ทำไมต้องสวม ‘หมวกใบที่สอง’/บทความพิเศษ ชาคริต แก้วทันคำ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

ทำไมต้องสวม ‘หมวกใบที่สอง’

 

เรกับจีนขึ้นเหนือไปเที่ยวด้วยกัน จุดหมายอยู่ที่เชียงใหม่ นอกจากมาเที่ยว เรยังมาหาของแต่งคอนโดฯ ด้วย แต่แผนการเดินทางต้องเปลี่ยน เมื่อเพื่อนๆ ของจีนอยู่ที่ปาย เรไม่อยากเจอห้าหนุ่ม เพราะเธอจะกลายเป็นตัวเกะกะ เป็นหญิงสาวแปลกหน้า และส่วนเกิน แล้วเรก็ตัดสินใจโทร.หาธีร์ น้องชายที่เปิดร้านอยู่ที่นั่น คืนนั้นเรไปกินข้าว กินเหล้ากับธีร์ โดยที่จีนตามมาทีหลัง และก็ทิ้งเธอไปสนุกต่อกับเพื่อน เรจึงนอนในเกสต์เฮาส์ที่ไม่ได้ล็อกประตูเพียงลำพัง

เรื่องย่อข้างต้นแทบจะไม่มีอะไร หรือกระทั่งไม่น่าสนใจด้วยซ้ำ แต่ทุกการเดินทาง ไม่ควรที่จะมุ่งไปสู่จุดหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจไยดีเรื่องราวระหว่างทาง เรื่องสั้นนี้ก็เช่นกัน

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “หมวกใบที่สอง” ของอุรุดา โควินท์ ตีพิมพ์ใน “สมิงพระราหู รวมเรื่องสั้นสีชมพู” มีวุฒิชาติ ชุ่มสนิท เป็นบรรณาธิการ

โดยจะวิเคราะห์ตัวบทใน 3 ประเด็น ดังนี้

ผู้หญิงสมัยใหม่

กับการโต้กลับระบบชายเป็นใหญ่

เรกับจีนขับรถขึ้นเหนือไปเที่ยวด้วยกัน เริ่มต้นจากน่าน อ้อมไปเชียงราย และจะถึงเชียงใหม่ แต่แผนการต้องเปลี่ยนเมื่อเพื่อนๆ ของจีนอยู่ครบก๊วนที่ปาย ทำให้เรต้องแยกตัวออกมา นอกจากเธอจะไม่อยากเจอห้าหนุ่มแล้ว เรมักจะกลายเป็นตัวเกะกะ เป็นหญิงสาวแปลกหน้า และส่วนเกิน เพราะห้าหนุ่มยังไม่มีแฟน

พอเจอหน้าห้าหนุ่ม “พวกเขาเป็นคนหนุ่มที่น่าสนใจจริงๆ ทุกคนเปี่ยมพลัง มีเสน่ห์ มีรสนิยม และมันก็ดูสมบูรณ์แบบสุดๆ เมื่อจีนอยู่กับพวกเขา ชายหนุ่มดูดีหกคนในปาย ถ้าฉันเป็นหญิงสาวแปลกหน้า ฉันก็ต้องหันมอง ขึ้นอยู่กับว่า จะหยุดสายตาที่ใคร” (น.46-47)

ข้อความข้างต้น เป็นความคิดของเรที่สะท้อนออกมาหลังจากได้พบห้าหนุ่มเพื่อนของจีน เธอมองและประเมินพวกเขาด้วยสายตาชื่นชม ซึ่งอาจตีความได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้ชายจะมองผู้หญิงเป็นวัตถุแห่งความปรารถนาเพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ เรยังเคยบรรยายลักษณะของจีนไว้ว่า “ชายผู้นั่งจิบชาตรงหน้าฉันแสนเท่ ขี้เล่น และโรแมนติก” (น.43) จึงเป็นการโต้กลับระบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงสมัยใหม่ก็สามารถมองผู้ชายเป็นวัตถุแห่งความปรารถนาได้เช่นเดียวกัน

