ห่วงให้ถูกจุด : คำ ผกา

คำ ผกา

มีนักข่าวต่างประเทศมาสัมภาษณ์เรื่องข้อห้ามและกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย

เขาอยากรู้ว่ามันมีมิติทางศีลธรรมอะไรที่ทำให้การออกกฎหมายหลายๆ อย่างเป็นเรื่องที่คนไทยรับได้

หนึ่งในคำถามของเขาคือ ประเทศไทยไม่ได้ใช้ข้อห้ามทางศาสนามาเป็นกฎหมาย แต่เหตุใดคนไทยจึงรับได้กับการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา

ถือว่าเป็นคำถามที่ตอบยากมาก ในท่ามกลางความลักลั่นเกี่ยวกับสุรายาเมาในสังคมไทย

ถ้าความจำเราไม่สั้นจนเกินไป เราก็คงรู้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดเวลาซื้อ-ขายแอลกอฮอล์เพิ่งมีขึ้นมาในเมืองไทยเมื่อปี 2551 และแก้ไขในปี 2558 นี้เอง (ความน่าขำที่เคยเกิดขึ้นแก่ตัวฉันคือ ฉันไม่สามารถซื้อสาเก และมิริน สำหรับทำอาหารได้ในเวลาห้ามจำหน่ายสุราด้วย เพราะพนักงานยืนยันว่ามันเข้าข่ายเป็นสุรา มิไยที่ฉันจะยืนยันว่า มันคือวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร จนถึงทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่ได้เช็กว่ามันเข้าข่ายสุราจริงหรือพนักงานนอยด์ไปเอง)

ข้อห้ามแบบนี้ปกติจะมีแต่ในประเทศที่เป็นรัฐศาสนาเท่านั้น

รัฐฆราวาสโดยทั่วไปจะไม่สามารถออกกฎหมายอะไรแบบนี้ได้ แต่ดูเหมือนว่าคนไทยไม่ได้เห็นความสำคัญของการเป็นรัฐฆราวาส

เผลอๆ อาจจะอยากให้ประเทศไทยเป็นรัฐศาสนาด้วยซ้ำ เพราะด้วยวิธีคิดแบบไทยๆ เราเชื่อว่า ศาสนาเท่ากับความดีอย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่มีศาสนาคือความเลวทรามอย่างไม่มีเงื่อนไข

แต่พอย้อนถามว่า ประเทศอย่างญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่ไม่มีศาสนา ทำไมคนไทยจึงเห่อ จึงชื่นชมนักหนาว่าเป็นประเทศสะอาดสะอ้าน ปลอดภัยน่าอยู่

เจอถามอะไรแบบนี้เข้าไป คนไทยก็เริ่มทำหน้างงๆ

การจัดวางเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ในฐานะภัยทางศีลธรรมน่าจะเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ในสังคมไทย

และเท่าที่นักเรียนประวัติศาสตร์อย่างฉันเรียนประวัติศาสตร์ไทยมาก็ไม่เคยได้ยินเรื่องงดเหล้าเข้าพรรษา

จำได้แต่ว่า เหล้าคือสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในทุกเทศกาลงานบุญของคนไทย

จนอยากจะสันนิษฐานว่า งดเหล้าเข้าพรรษาก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมทางศีลธรรมที่เพิ่งอุบัติขึ้นของสังคมไทย ก่อนจะตามมาด้วยวาทกรรม “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง”

ความน่าฉงนยิ่งสำหรับคนชั่วศีลธรรมต่ำอย่างฉันคือ ทำไมคนไทยไม่ฉุกคิดบ้างว่า ประเทศที่เจริญรุ่งเรืองร่ำรวย มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เกือบทุกประเทศในโลกนี้ ไม่มีประเทศไหนมีข้อห้ามเรื่องขาย เรื่องผลิต เรื่องดื่มเหล้า

ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน ผลิตไวน์มาเป็นร้อยๆ ปี ถือเป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล มีมูลค่าทางวัฒนธรรมอย่างประเมินมาเป็นตัวเงินไม่ได้

