โควิดชายแดนภาคใต้ ในวันที่สถิติสูงน่าห่วง/รายงานพิเศษ อุสตาซอับดุชชะกูรฺ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

โควิดชายแดนภาคใต้

ในวันที่สถิติสูงน่าห่วง

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีเอส “#ThaiPBSศูนย์ข่าวภาคใต้” กล่าวว่า “…พุ่งจนน่ากลัว… สำหรับการระบาดของโควิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

สถานการณ์ COVID-19 จังหวัดยะลา 23 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุด 671 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งตรวจเชิงรุก เพื่อคัดกรองประชาชนในพื้นที่

เมื่อดูสิถิติ จังหวัดชายแดนภาคใต้อื่นๆ เช่น นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อจำนวน 403 คน สงขลา 388 คน และปัตตานี 233 คน ที่สำคัญวันที่ 23 กันยายนนั้น นราธิวาสมีผู้เสียชีวิตถึง 19 คน (สถิติคาดว่าจะรายงานเป็นวันที่ 24 กันยายน 2564 ) วันนี้ 2 ตุลาคม 2564 ยังคงสูงติดอันดับ 2 ของประเทศ คือ ยะลา 738 คน นราธิวาสอันดับ 6 ของประเทศ 495 คน สงขลา อันดับ 8 ของประเทศ 434 คน และปัตตานี อันดับ10 ของประเทศจำนวน 311 คน

สถิติโควิดชายแดนใต้ยอดพุ่งแบบนี้นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้รู้ด้านระบาดวิทยาได้คาดการณ์ไว้เมื่อสองเดือนที่แล้วว่า “สถานการณ์ (โควิด) จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีโอกาสเหมือนกรุงเทพมหานครและอาจพัฒนาเหมือนอินเดียจนถึงเดือนกันยายน 2564 จนกว่าเราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่และสถานการณ์จะดีขึ้น”

(อ้างอิงจากบทความผู้เขียนใน https://www.matichonweekly.com/column/article_447793)

 

จาก กทม.โมเดลสู่ชายแดนภาคใต้

คำว่า “กทม.โมเดล” มีสองปัจจัยหลัก คือ การตรวจเชิงรุกและวัคซีน ถ้าเราจำได้ตอนที่ชมรมแพทย์ชนบทบุกกรุง 3 ครั้ง ในภารกิจตรวจโควิดเชิงรุก ในพื้นที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะชุมชนแออัด ดังนั้น ชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน ต้องทำเช่นเดียวกัน อาจให้ชมรมแพทย์ชนบท รวมพลังกับส่วนกลาง กอ.รมน.และ ศอ.บต.ในภารกิจนี้

สอง การเร่งฉีดวัคซีน

น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ให้ทัศนะว่า “ที่ กทม และปริมณฑลดีขึ้น เพราะการเทวัคซีนของคนทั้งประเทศในสัดส่วนที่มากกว่าปกติมายังเมืองหลวงตลอดสามสี่เดือนที่ผ่านมา คนเมืองหลวงจึงเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนใคร คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว วันนี้น่าจะถึงเวลาเทวัคซีนหมดหน้าตักลงพื้นที่ต่างจังหวัดได้แล้ว อาจจะต้องลดการฉีดเข็มสามใน กทม.และปริมณฑล ขอให้คนต่างจังหวัดได้รับวัคซีนด้วย”

ยาเสพติด คืออีกโจทย์ ที่ทำให้ภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิดยากขึ้น

“ยาเสพติด คืออีกโจทย์ ที่ทำให้ความท้าทายของคณะบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลต่างๆ ที่ชายแดนใต้ต้องเผชิญในภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าชายแดนภาคใต้มีปัญหาด้านนี้อย่างยิ่งเมื่อรัฐเปิดเสรีขายใบกระท่อมยิ่งทำให้ผู้ปกครองแต่ละคนกังวลลูกหลานตัวเองช่วงเรียนออนไลน์เพราะค่านิยมวัยรุ่นมิได้ใช้เพื่อเป็นยารักษาโรค

ดังตัวอย่าง ที่โรงพยาบาลสนามค่าย ตชด.สะพานไม้แก่น เป็นโรงพยาบาลสนามที่รับแต่ผู้ชาย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเล่าว่า “เรื่องยากๆ เกิดขึ้นเกือบทุกวัน ที่โรงพยาบาลสนามค่าย ตชด.สะพานไม้แก่น มีกลุ่มวัยรุ่นผู้ใช้ยาเสพติดที่ติดโควิดเข้าไปนอนรักษารวมแล้วเป็นสิบๆ คน ทุกคนหากให้ข้อมูลแก่พยาบาลก็จะได้กินเมทาโดน (สารทดแทนเฮโรอีน) แต่หลายคนเขายังไม่พร้อมและไม่ตั้งใจหยุดยา เสี้ยนยาจนอยู่ไม่ไหว จึงมีการหนีออกจากโรงพยาบาลสนาม ปีนรั้วหนีออกมาโบกรถ ขอติดรถมาลงตลาด หรือโทร.ให้เพื่อนมารับบ้าง ให้เพื่อนมาส่งของบ้าง ส่งมานอนโรงพยาบาลก็ไม่ได้เพราะโรงพยาบาลก็เตียงเต็มมาก และต้องกันเตียงให้กับคนที่อาการหนัก อีกทั้งสภาพโรงพยาบาลสนามเป็นการนอนรวมกัน คนที่เขาไม่ใช้ยาก็ไม่มีความสุขและไม่สบายใจที่มีคนใช้ยานอนอยู่ข้างๆ ด้วย ชุมชนสะพานไม้แก่นเครียดมาก ทีมแพทย์พยาบาลก็เครียดด้วย ทุกคนเครียดไปหมด”

