เครื่องเคียงข้างจอ : Blue Miracle / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

Blue Miracle

 

“Blue Miracle” เป็นชื่อหนังที่ผมได้มีโอกาสดูใน Netflix ไปไม่นานนี้

ถามว่าเป็นหนังประเภทไหน ก็ต้องบอกว่าเป็นหนังที่เหมาะสำหรับครอบครัว ประเภท feel good อย่างนั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องราวและการดำเนินเรื่องก็ไม่ได้แปลกใหม่ซับซ้อนอะไรมากมาย ซ้ำยังดำเนินไปตามสูตรของหนังแนวนี้ครบครัน คือ ปูพื้นฐานความสัมพันธ์ของตัวละคร มีปัญหาให้แก้ หาทางออกของปัญหาท่ามกลางความสัมพันธ์นั้น และแน่นอนที่จะจบลงอย่างมีความสุข

หนังก็ทำออกมาได้เบาสมองดี ไม่ดราม่าฟูมฟาย และมีความสนุกแทรกอยู่เป็นระยะ เรื่องราวแม้จะเดาทางได้ แต่ก็ไม่ได้น่าเบื่อ

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สนใจกดเข้าไปชม คือ “สร้างมาจากเรื่องจริง” ปกติหนังที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องจริง ชีวิตคนจริงๆ ต้องมีอะไรที่น่าสนใจ ไม่อย่างนั้นคนลงทุนสร้างคงไม่สนใจหยิบมาทำ

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโก นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ชวนให้ดู เพราะเราไม่ค่อยคุ้นเคยกับบรรยากาศชีวิตของเม็กซิโกมากนัก หากจะเทียบกับหนังที่มีเรื่องราวในอเมริกาหรือยุโรปที่นักดูหนังคุ้นชิน

ต้นเรื่องเกิดที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ชื่อ Casa Hogar ที่มีสองสามี-ภรรยาคือ “โอมาร์และรีเบ็กก้า” เป็นผู้ดูแลเด็กชายราวๆ สิบกว่าคน ที่อยู่ในวัยเด็กไปจนถึงก่อนวัยรุ่น โอมาร์นั้นเคยเป็นเด็กกำพร้าเร่ร่อนมาก่อน เขาจึงรู้ซึ้งถึงความเหงา โดดเดี่ยว สับสนของเด็กกลุ่มนี้ดี ภาพในวัยเด็กของเขาที่หลบฝนอย่างหนาวสั่นอยู่ใต้ท่อระบายน้ำของถนนมักตามมาหลอกหลอนยามหลับอยู่เสมอ

การที่เขาและภรรยาลุกขึ้นมาทำสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเร่ร่อนเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ และไม่ให้เป็นปัญหาของสังคมต่อไป แน่นอนที่การดำเนินการเช่นนี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเงินบริจาคจากเอกชนก็มีไม่มาก ธนาคารที่กู้ยืมเงินก็จะยึดสถานเลี้ยงเด็กนี้แล้ว เพราะผิดนัดชำระหนี้มาเกินกำหนด

นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนที่ทั้งโอมาร์และรีเบ็กก้าต่างตีบตันทางออก สิ่งเดียวที่เขามีคือ “ความหวัง” เป็นความหวังที่เขาเพียรพยายามบอกกับเด็กๆ ที่เขาดูแลว่า เราต้องมีความหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และเขาเองก็จำต้องเชื่อมั่นไปด้วย แม้ในใจจะแอบสิ้นหวังอยู่ก็ตาม

ในหนังให้ตัวละครเด็กน้อยที่ชื่อ “ทวิตตี้” เป็นตัวขับเน้นถึงความหวังนี้ โอมาร์ใช้กลอุบายหลอกเด็กว่า หากคิดหวังอะไรให้เขียนใส่กระดาษแล้วเอาตะปูวิเศษนี้ไปตอกติดไว้บนผนัง พระเจ้าจะรับรู้ได้ และจะประทานพรให้กับเรา

ทวิตตี้เชื่ออย่างนั้น และเมื่อเด็กน้อยได้ร่วมรู้เห็นถึงการแข่งขันตกปลาที่เป็นกิจกรรมประเพณีของเมืองนี้ที่จัดติดต่อกันมายาวนาน ที่ชื่อ “Bisbee’s Black & blue Tournament” ก็ฝันอยากเข้าร่วมด้วย เป็นความฝันเพื่อความตื่นเต้นในชีวิต

