ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
อะไรๆ ก็ ‘จ้าน’
นิยม คือ ชอบ ที่ชอบเพราะรู้สึกดี อะไรที่มีและเป็นที่ยอมรับหรือใช้กันทั่วไปแสดงว่ายังอยู่ในความนิยม ตรงกันข้ามอะไรที่เคยมีเคยใช้แล้วไม่ใช้อีกต่อไป นั่นคือ เลิกใช้ เลิกนิยม ถ้อยคำสำนวนล้วนขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้คนและความนิยมของยุคสมัย
ทุกครั้งที่อ่านวรรณคดีสมัยรัชกาลที่สองและสาม คำที่เห็นอยู่ตรงนั้นตรงนี้เป็นระยะๆ ก็คือ ‘จ้าน’ ทำหน้าที่ขยายคำอื่นๆ ให้มีความหมายว่า มาก ยิ่ง นัก คำอื่นๆ ในที่นี้มีตั้งแต่คำแสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่น ตกใจ แค้น และคร้าม ไปจนถึงคำบอกลักษณะและสภาพ เช่น สนุก ขัน ดี อัปรีย์ จองหอง ฯลฯ
ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” นางศรีประจันตื่นตระหนกที่เห็นสามีมีอากัปกิริยาผิดแผกไปจากเดิม
“ด้วยปีศาจมันเข้าประจำตัว ให้อยากหมูเนื้อวัวอั่วพล่า
ยัดคำโตโตโม้เต็มประดา แลบลิ้นปลิ้นตาเจียนบรรลัย
นางศรีประจันตกใจจ้าน ไปนิมนต์สมภารหาทันไม่
พันศรโยธาก็สิ้นใจ บ่าวข้าร้องไห้อยู่อึงคะนึง”
หรือตอนขุนแผนบุกบ้านนางศรีประจันเพื่อเล่นงานขุนช้างที่ใช้เล่ห์กลจนได้เข้าหอกับนางวันทอง (เมียขุนแผน) ขุนแผนเอะอะเอ็ดตะโรเป็นการใหญ่
“ไหนอ้ายขุนช้างมันอยู่ไหน มุดหัวอยู่ไยออกมานี่
ถ้าฮึกฮักเจรจาจะฆ่าตี ถ้าดีก็จะคิดว่ามิตรกัน”
ทำเอานางศรีประจันและนางเทพทองแตกตื่นตะโกนเรียกขุนช้างจ้าละหวั่นเสียงดังลั่น
“อ้ายชาติชั่วหัวควั่นจนท้ายทอย
ร้องเรียกเท่าไรก็ไม่ขาน กูแค้นจ้านตลอดจนคอหอย”
เช่นเดียวกับตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างพานางวันทองหนีก็เร่งนางยิกๆ ให้รีบหยิบข้าวของ นางไม่อยากไปแต่จำใจไปจึงขุ่นเคืองนัก
“สะบัดหน้าลุกมาด้วยขัดใจ ไปเถิดเร็วเร็วจะวิ่งตาม”
ขุนแผนแกล้งประชดนางว่า
“น้องเอ๋ยพี่ไม่เคยพื้นกระดาน คร้ามจ้านระวังตัวด้วยกลัวหนาม
จะจูงมือรื้อรุดสะดุดชาม กระเบื้องจะปามเข้าหนาอย่าวิ่งเลย”
คำว่า ‘ตกใจจ้าน’ ‘แค้นจ้าน’ และ ‘คร้ามจ้าน’ คือ ตกใจอย่างยิ่ง เจ็บใจมากและกลัวเหลือเกิน
บทละครนอกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ก็ใช้คำว่า ‘จ้าน’ เช่นกัน อย่างเรื่อง “ไชยเชษฐ์” ตอนท้าวสิงหลด่าพระไชยเชษฐ์ลูกเขยที่ขับไล่ลูกสาวขณะกำลังท้องแก่ให้ออกจากเมืองเพราะหลงเชื่อคำใส่ร้าย
“ทำเล่นแต่ตามอำเภอจ้า เหมือนลูกเต้าพ่อแม่หามีไม่
เสียแรงเราออกปากฝากฝังไว้ จะโกรธขึ้งถึงกระไรก็นานนาน
อยู่ด้วยกันก้นหม้อไม่ทันดำ หรือมาทำเฉินฉุกสนุกจ้าน
จะใคร่ถองสองศอกให้ออกคลาน จะว่าขานอย่างไรก็ว่ามา”
น่าสังเกตว่า ‘ขันจ้าน’ ที่หมายถึง น่าหัวเราะนัก น่าขบขันยิ่งนัก พบบ่อยๆ ในเรื่อง “สังข์ทอง” ดังตอนที่นางรจนาเย้าเจ้าเงาะว่า
“น้อยหรือนั่นน่ารักอยู่อักโข หูหนาตาโตเท่าไข่ห่าน
รูปร่างช่างกระไรเหมือนยักษ์มาร ล่ำสันขันจ้านสักเท่าพ้อม”
หรือตอนเจ้าเงาะเล่าให้นางรจนาฟังอย่างครึกครื้นว่าหกเขยหลงกลยอมแลกปลายจมูกกับปลาไม่กี่ตัว ก็ใช้คำนี้
