นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ฐานทางความคิดของการเปลี่ยนแปลง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ฐานทางความคิดของการเปลี่ยนแปลง

 

ยุคใหม่ย่อมถือกำเนิด ได้รับการฟูมฟัก และเติบโตของยุคเก่าเสมอ ก่อนจะเติบกล้ากลายเป็นการเปลี่ยนยุคที่ทำให้ยุคเก่าถูกฝังลงใต้ดินตลอดไป

หลายคนคงลืมไปว่า มงเตสกิเออ, วอลแตร์ และรุสโซ ต่างเขียนและเผยแพร่งานชิ้นสำคัญของตนภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พัฒนาไปถึงจุดสุดยอดแล้วของฝรั่งเศส โดยเฉพาะในรัชสมัยอันยาวนานของหลุยส์ที่ 15

ผมระลึกถึงเรื่องนี้ เพราะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยนั้น แม้เกิดขึ้นและดูจะเปิดโอกาสให้ยุคใหม่เติบกล้าขึ้น แต่ในที่สุดก็วนกลับมาสู่ความสืบเนื่องของยุคเก่าอยู่นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มากพอจะรองรับยุคใหม่ทางการเมืองได้ และในทางตรงกันข้าม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกลับเสริมสร้างให้ยุคเก่าหรือระบอบเก่าสามารถปรับตัวได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

เช่น การปฏิวัติ 2475 เป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใหญ่มาก แต่ไม่ตามมาด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มากพอจะรองรับการเมืองใหม่ได้ในระยะยาว หลัง 2490 หรือหลัง 2500 การเมืองไทยก็หันกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่ชนชั้นนำซึ่งกว้างกว่าราชบัลลังก์เพียงฝ่ายเดียว ได้ถืออำนาจร่วมกันอย่างเหนียวแน่นสืบมา

ในทางตรงกันข้าม 2500 นำมาซึ่งนโยบายพัฒนาที่เปลี่ยนสังคมไทยไปอย่างมโหฬาร แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้กลับมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่มากนัก เช่น 14 ตุลา, พฤษภา 2535, รัฐธรรมนูญ 2540, ไทยรักไทย, ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ยั่งยืนสักครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผมและอีกหลายคนกำลัง “รู้สึก” ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดในเมืองไทยเวลานี้ จะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ อย่างน้อยก็เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิมรองรับ อันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ได้สั่งสมเงื่อนไขมานานและกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น คนชั้นกลางขยายจำนวนเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว แต่ไม่ใช่คนชั้นกลางที่อาจโผล่พ้นความอัตคัดขาดแคลนได้เต็มที่เหมือนเดิม หากเป็นคนชั้นกลางระดับล่างที่ไม่ได้มีวุฒิบัตรการศึกษาสูงนัก แต่เข้ามาผลิตและบริโภคในตลาดของคนชั้นกลางเต็มตัว ฯลฯ

และด้วยเหตุดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ จึงมีฐานทางปรัชญามากกว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงดังครั้งอื่นๆ

 

ที่ผมเรียกฐานทางปรัชญาอาจฟังดูยุ่งยากซับซ้อนเกินความเป็นจริง แต่ในที่นี้ ผมหมายความแต่เพียงความคิดทางการเมืองที่มากกว่าการขับไล่ผู้นำซึ่งตนไม่พอใจเท่านั้น หากมีจินตนาการถึงสังคมที่ดี หรือการเมืองที่ดี ว่าอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการจัดองค์กรทางสังคมและการเมืองอย่างไร

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ แม้ว่าส่วนใหญ่ของมวลชนอาจไม่มีจินตนาการเช่นนั้นชัดเจนนัก แต่จำนวนของคนที่มีจินตนาการดังกล่าวมีมากกว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย บางคนอาจเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว แต่อีกหลายคนเป็นแต่เพียงผู้สนับสนุน ทั้งในถนนและนอกถนน ส่งเสียงให้ได้ยินผ่านสื่อโซเชียลซึ่งทำให้ประชาชนมีเสียงดังอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ลองเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2475 แม้ว่าส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้นำอาจมีความคิดทางสังคมและการเมืองที่ชัดเจน แต่คณะราษฎรเองก็มีจำนวนของผู้เข้าร่วมน้อยมาก ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเพียงไม่พอใจต่อการบริหารงานของระบอบเก่าเท่านั้น ความพยายามของคณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วในอันที่จะเผยแพร่ความคิดทางสังคมและการเมืองให้กว้างขวางในหมู่ประชาชน คือการตั้งสมาคมคณะราษฎรไม่ประสบความสำเร็จ พระปกเกล้าฯ ทรงอ้างว่า จะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง

ปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ มีฐานความคิดทางสังคมและการเมืองที่กว้างไกลกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ผมขอพูดถึงปัจจัยเหล่านั้นเท่าที่ผมมองเห็น

