยออกออกมาไขความกระจ่างให้เข้าใจตรงกันว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นมีแน่ แต่ไม่ได้เปิดแบบ 100% ในครั้งเดียวพร้อมกันทั้งประเทศ

แต่มีการคัดเลือกจังหวัด หรือพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน ที่มีศักยภาพครบตามเกณฑ์ของรัฐ จึงจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ก่อน

ยกตัวอย่าง เปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการสมุยพลัสโมเดล ที่เป็นการเปิดเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ ในพื้นที่เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ และจังหวัดพังงา พื้นที่เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่

เท่ากับว่า ขณะนี้ประเทศไทยมี 4 จังหวัด ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว

 

ย้อนดูข้อมูลถึงความคืบหน้าการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาสะสม 92 วัน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2564 มี 38,699 คน โดยการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดเพียง 116 คนเท่านั้น ถือเป็นอัตราที่น้อยมาก บวกกับยังไม่มีกรณีนำเชื้อมาติดระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับคนไทย หรือคนไทยนำเชื้อไปติดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด้านยอดการจองห้องพักโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย (เอสเอชเอพลัส) ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565 ของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อยู่ที่ 716,898 คืน (รูมไนต์) แบ่งเป็นเฉพาะช่วงไตรมาส 3/2564 (กรกฎาคม-กันยายน) มียอดการจองห้องพักในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 541,957 คืน

เดือนตุลาคม มียอดจองอยู่ที่ 141,787 คืน เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มียอดจองอยู่ที่ 31,863 คืน

สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของความต้องการ (ดีมานด์) ในการเข้ามาท่องเที่ยวจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยวจึงเดินหน้าต่อเต็มสูบ เพื่อดึงการท่องเที่ยวไทยกลับมา ช่วยให้ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวได้ลดท่อนความเดือดร้อนตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยด้วย

ภายใต้การนำของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้วางแผนและไทม์ไลน์ในการเปิดพื้นที่อื่นๆ ในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่อเนื่องจากระยะแรก

โดยในระยะ 2 ได้กำหนด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ) ซึ่งเดิมเป้าหมายกำหนดเปิดพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564

แต่แล้วก็เจอปัญหา ติดเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะความไม่มั่นใจและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชากรในพื้นที่ ซึ่งไม่ว่าจังหวัดใดจะเปิด อย่างน้อยประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70% ตามเงื่อนไขหลักนี้ เป็นตัวตัดสินว่า พื้นที่ใดสามารถเปิดรับต่างชาติได้

เมื่อจังหวัดที่กำหนดไม่เป็นไปตามแผน ต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคมที่จะถึงนี้

ซึ่งก็ต้องดูอีกว่า ถึงวันจริงนั้นกี่จังหวัดที่พร้อมเปิด!!

 

แต่แล้วผลการหารือร่วมกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เลื่อนการเปิดรับต่างชาติออกไปเป็น 1 พฤศจิกายน 2564 พร้อมกันทั้ง 5 จังหวัดอีกครั้ง

ปั่นป่วนกันอีกครั้ง เพราะภาคเอกชนที่เตรียมตัวเปิดเดือนตุลาคม โอดครวญถึงความไม่เที่ยงของแผนเปิดประเทศ เพิ่มจำนวนธุรกิจ ต่างถอนใจ เพราะเมื่อรู้ว่ารัฐจะเปิดเดือนตลาคม ต่างก็วิ่งหาเงินทุนและเตรียมความพร้อมทุกด้าน ซึ่งเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับล่วงหน้า หวังว่าเมื่อเปิดประเทศได้จริง รายได้เข้ามาจะพอส่งหนี้สินคงค้างได้อีกครั้ง

โดยเฉพาะประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่หัวหิน โหมการฉีดวัคซีนจนครบ 70% ตามเงื่อนไขหลัก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จ่อกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง หวังต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การนำสถานประกอบการเข้ารับมาตรฐานเอสเอชเอพลัส เร่งจัดทำขั้นตอนปฏิบัติมาตรฐาน (เอสโอพี)