“ภาพที่เห็นคือ พยาบาลในโรงพยาบาลสนาม พอทราบว่าคนไข้หนี ก็ออกมาตามคนไข้ให้กลับ ฝ่าย อส.หรือผู้ใหญ่บ้านนั้นเขาก็ได้วัคซีนไม่ถึงไหน เขาจะไปตามใกล้ชิดไปจับตัวก็ไม่ได้ จะจับส่งตำรวจก็เดือดร้อนโรงพัก จะลงมือรุนแรงล่ามโซ่ก็ไม่ใช่เพราะเขาก็ลูกหลานพวกเรา การเจรจาโดยละม่อมโดยพยาบาลจึงลงตัวที่สุด ชุด PPE ก็ไม่ต้องใส่กันแล้ว เพราะคนใส่จะเป็นลมได้ จึงเน้นเจรจาคุยกันแบบเว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นภาระเพิ่มที่หนักหนาสาหัสและเหนื่อยมากของบุคลากรทางการแพทย์”

“โจทย์นี้ ทางนายอำเภอ ฝ่ายปกครอง ชุมชน รวมทั้งสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาล กำลังจะคุยกันในวันจันทร์เพื่อแก้ปัญหา คำตอบจะเป็นอย่างไร ล้วนไม่ง่ายครับ”

นี่คือชีวิตจริงและโจทย์ยากๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ซับซ้อน

 

ขอให้ยุติการจับกุมควบคุมตัวบุคคล

ตามกฎอัยการศึก

และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วงโควิด

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 พบว่ายังมีปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าช่วงเวลาปกติ

เช่น การปิดล้อมตรวจค้น และเกิดเหตุปะทะจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ไม่ต่ำกว่า 10 คน อีกทั้งมีการจับกุมบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 คน

ในขณะที่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในสถานการณ์โควิด บางรายอาจเป็นกรณีซัดทอด ไม่มีหลักฐานชัดเจน สถิติไม่ได้ลดลงเลย

เรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ถูกจับกุม พวกเขายากจนทุกคนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเดินทางข้ามจังหวัด การควบคุมตัวที่ค่ายทหารอิงคยุทธที่จังหวัดปัตตานีทำให้เยี่ยมญาติต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายสูง

บางครอบครัวไม่สามารถไปเยี่ยมได้

บางรายควบคุมตัวนานถึง 37 วัน

 

ทบทวนมาตรการผ่อนคลาย

สิงคโปร์แม้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในอาเซียนต่อเรื่องนี้ กลับมาใช้มาตรการคุม COVID-19 แบบเข้มงวด

ตามรายงานข่าว (1 ตุลาคม 2564) สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,909 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาดในประเทศ เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ขยับขึ้นมาเป็น 8 ราย สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดเช่นเดียวกัน โดยคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในหอพักแรงงานต่างชาติ แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่คือ 98.1% มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นหลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการสกัดการระบาดของ COVID-19 บางอย่างเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจระงับแผนการเปิดประเทศชั่วคราวแล้วหวนกลับมาคุมเข้มอีกครั้ง

อาทิ ลดการรวมตัวและนั่งรับประทานอาหารในร้านเหลือ 2 คน จาก 5 คน พนักงานต้องทำงานจากที่บ้าน แนะผู้สูงอายุเก็บตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 1 เดือนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ระหว่างที่ประกาศยกระดับมาตรการคุมเข้มล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ยังบอกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้น “สร้างความตึงเครียด” ให้กับระบบสาธารณสุข โดยจนถึงเที่ยงวันพฤหัสบดี (30 กันยายน 2564) มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลจาก COVID-19 1,360 คน ในจำนวนนี้ 204 คน ป่วยหนักและต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจน และ 34 คนอยู่ในห้องไอซียู

ส่วนรัฐบาลบอกว่า การยกระดับมาตรการสกัด COVID-19 คือ “การหยุดพักชั่วคราว” ที่จำเป็นเพื่อซื้อเวลาสำหรับเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบสาธารณสุข การจัดเตรียมศูนย์กักตัว เร่งฉีดวัคซีนให้คนที่ยังไม่ได้ฉีด และฉีดเข็มกระตุ้นให้คนที่จำเป็นต้องได้รับ (https://www.posttoday.com/world/664629…)

 

ฝากความหวังเลือกตั้ง “อบต.”

เชื่อแน่ว่า “ชายแดนภาคใต้ซึ่งมีอัตลักษณ์หลายอย่างต่างจากที่อื่นในภาวะคนในพื้นที่หมดหวังกับการแก้ปัญหาโควิดด้านสาธารณสุขและการศึกษาของรัฐบาลกลาง วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 จะมีการเลือกตั้ง อบต.ซึ่งใกล้ชิดชาวบ้านที่เรื่องปัญหาโควิดด้านสาธารณสุขและการศึกษา

ชาวบ้านหวังว่า อบต.จะช่วยเยียวยาและหนุนเสริมลูกๆ หลานๆ พวกเขาที่ต้องเรียนออนไลน์แต่ระบบจากกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐราชการส่วนกลาง) ไม่เอื้อเพราะมีแต่คำสั่ง

โดยขณะนี้โรงเรียนที่อยู่ภายใต้เทศบาล เช่น เทศบาลยะลาและตะโหมดปรับตัวได้ดีเเละเร็วกว่า และกำลังจะเสนอ “โรงเรียน Sandbox” ขึ้นมาถือเป็นการหาทางแก้ไขปัญหาอีกทาง