ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
ผู้เขียน | อภิญญา ตะวันออก |
เผยแพร่ |
อัญเจียแขฺมร์ / อภิญญา ตะวันออก
หลังม่านการเมือง
เรื่องรัก-ชาติตระกูลของจูล่ง สูมูรา
เธอคือ ท่านผู้หญิง/โลกจุมเตียวจูล่ง สูมูรา สัมรังสี หรือจูล่ง สูมูรา (Tioulong Saumura) ลูกสาวพลเอกและอดีตนายกรัฐมนตรีที่พ่วงด้วยตำแหน่งที่มีบรรดาศักดิ์ถึงชั้นสมเด็จและคณะที่ปรึกษาองค์พระมหากษัตริย์นโรดม สีหนุซึ่งยิ่งใหญ่กว่าทุกอย่างในสมัยสังคมราชานิยม
โดยตัวตนปัจจุบัน เธอยังเป็นภรรยานักการเมืองซึ่งได้ชื่อว่า หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในและความหวัง (อันเลือนราง) ของกัมพูชา
สูมูรา เกิดฤดูร้อนในปี ค.ศ.1950 แห่งตระกูลอดีตข้าราชการอินโดจีน-ยึ๊ก จูล่ง ซึ่งกลายเป็นนายทหารคู่พระทัยองค์นโรดม สีหนุ-ประมุขแห่งรัฐ มารดา-โลกจุมเตียวเมียะเกต สมภต
ประจักษ์ว่านี่คือเชื้อสายราชสกุล
เธอได้รับการศึกษาในต่างแดนตั้งแต่ยังแรกรุ่น ต่อมาบิดาลี้ภัยไปฝรั่งเศสขณะยังไม่บรรลุนิติภาวะจนสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตร์และการเงินจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ
เริ่มชีวิตงานตำแหน่งนักวิเคราะห์การเงินธนาคารดังฝรั่งเศสก่อนตัดสินใจลาออกเพื่อเล่นการเมืองพร้อมกับสามีในปี 1992 ขณะอายุได้ 42 ปี
พลันต้นทางแห่งความภาคภูมิใจในวงศ์ตระกูลการเมืองที่ตั้งรกรากในต่างแดนหลังปีรัฐประหาร 1970 เมื่อเทียบกับทายาทผู้ดีไฮโซยุค ’60 ทั่วไป ในรุ่นเดียวกัน ไม่มีเด็กสาวคนไหนเทียบได้กับสูมูรา ทั้งชาติตระกูล การศึกษา และความรักดี ซึ่งลูกหลานไฮโซเขมรส่วนใหญ่หาดิบดีไม่ได้ที่หนักไปในทางเพลย์บอย เนื่องจากค่านิยมเลี้ยงดูครอบครัวชนชั้นสูงเขมรเวลานั้น มักตามใจสปอยล์
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 1970 ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในครอบครัวชั้นนำบางตระกูลเมื่อใช้ชีวิตในต่างแดน

เล่ากันว่า ชีวิตในต่างแดนของสูมูรานอกจากพี่น้องในครอบครัวแล้ว เธอยังมีเพื่อนน้อยและน้อยลงไปอีกที่เป็นชาวกัมพูชา เพื่อนชายคนเดียวเสมือนเพื่อนในวัยเด็กที่ร่ำเรียนเสมอกัน เขาเป็นเด็กเนิร์ดเรียนเก่งและบ้าเรียนเหมือนกัน สูมูรามีนิสัยแข็งกร้าว ห้าวหาญเหมือนชายชาติทหารเช่นบิดา สำหรับจูล่งคนอื่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะจับดองแต่งงานกับทายาทตระกูลดัง
ในหมู่ชาวเอเชียอันน้อยนิด สูมูรากลับมีประวัติการศึกษาที่น่าทึ่ง เธอร่ำเรียนรัฐศาสตร์จากสถาบันรัฐศาสตร์การเมืองแห่งปารีส (1974) และเอ็มบีเอจาก INSEAD ซึ่งได้รับว่ามีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก (1980) และทำงานสถาบันการเงินและธนาคารชั้นนำในตำแหน่งระดับสูง
