ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 ตุลาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
วัลยา วิวัฒน์ศร
เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (3)
จากตึกอุบัติเหตุชั้น 4 ไปตึกสมเด็จย่า
วันที่ 4 กรกฎาคม คุณหมอมาบอกว่า หมอจะลดค่าออกซิเจนเครื่องช่วยหายใจหนึ่งระดับเพราะอาการดีขึ้นแล้ว
ดิฉันก็ตอบว่า ค่ะ แต่นึกอยู่ในใจว่า เราจะเป็นอย่างไร
คุณหมอจัดการลด ดิฉันรู้สึกได้เลยว่าออกซิเจนน้อยลง แต่ก็ยังหายใจปกติ
วันรุ่งขึ้นคุณหมอลดอีกครั้ง ให้หยุดยาฟาวิพิราเวียร์ พอถึงวันที่ 6 ตอนบ่ายสามก็ให้ถอดออกแล้วใส่สายออกซิเจนทางจมูก (cannula) แทน
ดิฉันหายใจปกติ ค่าออกซิเจนที่เครื่องวัดขึ้นถึง 100 เมื่อดิฉันนอนคว่ำ
ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ วัดความดัน วัดไข้วันละ 3 เวลา เอ็กซเรย์ปอด เจาะเลือดหลอดใหญ่ ฉีดยาบำรุงปอด ฉีดยาละลายลิ่มเลือด กินยาฆ่าเชื้อแทนการรับทางสายน้ำเกลือ ไม่เจาะเลือดดูค่าเบาหวานและไม่มียารักษาเบาหวานอีก
หลังจากเซ็นยืนยันว่าไม่ใส่ท่อช่วยหายใจให้สามีวันที่ 8 กรกฎาคม ในบ่ายวันนั้นดิฉันก็ย้ายไปตึกสมเด็จย่า ดิฉันยังใส่สายให้ออกซิเจนทางจมูกอยู่ รถนอนที่มาเข็นดิฉันไปมีกระปุกออกซิเจนมาด้วย
เมื่อเขาเข็นรถจะผ่านประตูออกไป ดิฉันพยายามมองหาสามีแต่ก็ไม่เห็นเพราะเขาอยู่ลึกเข้าไป
เขาเองก็คงไม่รู้ว่าดิฉันย้ายตึก คุณหมอบอกก่อนหน้านี้ว่าอาการทางสมองมีมากขึ้น ไม่ค่อยรับรู้คำถาม โต้ตอบไม่ได้…
ที่ตึกสมเด็จย่า เมื่อไปถึงมีเจ้าหน้าที่ในชุดพีพีอีกดลิฟต์ลงมารับ ห้องที่ดิฉันไปพักรักษาตัวต่ออยู่ชั้น 6 ห้อง 623 จำได้ว่าจากลิฟต์กว่าจะถึงห้องนี้ เจ้าหน้าที่ต้องผลักประตูกระจกให้รถนอนผ่านไม่รู้กี่บานต่อกี่บาน เข้าใจว่าประตูกั้นแบ่งช่วงห้องพักประมาณช่วงละ 3 ถึง 4 ห้อง
เมื่อถึงห้อง 623 มีพยาบาลมา 2 คน จัดการให้ดิฉันขึ้นพักบนเตียงพยาบาล ดูแลเรื่องสายออกซิเจน อธิบายว่าดิฉันจะต้องทำอะไรบ้าง อย่างไรในห้องนี้
มี 2 เตียงในห้อง อีกเตียงเป็นเตียงธรรมดาสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องใส่สายออกซิเจนแล้ว กล่าวคือ อาการดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง ดิฉันจึงมีรูมเมต
ผู้ป่วยจะต้องวัดความดัน วัดไข้ และวัดออกซิเจนปลายนิ้ววันละ 2 รอบ เช้า-เย็น ถ่ายรูปส่งไปทางไลน์ให้เจ้าหน้าที่ ระบุชื่อ เลขห้อง อีกทั้งระบุว่าปัสสาวะและอุจจาระกี่ครั้งตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น และ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า จะมีเสียงตามสายมาเตือนทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น
เจ้าหน้าที่จะเอาอาหารและน้ำวางไว้บนเก้าอี้หน้าห้อง ผู้ป่วยออกไปหยิบเข้ามาเอง ทุกเช้านำถุงขยะใส่กล่องอาหารที่รับประทานแล้ว ผูกมัดให้เรียบร้อย และถุงเสื้อผ้าใช้แล้วไปวางหน้าห้อง