การทำเบียร์ของเบลเยียมเป็นมรดกโลกที่ยูเนสโก้ยกย่อง

วิสกี้ของสก๊อตก็เป็นวัฒนธรรม เป็นอัตลักษณ์ของชาติอันน่าภาคภูมิใจ

ว้อดก้าของรัสเซีย

สาเกของญี่ปุ่นนั้นนับวันยิ่งจะซับซ้อนละเมียดละไม จนยกระดับเป็นงานศิลปะชั้นสูงไปแล้ว ไม่นับมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล

ประเทศเหล่านี้มีสุรายาเมาเหล้าเบียร์ขายทุกหนทุกแห่งทุกเวลา ขายในมหาวิทยาลัยก็ขาย การนั่งคาเฟ่ในมหาวิทยาลัยแล้วสั่งไวน์มาดื่มกับอาหาร แก้วหรือสองแก้ว เป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างที่สุด

สิ่งที่ฉันสงสัยคือ คนไทยที่สนับสนุนการออกกฎหมายห้ามนู่นนี่นั่น เกี่ยวกับเหล้ากับเบียร์ ไม่ฉุกใจคิดบ้างเหรอว่า เออ ประเทศอื่นที่เขาซื้อ ขาย ผลิต เหล้า เบียร์ กันอย่างปกติสุข ก็ไม่เห็นเขาล่มสลาย ตกต่ำ ไม่พัฒนา มีแต่เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศบ้าศีลธรรมอย่างไทยเราเสียอีกที่ถอยหลังเป็นสาละวันเตี้ยลงทุกวี่ทุกวัน

ฉันคิดว่าฉันเกือบได้คำตอบจากการดูสารคดีข่าวเกี่ยวกับประเทศอัฟกานิสถาน มีตอนหนึ่งที่นักข่าวถามคนท้องถิ่นคนหนึ่งว่า เขาเอาเหล้ามาจากไหน ในเมื่อประเทศนี้ห้ามบริโภค ห้ามจำหน่ายสุราอย่างเด็ดขาด คนท้องถิ่นตอบว่า “ไม่ยากหรอกถ้าคุณมีเงินและมีเส้น”

ข้อห้ามการบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่มบางอย่างในบางสังคม อาจใช้ศีลธรรมมาเป็นข้ออ้างบังหน้าเท่านั้น แต่ถึงที่สุดแล้วข้อห้ามเหล่านี้มีไว้เพื่อให้เกิดการสำแดง “อำนาจ”

เช่น ถ้าคุณเป็นตาสีตาสา คุณก็ซื้อเหล้านอกเวลาที่กำหนดไม่ได้ แต่ถ้าคุณเป็น “คนใหญ่คนโต” ข้อห้ามต่างๆ ก็ล้วนเป็นข้อยกเว้นสำหรับคุณ

ดังนั้น ในบางสังคม ความสามารถในการอยู่เหนือกฎหมาย เป็นการแสดงออกซึ่ง “สถานะทางสังคม” อย่างหนึ่ง เช่น ในสังคมไทย ถ้าคุณสามารถซื้อไวน์หนีภาษี หรือมีคนนำไวน์หนีมาภาษีมากำนัลคุณครั้งละมากๆ นั่นแปลว่าคุณคือคนสำคัญ การพูดว่าตัวเองสามารถเข้าถึงเหล้า เบียร์ ไวน์ แพงๆ ที่หนีภาษี จึงเป็นการประกาศกลายๆ ว่า “ให้มันรู้ซะมั่งว่ากูเป็นใคร”

เพราะฉะนั้น กฎหมายในบางประเทศหรือบางสังคมไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องพลเมืองมิให้ถูกละเมิด

แต่เป็นเครื่องมือไว้แบ่งประเภทคนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ กับกลุ่มคนไร้อภิสิทธิ์

คนที่มีอภิสิทธิ์คือคนที่ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎหมาย หรืออยู่เหนือกฎหมายนั่นเอง