ความเป็นผู้คงต่อการเรียนนี้ ต่างจากวิถีขนบเดิมเขมรชนของยุค ’60 เวลานั้น จูล่ง สูมูรา จึงไม่ยึดถือจารีตนิยมในการสมรสแบบคลุมถุงชนรวมทั้งวิถีเสรีชนแบบตะวันตก ในความเป็นผู้คงแก่เรียนทำให้เธอบังเอิญพบกับเพื่อนชาวเขมรคนหนึ่งซึ่งแก่กว่าเธอ 1 ปีและเด็กเนิร์ดนั้นคือ สัม รังสี (Sam Rainsy)
ความสัมพันธ์ทั้งสองเสมือนเพื่อนร่วมสถาบัน ความจริงสัม รังสีไม่ควรพบกับจูล่ง สูมูราเลยด้วยซ้ำ ในประวัติชีวิตที่ต่างกันอย่างตรงข้าม
บิดาสัม รังสีคือสัม ซารี (Sam Sary) นักการเมืองดังกัมพูชายุค ’50 และเป็นบุคคลที่สาบสูญ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นซีไอเอและถูกอุ้มหายบริเวณป่ารอยต่อเมืองเสียมเรียบ
ลางที ขั้วตรงข้ามสัม ซารีมิใช่ใครอื่นแต่เป็นประมุขแห่งรัฐหรือองค์นโรดม สีหนุเวลานั้น ทรงจัดตั้งองค์กรตำรวจลับจำนวนมากเพื่อกำจัดศัตรูการเมือง
พลเอกยึ๊ก จูล่ง อาจทราบดีถึงชะตากรรมของสัม ซารี อุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้หญิงหม้ายลูกติดมาดามสัม ซารี ตัดสินใจอพยพไปฝรั่งเศส
นางเคยระแคะระคายเรื่องใดนี้หรือไม่?
แต่ในที่สุดเหมือนนิยายประโลมโลกย์ โชคชะตาก็ชักพาให้พวกเขามาพบกัน เมื่อบุตรชายสัม รังสีกลับตกหลุมรักกับลูกสาวของอริบิดาผู้ล่วงลับ และนั่นเท่ากับทำให้สัม รังสีมีฐานะของตัวแทนการเมืองแห่ง “ยุคมืด” ที่บิดาเป็นฝ่ายถูกกระทำ
ความจริงเรื่องราวบิดาของเขาไม่เคยหายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยที่ตราตรึงชาวเขมรตลอดมาเสมือนว่ามันคือความทรงจำร่วมของชาวกัมพูชายุค ’60 ที่เจ็บปวดเสมอมา
สำหรับยุคนักการเมืองหนุ่มที่ถูกกวาดล้างมากมายในยุคนั้น

ถึงวรรคนี้ บางที ฉันก็คิดว่า หรือสัม รังสีเองที่หมายปองและใฝ่ฝันและอยากกลับมาลบประวัติศาสตร์บางตอนของบิดาซึ่งได้ชื่อว่า “ทรยศ-ขายชาติ” จนทะเยอทะยานเอาตัวเองเข้าวงการนี้อีกครั้ง?
นี่หรือไม่ ที่ทำให้นายพลยึ๊ก จูล่งไม่ขวางทางรักทายาทคนนั้นของสัม ซารี ตรงข้ามเขายังให้ความสำคัญต่อเด็กหนุ่มคนนี้ ราวกับรู้ว่านี่คืออนาคตกาลแห่งความหวังทางการเมืองกว่าลูกเขยไฮโซคนอื่นๆ ที่เขาเคยหวัง
มันคือ ในการเลือกตั้งกัมพูชา 1993 ที่องค์เหนือหัวนโรดม สีหนุกลับมาสู่ความหวังของชาวฟุนซินเปกอีกครั้งด้วยการส่งทายาทของตนไปเป็นโควต้ารัฐบาลชั่วคราวเกือบราวสองปี (1992-1993) ซึ่งทั้งสัม รังสีและจูล่ง สูมูราได้รับความสนใจมากในฐานะนักการเมืองดาวรุ่งผู้มีอนาคตไกล
และโลกนี้ช่างกลมกระไร?