ทั้งหมดนี้รูมเมตของดิฉันจัดการให้ทั้งหมด เพราะดิฉันยังไม่มีแรงเดินได้หลายก้าว ยังถือของขณะเดินไม่ได้
พยาบาลมาจัดการเลื่อนเตียงของดิฉันให้ใกล้ประตูห้องน้ำ จะได้เดินเพียง 4 ก้าวถึง
สองวันแรกพยาบาลมาประกบพาเข้าห้องน้ำและนั่งคอยให้ดิฉันทำธุระ แล้วพากลับมา ในช่วงเวลานั้นต้องถอดสายให้ออกซิเจนทางจมูกออกจึงต้องระวังตัวไม่ให้ล้ม
ต่อมารูมเมตเป็นผู้พาดิฉันเข้าห้องน้ำอยู่อีก 2 วัน หลังจากนั้นดิฉันก็ลงจากเตียงเอง ดูว่าออกซิเจนปลายนิ้วถึง 95 จึงจะลง ค่อยๆ เกาะเคาน์เตอร์เดินไป เมื่อกลับมาก็รีบใส่สายให้ออกซิเจนทันที แล้วลงนอนตะแคง สักครู่ก็หายเหนื่อย
สำหรับการรักษาพยาบาล กินยาฆ่าเชื้อ ฉีดยาละลายลิ่มเลือดทุกวันเหมือนเดิม เอ็กซเรย์ปอดอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ทำ RT-PCR เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ได้ค่า E gene (Ct) 29.31 (-) Rd RP gene (Ct) 35.09 (-) และ N gene (Ct) 32.18 (-)
พยาบาลนำแผ่นค่ามาให้ บอกว่าหนูก็อธิบายไม่ถูก รู้แต่ว่าตัวเลขนี้ดี น้อยกว่านี้ไม่ดี มากกว่านี้เยอะๆ ก็ไม่จำเป็น
ดิฉันมาเรียนรู้ภายหลังเรื่อง RT-PCR (Real Time – Polymerase Chain Reaction) ว่าเป็นการหาปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัส โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะตั้งค่าไม่เท่ากัน บางแห่ง 30 รอบ (cycle) บางแห่ง 35 รอบ การเจอเชื้อที่รอบมากแสดงว่าเชื้อน้อย ติดเชื้อมาหลายวัน ใกล้จะหายแล้ว
น่าเสียดายว่าค่าตัวแรก (E gene) ของดิฉันขาดเพียงนิดเดียวก็ถึง 30 รอบ เครื่องหมายลบ (-) แสดงว่าเป็นซากเชื้อ
เรื่องรันทดเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ย้ายมาตึกสมเด็จย่าเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม คุณหมอโทร.มาบอกตอน 4 ทุ่ม 11 นาทีว่าความดันของสามีดิฉันเริ่มลดลงเหลือ 80-40 และคุณหมอจะฉีดยานอนหลับ
เวลาผ่านไปยาวนานสำหรับดิฉันตลอดทั้งวันที่ 9
เช้าตรู่วันที่ 10 น้องสาวซึ่งทราบข่าวจากคุณหมอคืนวันที่ 9 โทร.มาบอกดิฉันว่า คุณหมอโทร.มาบอกตั้งแต่เมื่อกลางดึกว่าสามีดิฉันจากไปเมื่อเวลาห้าทุ่มห้าสิบนาทีและขอให้เป็นผู้แจ้งดิฉัน
รูมเมตที่น่ารักย้ายไปพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลสนาม ทบ.1 (เกียกกาย) ซึ่งเดิมเป็นเรือนรับรอง
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พยาบาลมาแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าผู้ป่วยจะต้องใส่เสื้อผ้าของตนเอง ไม่มีชุดของโรงพยาบาลอีกแล้ว รูมเมตมีเสื้อผ้าติดตัวมาจึงไม่มีปัญหา ดิฉันไม่มีเพราะอยู่ในกระเป๋าใต้เตียงของสามีซึ่งเขาใส่ถุงสีส้มเป็นขยะติดเชื้อไปแล้ว จึงติดต่อน้องสาวให้จัดการซื้อหาและส่งมาให้ก่อนวันที่ดิฉันจะต้องย้ายไปเช่นกัน