“เจ้าเงาะแถลงเล่าเยาวมาลย์ วันนี้ขันจ้านไปหาปลา
พี่ถอดรูปเงาะออกซ่อนไว้ ทำเป็นพระไพรพฤกษา
ร่ายมนต์มหาจินดา เรียกมัจฉามาสิ้นทุกตำบล
อ้ายหกเขยเคอะกระเจอะกระเจิง เที่ยวเซอะเซิงหาปลาก็ขัดสน
ไปประสบพบพี่ที่ฝั่งชล ทั้งหกคนกราบกรานขอทานปลา
พี่แลกเปลี่ยนเจียนปลายจมูกมัน แหว่งวิ่นสิ้นทั้งนั้นขันหนักหนา”
นางรจนาได้ทีจึงเหน็บแนมพี่สาวทั้งหกที่ขับไล่ไสส่งนางกับเจ้าเงาะว่าเป็นเพราะ
“โกรธหรือว่าดูจมูกแหว่ง
แต่เห็นเขาหัวร่อก็ระแวง ออกสกัดสแกงแกล้งพาโล
ผัวพี่ไปหาปลากับบ่าวไพร่ น้อยฤๅช่างได้มาอักโข
ผัวข้าหาปลาประสาโซ แต่จมูกไม่โหว่เหมือนผู้ดี”
เมื่อน้องสาวเยาะเย้ย พี่ๆ ก็เฉยไม่ได้
“ลุกขึ้นเดินตามมาด่าอึง ทำไมมึงจึงหัวเราะเยาะกู
เท็จจริงอย่างไรนั่นขันจ้าน ใครปิดปากไว้วานอย่านิ่งอยู่
จองหองพองขนเป็นพ้นรู้ ลบหลู่ดูหมิ่นถิ่นแคลน”
คําว่า ‘จ้าน’ ยังมีในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอนที่กุมารน้อยสุดสาครเล่าให้พระโยคีฟังว่าม้ามังกรเก่งกาจนัก “ข้าเข้าจับกลับขบต้องรบกัน แต่กลางวันจนเดี๋ยวนี้ฉันหนีมา” พระโยคีรู้ดีว่า “ม้านี้มันมีฤทธิ์ จำจะคิดจับไว้ให้พระหลาน ได้ตามติดบิตุรงค์พบวงศ์วาน” จึงบอกกุมารว่า
“ม้าตัวนี้ดีจ้านเจียวหลานเอ๋ย เป็นกะเทยเขี้ยวเพชรไม่เข็ดขาม
จับไว้ขี่มีสง่ากล้าสงคราม จะได้ตามบิตุเรศไปเขตคัน
แล้วบอกมนต์กลเล่ห์กระเท่ห์ให้ จะจับได้ด้วยพระเวทวิเศษขยัน”
ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” มีสารพัด ‘จ้าน’ ไม่ว่าจะ ‘ตกใจจ้าน แค้นจ้าน คร้ามจ้าน’ ยังมี ‘ดีจ้าน อัปรีย์จ้าน จองหองจ้าน’ ดังจะเห็นได้จากตอนที่นางสายทองเล่าถึงขุนแผนให้แม่ขุนช้างและแม่นางวันทองฟัง
“แม่เอ๋ยครั้งนี้เขาดีจ้าน เจ้านายโปรดปรานเขาทั้งสิ้น
เขาพูดกับไพร่ฉันได้ยิน เขาจะฉีกเนื้อกินสิ้นทั้งนั้น
หอกดาบเชือกปอก็เอามา เขาจะผูกคอคร่าว่าแม่นมั่น
เขาออกชื่อเทพทองศรีประจัน ว่าจะฟันทิ้งไว้ให้คนดู”
ขุนแผนเป็นคนไม่ยอมคน เมื่อสู้รบจนอีกฝ่ายแตกพ่าย สภาพผู้คนหนีตายก็เป็นดังนี้
“บ้างขอขี่เพื่อนกันมันกลับด่า อ้ายขี้ข้าสิ้นทีอัปรีย์จ้าน
บ้างล้มดิ้นแด่วแด่วดังแมวคลาน ……………………………….”
เช่นเดียวกับตอนวิวาทนางวันทอง เมื่อนางออกปากตัดสัมพันธ์ด้วยถ้อยคำรุนแรง ขุนแผนโกรธจัดถึงกับคุมสติไม่อยู่ หลุดปากว่า
“เหม่อีวันทองจองหองจ้าน จะมาพาลเอาผิดกูหรือนี่”
คำว่า ‘จ้าน’ ที่ใช้ต่อท้ายเพื่อขยายคำอื่น เช่น แค้นจ้าน ขันจ้าน ฯลฯ ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว แต่ยังมีมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้อยู่ 2 คำ คือ ‘จุ้นจ้าน’ และ ‘จัดจ้าน’ ที่ยังใช้กันอยู่
‘จุ้นจ้าน’ หรือ ‘จุ้น’ คือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสถานที่หรือในเรื่องที่มิใช่หน้าที่ของตัวจนน่าเกลียด
ส่วน ‘จัดจ้าน’ หมายถึง ปากกล้า ปากจัด เจ้าคารม บางทีก็ใช้ว่า ปากคอจัดจ้าน
เหลือแต่คำดีๆ ทั้งนั้น