จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (22) ซ่งในแดนใต้ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (22)

ซ่งในแดนใต้ (ต่อ)

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีร้อยละ 75 จากจำนวนประชากรจีนราว 101 ล้านคนในขณะนั้นได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนทางใต้ โดยตั้งอยู่ทางด้านใต้ของแม่น้ำฮว๋ายและแม่น้ำหันใน ค.ศ.1102

และหากใช้แม่น้ำหยังจื่อเป็นเส้นแบ่งแทนแม่น้ำฮว๋ายแล้ว ราษฎรที่อยู่ทางใต้จะมีอยู่ราวร้อยละ 70 ของประชากรจีนทั้งหมด

ครั้นถึง ค.ศ.1187 จินซึ่งสามารถครอบครองดินแดนทางเหนือของจีนได้แล้วนั้น ได้ทำการสำรวจประชากรแล้วพบว่า ดินแดนทางเหนือของจีนมีประชากรราว 44.7 ล้านคน ในจำนวนนี้คิดเป็นชนชาติจีน (ฮั่น) ราว 40 ล้านคน หนี่ว์เจิน 4 ล้าน และคีตันกับป๋อไห่อีกนับแสนคน

ที่สำคัญคือ ร้อยละ 19 ของจำนวนรวมดังกล่าวเป็นเชื้อสายจีน

ส่วนดินแดนทางใต้ในปีเดียวกันนี้มีประชากรที่ผ่านการลงทะเบียนโดยซ่ง 12.3 ล้านครัวเรือน โดยที่หากนับว่าหนึ่งครัวเรือนมีห้าคนแล้วก็มีจำนวนประชากรราว 61.8 ล้านคน

ดังนั้น ยอดรวมประชากรทั้งประเทศก็จะตกอยู่ในราว 106 ล้านคน และทั้งหมดนี้ต่างต้องเผชิญกับการศึกกับการอพยพโดยตรง

พอถึง ค.ศ.1207 ผลการสำรวจประชากรของจินก็พบอีกว่า จำนวนประชากรได้เพิ่มเป็นประมาณ 53.5 ล้าน ตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่า จักรวรรดิจินมีประชากรมากกว่ายุโรปในช่วงเดียวกันเสียอีก

ตราบจน ค.ศ.1292 จำนวนประชากรก็ลดลงราว 30 ล้านคน และทำให้ประชากรทั่วทั้งจีนเหลืออยู่ราว 75 ล้านคน โดยสาเหตุของการลดลงนี้มีหลายปัจจัยรวมคือ สงคราม การระบาดอย่างรวดเร็วของกาฬโรค และการรุกรานของมองโกล

อันเป็นการลดลงของประชากรครั้งใหญ่ที่ไม่สู้จะได้พบเห็นมากนัก แต่กล่าวสำหรับซ่งที่หนีมาตั้งมั่นในแดนใต้แล้วย่อมส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจการเมืองพอควร

 

ภัยคุกคามที่ไม่เคยเปลี่ยน

ซ่งในแดนใต้หรือที่เรียกกันในชั้นหลังว่า ราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) แม้จะมีฐานที่มั่นใหม่แล้วก็ตาม แต่ก็หาได้รอดพ้นไปจากการคุกคามของจินไม่ จากเหตุนี้ การฟื้นฟูจักรวรรดิขึ้นมาใหม่จึงมิใช่เรื่องง่าย และจะสำเร็จหรือล้มเหลวในด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายของซ่งด้วยว่าเป็นอย่างไร

เจ้าโก้วผู้ซึ่งตั้งตนเป็นจักรพรรดิซ่งก็คือ ซ่งเกาจง (ค.ศ.1127-1162) การตั้งตนครั้งนี้แม้จะมีความชอบธรรมรองรับ มีเหล่าเสนามาตย์ และมีพื้นที่ตั้งมั่นที่แน่นอน

แต่ด้วยเหตุที่ยังมีจินเป็นภัยคุกคาม และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจะมีนโยบายอย่างไรนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงภัยคุกคามและผลกระทบดังกล่าวแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังขึ้นอยู่กับวิธีคิดของชนชั้นปกครองในแต่ละช่วงอีกด้วย

