ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
ยุทธบทความ
สุรชาติ บำรุงสุข
ตุลารำลึก (2)
ชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้า!
“โลกนี้เป็นของพวกเธอ และก็เป็นของเราด้วย แต่พูดให้ถึงที่สุดแล้ว เป็นของพวกเธอเยาวชน… ความหวังฝากไว้กับพวกเธอ”
ประธานเหมาเจ๋อตง
ปี 2564 ไม่ใช่ช่วงเวลาของความน่าอภิรมย์ใจ
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นยังคงเป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ และสังคมยังเผชิญกับการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนั้นเรายังคงเห็นการประท้วงรัฐบาลจากคนหนุ่มสาวที่ดำเนินไปอย่างไม่เกรงกลัวต่อการปราบปรามของอำนาจรัฐ อีกทั้งความหวังที่จะเปลี่ยนรัฐบาลยังไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง จนเราแทบจะหาความดีใจไม่ได้เลย
แต่เมื่อเห็นผลการเลือกตั้งองค์กรบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่นายกขององค์กรในปีนี้เป็นกลุ่มของ “เนติวิทย์และเพื่อน” แล้ว พอจะทำให้เกิดความดีใจได้บ้างในยามที่สังคมต้องหดหู่อย่างมากกับโรคระบาดและความยากลำบากของชีวิตผู้คน
ซึ่งชัยชนะครั้งนี้เป็นสัญญาณการมาของฝ่ายก้าวหน้าในรั้วมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แม้จะอยู่ในบริบทของจุฬาก็ตามที
ชัยชนะเช่นนี้ทำให้อดคิดถึงอดีตแห่งชัยชนะครั้งใหญ่ของขบวนการนิสิตนักศึกษาในช่วงต้นปี 2519 ไม่ได้
ชัยชนะครั้งนั้นไม่ใช่อยู่ในรูปแบบของการ “ลุกขึ้นสู้” เช่นในปี 2516
แต่ในครั้งนี้เกิดจากการ “ลงบัตร” ของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะเลือกผู้บริหารสโมสรของพวกเขาเอง
อันส่งผลให้นิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าขึ้นมากุมทิศทางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย
จนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งใน “จุดเปลี่ยน” สำคัญก่อนสถานการณ์นองเลือดในเดือนตุลาคม 2519
รำลึกวันวาน
ผลการเลือกตั้งจุฬาฯ ในปี 2564 นี้ มีความน่าสนใจในทางการเมืองที่หมู่นิสิตตัดสินใจเทคะแนนให้ฝ่ายก้าวหน้าอย่างคาดไม่ถึง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชัยชนะครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนในชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้าในรั้วจุฬาฯ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งที่แทบจะเกิดขึ้นได้ยาก
เพราะกิจกรรมนักศึกษาในยุคหลัง 6 ตุลาฯ ถูกควบคุมอย่างมาก อีกทั้งเรามักจะมีสมมติฐานทางการเมืองว่า นิสิตจุฬาฯ เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม และพวกเขาไม่มีทางที่จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายก้าวหน้าเดินเข้ามาเป็นองค์กรบริหารของนิสิตเป็นอันขาด แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน
ว่าที่จริงแล้วผลการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยก็คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของทิศทางของนิสิตนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัย
ซึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2519 เป็นต้นมา กิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกควบคุม และกระแสของกิจกรรมนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าเอง ก็ค่อยๆ ถดถอยหายไปกับกาลเวลา
จนในช่วงที่ผ่านมากระแสนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าแทบไม่เหลือมากนัก แต่ทหารได้ทำหน้าที่เป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ในการจุดประกายไฟให้กับการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาด้วยการรัฐประหาร