 

ผมคิดว่า ในระยะ 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ความคิดตะวันตกไหลบ่าเข้าสู่สังคมไทยอย่างมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ผ่านงานแปลซึ่งมีตลาดกว้างขวางขึ้น

งานแปลจากภาษาตะวันตกเริ่มมีในเมืองไทยมาตั้งแต่ ร.4 (หรือบางคนอาจพูดไปถึงสมัยพระนารายณ์) แต่นับตั้งแต่เรามีตลาดหนังสือ ส่วนใหญ่ของงานแปลคืองานที่อาจ “จับ” ตลาดได้ เช่นนวนิยายดังๆ (หรือตลาดๆ)

ในช่วงทศวรรษ 2510 มีความพยายามของนักวิชาการไทยและการอุดหนุนของต่างชาติ ที่จะแปลงานวิชาการในภาษาต่างประเทศสู่ภาษาไทยบ้าง แต่ตลาดของหนังสือเหล่านี้ก็ยังแคบ เช่น ไม่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของบัญชีรายชื่อหนังสือที่ต้องอ่านในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัย

ตลาดหนังสือแปลขยายตัวขึ้นเมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา หนังสือเกี่ยวกับการบริหารองค์กรธุรกิจการค้าและประเภททำอะไรอย่างไร (How to) มีผู้แปลออกจำหน่ายมากขึ้น นวนิยายที่ได้รับการแปลเริ่มเปลี่ยนจากนิยายขายดี มาสู่งานที่เราอาจเรียกว่าคลาสสิคไปพร้อมกัน มาในระยะหลังๆ งานแปลหนังสือที่เกี่ยวกับการเมืองและสังคม ก็มีผู้แปลและพิมพ์ออกจำหน่าย เช่นหลายเล่มของ Jared Diamond

ในขณะเดียวกัน ความรู้ภาษาอังกฤษของคนไทยจำนวนมากก็ดีขึ้นด้วย เพราะอาจอ่านต้นฉบับได้เองด้วย

 

นอกจากงานแปลแล้ว ยังมีงานวิชาการที่อ้างถึงหรือนำคำอธิบายของนักคิดชาติตะวันตกมาบรรยาย หรือประยุกต์ใช้เพื่อศึกษากรณีของไทย ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งคุ้นเคยกับความคิดเช่นนั้น ยกตัวอย่างงานในกลุ่มนักคิดที่ถูกเรียกว่า “หลังสมัยใหม่” แม้ว่าถูกแปลเป็นไทยไม่มาก แต่ก็ถูกอ้างถึงหรือบรรยายถึงอย่างมากในวารสารวิชาการและงานวิชาการของไทย จนกระทั่งยากที่ใครจะพูดถึงอำนาจว่ามาจากธรรมะ, หน้าที่ทางสังคม หรือโครงสร้างทางสังคม โดยไม่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า อำนาจนั้นถูกสร้างขึ้นด้วย “ข้อสมมุติ” ซึ่งถูกทำให้ยอมรับอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าผู้สงสัยอาจไม่เคยอ่านงานของนักคิดกลุ่ม “หลังสมัยใหม่” เลยก็ตาม

หนังสือแปลที่ (ผม) คาดไม่ถึงเลยว่า จะมีตลาดกว้างขวางเช่นนี้คือสามัญสำนึกของโธมัส เพน ซึ่งนอกจากขายดิบขายดีแล้ว ยังถูกยกข้อความมาเขียนในป้ายประท้วงของผู้ชุมนุมอยู่บ่อยๆ ด้วย

ความคิดทางสังคมและการเมืองจากตะวันตกเช่นนี้ เสริมสร้างจินตนาการของผู้คนให้นึกถึงเมืองไทยในอีกลักษณะหนึ่ง ที่แตกต่างจากเมืองไทยที่พวกเขารู้จักคุ้นเคย การประท้วงของพวกเขาจึงไม่ใช่เพียงการขับไล่ผู้นำ (อย่างที่มักถูกเหยียดว่า “กบเลือกนาย”)

 

เรื่องที่ถูกท้าทายอย่างหนักอีกเรื่องหนึ่งคือประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับการกำเนิด “ชาติ” ทั้งหลายในโลก (ไม่ว่าจะเป็น “ราชาชาติ” หรือ “ประชาชาติ”) ไทยก็สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นเพื่อกล่อมเกลาและครอบงำพลเมืองเช่นเดียวกัน แต่ประวัติศาสตร์สำนวนนั้นกำลังสูญเสียความน่าเชื่อถือ สำหรับใช้อธิบายโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยไปเสียแล้ว ไม่ใช่เพราะมีการพบหลักฐานใหม่ที่หักล้างข้อสรุปเก่า (ซึ่งก็มีเหมือนกัน) แต่เพราะแนวทางการตีความแบบเดิมถูกตั้งข้อสงสัยว่า กระทำไปเพื่อรักษาอำนาจและเกียรติยศของคนบางกลุ่มในสังคมเป็นหลัก