โดยในยุคซ่งเกาจงนั้นหากไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว วิธีคิดที่นำมาสู่นโยบายที่มีต่อภัยคุกคามของจินก็ยังคงไม่ต่างกับนโยบายก่อนหน้านั้น นั่นคือ แม้จะมีขุนศึกที่มากความสามารถที่จะต่อสู้กับภัยคุกคามนั้น แต่พระองค์ก็เลือกที่จะใช้นโยบายประนีประนอมที่มีต้นทุนอันสูงยิ่ง

เมื่อตั้งมั่นอยู่ในแดนใต้และต้องต่อกรกับจินอยู่เป็นระยะแล้ว พอถึง ค.ศ.1130 จินก็ยกทัพใหญ่ลงมาทางใต้เพื่อหมายจะเผด็จศึกกับจีนให้เด็ดขาด แต่ก็ถูกทัพซ่งที่ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ที่เป็นมณฑลเจียงซีและหูเป่ยในปัจจุบันสกัดเอาไว้ได้

ทัพซ่งในพื้นที่นี้บัญชาการโดยขุนศึกผู้หนึ่ง ซึ่งต่อมาชื่อของเขาจะได้กลายเป็นตำนานที่เล่าขานมาจนทุกวันนี้

ขุนศึกผู้นี้คือ เยี่ว์ยเฟย

 

เยี่ว์ยเฟย (ค.ศ.1103-1142) เกิดในครอบครัวชาวนายากจนในเมืองอันหยังของมณฑลเหอหนัน เล่ากันว่า ตอนที่เขาเกิดได้มีนกใหญ่บินร้องผ่านหลังคาบ้านไป บุพการีจึงตั้งชื่อให้เขาว่า เฟย ที่แปลว่า บิน

เยี่ว์ยเฟยเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็งตั้งแต่เล็กจนโต กลางวันจะช่วยงานของครอบครัว กลางคืนจะฝึกเขียนเรียนอ่านด้วยตัวเอง ครั้นโตเป็นหนุ่มก็เป็นคนพูดน้อย แต่มีความซื่อสัตย์ มีร่างกายที่แข็งแรงกำยำ มีน้ำใจ มีความกล้าหาญชาญชัย และฉมังธนู

เยี่ว์ยเฟยเริ่มรับราชการทหารในสมัยซ่งใต้ และเติบโตในตำแหน่งด้วยความรู้ความสามารถจนได้เป็นผู้บัญชาการทัพ

หลังจากที่สกัดทัพจินได้ใน ค.ศ.1130 แล้ว เยี่ว์ยเฟยก็ได้เผชิญกับทัพจินอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ.1134 แต่คราวนี้เยี่ว์ยเฟยเป็นฝ่ายบุกเข้าโจมตี ศึกครั้งนี้ทำให้จีนได้ดินแดนทางเหนือที่จินยึดครองไปคืนมาบางส่วน

และทำให้เยี่ว์ยเฟยก้าวขึ้นเป็นข้าหลวงทหารเป็นการตอบแทนความดีความชอบ

หลังจากนั้น เยี่ว์ยเฟยยังได้ทำศึกกับจินอยู่เป็นระยะจนเป็นที่ยำเกรงของทัพจิน จนใน ค.ศ.1137 จินซึ่งเห็นว่าไม่สามารถตีจีนได้จึงเสนอให้มีการเจรจาสงบศึกขึ้น โดยใช้วิธีเสนอคืนดินแดนในมณฑลเหอหนันและสั่นซีให้จีนเป็นแรงจูงใจในการเจรจา

แต่เมื่อข้อเสนอนี้มาถึงราชสำนักซ่งก็ให้ปรากฏว่าถูกคัดค้านจากเหล่าเสนามาตย์ มีเพียงซ่งเกาจงกับขุนนางที่ชื่อ ฉินฮุ่ย (ค.ศ.1090-1155)1 ผู้มีฉายาว่า ฉินขายาว (ฉินฉังถุ่ย, Long-legged Qin) เท่านั้น ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เหล่าเสนามาตย์ที่คัดค้านจึงมิอาจทำอะไรได้ การเจรจาสงบศึกก็เกิดขึ้น โดยฉินฮุ่ยเป็นตัวแทนซ่งเกาจงเข้าคุกเข่าหมอบราบรับราชโองการจากจักรพรรดิของจิน

การเจรจาสงบศึกจึงบรรลุด้วยเหตุนี้

 