ขณะที่ห้าหนุ่มไม่มองเธอ เพราะเธออาจมีเจ้าของ เป็นแฟนของเพื่อน แต่ทุกสายตากลับมุ่งไปที่เกสต์เฮาส์อีกหลัง ที่มีสามสาวนั่งอ่านหนังสืออยู่ตรงระเบียง “พวกเธอก้มหน้าก้มตาอ่านเอาจริง อย่างกับว่าพวกเธอมาที่ปายเพื่ออ่านหนังสือ” (น.47)

ข้อความข้างต้นอธิบายได้ว่า นอกจากเรจะไม่เป็นจุดสนใจแล้ว มันทำให้เธอรู้สึกว่า “ตัวฉันมันเกะกะรกหูรกตา” ห้าหนุ่มกลับสนใจสามสาวที่เกสต์เฮ้าส์อีกหลังมากกว่า

พวกเขาจ้องมองพวกเธอ เพราะผู้หญิงถูกนิยามว่าเป็นวัตถุแห่งความปรารถนา หรือวัตถุทางเพศในระบบชายเป็นใหญ่

แต่ห้าหนุ่มก็ได้แต่มอง เมื่ออีกฝ่าย “ก้มหน้าก้มตา” ไม่สนใจพวกเขา แม้ก่อนหน้าเรจะบรรยายว่า “พวกเขาเป็นคนหนุ่มที่น่าสนใจจริงๆ ทุกคนมีพลัง มีเสน่ห์ มีรสนิยม… ถ้าฉันเป็นหญิงสาวแปลกหน้า ฉันก็ต้องหันมอง” ก็ตาม แต่พวกเธอกลับก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง

แสดงว่าทั้งสามคนไม่ได้วอกแวก ขัดเขินให้กับภาพลักษณ์ต่างๆ ของห้าหนุ่ม

พวกเธอเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่สนใจหนังสือหรือความรู้มากกว่าเรื่องมองผู้ชายนั่นเอง

ฉากสำคัญที่สามารถตีความว่าเป็นการโต้กลับระบบชายเป็นใหญ่คือ หลังจากเรไปกินข้าว กินเหล้ากับธีร์แล้ว จีนตามมาทีหลัง แล้วก็ทิ้งเธอไปเที่ยวต่อกับเพื่อน ปล่อยให้เรนอนเกสต์เฮาส์เพียงลำพัง ก่อนจะตามมาในตอนเช้า และพบว่าเรไม่ได้ล็อกห้อง เขาจึงรูดเสื้อเธอออก รูดซิปกางเกง ดึงมันลง ล้วงมือเย็นๆ ผ่านอันเดอร์แวร์ อยากจะมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่เรไม่ยอม

เรบอกเหตุผลกับจีนว่า “ยังไม่ได้อาบน้ำตั้งแต่เมื่อคืน” และเขาตอบกลับว่า “อย่าขัดใจผมเลยคนสวย” ก่อนที่เรจะลุกวิ่งเข้าห้องน้ำและอาเจียนทุกสิ่งทุกอย่างออกมา

ซึ่งอาจตีความได้ว่า การอาเจียนของเรเป็นอาการรังเกียจในสิ่งที่จีนทำกับเธอ

รวมทั้งคำพูดที่ว่า “ถ้ามีคนเข้ามาทำแบบนี้จะว่าไง” หลังเธอนอนเกสต์เฮาส์คนเดียวและไม่ได้ล็อกห้อง เรจึงสำรอกความคิดของผู้ชายที่มองผู้หญิงเป็นแค่วัตถุทางเพศออกมา

ซึ่งเป็นการโต้กลับระบบชายเป็นใหญ่วิธีหนึ่ง

เมื่อผู้หญิงไม่พร้อม ไม่ยอม หรือเลือกที่จะปฏิเสธขัดขืนผู้ชายได้

 

หมวกหมายถึงอะไร?