โดยเฉพาะรัฐประหาร 2557 กลายเป็นปัจจัยอย่างดีที่กระตุ้นให้ “คนรุ่นใหม่” สนใจการเมือง
ดังนั้น ผลจากชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในปี 2564 จึงทำให้ผมอยากเล่าถึงชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้าในอดีตบ้าง
เพราะหากมองจากการเคลื่อนไหวในบริบทของนิสิตจุฬาฯ ก่อนการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 แล้ว ชัยชนะของ “พรรคจุฬาประชาชน” เป็นตัวแทนหนึ่งของชัยชนะที่สำคัญของพรรคนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
การก่อตัวของพรรคนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต้องถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญของการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
การจัดตั้งพรรคเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นฐานรองรับการทำกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า ที่ขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง และมีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมในแนวทาง “รับใช้สังคม” มากขึ้น
ขณะเดียวกันก็หวังว่าพรรคจะเป็น “องค์กรนำ” ในการต่อสู้ในมหาวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการ “ยึดอำนาจรัฐนักศึกษา” โดยมีพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นเขตเลือกตั้ง
และชัยชนะในระดับมหาวิทยาลัยยังส่งผลโดยตรงต่อการเลือกคณะกรรมการบริหาร “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (ศนท.) และจะมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาไทยโดยรวมอีกด้วย
พรรคจุฬาประชาชนถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลในลักษณะเช่นนั้น แต่โอกาสที่จะได้รับชัยชนะใน “รั้วจามจุรี” ไม่ใช่เรื่องง่าย
อาจจะเป็นเพราะกระแสหลักของนิสิตจุฬาฯ ยังคงมีทิศทางที่เป็นอนุรักษนิยม จนกระทั่ง “กิจกรรมนักศึกษา” ขึ้นสู่กระแสสูงในปี 2518 อันส่งผลให้การเคลื่อนไหวเพื่อ “ชิงอำนาจรัฐ” ที่ตึกจักรพงษ์ ได้รับการตอบรับจากนิสิตมากขึ้น…
การเดิน “เคาะประตู” ของผู้ปฏิบัติงานของพรรคเพื่อเจาะเข้าหานิสิตในคณะต่างๆ พร้อมกับการเปิดการเคลื่อนไหวที่เน้นการดึงนิสิตให้เข้าร่วมกิจกรรมใหม่ และดำเนินการคู่ขนานกับการ “สร้างแนวร่วม” ในหมู่นิสิตทุกส่วน ทุกชมรม และทุกคณะ
จนพรรคสามารถสร้างงาน “แนวร่วม” กับนิสิตในหลายคณะได้อย่างเป็นจริง
วันแห่งชัยชนะ
เมื่อมีการประกาศการเลือกตั้งชิงตำแหน่ง “สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (สจม.) สำหรับปีการศึกษา 2519 พรรคจุฬาประชาชนจึงได้ส่งตัวแทนลงชิง… ผู้ปฏิบัติงานของพรรคจึงทำงานกันอย่างหนัก และทำด้วยมุ่งมั่นว่าชัยชนะครั้งนี้จะไม่เป็นเพียงแค่ชัยชนะที่จุฬาฯ เท่านั้น แต่จะเป็นสัญญาณถึงชัยชนะครั้งสำคัญของขบวนนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าโดยรวม
แล้วในที่สุดพรรคจุฬาประชาชนก็ได้รับชัยชนะจริงๆ
และเช่นเดียวกัน พวกเราชนะในอีกหลายมหาวิทยาลัยพร้อมกันในปีการศึกษานั้น จนต้องถือว่า 2519 เป็นปีแห่งชัยชนะของนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า พร้อมกับเป็นการยกระดับกระแส “กิจกรรมเพื่อสังคม” ขึ้นในแทบทุกมหาวิทยาลัย อันส่งผลให้การเคลื่อนไหวของขบวนนิสิตนักศึกษาขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ
ในวันเลือกตั้ง พวกเราทุกคนอดประหวั่นพรั่นพรึงใจกับการลงบัตรเลือกตั้งของเพื่อนๆ ชาวจุฬาฯ ไม่ได้
แม้ในด้านหนึ่ง เรามั่นใจอย่างมากกับการเดินสายของผู้ปฏิบัติงานของพรรคที่เจาะลึกลงไปในทุกคณะ แล้วคำตอบมาเมื่อบัตรเลือกตั้งใบสุดท้ายถูกขาน… พรรคจุฬาประชาชนชนะ… เราชนะจริงๆ!
