ธงทอง จันทรางศุ | คิด ‘แบบแยกสองขั้ว’ คิด ‘แบบเหมายกหมวด’

ธงทอง จันทรางศุ

ผมกล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำและหน้าชื่นตาบานว่า ความรู้ภาษาต่างประเทศของผมมีจำกัดจำเขี่ยมาก

นอกจากภาษาไทยที่เป็นภาษาประจำชีวิตประจำตัวผมแล้ว ภาษาต่างประเทศภาษาเดียวที่พอใช้แบบถูไถได้คือภาษาอังกฤษ ที่ได้มาติดตัวเพราะจำเป็นที่ต้องมีไว้ในชีวิต มิเช่นนั้นแล้วเรียนหนังสือหรือทำงานลำบากแน่

นอกจากภาษาอังกฤษแล้วอย่าได้คิดมารีดเลือดกับปูถามหาภาษาอื่นกับผมเป็นอันขาด

เมื่อตอนเรียนอยู่โรงเรียนสาธิตปทุมวันชั้นมัธยมปลาย ผมกำเริบเสิบสานไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเข้าสาม-สี่เดือน

ผลคือสอบตกไม่เป็นท่า

ต้องไปขอความกรุณาอาจารย์ใหญ่คือคุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ ย้ายแผนการเรียนจากแผนกศิลปะวิชาเลือกภาษาฝรั่งเศสไปเป็นแผนกศิลปะวิชาเลือกคำนวณ ที่เรียกย่อว่าแผนกศิลป์คำนวณ

แต่ถ้าเป็นภาษาไทยแล้ว ผมประเมินตัวเองว่าความรู้ภาษาไทยของผมอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ดีเลยทีเดียว

ถึงแม้จะไม่ได้เก่งกาจในเรื่องหลักภาษา แต่เรื่องการใช้ภาษานั้น ผมได้ใช้ภาษาไทยทำมาหากินอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอนหนังสือ เขียนหนังสือ ทั้งหนังสือประเภทเขียนเล่นอ่านเพลินหรือเขียนบันทึกความเห็นทางกฎหมาย

โคลงฉันท์กาพย์กลอนก็พอเขียนได้แบบไปวัดไปวาตอนสายๆ

พร้อมกันนั้นผมก็ยังสนุกกับการอ่านหนังสือที่คนอื่นเขียนและฟังภาษาไทยที่คนอื่นพูด

อย่างไรก็ตาม ผมปฏิเสธไม่ได้ว่า นับวันภาษาอังกฤษก็ยิ่งมีความสำคัญสำหรับโลกนี้มากยิ่งขึ้น

ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่จะเข้าทำงานที่ใดก็ตาม ความรู้ภาษาอังกฤษย่อมเป็นแต้มต่อที่จะทำให้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้มากกว่าคนที่ความรู้ภาษาอังกฤษอ่อนด้อย

เรื่องอย่างนี้ผมบอกลูกศิษย์และลูกหลานของผมอยู่เสมอ

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผมจะขวนขวายหาความรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมนะครับ ที่มีอยู่เล็กๆ น้อยๆ ติดตัวนี้อย่าให้ตกหล่นหายไปก็บุญแล้ว

พร้อมกันนั้นผมก็โชคดีที่มีรุ่นน้องสอง-สามคนที่ติดต่อกันอยู่เสมอเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษเกินมาตรฐานคนไทยไปมาก

ผมจึงได้อาศัยความเอื้อเฟื้อจากน้องเหล่านั้นในวาระที่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ

ในทางกลับกัน ถ้าเขาอยากรู้ภาษาไทยที่มนุษย์ทั่วไปไม่ใช้กัน แต่มนุษย์แบบผมยังฝืนใช้อยู่ เขาก็มาพบปะพูดคุย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

แลกความรู้กันอย่างนี้ไม่มีใครขาดทุน ต่างฝ่ายต่างได้กำไรเพิ่มขึ้นทุกที

สองวันที่ผ่านมา เพื่อนรุ่นน้องที่ว่านี้คนหนึ่งมาพร้อมด้วยกับภาษาฝรั่งอังกฤษสองคำ คือคำว่า binary thinking คำหนึ่ง และคำว่า categorical thinking อีกคำหนึ่ง