แต่สำหรับโอมาร์แล้วมันอาจจะเป็นทางออกของปัญหาก็ได้ เพราะหากใครชนะจะได้รับรางวัลกว่า 250,000 เหรียญ ซึ่งเพียงพอสำหรับการปลดหนี้ทีเดียว

แล้วสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอย่าง Casa Hogar จะไปร่วมแข่งขันตกปลาได้อย่างไร อย่าว่าแต่แข่งเลย แค่ในชีวิตประจำวันก็ไม่เคยตกปลา แม้หนังจะปูว่าในอดีตตอนเป็นเด็กโอมาร์เคยออกไปตกปลากับพ่อ และพ่อต้องจบชีวิตลงก็ตาม และนั่นเป็นปมในใจเขามาตลอด

โอกาสในการแข่งขันมาถึงแบบโชคจับยัดใส่มือเมื่อกัปตันเรือรุ่นเก่าวัยเก๋าที่ชื่อ “กัปตันเวด” แสดงโดย “เดนนิส เควด” ที่คนดูหนังคุ้นหน้าคนเดียวในหนังเรื่องนี้ และเคยเป็นแชมป์จากการแข่งขันนี้มาแล้วสองสมัยติดเมื่อ 10 กว่าปีก่อนสนใจลงแข่ง แต่ผู้จัดไม่สามารถให้แข่งได้ เพราะเปิดโอกาสให้เฉพาะคนที่มีพื้นเพภูมิลำเนาอยู่ในเมืองนี้เท่านั้น แม้เควดจะย้ายมาอยู่นับสิบปีแล้วก็ตาม แต่เขาก็เป็นคนต่างถิ่น

ผู้จัดใจดีที่รับทราบปัญหาของโอมาร์ จึงใส่ชื่อ Casa Hogar เป็นผู้สมัครแข่งขัน โดยให้เขาและเด็กๆ ลงเรือไปกับกัปตันเวด แม้เวดจะไม่เต็มใจ แต่เพื่อให้ได้มีโอกาสกลับมาแข่งขันเพื่อหวังจะคว้าชัยชนะให้ได้อีกครั้งก็ต้องจำยอม

กระดาษที่ทวิตตี้วาดและตอกตะปูติดนั้นคือ การเข้าแข่งขันรายการนี้ ซึ่งก็เป็นจริงขึ้นมาอย่างน่ามหัศจรรย์ นั่นคือ Miracle

แล้ว Blue ล่ะ?

 

Blue คือสีฟ้า สีที่แทนความหวัง เราจะได้เห็นสีฟ้าปรากฏอยู่ทั่วไปในหนังเรื่องนี้ อย่างน้อยก็เป็นสีของบ้านเด็กกำพร้าแห่งนี้ และแน่นอนเป็นสีของทะเล มหาสมุทร ที่เป็นหมุดหมายในการ ออกล่าความหวังทั้งของโอมาร์ และของกัปตันเวดนั่นเอง

จากนี้หนังก็จะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือในช่วงสามวันของการแข่งขัน พวกเขาอยู่บนเรือพร้อมลุ้นว่าจะต้องตกปลากระโทงสีน้ำเงินตัวใหญ่ให้ได้ ในขณะที่ความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละคนก็ได้พัฒนาขึ้นจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตามแบบฉบับหนังสไตล์นี้

Miracle ที่สร้างฝันให้เป็นจริง นั่นคือ การที่เรือเก่าๆ กับกัปตันแก่ๆ และเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งสามารถเอาชนะการแข่งขันได้ ปลากระโทงสีน้ำเงินที่พวกเขาตกได้ในวันสุดท้ายมีน้ำหนักมากกว่าทีมที่ตกได้ในวันแรก

เงินรางวัลก้อนใหญ่ตกเป็นของพวกเขา เป็นความสำเร็จจากการตามหาความหวังของโอมาร์และเด็กๆ ที่จะรักษาบ้านหลังนี้ไว้ให้ได้ และเป็นความสำเร็จของการตามหาความหวังในการย้อนกลับมาเป็นผู้ชนะของกัปตันเวดอีกครั้ง