เสียดายว่ายุคนั้นพวกเราไม่มีโทรศัพท์มือถือที่บันทึกภาพลงอินเตอร์เน็ตเพื่อเก็บอารมณ์และความรู้สึกของเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ แบบที่คนยุคปัจจุบันทำ
สิ่งที่ผมจำได้เสมอจนแม้ในยามที่เวลาล่วงเลยมานานก็คือ เมื่อผลนับคะแนนเสร็จในช่วงใกล้รุ่งสางปรากฏว่าพรรคจุฬาประชาชนได้รับชัยชนะนั้น “เยาวมาลย์” นิสิตรุ่นน้องจากคณะครุศาสตร์ซึ่งได้รับเลือกเป็น “ประธานฝ่ายศิลปวัฒนธรรม” เป็นต้นเสียงร้องเพลง “ฟ้าใหม่” ของ “จิตร ภูมิศักดิ์” เป็นการร้องโดยไม่ได้มีการนัดหมายกันมาก่อน
และต้องยอมรับว่าชัยชนะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันนั้นเป็น “ฟ้าใหม่” สำหรับพวกเราชาวจุฬาประชาชน… “โน่นขอบฟ้าเรืองรองทาบทองอำไพ ใสสดงามตา คือฟ้าใหม่ ใกล้มา นำมวลทาสเป็นไท…”
เสียงเพลงฟ้าใหม่ดังกึกก้องไปทั่งทั้งศาลาพระเกี้ยว พวกเราร้องเพลงนี้อย่างเต็มเสียง ร้องด้วยความภาคภูมิใจในผลที่เกิดจากการขับเคลื่อนของผู้ปฏิบัติงานทุกส่วน และเป็น “ฟ้าใหม่” ที่มาพร้อมกับรุ่งสางของวันใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น
ชัยชนะครั้งนี้เปลี่ยนภูมิทัศน์ของกิจกรรมนิสิตจุฬาฯ อย่างชัดเจน
แต่ในอีกด้านก็คือการตอกย้ำ “ความกลัวของฝ่ายอนุรักษนิยม” ที่ฝ่ายก้าวหน้าชนะแม้ที่จุฬาฯ ซึ่งมักจะถูกมองว่า จุฬาฯ เป็นฐานที่มั่นที่แข็งแรงของนิสิตสายอนุรักษนิยม แต่ฐานที่มั่นนี้ก็แตกจากพลังของฝ่ายก้าวหน้า!
ในขณะนั้นแทบไม่มีใครคิดเลยว่ากระแส “นักกิจกรรมเพื่อสังคม” ที่ถูกมองว่าเป็น “นักศึกษาฝ่ายซ้าย” จะสามารถยึดอำนาจรัฐของนิสิตใน “รั้วสีชมพู” ได้จริง จนอาจทำให้เกิดทัศนะแบบฝ่ายขวาจัดที่เห็นว่า “สีชมพู” ที่สามย่านกำลังเปลี่ยนเป็น “สีแดง” พร้อมกับมองเห็น “ตึกจักรฯ” เป็น “กองบัญชาการใหญ่” ของนิสิตจุฬาฝ่ายซ้าย (ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ตึกจักรพงษ์ถูกตรวจค้นอย่างละเอียด เพราะมีความเชื่อในฝ่ายขวาจัดว่า พวกเราส่องสุมอาวุธไว้ในตึกนี้ โดยเฉพาะการตรวจค้นในส่วนของเพดานตึก และท่อแอร์ของตึก)
แม้เวลาจะผ่านมาอย่างยาวนาน แต่สำหรับผมแล้ว ในทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ ผมอดคิดถึงชัยชนะของพวกเราในวันนั้นไม่ได้
อยากจะบอกว่า วันนั้นเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในชีวิต และทำให้รู้สึกเสมอว่า พรรคการเมืองที่ผมเชียร์และชนะเลือกตั้งนั้นมีเพียงครั้งเดียวในใจคือ “ชัยชนะของพรรคจุฬาประชาชน”
