ทุนไทย-ต่างชาติผวา ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 4 นิคมอุตฯ เร่งป้องกันน้ำท่วมใหญ่/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ทุนไทย-ต่างชาติผวา

ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554

4 นิคมอุตฯ เร่งป้องกันน้ำท่วมใหญ่

 

ด้วยอิทธิพลของ “พายุเตี้ยนหมู่” ส่งผลให้หลายจังหวัดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดท้ายน้ำ ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำไหลผ่าน ยังต้องเฝ้าลุ้นระทึกกันนาทีต่อนาทีว่า น้ำจะท่วมหรือไม่

ภาพจำในอดีตคราวเกิดมหาอุทกภัย น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่กลายเป็นฝันร้ายของผู้ประกอบการจากการสูญเสียทรัพย์สิน ธุรกิจ เครื่องจักร ภายในโรงงานต้องจมอยู่ใต้น้ำนานนับเดือน

กลับมาหลอกหลอน

 

แม้ “เตี้ยนหมู่” จะเป็นพายุเพียงลูกเดียวที่เข้าสู่ประเทศไทยมาเวลานี้ แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำสะสมในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำล้นตลิ่งจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดในวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ณ สถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,683 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1.79 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,749 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เนื่องจากมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง เข้ามาเพิ่ม

ปริมาณน้ำที่มากขึ้นดังกล่าวทำให้กรมชลประทานต้องตัดสินใจเร่งระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา โดยล่าสุด (วันที่ 29 กันยายน 2564) ได้ปรับการระบายน้ำในอัตรา 2,631 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เพิ่มสูงขึ้น

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จังหวัดท้ายน้ำไล่มาตั้งแต่จังหวัดชัยนาท, ลพบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี จนมาถึงสุพรรณบุรี กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยจังหวัดเหล่านี้ยังเป็นที่ตั้งของเมืองอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งของภาครัฐและเอกชนถึง 5 แห่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานของภาครัฐ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจะออกมายืนยันว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากพายุเตี้ยนหมู่จะไม่ร้ายแรงเท่ากับมหาอุทกภัยในปี 2554 เนื่องจากยังไม่มีการ “พร่องน้ำ” จากเขื่อนสำคัญ 2 แห่ง (ภูมิพล-สิริกิติ์) เหมือนในอดีต

แต่ “ภาพจำ” เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ก็ทำให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่เคยถูกน้ำท่วมขังในอดีตถึงกับ “ขวัญผวา” กันเลยทีเดียวกับการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ทำให้ฐานการผลิตสำคัญในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี ต้องจมน้ำมาแล้ว

 

นางสาวบงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดขณะนี้ได้สร้างความกังวลใจให้ผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างชาติมาก โดยเฉพาะโรงงานของญี่ปุ่น ได้มีการสอบถามข้อมูลเข้ามามาก เนื่องจากเคยประสบปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี 2554

ขณะนี้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดและได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดวันละหลายรอบ

ขณะเดียวกันภาคเอกชนได้เตรียมตั้งรับกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) โดยการเตรียม “แผนการบริหารความพร้อม” ในสภาวะวิกฤต (BCP) แผนเผชิญเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้ว

“ทางราชการได้แจ้งว่า ปริมาณน้ำในปีนี้ไม่เท่ากับปี 2554 ประกอบกับแต่ละนิคมอุตสาหกรรมได้ก่อสร้างเขื่อนกันน้ำมีสันเขื่อนไว้สูงประมาณ 5-6 เมตรตั้งแต่คราวเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รวมถึงได้มีการอุดรอยรั่วต่างๆ ที่อาจจะทำให้น้ำซึมเข้าไปในตัวนิคมได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ ตรงนี้ทำให้ให้นักลงทุนญี่ปุ่นค่อนข้างมั่นใจ จากการที่ผู้ประกอบญี่ปุ่นเองก็ถามผู้ประกอบการไทยว่า จะเอาอย่างไร เราเองเคยผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กันมาก็เกิดความกังวล มีการติดตามสถานการณ์น้ำกันทุกวัน แม้ทางราชการจะบอกน้ำไม่มากเหมือนครั้งนั้น แต่ทุกคนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โซนนิคมอุตสาหกรรมของใครต่างช่วยกันดูแล บริหารจัดการในนิคม น้ำจะไหลมาอย่างไร จะเข้าโซนพื้นที่เขาเมื่อไหร่ ก็ได้มีการทำแผนการบริหารความพร้อมในสภาวะวิกฤตกันมาอย่างต่อเนื่อง” น.ส.บงกชกล่าว

และจากประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ในอดีต เส้นทางน้ำไหลจะเริ่มจากนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ถัดมาไม่กี่นาทีน้ำก็จะมาถึงนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ตามด้วยนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และสุดท้าย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ทำให้ผู้ประกอบการ-ชมรม-องค์กรต่างๆ ของภาคเอกชนจะมีการสื่อสารกันตลอดและต้องมองให้เป็น Worst Case เพื่อที่จะได้ตั้งรับได้ถูก

ขณะที่นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับคำสั่งจากส่วนกลางแจ้งให้ผู้ประกอบการ-นิคมอุตสาหกรรมเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางจังหวัดได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้รับทราบกันมาตลอด จากที่มีประสบการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “การบริหารจัดการน้ำ” ที่ผิดพลาดด้วย

ดังนั้น ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการเส้นทางไหลของน้ำไว้พร้อมแล้ว โดยเฉพาะบริเวณที่เคยเป็นคอขวดต่างๆ ได้ตัดให้น้ำไหลผ่านเส้นทางตรงได้สะดวก

 

ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหมด 5 แห่ง แบ่งออกเป็นนิคมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค บ้านหว้า, นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง

ส่วนนิคมของภาคเอกชนมี 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ กับนิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งกระจายอยู่ทั้งในและนอกนิคมประมาณ 2,700 แห่ง

ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานของนักลงทุนต่างชาติประมาณ 60% ซึ่งมีทั้งนักลงทุนญี่ปุ่น-จีน-สิงคโปร์ และประเทศในโซนยุโรป

โดยธุรกิจที่มาลงทุนหลักๆ ในจังหวัด ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

โดยนักลงทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของ BOI

รวมถึงทางจังหวัดได้สร้างความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก

 

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนให้พื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ เสนา, ผักไห่, บางบาล และ อ.พระนครศรีอยุธยา ให้ “เฝ้าระวัง” น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมในระดับสูงเต็มที่

ประกอบกับจะมีการเร่งระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อจังหวัดริมน้ำและพื้นที่รับน้ำ 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมการระมัดระวังรับมือกับสถานการณ์น้ำเต็มที่แล้ว

แม้หลายๆ ฝ่ายจะให้ข้อมูลว่า ปริมาณน้ำและสถานการณ์อุทกภัยในปี 2564 จะไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อปี 2554

แต่ถึงจุดนี้ หลายนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนนักลงทุนก็เริ่มโฟกัสกับมาตรการป้องกันอย่างจริงจัง

พร้อมกับความหวังว่า ภาพจำแบบที่เกิดขึ้นในปี 2554 จะไม่ซ้ำรอยเดิมอีกในคราวนี้