กูเกิลดีปมายด์ จากหมากล้อม สู่เอไอพยากรณ์อากาศ/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

กูเกิลดีปมายด์

จากหมากล้อม สู่เอไอพยากรณ์อากาศ

 

“นํ้ามาปลากินมด แล้วเมื่อไหร่น้ำจะลด พี่นี้อยากจะรู้”

ในตอนนี้ บ้านใครที่อยู่ในสถานที่สุ่มเสี่ยงว่าจะมีมวลน้ำแวะมาเยี่ยมเยียนก็คงหมดอารมณ์ส่องสินค้าลดราคาช้อปออนไลน์ไปพักใหญ่ บางคนอาจจะหันมาแวะเวียนเข้ากลุ่มเตือนภัย เตือนสถานการณ์น้ำ แล้วนั่งลุ้นไปด้วยว่าน้องน้ำจะมาเมื่อไร จะอยู่นานแค่ไหน แล้วจะเข้ามาเยี่ยมถึงในบ้านหรือเปล่า

เผื่อว่าถ้าน้องจะมา พี่จะได้เก็บของรอ…

บางคนก็ถึงขนาดขับรถไปแอบส่องระดับน้ำในคลองใกล้บ้านกะให้สบายใจว่าคงไม่มา แต่พอเห็นปริ่มๆ ตรงขอบท่า ก็เริ่มใจไม่ดี ยิ่งถึงยามฝนมาฟ้าคะนองตกกันแบบไม่หยุดสักที ใจก็เริ่มตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะอยู่รอน้องที่บ้านเผื่อน้องจะมาไม่ถึง หรือจะอพยพทั้งยวดยาน ของมีค่าและครอบครัวหนีออกไปให้ไกลก่อนที่น้องน้ำจะมาถึง

และเมื่อชีวิตมีความไม่แน่นอน พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำก็อาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่รู้ตัว

เครดิตภาพ ดีปมายด์

ไม่ต้องดูไกลครับ ตัวผมเองนี่แหละ เพราะตอนปี 2554 พื้นบ้านก็จมไปอยู่หลายเดือนอยู่เหมือนกัน ปีนี้เลยต้องลุ้นดูว่าจะอยู่หรือจะโดน และถ้าถามว่าในหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา ผมเข้าไปจิ้มดูโพสต์รายงานเกาะติดสถานการณ์น้ำไปแล้วกี่รอบ บอกเลยว่านับสิบ

เรียกว่าว่างเมื่อไรเป็นส่อง บางทีไม่ว่างก็ส่อง ดูไปก็ลุ้นไป ยิ่งตอนฝนตกหนักยิ่งลุ้นระทึก บางทีถึงขนาดนั่งเสิร์ชดูภาพถ่ายดาวเทียมเพราะแอบอยากรู้ว่าน้องจะถล่มหนักแค่ไหน แล้วเมื่อไรน้องจะไปเสียที

ส่องไปส่องมาไปเจอคลิปร้านหมูกระทะโต้คลื่น กินไป เด้งไปตามจังหวะของลูกคลื่นที่หลั่งไหลเข้ามาปะทะลูกแล้วลูกเล่า คลิปนี้ดังเพราะมีคนดูไปแล้วกว่าล้านครั้ง

แอบตลก แต่ดูแล้วก็สะเทือนใจ เพราะพิกัดร้านก็อยู่ไม่ได้ไกล น้องจะเลยมาถึงเมื่อไรก็ยังไม่รู้ ดูเสร็จก็เลยต้องกลับมาส่องระดับน้องน้ำอีกที

ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวที่เป็นแบบนี้ จากการสำรวจของนักมานุษยวิทยาสังคม เคต ฟอกซ์ (Kate Fox) ผู้อำนวยการร่วมของสถาบันวิจัยประเด็นสังคม (Social Issues Research Centre) คลังสมองแบบไม่แสวงผลกำไรในเมืองออกซ์ฟอร์ด พบว่าภายในหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา หนึ่งในสามของผู้คนในสหราชอาณาจักรยอมรับว่าได้คุยเรื่องสภาพอากาศกับใครสักคน

และในหกชั่วโมงก่อนหน้านั้น ลมฟ้าอากาศคือหัวข้อสนทนาของประชากรยูเคเก้าในสิบ

ก็สภาพอากาศมันแปรปรวน แดดออกตอนนี้ อีกห้านาทีฝนพรำซะงั้น แถมการคุยกันเรื่องสภาพอากาศยังใช้ทลายน้ำแข็ง ตอนที่เริ่มคุยกันตอนพบกันได้อีก ก็ไม่แปลกที่ผู้คนในยูเคจะคุยกันเรื่องนี้บ่อย

และเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย การพยากรณ์อากาศที่มักบอกเป็นรายวันหรือรายครึ่งวันคงไม่พอ เพราะคนอยากรู้ให้ชัดกว่านี้ว่าที่นักอุตุนิยมวิทยาเอ่ยปากบอกว่าบ่ายฝนจะตก คำถามคือจะตกกี่โมง บ่ายโมง หรือสี่โมงเย็น