และนั่น เราจึงได้ยินเรื่องการเบ่งกินฟรี การพยายามจะใช้อภิสิทธิ์อะไรสักเล็กน้อยก็ยังดีของคนที่คิดว่าตัวเองน่าจะมีเส้นกับเขาบ้าง

ความลักลั่นเกี่ยวกับสุรายาเมาในสังคมไทยยังไม่จบแค่นั้น

ในบรรดาคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีออกแคมเปญ จน เครียด กินเหล้า หรือพยายามออกมาบอกว่า เหล้าทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ผัวตบเมีย ตีลูก ครอบครัวแตกแยก เหล้าทำลายสุขภาพ เหล้าทำลายศีลธรรม เหล้าทำลายเยาวชน คนเหล่านี้ชี้นิ้วไปที่คนจนผู้บริโภคสุราราคาถูกคุณภาพต่ำ

แต่คนเหล่านี้แหละที่พร้อมจะพินอบพิเทาคนมีอำนาจที่ดื่มไวน์ขวดละหลายแสนหลายหมื่นบาท

เผลอๆ ไอ้คนที่คิดคำโฆษณาด่าคนจนก็ดื่มเหล้าแพงๆ ด้วยเหมือนกัน

หนักกว่านั้น ฉันไม่เคยเห็นคนเหล่านี้ออกมาโจมตีต่อต้านเศรษฐีที่ผูกขาดการผลิตเหล้าเบียร์ขายในเมืองไทยจนร่ำรวยเลย

นอกจากไม่โจมตีต่อต้านก็เคารพนับถือด้วยซ้ำไปกระมัง

สุดท้ายก็มีแต่คนจน กรรมกร เยาวชน เด็กแว้น ที่ถูกประณามเรื่องดื่มเหล้า แต่คนผลิตเหล้าคุณภาพต่ำมาทำลายสุขภาพของคนไทยกลับไม่เคยถูกประณาม ไม่เคยถูกตั้งคำถาม และในบรรดาคนคลั่งศีลธรรม คุณงามความดีทั้งหลาย ไม่เคยเอาไม้บรรทัดทางศีลธรรมไปวัดคนเหล่านั้นบ้างเลยหรือว่า การทำธุรกิจผูกขาด การผลิตสินค้าคุณภาพต่ำทำลายสุขภาพของคน มันเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งคุณธรรม ศีลธรรมอย่างไรบ้าง?

เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องการบริโภคเหล้า เบียร์ ในสังคม ไม่ใช่เรื่องความเลวร้ายของเหล้าและเบียร์ด้วยตัวของมันเอง แต่เป็นเรื่องของการไร้ซึ่งเหล้า เบียร์ ไวน์ คุณภาพดี สำหรับผู้บริโภคต่างหากเล่า

เหล้า เบียร์ ไวน์ คุณภาพดีมาจากไหน?

สิ่งเหล่านี้ไม่อาจสร้างขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน

เหล้า เบียร์ ไวน์ ที่ดีเริ่มจากวัตถุดิบที่ดี ข้าวที่ดี ดอกฮอบส์ที่ดี ข้าวสาลีที่ดี ข้าวบาร์เลย์ที่ดี น้ำที่ดี องุ่นที่ดี อากาศที่ดี การศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีในการหมักบ่ม การพัฒนายีสต์

ภูมิปัญญาของการทำสุราทุกประเภทจึงต้องการการสั่งสมมานับร้อยปี และการส่งต่อภูมิปัญญานั้น การพัฒนาต่อ วิสกี้ที่ดีต้องการหมักบ่มอย่างน้อย 8 ปี จะให้ดีที่สุดก็ต้อง 20 เพราะฉะนั้น กว่าแต่ละสังคมจะเรียนรู้ ตกผลึก ได้ลองผิดลองถูกว่าจะทำวิสกี้ดีๆ ออกมาได้ ย่อมใช้เวลาในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 50 ปี

แหล่งน้ำล่ะ? สังคมที่รักในสุราย่อมรักและหวงแหนแหล่งน้ำธรรมชาติอันเป็นวัตถุดิบสำคัญ สังคมที่ทำเหล้าได้ดี จึงเป็นสังคมที่หวงแหนทรัพยากรป่า น้ำ อากาศยิ่งนัก ไม่ต้องพูดถึงการขัดเกลาความละเอียดลออในวิถีการผลิตของมัน

โอ้ แล้วสังคมไทยล่ะ?

