หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ต้นเหตุ’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สิงโตทะเลทราย - สัตว์ผู้ล่าซึ่งอยู่ชั้นบนสุด ในหลายพื้นที่มีชีวิตที่ยากลำบาก บางแห่งพวกมันยังคงเป็นเป้าหมายของการล่า

 

 

‘ต้นเหตุ’

 

เมื่อมีคำถามว่า ผมคิดอย่างไรกับเรื่อง “การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6” ซึ่งชีวิตบนโลกกำลังเผชิญ

มีข้อมูลที่เราต่างรู้ดีว่า การสูญพันธุ์ครั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากคน น่าตกใจและใจหายไม่น้อย ที่ครั้งนี้มีอัตราการทำลายล้างสูงมากกว่าในอดีตถึง 10,000 เท่า

ชีวิตที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบมนุษย์ ในทุกมุมโลกถูกไล่ล่า พื้นที่อาศัยถูกทำลาย ปัญหามลพิษ รวมทั้งปัญหาโลกร้อน

ผมตอบสั้นๆ ตามความเชื่อเพียงว่า “เพราะชีวิตต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของมนุษย์ ไม่ได้ถูกคนมองด้วยสายตาอันผ่านหัวใจ”

ผมตอบสั้นๆ ด้วยความเชื่ออีกนั่นแหละ ว่า ในการมองหรือทำความรู้จักชีวิตต่างๆ จำเป็นต้องใช้สายตาและหัวใจร่วมกัน…

 

ชีวิตในป่า “สอน” ให้ผมมีความเชื่อนี้ “สอน” ด้วยการกระทำ ผมเห็นพวกมันชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อมองการกระทำต่างๆ ของพวกมัน ไม่ใช่แค่เพียงสัญชาตญาณ

เช่น พ่อ-แม่นก หรือสัตว์ ทำอาการแปลกๆ กระโดดขึ้น-ลง ส่งเสียง แม้แต่เข้าโจมตี ทำทุกวิถีทางให้สัตว์ผู้ล่า และคนสนใจ รวมทั้งตามมันไปให้ห่างจากตำแหน่งที่ลูกๆ อยู่ ไม่ผิดนักหากจะพูดว่านั่นคือยอมตายแทน

ในชุมชนนกปากห่าง รังนับร้อยรังมีลูกเล็ก แม่ยืนกางปีกให้ร่มเงา บังแสงแดดให้ลูก

ไม่ผิดถ้าเรียกว่ามันคือสัญชาตญาณ

แต่ผมเรียกสิ่งที่พวกมันทำว่า ความรัก…

 

สิ่งอันเป็นปัญหาหลักที่เหล่าสัตว์ป่าทั่วโลกกำลังเผชิญ แม้ว่าพวกมันจะอาศัยอยู่ในแหล่งอาศัยที่ได้รับการปกป้องดูแลในฐานะพื้นที่อนุรักษ์ก็ตาม เพราะพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ไม่ต่างจากเกาะในทะเล

พวกมันติดอยู่ในนั้น เส้นทางซึ่งเคยใช้เดินทางไปตามแหล่งอาหารตามฤดูกาลถูกตัดขาด

พวกมันหลายชนิดเลือกที่จะออกเดินทางตามความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมา ออกมานอกเกาะ

นั่นกลายเป็นปัญหาระหว่างพวกมันกับคน ซึ่งนับวันจะรุนแรง

 

ครั้งที่อยู่กับทีมนักวิจัย เพื่อตามเสือโคร่งครอบครัวหนึ่ง ทำให้ผมรู้จักเสือในอีกมุมหนึ่ง

นักวิจัยพบว่า เสือโคร่งที่พวกเขาติดตามอยู่นั่น มีจำนวน 5 ตัว นั่นคือ แม่เสือหนึ่งตัว และลูก 4 ตัว

นักวิจัยติดตามเสือครอบครัวนี้มาสองปีแล้ว ตั้งแต่พวกลูกเสือเกิดใหม่ๆ

โดยปกติ ลูกเสือจะอยู่กับแม่ราวๆ สองปี เรียนรู้วิถีต่างๆ และต้องแยกตัวออกไปใช้ชีวิตลำพัง มีช่วงเวลาหนึ่งที่ลูกเสือแยกตัวออกไป

“แต่ดูเหมือนตอนนี้พวกมันกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครับ” ผู้ช่วยนักวิจัยเล่าให้ฟัง