ดิฉันอยู่คนเดียวจนถึงวันที่ 12 เจ้าหน้าที่นำอาหารและน้ำมาส่งให้ถึงโต๊ะข้างเตียง พยาบาลมาจัดการวางถุงสีส้มเปิดปากไว้สำหรับใส่กล่องอาหารรับประทานแล้วชิดเตียงเพื่อสะดวกในการทิ้ง แล้วมาผูกปากถุงนำออกไปให้
ดิฉันยังกินยาแก้แพ้ พยาบาลยังฉีดยาละลายลิ่มเลือด วันที่ 12 กรกฎาคม ตอนบ่ายพยาบาลเข้ามาลดออกซิเจนครั้งแรก วันที่ 14 ลดอีกครั้ง วันที่ 15 มาถอดสายออกซิเจนออก วางเครื่องกดปุ่มเรียกพยาบาลไว้ใกล้มือดิฉัน กำชับว่าถ้าคุณป้าหายใจไม่สะดวกกดเรียกพยาบาลทันทีนะคะ
ดิฉันหายใจเองได้ค่ะ
รูมเมตคนแรกอายุประมาณ 50 ปี รูมเมตคนที่สองอายุประมาณ 30 ปี ย้ายมาจากอีกห้องหนึ่งที่ชั้น 6 นี้ เธอไม่พูดไม่จา ดิฉันได้ยินจากที่เธอพูดโทรศัพท์จึงรู้ว่าเธอเป็นห่วงลูกซึ่งติดโควิดและรักษาตัวอยู่เช่นกัน แม้จะไม่พูดอะไรเลยก็ช่วยเหลือดิฉันเช่นเดียวกับรูมเมตคนแรก
ที่ดิฉันเป็นหนัก ร่างกายอ่อนแอฟื้นตัวช้าคงเป็นเพราะอายุมาก
รูมเมตคนที่สองอยู่เพียง 2 วันก็ย้ายออกไปที่เกียกกายเช่นกัน
รูมเมตคนที่สาม อายุประมาณ 50 ปี ไม่ถนัดใช้มือถือ ไม่รู้ว่าจะวัดความดัน วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว และวัดไข้อย่างไร ดิฉันจึงได้ช่วยเหลือรูมเมตเป็นครั้งแรก เธอตั้งใจจดจำวิธีการมาก ทำเองได้ในวันรุ่งขึ้น ยกเว้นการถ่ายรูปลงมือถือแล้วส่งไปยังไลน์ของเจ้าหน้าที่
รูมเมตคนนี้อยู่เพียง 2 วันก็ได้ย้ายไปอยู่ห้องเดียวกับญาติที่ชั้นเดียวกันนี้ เธอดีใจมาก
พยาบาลให้ดิฉันเปลี่ยนเตียง จากเตียงพยาบาลเป็นเตียงธรรมดาซึ่งรูมเมตสามคนแรกเคยอยู่ ผู้ป่วยที่เข้ามาใหม่เป็นหญิงสูงอายุกว่าดิฉัน ใส่สายออกซิเจนช่วยหายใจ มีปัญหาในการขับถ่าย พยาบาลต้องเข้ามาช่วยหลายครั้ง ดิฉันได้ช่วยเธอบ้างด้วยการให้ทิชชู่เช็ดปากไปหนึ่งห่อ และอธิบายความต้องการของเธอแก่พยาบาล
คุณหมอติดต่อมาล่วงหน้าหนึ่งวันว่าจะให้ดิฉันไปพักฟื้นต่อที่เกียกกาย
จากตึกสมเด็จย่า ร.พ.พระมงกุฎเกล้า
ไป ร.พ.สนาม ทบ.ที่เกียกกาย
วันที่ 17 กรกฎาคม ช่วงต้นบ่าย พยาบาลมาพาดิฉันย้าย
ดิฉันมีข้าวของ 3 ถุง ซึ่ง 2 ถุงมีน้ำหนักมากสำหรับดิฉันที่ร่างกายยังอ่อนแอ (ยังไม่มีกำลังข้อมือเปิดขวดน้ำเองเลยค่ะ)
ดิฉันยกผ้าอ้อมและกางเกงผ้าอ้อมให้โรงพยาบาลไป 5 ห่อ (มีเยอะเพราะตอนหลังไปห้องน้ำเองได้)
เอาติดตัวไป 1 ห่อครึ่งด้วยจำเป็นต้องใช้แทนชั้นใน
ทารุณกรรม
เผอิญวันที่จะย้าย ค่าออกซิเจนปลายนิ้วไม่ดีนัก กล่าวคือ วัดได้ 94/102 ตัวแรกน่าจะเกิน 95 ตัวหลังต่ำกว่า 100 น้องพยาบาล 2 คนช่วยถือของให้ ดิฉันค่อยๆ เดินตามไปผ่านประตูกระจกหลายช่วงแล้วมาหยุดรอผู้ป่วยที่อีกห้องหนึ่งซึ่งยังไม่พร้อม ดิฉันยืนนานไม่ไหว พยาบาลรีบวิ่งไปหาเก้าอี้มาให้นั่งรอ