สังคมไทยที่โอ้อวดว่าตนเป็นเมืองพุทธ เกลียดอบายมุข เกลียดเหล้ายาปลาปิ้ง กลับเป็นสังคมที่หยาบช้าต่อวัฒนธรรมการดื่มกิน ไม่เคยเห็นคุณค่าของสายน้ำ อากาศ แสงแดด

ไม่เคยล่วงรู้ว่าพันธุ์ข้าวในบ้านเมืองตัวเองมีกี่พันธุ์ พันธุ์ไหนเหมาะสำหรับทำเหล้าแบบไหน น้ำแม่น้ำไหน มีรสชาติอย่างไร สายน้ำแร่มีกี่สาย แต่ละสายให้แร่ธาตุแตกต่างกันอย่างไร

สังคมนี้เป็นสังคมที่คนส่วนหนึ่งแยกระหว่างเหล้ากลั่นกับเหล้าหมักไม่ออกเสียด้วยซ้ำ แต่ยินดีไปกินไปดื่มตามที่กระแสสังคมจะเห่อจะนำพาไปโดยไม่ต้องมีความรู้ มีแต่เงินกับความขี้อวดเป็นเจ้าเรือน เห็นคนเขาเห่อวิสกี้ยามาซากิก็เห่อตาม เห็นเขาเห่อบรั่นดีก็เห่อตาม เห็นเขาเห่อสาเกก็เห่อตาม

หรือจะมีจำพวกที่อาการหนักกว่านั้นคือ เชื่อว่าเหล้าทุกประเภทคือปิศาจ แล้วเที่ยวคุยโวไปทั่วว่า ผม/ดิฉันไม่ดื่มเหล้าค่ะ แล้วทำหน้าภูมิใจ หารู้ไม่ว่าในสายตาชาวโลกที่มีอารยธรรม เขาจะมองว่าคุณเป็นพวกบาบาริก ไร้วัฒนธรรม ไร้การบ่มเพาะทางรสนิยม

น่าเวทนาเสียนี่กระไร

ฉันไม่ได้กำลังจะบอกว่าพวกเรามาดื่มเหล้าให้เมากันเถอะ – ไม่ใช่

แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับสังคมไทยคือความมักง่ายทางปัญญาที่เห็นโลกนี้มีเพียงสองสีคือสีขาวกับสีดำ มีคนเลวกับคนดี กินเหล้าเลว ไม่กินเหล้าดี คนชอบทำบุญคือคนดี คนไม่เข้าวัดคือคนเลว – เนี่ยะ คนไทยที่ฉันรู้จักเขาคิดอะไรกันเรียบง่ายแบบนี้จริงๆ (พวกเขาถึงได้เชื่อว่า ไม่ต้องมีประชาธิปไตย แค่เอาคนดีมาบริหารบ้านเมืองก็จบ)

เมื่อมีความง่ายทางปัญญาแบบนี้ เราจึงไม่เคยคิดเห็นว่าเหล้ามีความซับซ้อน เหล้าคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหาร เหล้ามีพิธีรีตองในการดื่ม เหล้าคือศิลปะ

เพียงเราจะบ่มเพาะหรืออย่างน้อยๆ คืนมิติทางวัฒนธรรมอาหาร และการถนอมอาหารให้แก่เหล้า คนก็จะดื่มเหล้าอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ดื่มอย่างเคารพในศิลปะแห่งการผลิตเหล้า ดื่มพร้อมกับนั่งพูดคุยว่า เหล้าขวดนี้ผลิตโดยมาสเตอร์ชื่ออะไร ข้าวพันธุ์ไหน ปลูกที่ไหน ปีที่เก็บเกี่ยวฝนมากหรือน้ำน้อย ใช้น้ำจากอะไร เลี้ยงยีสต์ด้วยเทคนิคไหน ผสมเกสรดอกไม้อะไร