ผมร่วมติดตามเสือครอบครัวนี้กับพวกเขา

เราพบว่า พวกมันล่าเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกวางตัวผู้โตเต็มวัย สัปดาห์ละสองตัว มีวัวแดง และกระทิงบ้าง

“ช่วยกันล่าแบบนี้ ต่อให้เป็นกระทิงห้าวๆ ก็ไม่รอดหรอกครับ”

นักวิจัยให้ความเห็น

 

นักวิจัยรู้ตำแหน่งที่เสืออยู่จากพิกัดที่ส่งมาจากเครื่องส่งสัญญาณติดกับปลอกคอเสือ พวกมันไม่เคลื่อนที่ไปไหนสองสามวันเมื่อล่าเหยื่อได้ การเข้าไปตรวจสอบมักได้รับการต้อนรับด้วยเสียงคำรามก่อนมันจะเปิดโอกาสให้เข้าไป

แต่หลายครั้ง เสียงคำรามนั่นก็ทำให้รู้ว่าต้องรีบถอย กับสัตว์ป่า รักษาระยะและรับฟังการเตือนคือสิ่งจำเป็น

ลูกๆ แยกไปแล้ว สำหรับแม่เสือ การผสมครั้งใหม่จะเกิดขึ้น

พวกเขาพบร่องรอยเสือตัวผู้เข้ามาอยู่ร่วม แต่ไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงของการกลับมาอยู่ร่วมกันอีก

“แยกกันไปนานๆ พวกมันคงคิดถึงกันนะครับ แต่ไม่น่าจะมาอยู่ร่วมกันถาวรหรอก” นักวิจัยให้ความเห็น

อยู่ร่วมกันระยะเวลาหนึ่ง และต้องแยกย้ายไป

สัตว์บางชนิดก็ถูกกำหนดมาให้เป็นเช่นนี้…

 

เช้าวันหนึ่ง ทีมเข้าไปตรวจสอบกล้องดักถ่ายที่ติดตั้งไว้ใกล้ๆ ซากกวาง ภาพที่ได้คือเสือหนึ่งในสี่พี่น้อง เป็นตัวเมีย

วันนี้มันยอมถอยจากซาก เมื่อวานมันส่งเสียงคำรามที่เรารู้ดีว่าต้องถอย

ตัวหนึ่งขู่คำราม อีกตัวซุ่มอยู่ด้านหลัง

เครื่องรับสัญญาณดังชัดเจน ไม่ว่าจะหันไปทิศไหน

ผมยืนพิงต้นไม้ เสืออยู่ห่างออกไปราว 50 เมตร วันนี้ นี่เป็นระยะใกล้สุดที่พวกมันอนุญาต ใกล้ๆ ต้นไม้เป็นลำห้วยเล็กๆ น้ำไหลรินๆ มีรอยตีนเสือย่ำไป-มา

ด้านซ้ายมือเป็นพงหญ้าสูงมีรอยที่เสือนอน

ผมวางเป้กับโคนต้นไม้ เดินดูรอบๆ รอยตีนเสือชัดเจนบนพื้นแฉะๆ

ร่องรอยการมาอยู่ร่วมกันอีกของเสือครอบครัวนี้ปรากฏชัด

หลายเดือนแล้วที่นักวิจัยพบว่า พวกมันแยกย้ายกันไป

พวกเขาเชื่อว่า การกลับมาอยู่ร่วมกันนี้ จะเป็นแค่เวลาสั้นๆ

วิถีพวกมันถูกกำหนดมาแล้ว ต้องออกไปแสวงหาอาณาเขตของตัวเอง

แยกออกจากความอบอุ่น เพื่อไปใช้ชีวิตลำพังไม่ง่าย

แต่มันคือวิถีของเสือ

สำหรับผม เสือครอบครัวนี้ ทำให้ผมเห็นพวกมันในอีกมุมหนึ่ง ความคิดถึง ความอบอุ่นที่เคยมี ทำให้พวกมันกลับมาใช้เวลาร่วมกัน

ในความเป็นชีวิต คล้ายจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

 

ข้อมูลการสูญพันธุ์ ที่ชีวิตบนโลกนี้กำลังเผชิญนั้นน่าตกใจ

บางทีความเร็วของการสูญพันธุ์อาจชะลอลง หากเริ่มการแก้ไขที่ตัวเราเอง ที่ “ต้นเหตุ” ยอมรับอย่างจริงใจ

วันใดที่คนใช้ดวงตาร่วมกับหัวใจมองสัตว์ป่า

ภาพที่เห็นย่อมจะชัดเจน และเห็นอย่างที่พวกมันเป็น…