และแน่นอนว่า ชัยชนะในวันนั้นเปลี่ยนชีวิตผมไปด้วย ผมกลายเป็น “อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก” ของ สจม. คือ เป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการ ศนท. อันทำให้ผมมีชื่ออยู่ในบัญชีการจับกุมของฝ่ายรัฐในเวลาต่อมาในฐานะของ “ผู้นำนักศึกษาฝ่ายซ้าย” ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
ถึงตรงนี้ขอเล่าเพิ่มสักนิด… หลังถูกจับกุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และถูกนำตัวจากเรือนจำกลางบางขวางมาสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น เห็นบนหน้าปกแฟ้มประวัติผมมีตัวหนังสือสีแดงเขียนว่า “ตัวแสบ”
ผมไม่แน่ใจว่าผู้นำนักศึกษาคนไหนได้รับเกียรติเช่นนี้บ้าง แต่แฟ้มที่ผมเห็นบนโต๊ะของพนักงานสอบสวน แฟ้มผมเป็นอันเดียวที่มีตัวหมึกแดงนี้อยู่บนปก จนถึงวันนี้ ผมยังตอบไม่ได้เลยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายขวามีข้อมูลอะไรที่คิดว่า ผมเป็น “ตัวแสบ” ในสายตาพวกเขา
และในการสวบสวนอีกด้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เกียรติผมอย่างมาก ด้วยการเรียกผมว่า “รัฐมนตรีต่างประเทศของศูนย์นิสิต”
ซึ่งอาจมาจากบทบาทของผมในการเคลื่อนไหวเรื่องฐานทัพสหรัฐ และทำงานด้านต่างประเทศในช่วงปี 2518-2519
ชัยชนะที่แสนสั้น!
ตอนเลือกตั้งนั้น ผมหวั่นใจว่าแล้วเราจะชนะหรือไม่ แต่พอเราชนะ ผมกลับหวั่นใจในอีกแบบว่า แล้วเราจะดำรงชนะนี้ไปได้อีกนานเท่าไหร่ เพราะความกลัวที่เกิดขึ้นจากชัยชนะของนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าในทุกมหาวิทยาลัย จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยม “ยอมรับและยอมทน” กับภูมิทัศน์ใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยไปได้อีกนานเพียงใด
คำตอบที่ชัดเจนในเวลาต่อมาคือ พวกเขายอมทนเพียงแค่รุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น!
เรื่องราวของอดีตเหล่านี้ผ่านยาวนานไปถึง 45 ปีแล้ว แน่นอนว่าหลายเรื่องจางหายไปกับประวัติศาสตร์และกาลเวลาที่เดินไปข้างหน้าไม่หยุด แต่กระนั้น ผมยังมีความรู้สึกเสมอว่าผลการเลือกตั้งที่ทำให้ผมดีใจมากที่สุดคือ “ชัยชนะของพรรคจุฬาประชาชน” อันเป็นหนึ่งในของชัยชนะครั้งใหญ่ของขบวนนิสิตนักศึกษาในยุคปี 2519 และแม้จะเป็นเพียงชัยชนะในมหาวิทยาลัย แต่ก็ส่งผลกระทบกับการเมืองไทยทั้งระบบด้วย!
วันนี้ 2564 ผมดีใจกับชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้าในรั้วจามจุรีอีกครั้ง แต่ก็รู้ดีจากปี 2519 ว่า สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวาไทยกลัวอย่างมากก็คือ ชัยชนะของนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าฝ่ายก้าวหน้ากำลังเติบโตอีกครั้งแล้ว
และนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าไม่เคยตอบรับกับระบอบเดิมที่ล้าหลังเลย!