เมื่อทุกอย่างพร้อมหมดแล้วแต่ถูกเลื่อนให้เปิดรับต่างชาติออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเกือบเป็นเดือนสุดท้ายของปี 2564 จึงสร้างความมืดมนให้กับอนาคตของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไทย

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวันเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ชัดเจน ทำให้การวางแผนธุรกิจในอนาคตทำได้ยากมาก

นอกจากต้องพยายามประคองธุรกิจ และหาทางฟื้นฟูธุรกิจแล้ว ยังต้องต่อสู้กับโรคลักปิดลักเปิดของรัฐบาลไทยด้วย

ภาคเอกชนจึงยอมรับตรงๆ ว่าแทบหมดกำลังใจที่จะสู้เพื่ออยู่ให้รอดรอการกลับมาใหม่ของนักท่องเที่ยวแล้ว

แต่จะให้ไปทำธุรกิจอื่นก็เป็นทางออกที่ลำบาก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมามากกว่าครึ่งชีวิตแล้ว

 

ความหวังสุดท้ายที่ถือว่าท้ายสุดจริงๆ จึงเป็นการกำหนดเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะสามารถเปิดได้แน่นอนหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใด และต้องมีความชัดเจนออกมาภายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะไม่ทันการ

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สะท้อนว่า ขณะนี้มีความไม่มั่นใจว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่รัฐบาลกำหนดไว้ในการเปิดอีก 5 พื้นที่รับต่างชาตินั้นจะสามารถเปิดได้ 100% ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ จึงอยากให้รัฐบาลสื่อสารหรือประกาศให้ชัดเจนว่า ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะสามารถเปิดได้จริงหรือไม่

หากเปิดได้จริง จะเปิดภายใต้เงื่อนไขอะไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนในการดำเนินตามเงื่อนไขหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ภาครัฐกำหนดไว้ได้

เขาระบุสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความชัดเจนของเงื่อนไขและรูปแบบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องออกมาภายในเดือนตุลาคมนี้ อย่างช้าที่สุดต้องไม่เกินวันที่ 15 ตุลาคม เนื่องจากหากเกินช่วงเวลานี้ไปแล้ว ผู้ประกอบการจะไม่สามารถทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการทั่วไป ที่ส่วนใหญ่จะต้องประสานกับตัวแทนผู้ประกอบการทัวร์ในต่างประเทศ ที่จะเป็นผู้ทำทัวร์ให้

ซึ่งหากปล่อยให้เวลาผ่านไปเกินกลางเดือนตุลาคมนี้ เท่ากับว่าการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะไม่ทันในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 แน่นอน

 

เมื่อมีภาพความหวังเกิดขึ้น สิ่งที่ตอบรับแรงคาดหวังก็วิ่งนำไปก่อนแล้ว และเป็นเครื่องวัดความมั่นใจเบื้องต้นได้อย่างหนึ่ง คือ การลงทุนในตลาดหุ้น พบว่า หุ้นธีมท่องเที่ยวและธุรกิจที่จะได้อานิสงส์เปิดเมืองเริ่มกลับมาเขียวสดใสอีกครั้ง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ให้มุมมองในเรื่องดังกล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ นำไปสู่มาตรการเปิดเมืองที่มีแบบแผนชัดเจน และการเปิดภาคการท่องเที่ยวไทย โดยกลุ่มท่องเที่ยวนับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรฐกิจไทย จึงเห็นมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผนการอันล็อกไทยแลนด์จาก ททท.

ขณะที่มีบรรยากาศหนุนเพิ่มเติม คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ ที่อยู่ระหว่างขออนุมัติจากทางการสหรัฐ (FDA) ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสเป็นการแข่งขันในการระบาดโควิด-19 เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิต รวมถึงลดการเกิดล็อกดาวน์ครั้งใหม่ได้มากขึ้น

ความหวังทั้งหมดนี้ ทุกฝ่ายจับจ้อง ขอให้เกิดอภินิหารวาจาสิทธิ์