คีธ บราวนิ่ง (Keith Browning) นักอุตุนิยมวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษ บัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกการพยากรณ์ระยะสั้นไม่กี่ชั่วโมงนี้ ว่า “นาวคาสติ้ง (Nowcasting)” ซึ่งจะหมายถึงการพยากรณาสภาพอากาศตั้งแต่ 2-6 ชั่วโมงล่วงหน้า ไว้ตั้งแต่ปี 1981

ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะพกร่ม หรือจะแค่ใส่หมวกถ้าจะออกไปข้างนอกแล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากในแง่ของการออกแบบและปรับแผนการจราจรทางอากาศ ความปลอดภัยบนท้องถนน และระบบเตือนภัยน้ำท่วม

 

ดีปมายด์ (Deepmind) หลังจากที่ปราบแชมป์โลกเกมโกะ พิชิตทีมสตาร์คราฟต์ และคำนวณโครงสร้างสามมิติโปรตีน พวกเขาก็เริ่มสนใจที่จะพัฒนาเอไอนักอุตุนิยมวิทยาโดยมุ่งเน้นไปที่นาวคาสติ้ง

ที่จริง โปรเจ็กต์นี้ไม่ได้เพิ่งจะเริ่ม เพราะพวกดีปมายด์ได้ซุ่มสร้างความร่วมมือกับเม็ตออฟฟิศ (Met Office) องค์กรอุตุนิยมวิทยาหลักของสหราชอาณาจักรมาหลายปีแล้ว

ดีปมายด์ออกแบบเอไอ พัฒนาแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์ขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับปัญญาประดิษฐ์ เรียกว่า DGM (Deep generative model) ซึ่งจะใช้การคำนวณทางสถิติและหลักความน่าจะเป็นมาช่วย ทำให้แม้จะใช้ข้อมูลสอนเพียงแค่ไม่กี่ปี ก็สามารถสร้างเอไอที่ฉลาดและสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ

ส่วนเม็ตออฟฟิศให้เซ็ตข้อมูลภาพถ่ายเรดาร์เพื่อเอามาสอนเอไอ ซึ่งข้อมูลที่ใช้สอนก็เป็นสภาพอากาศของประเทศสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2016 ไปจนถึง 2018

และเพื่อทดสอบความแม่นยำและความพึงพอใจ ดีปมายด์จึงส่งเอไอของพวกเขาไปให้นักอุตุนิยมวิทยากว่า 50 คนช่วยลองทดสอบระบบเทียบกับระบบการพยากรณ์อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วดั้งเดิม อาทิ การคำนวณโดยใช้แบบจำลองอากาศเชิงตัวเลข (Ensemble numerical weather prediction; NWP) ที่เป็นวิธีการคลาสสิคโดยจะเน้นไปที่การใช้สมการทางฟิสิกส์มาอธิบายการเปลี่ยนปลงสภาพอากาศ ซึ่งบางทีก็ซับซ้อนและลุ่มลึกไม่พอ

ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาตามคาด เอไอดีปมายด์ชนะขาดแบบลอยลำทายถูกไปเกือบๆ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ แม้จะยังมีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง

แต่แค่นี้ก็ถือว่าเทพแล้ว

 

พวกเขาตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นนี้ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง “เนเจอร์ (Nature)”

หลังจากที่บทความอริจินอลในเนเจอร์ออก เอไอใหม่ของดีปมายด์ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์หรือแค่มีเอี่ยวกับวิทยาศาสตร์อยู่บ้างเกือบทุกหัว กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

แต่ไม่ใช่นักอุตุนิยมวิทยาทุกคนจะเห็นพ้อง

“ผมไม่เห็นเลยว่างานนี้จะปฏิรูปวงการอุตุนิยมวิทยาไปได้ยังไง” สำหรับปีเตอร์ คลาร์ก (Peter Clark) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (University of Reading) บอกงานนี้ยังไม่น่าตื่นเต้นขนาดนั้น

“มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่วิธีการนี้อาจจะให้ผลดีกว่าสักเล็กน้อย แม้ว่างานที่เสนอมานี้ดูจะคว้าชัยไปได้สวยงาม แต่จะถึงขั้นพลิกวงการหรือเปล่า? ก็คงไม่” เดวิด ชูลตซ์ (David Schultz) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) เสริม

สำหรับดีปมายด์ พวกเขายังไม่ยอมเปิดเผยว่ามีแผนอะไรใหม่ที่จะผลักดันต่อไป แต่จากประวัติและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารแล้วบอกได้เลยว่าต้องจับตามอง

ไม่แน่ว่าเทคโนโลยีฉลาดๆ แบบนี้อาจจะช่วยให้เรารอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ได้ก็เป็นได้

ส่วนในตอนนี้ ผมขอไปเช็กระดับน้ำต่อก่อนนะครับ