การตีความที่ตั้งอยู่บนข้อสรุปบางอย่างไม่เป็นที่ยอมรับกันเสียแล้ว เช่น ประวัติศาสตร์ไทยในยุคล่าอาณานิคมเป็นข้อยกเว้นของเอเชีย เพราะไทยไม่เสียเอกราชให้แก่มหาอำนาจจักรวรรดินิยม โดยการยอมสูญเสียอธิปไตยทางดินแดนบางส่วนให้แก่เจ้าอาณานิคมรอบบ้าน ผู้ปกครองไทยเป็นข้อยกเว้น เพราะไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนกลุ่มของตนเองเลย มุ่งแต่จะสร้างคุณประโยชน์แก่ประชาชน ก็ถูกพิสูจน์ให้เห็นว่า แนวทางการตีความแบบอื่น เช่น ก็เหมือนผู้ปกครองรัฐอื่นและเหมือนนักการเมืองทั่วไป ทำให้เข้าใจนโยบายและการตัดสินใจของเขาได้กระจ่างแจ้งกว่า

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจด้วยว่า มุมมองต่อประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปไม่ได้มีผลกระทบในเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ดังได้กล่าวแล้วว่า ประวัติศาสตร์ตามสำนวนเดิมถูกแต่งขึ้น เพื่อจรรโลงอำนาจของสถาบันและองค์กรต่างๆ เหตุผลของการมีอยู่ (หรือที่เรียกว่า raison d’etre)ของสถาบันและองค์กรเหล่านั้นล้วนตั้งอยู่บนการตีความประวัติศาสตร์แห่งชาติแบบเดิม เมื่อเปลี่ยนมุมมองทางประวัติศาสตร์ เหตุผลของการมีอยู่ของสถาบันและองค์กรทางการเมืองและสังคมเหล่านั้น ก็เสื่อมความน่าเชื่อถือลงไปพร้อมกัน

ไม่ว่าจะดูจากกองทัพ, ศาสนาและองค์กรทางศาสนา (นับจากวัดขึ้นไปถึงมหาเถรสมาคม), สภาที่มาจากการแต่งตั้ง, การปกครองแบบรวมศูนย์ หรือแม้แต่ศิลปะ ซึ่งสร้างกันขึ้นเพื่อสดุดีสถาบันและองค์กรตามประเพณี และ ฯลฯ ก็จะเห็นความชอบธรรมที่ถูกสั่นคลอนได้ชัดเจน

ทัศนคติเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่ได้ผ่านการศึกษาระดับสูง แต่ขยายลงสู่มวลชนในวงกว้าง ผ่านเพลง, ละคร, ภาพยนตร์, การอภิปรายสาธารณะ และที่สำคัญคือสื่อโซเชียล

ในปัจจุบัน จึงมีคนไทยจำนวนมากทีเดียว (ไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือไม่) ที่รู้สึกแปลกแยกกับคำอธิบาย, ระบบเหตุผล หรือแม้แต่ค่านิยมที่มีมาตามประเพณี จะไปบอกใครว่า เป็นคนไทยต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงจะสมเป็นคนไทย มีคนที่ยอมรับและเชื่อถือน้อยลง ในขณะที่มีคนจำนวนมากพร้อมจะโต้แย้ง

 

ที่น่าตกใจยิ่งกว่าความเปลี่ยนแปลงก็คือ ยิ่งเปลี่ยนมาก หรือยิ่งมองเห็นความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร แทนที่ชนชั้นนำจะปรับตัวให้สอดรับกับความคิดใหม่ที่เกิดขึ้น พวกเขากลับหันหลังมุ่งหน้าไปสู่อะไรที่เก่าแก่โบราณมากยิ่งขึ้นไปอีก ปัญหาเกิดขึ้นเพราะสิ่งเก่าแก่โบราณเหล่านั้นสูญเสีย “ความศักดิ์สิทธิ์” ไปหมดแล้วต่างหาก การกลับไปหาความเก่าแก่โบราณจึงไม่ได้ทำให้อำนาจของพวกเขา “ศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นแม้แต่น้อย

นี่คือความเปลี่ยนแปลงของการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นนี้มาก่อนในเมืองไทย แม้เราเคยเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ มาแล้วตั้งแต่ 2475 ก็ตาม

ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ”คนรุ่นใหม่”ในเวลานี้ พวกเขาก็เหมือนเราทุกคน คือล้วนเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงชีวิตของตนทั้งนั้น จะก่นด่าประณาม “คนรุ่นใหม่” ด้วยค่านิยมไทยๆ สมัยก่อนอย่างไร พวกเขาก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างเดียวกับที่เราก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ปัญหาอยู่ที่ว่า เราทุกฝ่าย จะปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้อย่างไรต่างหาก