ทั้งสองคำนี้เป็นคำที่ใช้อธิบายวิธีคิดในการมองโลกหรือจำแนกสภาพความเป็นไปต่างๆ

เขาถามผมว่า เราน่าจะแปลคำทั้งสองคำนี้เป็นภาษาไทยว่าอย่างไร

ผมเสนอคำว่า คิดแบบแยกสองขั้ว สำหรับความคิดแบบ binary thinking

และเสนอคำว่า คิดแบบเหมายกหมวด สำหรับความคิดแบบ categorical thinking

เราลองมาทำความเข้าใจกันหน่อยไหมครับว่า ความคิดทั้งสองแบบนั้นหมายถึงอะไร และมีอยู่จริงหรือไม่ในชีวิตของเรา รอบข้างตัวเรา และสังคมของเรา

มาดูคำแรกก่อนก็แล้วกัน คำว่า “คิดแบบแยกสองขั้ว” หมายถึงวิธีคิดหรือวิธีมองโลกที่จำแนกทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสองซีก ไม่มีอะไรอยู่ตรงกลาง ทุกอย่างต้องถูกจัดสรรให้ลงไปอยู่ในกล่องเสมอ ไม่กล่องข้างซ้ายก็กล่องข้างขวา ไม่มีอะไรอยู่นอกกล่อง และจะมีกล่องที่สามก็ไม่ได้ด้วย

อย่าโกรธกันนะครับ ถ้าจะยกตัวอย่างว่า สำหรับสายตาของบางคนแล้ว มองมนุษย์ในเมืองไทยแล้วแบ่งเป็นสองพวก คือคนดีย์พวกหนึ่ง กับคนไม่ดีย์อีกพวกหนึ่ง

ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่ง เห็นว่าเมืองไทยมีมนุษย์อยู่สองประเภท คือผู้ที่ถูกนิยามว่าเป็น “สามกีบ” กับเป็น “สลิ่ม”

ในเรื่องเพศสภาพก็เหมือนกัน ความคิดแบบแยกสองขั้วอธิบายว่าในโลกนี้มีเพศอยู่เพียงแค่ชายและหญิงเท่านั้น นอกจากสองเพศนี้แล้วมีไม่ได้

ในกรอบความคิดแบบแยกสองขั้วเช่นนี้ ไม่อนุญาตให้มีอะไรอยู่ตรงกลางหรือจะเฉียงจะเอียงไปข้างไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น

ใส่แว่นสายตาความคิดแบบแยกสองขั้วแล้วสบายใจดีเป็นบ้า และก็เป็นบ้าไปจริงๆ

ส่วนวิธีคิดอีกแบบหนึ่งที่ผมแปลเป็นไทยว่า ความคิดแบบเหมายกหมวด เป็นวิธีมองโลกอีกอย่างหนึ่ง ที่อธิบายกับตัวเองว่า เมื่อจัดหมวดจัดกล่องเพื่อจำแนกว่าใคร สิ่งใด หรือเรื่องใดอยู่หมวดใดกล่องใด ซึ่งอาจมีมากกว่าสอง เป็นจำนวนสาม สี่ ห้าหรือมากเท่าไหร่ได้แล้ว ใครก็ตาม สิ่งใดก็ตาม เรื่องใดก็ตามเหล่านั้น จะถูกเหมารวมว่ามีธรรมชาติที่เหมือนกันตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้ายหรือตั้งแต่ต้นจนจบ

ยกตัวอย่างเช่น ระบบวรรณะของอินเดีย ที่แบ่งคนออกเป็นสี่วรรณะ ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร อันหมายถึงชนชั้นปกครอง นักบวช พ่อค้า และผู้ใช้แรงงาน

ถ้าใช้วิธีความคิดแบบเหมายกหมวด ซึ่งหนังสือ Harvard Business Review ใช้คำว่า categorical thinking แล้ว (โปรดดูบทความเรื่อง The Dangers of Categorical Thinking ของ Bart de Lenghe และ Philip Fernbach) ผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ทุกคนต้องเป็นคนกล้าหาญ ต้องเป็นนักรบ ส่วนผู้อยู่ในวรรณะพราหมณ์ไม่เลือกหน้าก็ต้องมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แพศย์ทุกคนเซ็งลี้ฮ้อ และศูทรทุกคนทำงานแบกหามแบบไม่ย่อท้อ