และกัปตันก็ได้เรียนรู้จากการอยู่บนเรือสามวันกับเด็กๆ ว่า หมุดหมายที่แท้จริงของชีวิตเขาไม่ใช่การตกปลาที่ท้าทายคนอย่างเขา แต่เป็นลูกชายที่เขาละทิ้งมาที่รอเขาอยู่ที่ดัลลัสต่างหาก

ประโยคที่หนึ่งในเด็กกำพร้าพูดกับกัปตันเวด เมื่อรู้ว่าเขาทิ้งลูกของตัวเองมาเพื่อตกปลาว่า

“พ่อของผมอาจจะติดคุก เป็นขี้ยา ฆ่าคนตาย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าตัวเองโชคดีกว่าลูกของคุณ” ทำเอาเวดสะอึกได้เหมือนกัน และนั่นทำให้เขาได้คิด

อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง จึงขอเล่าถึง Casa Hogar สักหน่อย

Casa Hogar เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่อยู่ในเมือง Tijuana ประเทศเม็กซิโก เป็นที่พักที่ปลอดภัยมั่นคงสำหรับเด็กพลัดถิ่น เด็กกำพร้า และถูกทอดทิ้งที่มีอายุระหว่าง 3-18 ปี พวกเขาเริ่มต้นทำให้เกิดบ้านนี้ในปี 2545 โดยได้รับเชิญให้ช่วยดูแลเด็กชาย 18 คนที่อาศัยอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในบริเวณใกล้เคียงที่ปิดตัวลง

ชีวิตประจำวันที่ Casa Hogar มีการจัดระเบียบอย่างมากตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เด็กโตสอนให้เด็กเล็กพับเสื้อผ้า ทำงานบ้าน เตรียมตัวไปโรงเรียน และทำการบ้าน เด็กทุกคนมีโอกาสได้ไปโรงเรียนระหว่างสัปดาห์ และหลังเลิกเรียน เด็กทุกคนจะพากันนั่งที่โต๊ะยาวและทำการบ้านด้วยกัน

หลังจากการบ้านเสร็จ ก็เป็นเวลากินอาหารเย็นและเตรียมตัวเข้านอน เด็กๆ สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเพื่อทำการบ้านได้ แต่พวกเขาไม่ได้ดูทีวีเนื่องจากผู้ดูแลชอบที่จะให้เด็กๆ ใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ มากกว่า

หลังจากการชนะแข่งขันตกปลาครั้งนั้น ทำให้ผู้คนและสังคมรู้จัก Casa Hogar จนได้รับเงินบริจาคจากเอกชนอย่างต่อเนื่อง และเพียงพอที่จะปรับปรุงสถานที่และคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับเด็กๆ ต่อมาก็ได้ขยายให้มีที่พักเพิ่มขึ้นสำหรับเด็กหญิงที่กำพร้าอีกด้วย

ทั้งหมดนี้มาจากความหวังความตั้งใจของสองสามี-ภรรยาที่ต้องการช่วยเหลือเด็กๆ ที่น่าสงสาร และปรับแต่งพวกเขาให้เป็นคนดีของสังคมต่อไป อย่างน้อยเขาก็จะไม่โตมาเป็นภาระของตัวเองและผู้อื่น

นอกจากความอิ่มใจเล็กๆ เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้จบลง ยังได้ความรู้สึกที่ดีมีความหวังว่า เราทุกคนสามารถลุกขึ้นทำอะไรก็ได้ที่มีคุณค่ากับตนเองและผู้อื่น แม้มันจะน้อยนิดในวันนี้ แต่มันสามารถยิ่งใหญ่ได้ในวันหน้า

ขอแต่ให้เรามีความหวังเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความหวังสีอะไร สีแดง สีเหลือง สีฟ้า หรือจะหลากสีแบบสลิ่มก็ตาม

ลองคิดว่าเราหวังอะไร คืนนี้ให้วาดมันลงบนกระดาษแล้วตอกตะปูติดกับผนังดู เราอาจจะได้พบกับ Miracle ของเราก็ได้