ทำไมต้องทิ้งหมวกใบแรก

เช้าวันที่ธีร์ขับจี๊ปมารับเรไปกินข้าวเที่ยง เธอไม่ยอมไปกับเพื่อนๆ ของจีน พอขึ้นรถ ธีร์ก็วางหมวกสานปีกกว้างบนหัวเร และเรยังใช้หมวกใบนั้นโบกให้จีนกับห้าหนุ่มด้วย

ในทางจิตวิเคราะห์ “หมวก” หมายถึงอวัยวะเพศชาย การที่ธีร์วางมันบนหัวเร เท่ากับแสดงความเป็นเจ้าของ อยากครอบครอง อยู่เหนือกว่า

พอเธอโบกมันให้กับจีนและห้าหนุ่ม ย่อมเป็นการโชว์ของใหม่ หรือตอบโต้ว่าเธอพร้อมจะไปกับผู้ชายคนใหม่

แต่ก่อนจะวางหมวกบนหัวเร ธีร์ขยำมันจนยู่ยี่แล้ววาง ด้วยเหตุผลว่า “มันถึงจะเท่”

การขยำหมวกเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกก่อนเรจะขึ้นรถจี๊ปไปกับเขา และครั้งหลังเมื่อเรคืนหมวกให้ แต่ธีร์บอกว่า “ผมให้พี่ครับ”

การขยำหมวกจึงหมายถึง การปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ แม้ธีร์จะทำได้แค่ “วาง” มันบนหัวเรเท่านั้น เพราะเขาไม่มีสิทธิที่จะ “สวม” มันให้เร ด้วยเหตุผลความเป็นพี่เป็นน้อง และเรมีจีนเป็นแฟนนั่นเอง

การที่เรตั้งใจจะสวมหมวกใบนั้นไปตลอดการเดินทางกลับกรุงเทพฯ แล้วค่อยเก็บมันไว้ในตู้เสื้อผ้า ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพี่-น้องอาจพัฒนาไปได้ไกลกว่านั้น และธีร์ก็คงต้องการเช่นนั้น หลัง “ขยำ” หมวกวางบนหัวเรถึงสองครั้ง เรจึงคิดจะซ่อนความสัมพันธ์นี้ไว้ในที่ลับแทน

แต่พอออกจากปายได้ไม่นาน เรก็ต้องทิ้งหมวกใบแรกนี้ไป หมวกชายผ้าสีขาว เพราะว่าเรคิดกับธีร์แค่พี่-น้อง ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แม้จะเสียดายความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กันแค่ไม่กี่วัน เมื่อเรหันไปมองหมวกกางปีกบิน ก่อนหยุดลงบนเส้นกลางถนน เท่ากับว่าความสัมพันธ์ในการเดินทางระหว่างเรกับจีนเที่ยวนี้เริ่มคลอนแคลน เมื่อมีธีร์อยู่กึ่งกลาง

“อย่างนี้ใช่มั้ย พอใจหรือยัง อย่างนี้น่ะ” (น.57)

บทสนทนาข้างต้น เป็นคำประชดของเรเพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ ซึ่งจริงๆ แล้วคงไม่มีแฟนหนุ่มคนไหนยอมให้แฟนสาวตัวเองสวมหมวกของชายอื่นหรอก เรจึงต้องทิ้งหมวกใบแรก ยังไงก็ต้องทิ้งเพื่อตัดปัญหา

อย่าลืมว่าตอนนี้เรยังร่วมเส้นทางและรักอยู่กับจีน

เหตุผลและการตัดสินใจสวมหมวกใบที่สอง

 

“เธอมองหากระจก เธออยากรู้ว่าดูเป็นอย่างไรเมื่อสวมหมวก บางครั้งมันก็เกะกะ ทำให้เธอหัวลีบ ผมหน้าม้าตกมาปิดตา เธอไม่ชินกับหมวก แต่เธอสวมมันตลอดทั้งวัน” (น.40)