ขัดเกลาการดื่มเหล้าให้มีสุนทรียะเยี่ยงนี้สิ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เจริญด้วยปัญญามิใช่ผู้ที่ง่ายทางปัญญา

ขัดเกลาเยาวชนของเราให้เคารพในวิถีและศิลปะของการหมักบ่มสุรา เพื่อเขาจะดื่มอย่างเคารพในศิลปะนั้น และเคารพตัวเอง

สอนให้เขารู้ว่าสุราเป็นยา เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร มิใช่เครื่องดื่มที่ดื่มเพื่อย้อมใจไปทำชั่ว ทว่า เป็นสุนทรียะแห่งชีวิตและไม่พึงดื่มอย่างตะกละตะกลาม

ถ้าเราไม่ใช่ผู้มีความง่ายทางปัญญา เราต้องตั้งคำถามต่อการผูกขาดการผลิตสุรา และเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์อาหารของเราได้พัฒนาเทคโนโลยี อีกทั้งศิลปะแห่งการบ่ม หมัก กลั่น เครื่องดื่ม

และอย่าลืมว่าเครื่องดื่มเหล่านี้ เริ่มต้นตั้งแต่ไซเดอร์ น้ำส้ม เหล้าสำหรับทำอาหาร ไปจนถึงการเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เต็มรูปแบบ คืนศักยภาพ การหมัก บ่ม กลั่น เหล่านี้ แก่ชาวบ้าน แก่คนตัวเล็กตัวน้อย ให้เขาได้พัฒนาธุรกิจการทำไวน์นานาชนิดจากผลไม้พื้นบ้าน ที่มีอยู่ดาษดื่นในเมืองไทย

สับปะรดราคาตกเหรอ ก็เอามาทำไวน์ ทำน้ำส้ม ทำเครื่องดื่ม หมักดองต่างๆ ขาย

แต่น่าเสียดาย ที่เราละทิ้งมิติทางยา อาหาร วัฒนธรรม ในสุราของเราไปจนหมดสิ้น

ที่น่าสมเพชคือคนไทยก็หัวอ่อนพอที่จะยอมเป็นพวกบาบาริก ที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมการดื่มใดๆ ด้วยเขาล้างสมองมาว่ามันชั่วๆๆ

เมื่อไม่ได้รับการสอนหรือขัดเกลาให้ดื่มอย่างมีอารยะ จึงมีคนที่กินเหล้าจนทำลายสุขภาพเพราะกินไม่เป็น (หรือเข้าถึงได้แต่เหล้าคุณภาพต่ำเพราะเป็นคนจน) กับคนที่เห็นเหล้าเป็นภูตผีปิศาจ

แทนการพยายามเอาเหล้าออกไปจากสังคม เราต้องสอน ฝึกฝน ขัดเกลาให้คนดื่มเหล้าอย่างละเมียดละไมต่างหาก

เพราะทุกคนก็รู้ว่า ต่อให้ออกกฎหมายห้ามดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด ก็มีคนพยายามหามาดื่มอยู่ดี และยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อภิสิทธิ์ ได้คอร์รัปชั่น ได้กินสินบน

และบรรดาคนที่กังวลเรื่องความดีความชั่วศีลธรรม – สิ่งที่พวกท่านควรกังวล มิใช่เหล้า ในฐานะศัตรูทางศีลธรรม

แต่คือการที่ประเทศนี้มีคนไม่กี่คนร่ำรวยจากการผูกขาดการผลิตเหล้าไร้คุณภาพ ทำลายสุขภาพของผู้บริโภค ทำลายจิตวิญญาณ ทำลายสติสัมปชัญญะของผู้บริโภคที่ยากจนต่างหาก

ถ้าท่านจะมีความห่วงใยอย่างแท้จริง ก็ช่วยห่วงให้ถูกจุดด้วย