ในที่สุดก็ได้ลงลิฟต์ไปชั้นล่าง รถพยาบาลที่รออยู่มีผู้ป่วยนั่งอยู่แล้ว 3 คน ทั้งหมด 5 คนก็ออกเดินทาง
เมื่อมาถึงโรงพยาบาลสนามที่เกียกกาย เรายังต้องรอในรถ เพราะผู้ป่วยคนสุดท้ายของรถคันก่อนหน้ามีปัญหาในการเคลื่อนไหว ยังเข้าไปในตึกไม่ได้
ในที่สุดพยาบาลผู้จัดการการเข้าตึกก็เรียกชื่อดิฉันเป็นคนแรก
ดิฉันค่อยๆ ลงจากรถโดยมีผู้ป่วยอีกคนหยิบของทั้ง 3 ถุงวางลงบนพื้นให้
ดิฉันรู้สึกเหนื่อยมาก พยาบาลพูดผ่านโทรโข่งให้ดิฉันเดินมา ดิฉันถือถุงใส่หมอนซึ่งน้องสาวส่งมาให้ตอนที่ดิฉันยังไม่ได้หมอนแบนรองนอนคว่ำ ถุงนี้เบาที่สุด
ดิฉันค่อยๆ เดินเกาะเชือกที่ขึงเสาสเตนเลสซึ่งตั้งไว้ห่างๆ มาจนถึงลานเข้าตึก วางถุงแล้วก็ค่อยๆ เดินกลับไป
ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ซึ่งมากับพนักงานขับรถจะช่วยถืออีก 2 ถุงให้เพราะค่อนข้างหนัก แต่พยาบาลห้ามแตะต้อง
ดิฉันมองดูทหารซึ่งอยู่ในเครื่องแบบลำลองและยืนดูอยู่ห่างๆ 3-4 คน ก็มีเสียงตะโกนบอกมาว่า ช่วยไม่ได้ครับ โควิดนะครับ
ดิฉันลากถุงใบที่สองค่อยๆ เดินเกาะเชือกมา กลับไปลากใบที่สาม แล้วนั่งพักบนเก้าอี้ริมลาน
พยาบาลจึงเรียกผู้ป่วยลงมาทีละคน ที่ริมลานแขวนบัตรผู้ป่วยไว้ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องหยิบบัตรของตนติดตัวไป บัตรนั้นระบุเลข HN ชื่อ เลขห้องพัก เลขเตียง เพศ อายุ และเบอร์โทรศัพท์
เมื่อผู้ป่วยทั้ง 4 คนเข้าตึกขึ้นลิฟต์ไปแล้ว พยาบาลก็บอกให้ดิฉันไปหยิบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วบนเก้าอี้ฝั่งตรงข้าม แล้วให้ลงนั่งวัด แต่ดิฉันสังเกตเห็นทันว่าเก้าอี้ขาเก นั่งลงไปเก้าอี้คงหัก จึงบอกพยาบาล แล้วเดินกลับมานั่งที่เดิม ค่าออกซิเจนปลายนิ้ววัดได้ 90 91 92 สลับไปมา ขณะนั้นรถลำเลียงผู้ป่วยอีกคันก็เข้ามาจอด เสียงพยาบาลสั่งให้ทุกคนรออยู่ในรถก่อน
สักครู่มีสาวน้อยน่ารักเดินออกมาจากตึก พยาบาลโยนซองพลาสติกให้เธอ ในนั้นมีเสื้อคลุมพลาสติกคล้ายเสื้อกันฝน เธอสวมใส่ หยิบบัตรของดิฉันมาส่งให้ ยกถุงของดิฉันซึ่งดูเหมือนเบาหวิวในมือของเธอเดินนำเข้าตึก ดิฉันค่อยๆ เดินถือถุงหมอนตามไป ถ้าดิฉันยังไม่ได้เข้าตึก ผู้ป่วยในรถคันที่รออยู่ก็จะยังลงมาไม่ได้ พยาบาลเห็นท่าดิฉันไปเองไม่ได้แน่ๆ จึงติดต่อให้มีผู้มาช่วยขนของ
เราขึ้นลิฟต์ไปยังชั้น 4 ดิฉันอยู่ห้อง 401 ซึ่งอยู่ไกลจากลิฟต์ ในห้องมีผู้ป่วยพักฟื้นอยู่คนหนึ่งแล้ว อายุประมาณ 30 ต้นๆ เธอเป็นรูมเมตที่น่ารักอีกคนหนึ่ง
เนื่องจากอาคารนี้เป็นเรือนรับรอง ห้องจึงกว้างขวาง มีเตียง 2 เตียง มีระเบียงซึ่งในช่วงนี้ล็อกตายเปิดไม่ได้ มีตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ 2 ตัว ทีวี ห้องน้ำอย่างดีเหมือนในโรงแรมหลายดาว
สิ่งแรกที่ดิฉันทำคือลงนอนตะแคงบนเตียง 401/2 ของตน เพื่อพักเหนื่อย