แต่สันติภาพนี้ดำรงอยู่ได้สามปี จินก็เป็นฝ่ายที่ฉีกสัญญาทิ้งด้วยการกรีธาทัพบุกโจมตีจีนใน ค.ศ.1140 กองกำลังของเยี่ว์ยเฟยยังคงเป็นฝ่ายตั้งรับและตอบโต้กลับจนทัพจินพ่ายแพ้ย่อยยับ ศึกครั้งนี้ทำให้ทหารราบของจินเสียชีวิต 100,000 นาย ทหารม้าอีก 30,000 นาย

และทำให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วกองกำลังของจีนมีศักยภาพที่จะต้านจินได้

แต่จะด้วยเล่ห์สนกลในหรือด้วยจริงใจก็ตาม ต้น ค.ศ.1141 ซ่งเกาจงทรงมีราชสาส์นชื่นชมและสนับสนุนเยี่ว์ยเฟยที่ “ทำลายล้างพวกสารเลว” ครั้นถึงฤดูหนาวปีเดียวกัน พระองค์กลับทรงให้จำคุกขุนศึกผู้นี้ด้วยข้อหากระด้างกระเดื่องและประพฤติมิชอบ

อันที่จริงแล้วทั้งทางความคิดและทางปฏิบัติซ่งเกาจงปรารถนาที่จะให้เยี่ว์ยเฟยตายจากไป ทั้งนี้เพื่อตัดอำนาจทางการทหารของเขาในทางภาคเหนือ ที่พระองค์ทรงระแวงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของพระองค์

และแล้วความปรารถนาของพระองค์ก็เป็นจริง เมื่อฉินฮุ่ยได้ลักลอบวางยาพิษให้เยี่ว์ยเฟยกินจนสิ้นชีพภายในคุก ไม่นานหลังจากนั้นฉินฮุ่ยก็บรรลุข้อตกลงสงบศึกกับจินในปลายเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

โดยไม่มีเยี่ว์ยเฟยเป็นอุปสรรคขัดขวางอีกต่อไป

 

ภายใต้ข้อตกลงนี้หมายถึงการที่จีนจะอยู่ร่วมกันกับจินอย่างสงบ โดยมีแม่น้ำฮว๋ายเป็นเส้นแบ่งจักรวรรดิทั้งสอง โดยจีนยอมยกที่ราบภาคกลางกับอีกสองเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่มณฑลหูเป่ยในปัจจุบันให้แก่จิน

เมืองทั้งสองนี้สามารถเก็บภาษีรายปีจากชาวจีนด้วยมูลค่าหลายล้านตำลึง นอกจากนี้ จีนยังสัญญาอีกว่าจะไม่ให้ที่หลบซ่อนแก่ผู้กระทำผิดที่หนีมาจากดินแดนของจิน และจะส่งบรรณาการรายปีให้แก่จินเป็นเงิน 250,000 ตำลึง และผ้าไหม 250,000 พับ

ด้วยบรรณาการนี้เองที่ทำให้ฐานะการคลังของจินมีเสถียรภาพยาวนานไปนับศตวรรษ

ครั้นถึงปลาย ค.ศ.1142 จินได้ส่งสาส์นมาให้จีนลงนามยอมรับว่า แต่นี้ไปจีนซึ่งเป็น “รัฐที่ด้อยกว่าของเรา” จะถวาย “บรรณาการ” ให้จินซึ่งเป็น “รัฐที่เหนือกว่าของตน” โดยซ่งเกาจงจักทรงเรียกขานพระองค์ว่า “ข้าพระองค์โก้ว” (โก้วคือพระนามเดิมของซ่งเกาจง) ต่อจักรพรรดิของจิน

เมื่อข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายแล้ว ทัพจินก็ถอนกำลังออกไปจากแม่น้ำฮว๋าย ยุคใหม่แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็เกิดขึ้น โดยจีนเป็นข้าราชบริพารที่มีจินเป็นเจ้าเหนือหัว

เนื่องจากข้อตกลงนี้เกิดในรัชสมัยเซ่าซิง ข้อตกลงนี้จึงถูกเรียกว่า ข้อตกลงสันติภาพเซ่าซิง (เซ่าซิงเหออี้)

1ชื่อของขุนนางผู้นี้นอกจากจะอ่านว่า ฮุ่ย (Hui) แล้วก็ยังอ่านได้อีกสองเสียงคือ คว้าย หรือไขว้ (Kuai) และกุ้ย (Gui) จากเหตุนี้ ชื่อของขุนนางผู้นี้จึงมีผู้เรียกขานแตกต่างกันไปเป็นปกติ