ข้อความข้างต้น เป็นความรู้สึกหลังเรได้สวมหมวกใบแรก มันอาจดูย้อนแย้งตรงที่เธออาจยังไม่ชิน แต่ก็ชอบที่จะสวมมันทั้งวัน ซึ่งหมวกใบนี้ธีร์เป็นคนมอบให้ เป็นหมวกของผู้ชายคนใหม่ (เรย่อมไม่ชินเป็นธรรมดา) แต่การสวมมันทั้งวัน ย่อมแสดงถึงการยอมรับหมวกใบนั้น พอใจที่จะสวม ซึ่งนำไปสู่ตอนจบ เมื่อเธอตกลงใจสวมหมวกใบที่สองที่ธีร์ส่งมาให้ หลังจากต้องทิ้งใบแรกไประหว่างเดินทางกลับกรุงเทพฯ กับจีนในคราวนั้น

“เรดูแปลกไปน่ะ จริงๆ เพราะอะไรนะ”

“หมวก เรใส่หมวก”

“สวยมั้ย สวยเนอะหมวกใบนี้ สีอบอุ่นดี”

“เราไม่เคยเห็นเรใช้หมวก เราไปเที่ยวทะเลด้วยกัน เรยังไม่ใส่เลย”

“อือ แต่ใบนี้มีคนให้มา”

“ใครล่ะ”

“น้อง… น้องชายน่ะ เขาชื่อธีร์”

“ไม่ใช่น้องแล้วล่ะมั้ง เรใส่หมวกจนทำให้จอยจำไม่ได้เลย”

บทสนทนาข้างต้น เรใส่หมวกจนทำให้จอยจำไม่ได้ และจอยก็นึกสงสัย เพราะไม่เคยเห็นเรใส่หมวก แม้เรจะบอกว่าเป็นหมวกของน้องชายให้มา การที่เรบอกว่าเขาชื่อธีร์ มันมีความชัดเจนในน้ำเสียง รวมถึงการยืนยันตัวตนในความสัมพันธ์ครั้งใหม่ เพราะเขาและเธออยู่ไกลกัน (ปาย-กรุงเทพฯ) การที่ธีร์ส่งหมวกใบที่สองมาให้เรสวม ย่อมเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของอีกครั้ง และเรต้องสวมมันไว้ มันถึงทำให้จอยจำไม่ได้

และอีกประเด็นหนึ่งคือ “หมวก” กลายมาเป็นจุดสนใจ เพราะทำให้ “เรดูแปลกไป” นั่นเอง

ในนิทานเรื่อง “หนูน้อยหมวกแดง” ของแปร์โรต์ ที่มาของฉายาหนูน้อยเกิดจากยายทำหมวกให้หลาน และหมวกใบนี้มีสีแดง มันจึง “ดึงดูด” และระบุตัวตนของหนูน้อยให้เป็นจุดสนใจของคนทั่วไปและหมาป่า

ไม่ต่างจากหมวกที่เรสวม ที่นอกจากมันจะดึงดูดสายตาคนอื่นจน “เรแปลกไปน่ะ จริงๆ เพราะอะไรนะ” ยังสามารถตีความเป็นการ “อวด” ได้อีกด้วย อย่างที่เรถามจอยว่า “สวยมั้ย สวยเนอะหมวกใบนี้”

ดังนั้น เรจึงเลือกสวมหมวกใบที่สองของธีร์ เพราะ “สีมันอบอุ่นดี” อีกทั้งธีร์ยังเป็นผู้ชายน่ารักและให้เกียรติผู้หญิง

ต่างจากจีนที่ไม่สามารถทำให้เรเชื่อถือเขาได้เลย

บรรณานุกรม

พิริยะดิศ มานิตย์. (2559). ปมเอดิปัสในนิทานแปร์โรต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อุรุดา โควินท์. (2556). “หมวกใบที่สอง”. ใน สมิงพระราหู รวมเรื่องสั้นสีชมพู. กรุงเทพฯ : ไรท์เตอร์, 39-59.