การแต่งงานของทั้งคู่ จึงเกิดขึ้นราวกับไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง แต่มิใช่เช่นนั้น ดูเหมือนคนที่ไม่อาจทิ้งชาติตระกูลการเมืองไว้หนหลังกลับเป็นสัม รังสีเสียด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยเขาก็มักจะเอ่ยถึงมันอย่างภาคภูมิ
อันตรงข้ามกับสูมูรา อ่า หรือว่า เธอไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อใดๆ กัน?

ดูภายนอก จูล่ง สูมูราช่างเถรตรง แข็งกร้าวและไม่เอาผู้คน เธอช่างตรงข้ามกับสัม รังสีที่อ่อนหวานและเข้าถึงได้ง่าย ในบางกรณี สายเลือดการเมืองระหว่างจูล่งกับซารีคู่นี้ จะเดินไปสู่หนใด? บางที พวกเขาดูเหมือนสามัญ แต่บางครั้งก็เข้าถึงยากโดยเฉพาะหลังจากการทำหน้าที่ทางการเมืองให้แก่วงศ์ตระกูลของตนและภรรยาและการพิทักษ์โควต้าการเมืองของสมเด็จยึ๊ก จูล่งได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ทางเปลี่ยนของ “สัม-จูล่ง” เกิดขึ้น 10 ปีหลังการเลือกตั้งครั้งแรก โดยเฉพาะหลังปีรัฐประหาร 1997 ที่ทำให้สูมูรา-รังสีเป็นที่สนใจของสาธารณชนมากกว่าหัวหน้าพรรคฟุนซินเปก-กรมพระนโรดม รณฤทธิ์เสียอีก
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรังสี-สูมูรากลับไม่สามารถกระโจนออกมาจากวังวนยุครุ่งรางของการเป็นรองผู้ว่าแบงก์ชาติในรัฐบาลชั่วคราวเพื่อการปรองดอง
ส่วนสัม รังสีก็เช่นกัน เขาเคยเป็นรัฐมนตรีการคลังทดลองในตำแหน่งนั้น แต่ล้มเหลวใน ครม.ที่เต็มไปด้วยการกระชับอำนาจระหว่างกรมพระรณฤทธิ์-ฮุน เซน ในการเป็นรัฐมนตรีแบบพหุพรรค

สัม รังสีกับจูล่ง สูมูราซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองดาวรุ่งจรัสแสง แต่ดูเหมือนจะอยู่เหนือการควบคุมของพรรคที่ได้รับความนิยมจากสื่อ แต่สำหรับพรรคแล้ว ทั้งสองถูกลอยแพและกดดันไม่ต่างจากการถูกอัปเปหิ แต่สัม รังสีและภรรยาอ้างว่าตนลาออก และตั้งพรรคใหม่ ชื่อว่า “พรรคชาติ” มีรูปชัยวรมันที่ 7 เป็นธงตราสัญลักษณ์
แต่ด้วยเหตุนี้หรือไม่ วันรัฐประหาร 1997 ขณะที่สมาชิกฟุนซินเปกจำนวนมากต้องสังเวยชีวิต แต่สัม รังสีกับจูล่ง สูมูรา ซึ่งอยู่ฝรั่งเศส มีเรื่องเล่าว่า ก่อนหน้า 3 เดือน คือวันที่ 30 มีนาคม 1997 ที่สัม รังสีกับผู้ชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภา (แห่งเก่า) นั้น ได้เกิดระเบิดกลางฝูงชน ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย สัม รังสีที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด แต่เขารอดชีวิตจากการปองร้าย
ถึงตอนนี้ สัม รังสีก็ขึ้นแท่นเป็นนักการเมืองของประชาชน และดูเหมือนว่า ความทะเยอทะยานทางการเมืองของเขาจะเปี่ยมล้น
แต่จูล่ง สูมูราเล่า? เธอผู้มีแสงในตัวเอง ที่เป็นที่กล่าวขานว่า สูมูรานั้น มีความกล้าหาญแถวหน้าคนหนึ่งในบรรดาดาวรุ่งพุ่งแรงฟุนซินเปกทั้งหมด
บัดนี้ 30 ปีแล้ว บนถนนการเมืองอันขรุขระของกรุงพนมเปญ
จูล่ง สูมูรา มีชีวิตอยู่ตรงไหน?