แล้วในโลกแห่งความเป็นจริง เราบังคับให้ทุกคนเป็นอย่างนั้นได้จริงหรือ

ถ้าเราคิดเหมายกหมวดเป็นเบื้องต้น และบังคับให้ตัวเองเชื่อด้วยว่าความคิดดังกล่าวถูกต้อง การตัดสินใจอะไรต่อมิอะไรที่ตามมาก็ย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้โดยง่าย เพราะคิดผิดมาตั้งแต่ต้น

ภาษาสมัยนี้บอกว่าเมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดเสียแล้ว ทำอะไรต่อไปก็ยากลำบากครับ ทุกอย่างจะบิดเบี้ยวไปหมด

ที่ผมยกเรื่องวิธีคิดแบบแยกสองขั้ว กับวิธีคิดแบบเหมายกหมวด ขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาชวนคิดวันนี้ เพื่อสะกิดใจตัวเองและคนรอบข้างว่า วิธีคิดทั้งสองแบบนั้น เป็นวิธีที่ง่าย หาข้อสรุปได้รวดเร็ว ไม่ซับซ้อนปวดหัว

และที่สำคัญที่สุดคือ ตรงกับใจปรารถนาของเราอยู่แล้ว

สาแก่ใจมาก

ฟังดูดีไปหมด แต่ข้อเสียสำคัญที่มีอยู่ มีข้อเดียวเท่านั้นจริงๆ

คือโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ เพ่งดูตัวเราเองก่อนเถิด เราเป็นอย่างที่คนอื่นเขาจัดกลุ่มแยกแยะให้เราต้องเป็นมาตลอดชีวิต โดยไม่เคยถามเราเลยว่า ตัวตนที่แท้ของเราเป็นอย่างไร

และถึงมาถามกันต่อหน้า ผมก็คิดว่าผมมีสิทธิที่จะไม่ตอบ

ไม่มีกติกาใดที่จะมาบังคับกะเกณฑ์ให้ผมต้องอธิบายตัวตนของผม ว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้คนอื่นสบายใจ

ถ้าอยากรู้ว่าผมเป็นคนเช่นไร ก็จงดูจากสิ่งที่ผมทำ สิ่งที่ผมพูดและสิ่งที่ผมเชื่อเอาเอง

เมื่อดูแล้ว ผู้ดูจะคิดว่าอย่างไร ผมก็ห้ามปรามไม่ได้ ต้องปล่อยให้เขาคิดไปอย่างนั้นตามยถากรรม

บางวันผมยังสับสนเลยครับว่าจะนิยามตัวเองว่าเป็นอย่างไร

น่าพิเคราะห์ไหมครับว่า วิธีคิดแบบแยกสองขั้วก็ดี วิธีคิดแบบเหมายกหมวดก็ดี เป็นต้นทางที่จะนำไปสู่ความผิดพลาดอีกหลายเรื่องที่จะติดตามมา

ความปรองดองของสังคมจะเกิดมีขึ้นไม่ได้ถ้าเราใช้วิธีคิดแบบแยกสองขั้วเป็นหลักวิเคราะห์ ความคิดแบบเหมายกหมวดทำให้เรามองข้ามความเป็นจริงและมองเห็นทุกอย่างเพียงผิวเผินไปทั้งหมด

นี่ก็พูดไว้เป็นการทั่วไปนะครับ ไม่ได้ตั้งใจให้ใครอ่านโดยเฉพาะ

ข้อเขียนวันนี้เรียกว่า เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี หรือจะพูดกลับกันว่า ผู้ใหญ่อ่านได้เด็กอ่านดี ก็ได้ทั้งนั้น

นี่ก็คิดแบบแยกสองขั้วอีกแล้วครับ โลกนี้มีแค่ผู้ใหญ่กับเด็กเท่านั้นเสียเมื่อไหร่เล่า

เฮ้อ! เบื่อตัวเองจังเลย คริคริ