นับจากวันไหนกันแน่? ‘ประยุทธ์’ นายกฯ 8 ปี คำตอบสุดท้าย-ศึกใหญ่ ยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

นับจากวันไหนกันแน่?

‘ประยุทธ์’ นายกฯ 8 ปี

คำตอบสุดท้าย-ศึกใหญ่

ยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นประเด็นข้อถกเถียงของสังคม กรณีพรรคฝ่ายค้านออกมาจุดพลุเปิดประเด็นการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบ 8 ปีเต็มในเดือนเมษายน 2565

โดยยกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า

“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

รวมถึงมาตรา 264 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

ซึ่งตีความตามนัยยะได้ว่า จะต้องนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช.ในเดือนสิงหาคม 2557

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่นักการเมืองและนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญมีความเห็นแตกเป็น 3 ทาง

ทางหนึ่งชี้ว่า ด้วยรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตรา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันครบ 8 ปี จากการได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 24 สิงหาคม 2557

ขณะอีกฝ่ายเห็นต่างว่า หากนับวันครบ 8 ปีเริ่มจากเดือนสิงหาคม 2557 เท่ากับเป็นการใช้บังคับกฎหมายให้มีผลย้อนหลัง ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันประกาศใช้เดือนเมษายนปี 2560

ส่วนความเห็นที่สามคือ นับเริ่มต้นความเป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าสิทธิในการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสิ้นสุดในวันที่ 5 เมษายน 2568

ด้วยความเห็นแตกต่างอย่างน้อย 3 ทางด้วยกัน เชื่อว่าสุดท้ายเรื่องนี้ย่อมเดินไปสู่การที่พรรคฝ่ายค้านผู้จุดพลุเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา

ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสินชี้ขาด

 

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันในเดือนมีนาคม 2562

ก็ได้เกิดประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความหลายครั้ง

เริ่มจากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า

ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(15) กรณีเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือไม่

18 กันยายน 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า

คำว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความไว้ในคำพิพากษาที่ 5/2543 ว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐคือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ปฏิบัติงานประจำ อยู่ในกำกับดูแลของรัฐ

รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ไม่ให้ข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง เข้ามาเป็นนักการเมือง จึงกำหนดให้รวมถึงพนักงาน ลูกจ้างของรัฐ การกำหนดเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพื่อให้ครอบคลุมตำแหน่งที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นในลักษณะของการเป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐ

ตำแหน่งหัวหน้า คสช.มาจากการยึดอำนาจและเป็นตำแหน่งรัฏฐาธิปัตย์ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานรัฐ ไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่ง เป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบสุขให้กับประชาชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 98(15)

อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวสอดรับกับผลวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 กรณีมีผู้ร้องขอให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบพร้อมเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง

ให้วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ส่งผลให้การที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 88, 89 และ 160(6) ประกอบมาตรา 98(15) หรือไม่

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยด้วยเหตุผลเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญคือ ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

ดังนั้น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ

จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

 

ก่อนหน้านั้นยังมีกรณีการอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ

ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161

แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์

จึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมาปลายปี 2563 เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมากกรณี “บ้านพักหลวง” ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) ถนนวิภาวดีรังสิต (เป้าหมายม็อบทะลุแก๊ซในปัจจุบัน)

2 ธันวาคม 2563 องค์คณะผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กรณีใช้ประโยชน์พักอาศัยบ้านพักทหาร (บ้านพักหลวง) หลังเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไปแล้ว ตามคำร้องนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัย สรุปใจความสำคัญได้ว่า ข้อเท็จจริงผู้ถูกร้องเป็นผู้บัญชาการทหารบกพักอาศัยอยู่ในบ้านพักหลังดังกล่าวของกองทัพบก

เมื่อพิจารณาผู้มีสิทธิในการเข้าพักอาศัยในกองทัพบกคือ ต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 และผู้ถูกร้องจึงมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ซึ่งก็มีสิทธิพักอาศัยอยู่เนื่องจากเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกมาก่อน ส่วนการที่กองทัพบกสนับสนุนค่าไฟฟ้าและค่าประปา สามารถทำได้

ทั้งนี้ กองทัพบกสามารถจัดบ้านพักให้กับนายกรัฐมนตรีให้มีความปลอดภัยได้ และปัจจุบันบ้านพิษณุโลกซึ่งเป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่พร้อมใช้

นายกรัฐมนตรีจึงควรมีบ้านพัก ซึ่งกองทัพบกได้จัดให้มีบ้านพักในกองทัพบกตามกฎข้อบังคับ ผู้ถูกร้องจึงไม่ได้ทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันเป็นการกระทำต้องห้ามการเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ได้เรียกรับประโยชน์ที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่

จึงไม่ทำให้สถานะนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง

 

จากคำร้อง 3-4 ประเด็นดังกล่าว มีการเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี ไม่ต่างจาก “แมว 9 ชีวิต” ทั้งยังมีดวงถูกโฉลกกับศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง

กรณีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เขียนให้คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่

ประเด็นใหญ่ที่สังคมสนใจถกเถียงกันก็คือ สรุปแล้วจะเริ่มนับ 8 ปีวันไหนกันแน่ จากที่มีการตั้งโจทย์ไว้ 3 วันด้วยกัน คือ

วันที่ 24 สิงหาคม 2557 วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกหลังการรัฐประหาร, วันที่ 6 เมษายน 2560 วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือ กรธ. ให้ความเห็นประเด็นนี้ว่า หากฝ่ายการเมืองจะยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 158 ก็ควรต้องพ่วงมาตรา 264 ด้วย

พร้อมแสดงความเห็นส่วนตัวว่าควรนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2557

เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ปัจจุบัน มาตรา 264 ระบุชัดว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

“เรื่องนี้ถือเป็นศึกใหญ่ที่ร้อนหูร้อนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง” อดีตที่ปรึกษา กรธ.ระบุ

ทั้งนี้ ถ้ายึดมาตรา 158 พ่วงมาตรา 264 ตามความเห็นของ ดร.เจษฎ์ เท่ากับว่าเดือนสิงหาคมปีหน้า 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ไม่ว่ามีใครมาไล่หรือไม่ก็ตาม

ที่สำคัญยังเป็นการหลุดแล้วหลุดเลย ตราบใดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังใช้อยู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก ยกเว้นจะหวนกลับไปใช้วิธีการนอกระบบเหมือนที่เคยทำ

ขณะที่ฝ่ายอำนาจมั่นใจเช่นกันว่า 8 ปีนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องนับหลังเลือกตั้งปี 2562 แล้วอยู่ยาวไปสิ้นสุดในปี 2570

ไม่ว่าใครเสนอความเห็นไปในทางใด พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อได้อีกไกลแค่ไหน

คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ขาดอย่างไร